ก้าวสู่มิติใหม่เมืองแห่งอนาคต

ก้าวสู่มิติใหม่เมืองแห่งอนาคต

บทความโดย ชลธิศ ยังวิวัฒน์

1.เกริ่นนำ

ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ภายใต้การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้เกิดกระแส Disruptive Technology ที่สามารถเข้ามาปฏิรูปการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคม ความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ดังจะเห็นได้จากหลายๆ มหานครในโลกมีการปรับตัวในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประกอบกับสังคมเมืองที่มีการขยายตัวของประชากรและการขยายตัวของตัวเมืองส่งผลให้ปัญหาที่เกี่ยวกับชุมชนเมืองเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น การจราจรติดขัด มลพิษ และความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลลบกับความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อมของสังคมเมืองได้ บทความนี้จึงนำเสนอแนวคิด Smart City ในการพัฒนาสังคมเมืองทั้งในด้านการบริหารจัดการด้านสาธารณูปโภค และด้านคุณภาพชีวิตโดยใช้ ICT รวมทั้ง Emerging Technologies เช่น Big Data Artificial Intelligence และ Internet of Things (IoT) เป็นต้น เข้ามาปฏิรูประบบการจัดการต่างๆ ในเมือง เพิ่มประสิทธิภาพของ Insight เพื่อช่วยในการตัดสินใจของ Social Planner รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของชีวิตคนเมือง

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวได้รับความสนใจจากนานาชาติทำให้ในหลายๆประเทศเริ่มมีการพัฒนาเมืองตามแนวคิด Smart City อาทิเช่น โครงการ Smart Nation ของประเทศสิงคโปร์ โครงการเขตซงอัน (Xiong An New Area-雄安新区) ในมณฑลเหอเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น ประเทศไทยก็เช่นกัน ในหลายๆ เมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาคได้เริ่มวางแผนพัฒนาเมืองตามแนวคิด Smart City อาทิเช่น จังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการขอนแก่น สมาร์ทซิตี้ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

2.ทำความรู้จักสมาร์ทซิตี้

ภายในปี 2050 ประชากรในโลกกว่าร้อยละ 70 จะอาศัยในอยู่ในเมือง ดังนั้น ปัญหาที่ตามมาจากการอพยพเข้าชุมชนเมือง (Urban Immigration) จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งการจราจรที่ติดขัด อัตราการก่ออาชญากรรมที่สูงขึ้น ความขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงพยาบาล และระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ปัญหาความท้าทายดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big Data IoT มาพัฒนานวัตกรรมที่สามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวและปฏิรูปคุณภาพชีวิตคนในชุมชนเมือง

Smart City จึงไม่ใช่เพียงแค่นโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในสายตาหลายๆ คนเท่านั้น แต่เป็นแผนที่จะพัฒนาหัวใจสำคัญของสังคมเมือง นั้นก็คือ “ประชากรในเมือง”นั่นเอง

แนวคิด Smart City เกิดจากการสร้างระบบนิเวศน์ชุมชนเมือง (Urban Ecosystem) โดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายข้อมูลดิจิทัล เทคโนโลยี และโทรคมนาคมมาใช้ปรับปรุงระบบจัดการบริหารและระบบสาธารณูปโภคในเมืองให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับทุกความต้องการของคนในชุมชนเมืองได้

ทั้งนี้ Deloitte (2015) สรุปว่า ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางและความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองตามกรอบแนวคิด Smart City ได้แก่ กลยุทธและวิสัยทัศน์ เทคโนโลยี ทักษะและความสามารถของแรงงาน ความเปิดกว้างที่จะรับนวัตกรรมของ Stakeholders ความน่าดึงดูดธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ และความสัมพันธ์ของภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ปัจจัยด้านเทคโนโลยีถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนา Smart City เนื่องจากถือว่าเป็นวัตถุดิบของการพัฒนา Emerging Technologies ต่างๆ มีส่วนสำคัญ และเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มความเป็นไปได้ของสมาร์ทซิตี้ ตัวอย่างต่อไปนี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการผลักดัน Smart City

บทบาทของ Smart City ในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรพลังงาน ด้านการเดินทางขนส่ง ด้านการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานรัฐ และด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้รูปแบบการพัฒนาของ Smart City จะเริ่มต้นด้วยด้านใด ความต้องการ สภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นจะเป็นตัวกำหนด (Paolo Neirotti, และคนอื่นๆ, 2014)

3.ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของสมาร์ทซิตี้

ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ทำให้โครงการสมาร์ทซิตี้ครอบคลุมทุกๆ ด้านของชีวิตคนเมืองตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งนี้ ในสมัยของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ให้ความสำคัญกับคน (People Centric)

หากคนมีชีวิตความเป็นเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็เป็นปัจจัยบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สมาร์ทซิตี้ถือเป็นคำตอบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเมือง นอกจากนี้ ในแง่ของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผลงานวิจัยของสถาบัน ABI (2017) พบว่าโครงการสมาร์ทซิตี้สามารถช่วยภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในเมืองขนาดใหญ่ [1] (Mega City) ประหยัดได้ถึง 45,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเมืองต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากพัฒนา ส่งเสริมหรือแก้ไขในด้านต่างๆ ดังนี้

3.1 การลดต้นทุน

โครงการสมาร์ทซิตี้สามารถช่วยทุกๆ ภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ประหยัดจากการลดต้นทุน (Cost-saving) และการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency Gains) จากการศึกษาของสถาบัน ABI (2017) พบว่าในส่วนของภาครัฐ โครงการสมาร์ทซิตี้สามารถช่วยลดต้นทุนได้ถึง 4.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแบ่งเป็นการลด OPEX เป็นมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยการนำระบบ E-government Automation และ Blockchain มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพบริการของภาครัฐและการประหยัดพลังงานจากการนำระบบ Smart Grid และ Smart Street Lighting เป็นต้น และประหยัด CAPEX รวมเป็นมูลค่า 1.125 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการปรับปรุงความสามารถในการนำสินทรัพย์มาใช้ประโยชน์ (Asset Utilization) เช่น ระบบ Traffic Management ปรับปรุงระบบจราจรแทนที่การตัดถนนใหม่ เป็นต้น

ในส่วนของภาคธุรกิจ โครงการสมาร์ท ซิตี้สามารถช่วยประหยัดต้นทุนโดยรวมได้ถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนา Ease of Connectivity และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ ภาคครัวเรือนสามารถประหยัดต้นทุนโดยรวมถึง 2.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 20 ของรายจ่ายครัวเรือน จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในที่อยู่อาศัย เช่น Smart Home ระบบติดตามค่าไฟฟ้า-ประปาแบบ Real-time รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายจาก Sharing Economy

3.2 การเพิ่มประสิทธิภาพ

สมาร์ทซิตี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ทั้งในแง่ของการจัดสรรงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ การวางแผนต่างๆ ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เช่น การใช้Big Data Analytics เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อประกอบการวางแผนตัดสินใจในโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด และการใช้ IoT เพื่อจับตาการใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุน และช่วยเพิ่มรายได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น สมาร์ทซิตี้ยังช่วยประหยัดเวลาซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างมากในชีวิตที่เร่งรีบของคนในชุมชนเมือง

จากผลการศึกษาจากสถาบัน Juniper (2017) พบว่าโครงการสมาร์ทซิตี้สามารถประหยัดเวลาของคนในชุมชนเมืองได้ 15 วันต่อคนต่อปี

โดยแบ่งเป็นด้านต่างๆ ได้แก่ การประหยัดเวลาบนท้องถนน 60 ชั่วโมงจากระบบ Smart Traffic Management Smart Parking รวมถึงระบบช่วยวางแผนการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ประหยัดเวลาจากการลดปัญหาการก่ออาชญากรรม 35 ชั่วโมง ด้วยระบบ Predictive Analysis เพื่อตรวจตาและจัดการกับจุดที่เสี่ยงต่อเหตุความไม่สงบ ประหยัดเวลา 9 ชั่วโมงจากการใช้ระบบ Telemedicine ทำให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษารวมถึงนัดพบแพทย์ได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล และประหยัดเวลา 21 ชั่วโมงจากการเพิ่มประสิทธิภาพของบริการจากหน่วยงานรัฐ ด้วยระบบราชการที่ทันสมัยมากขึ้น


3.3 การพัฒนาเศรษฐกิจ

สมาร์ทซิตี้ถือเป็นพื้นฐานที่จะขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาที่พึ่งพิงนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ทั้งนี้การนำ Emerging Technologies เข้ามาผนวกในระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการบริหารจัดการเมือง ทำให้ช่วยลดต้นทุนของธุรกิจและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในเมืองนั้นๆ ส่งผลให้ภาคธุรกิจให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เปิดกิจการ ซึ่งส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของท้องถิ่นนั้นๆ

นอกจากนี้ การจัดตั้ง Innovation Hub ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยการสร้าง Cluster ให้กลุ่ม Tech-startups สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษา เพื่อดึงดูดกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมาในพื้นที่และสร้าง Connectivity ระหว่างสถาบันดังกล่าว จะส่งผลให้เกิด Competitive Advantage ด้านนวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมระดับผลิตภาพ (Productivity) ให้สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบการศึกษาให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

3.4 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ สมาร์ทซิตี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมแบบเน้นคนเป็นหลัก (People-centric Approach) นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งในเมืองใหญ่คือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้น โครงการสมาร์ทซิตี้ได้ให้ความสำคัญต่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนเมืองรวมถึงสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม (Social Inclusion) เช่น การปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้ง่ายต่อการเข้าถึง ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและยั่งยืนการเพิ่มความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สามารถช่วยดึงดูดและรักษาระดับทุนมนุษย์ (Human Capital) รวมถึงผู้มีความสามารถ (Talent) เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย (GSMA, 2017)

4. ตัวอย่างโครงการ Smart City ในต่างประเทศ

4.1 โครงการ Smart Nation ของประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำเรื่อง Smart City จากการจัดอันดับของสถาบัน Juniper ในปี 2017 สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 1 ในทุกๆ ด้านของสมาร์ทซิตี้ ได้แก่ ด้านการเดินทางขนส่ง (Mobility) ด้านสาธารณสุข (Healthcare)  ด้านความปลอดภัยสาธารณะ (Public Security) และด้านผลิตภาพ (Productivity)

ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์มีลักษณะเป็นเกาะ ทำให้มีพื้นที่จำกัดอย่างมาก และมีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 7,916 คนต่อตารางกิโลเมตร จัดเป็นอันดับที่ 3 รองจากมาเก๊าและโมนาโค (World Bank,2017)

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของประเทศสิงคโปร์คือการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงสถานะความเป็นศูนย์กลางธุรกิจประจำภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบัน จากการจัดอันดับของสถาบัน IMD World Competitiveness Centre (2018) ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 และจากการจัดอันดับด้านความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 2  รวมถึงสิงคโปร์กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยภายในปี 2035 สัดส่วนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.74 จากร้อยละ 13.1 ในปี 2015 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สิงคโปร์มีความจำเป็นในการริเริ่มโครงการ Smart Nation

โครงการ Smart Nation เริ่มต้นขึ้นในปี 2015 โดยวางเป้าหมายให้สิงคโปร์เป็น Smart Nation ประเทศแรกของโลกภายในปี 2025 สาระสำคัญของ Smart Nation ของสิงคโปร์คือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการขับเคลื่อน (Data-Driven) เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคน รวมถึงการเพิ่มพูนขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ โดยยึดหลัก 3 ประการคือ เชื่อมต่อ (Connect) จัดเก็บ (Collect) และทำความเข้าใจ (Comprehend)

โดยเริ่มจากการสร้าง Smart Nation Platform (SNP) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างโครงข่ายการเชื่อมต่อของการรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ รวมถึงการสร้าง Smart Nation Operating System (SN-OS) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการเพื่อบันทึกข้อมูลจากผู้ใช้โดยตรง เช่น ระบบดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น จากนั้นข้อมูลจะถูกรวบรวมกลับไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป นอกจากนี้สิงคโปร์ได้จัดทำโครงการ Open Data ร่วมกับบริษัทด้านข้อมูลเอกชน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของข้อมูล รวมถึงการนำข้อมูลมาออกแบบโครงการใหม่ๆ

ตัวอย่างโครงการภายใต้ Smart Nation Initiative

สาขาโครงการคำอธิบาย
สิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนSolarNovaติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนดาดฟ้าของ Housing Development Board  หรือ HDB (อาคารที่อยู่อาศัยที่รัฐสร้างขึ้น) ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 5 ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมด
 Floating Solar Panelเนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดจึงมีการสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ ซึ่งสามารถผลิตพลังงานได้ เท่ากับการใช้ไฟฟ้าของห้องชุด ขนาด 4 ห้อง จำนวน 225 ห้องตลอดทั้งปี
 SkyGreensโครงการปลูกพืชแนวตั้ง เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด นอกจากนี้
ยังสามารถลดการใช้แรงงานและประหยัดการใช้น้ำอีกด้วย ซึ่งตัวระบบทำงานโดยใช้ไฮโดรลิคเป็น
ตัวเคลื่อนที่ชั้นวางพืชให้หมุนเวียนไปรับแสงอาทิตย์
การเดินทางขนส่งBeelineโครงการ MaaS สำหรับ Sharing Economy ที่ให้บริการรถขนส่งสาธารณะตามความต้องการของคน โดยผู้บริการรสบัสสามารถให้บริการตามเส้นทางที่คนเรียกซึ่งแอพพลิชันได้รวบรวมไว้ ทำให้การเดินทางสะดวกสบายกว่าระบบขนส่งสาธารณะแบบปกติเนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนสายการเดินทาง
 MyTransport. SGแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกด้านขนส่งสาธารณะซึ่งสามารถแนะนำวิธีการเดินทาง ค่าใช้จ่ายรวมถึงระยะเวลาการเดินทาง นอกจากนี้ยังสามารถคำนวณความหนาแน่นของคนในวิธีการเดินทางขนส่งแบบต่างๆ ได้แบบ Real-Time
 Parking.SGแอพพลิเคชันบอกสถานที่จอดรถ โดยจะสามารถแจ้งจำนวณที่จอดที่ว่างอยู่รวมถึงค่าธรรมเนียมในการจอด นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ในแอพพลิเคชั่นอีกด้วย
 Smart Portระบบบริหารจัดการท่าเรือขนส่งสินค้า โดยใช้ Predictive Analysis ในการคำนวณเพื่อป้องกันการจราจรติดขัด รวมถึงการใช้ Automation ในระบบขนถ่ายสินค้า ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยอีกด้วย
อาคารAscendas-SingBridgeระบบบริหารจัดการอาคารที่รวมระบบ IoT เข้าไว้ด้วยดันเพื่อตรวจจับความผิดปกติภายในอาคารเพื่อดำเนินการซ่อมแซม ระบบติดตามการใช้ไฟฟ้า น้ำประปาแบบ Real-Time ระบบ
แจ้งเตือนการทำความสะอาด ระบบปรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ
ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
 Smart Planningโครงการเพื่อการออกแบบอาคารเพื่อการพักอาศัย โดยรวบรวมข้อมูลเพื่อคำนวณและออกแบบ Virtual Map ที่สามารถบอกข้อมูลทุกๆ ด้านเกี่ยวกับบริเวณอาคาร เช่น การพัดของลม ความเข้มและการตกกระทบของแสง เพื่อให้ได้อาหารที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่Smart Homeระบบอำนวยความสะดวกบ้านและที่อยู่อาศัย โดยรวมระบบ IoT และเซ็นเซอร์ต่างๆ ทำให้สามารถควบคุมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า และเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบความปลอดภัย เช่น สามารถตรวจสอบการใช้ไฟ้ฟ้า น้ำประปาได้แบบ Real-Time ระบบควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องไฟฟ้า
 Smart Elderly Monitoring Systemเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ระบบดูแลผู้สูงอายุอัจฉริยะสามารถให้ลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ แม้ไม่ได้อยู่บ้าน เช่น การใช้เซ็นเซอร์การเคลื่อนไหวเพื่อจับตากิจกรรมของผู้สูงอายุ เซ็นเซอร์ประตูเพื่อตรวจสอบว่าผู้สูงอายุอยู่บ้านหรือไม่ ระบบแจ้งเตือนหากผู้สูงอายุเกิดปัญหาเฉียบพลัน
 Tele-healthระบบปรึกษาแพทย์จากที่บ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเวลาโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ระบบดังกล่าวสามารถตรวจสุขภาพ เช่น ความดันเลือด ได้จากที่บ้านแล้วส่งผลให้แพทย์ประเมิน หากมีความจำเป็นที่จะต้องไปโรงพยาบาลก็สามารถนัดพบแพทย์ในระบบได้เลย
หน่วยงานรัฐOne Serviceแอพพลิเคชันสำหรับแจ้งการซ่อมของระบบสาธารณูปโภค โดยใช้ระบบตรวจจับรูปภาพรวม
เข้ากับระบบระบุพิกัด เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปจัดการ
 Gov.sg Chatbotระบบแชทโต้ตอบอัตโนมัติเพื่อให้บริการประชาชนด้านการบริการของภาครัฐ
เศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์Innovation Hubศูนย์กลางนวัตกรรมโดยรวบรวมสถาบันวิจัย Tech-Startups สถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐเข้ามาไว้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อส่งเสริมการคิดค้น วิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ
 The Financial Sector Technology and Innovation Scheme และ Looking Glassโครงการสนับสนุนนวัตกรรมด้าน Fintech โดยเน้นในการด้านการวางโครงสร้างระบบ และ
การคิดค้นและเผยแพร่นวัตกรรมใหม่ รวมถึงเป็นตัวกลางในการเชื่อม Start-up และกลุ่มสถาบันการเงินเพื่อร่วมกันค้นหา Solution ใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบมากขึ้น

4.2 โครงการเขตเมืองใหม่ซงอัน (Xiong An New Area) มณฑลเหอเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีนได้สร้างสถิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการตั้งเมืองอุตสาหกรรมใหม่นอกเหนือจากเมืองใหญ่ในประเทศใน
ทุกภาค เช่น เมืองเซินเจิ้น ต้าเหลียน เทียนจิน เซียะเหมิน เป็นต้น รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น กลุ่มเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี กลุ่มเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง และกลุ่มเศรษฐกิจ ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย

ทั้งนี้ กลุ่มเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี กลุ่มเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง เป็นความพยายามของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการค้า ในขณะที่กลุ่มเศรษฐกิจ ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย หรือกลุ่มเศรษฐกิจจิง-จิน-จี้ (京-津-冀城市群) จะมุ่งเน้นด้านการรองรับการขยายตัวเมืองของนครหลวงปักกิ่งรวมถึงการส่งเสริมด้านนวัตกรรมเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในปี 2017 รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนการพัฒนาเขตซงอันซึ่งอยู่พื้นที่ในมณฑลเหอเป่ย อยู่ห่างจากปักกิ่งอยู่ 120 กิโลเมตรก็จะเป็นพื้นที่ต่อไปที่จะได้รับการพัฒนาเป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งใหม่อีกพื้นที่หนึ่งของจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของกลุ่มเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้น แข็งแรงมากขึ้น

การจัดตั้งเมืองเศรษฐกิจใหม่ซงอันขึ้นมีที่มาอยู่หลายๆ ด้าน กล่าวคือนครหลวงปักกิ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ประสบความท้าทายของเมืองใหญ่ โดยความหนาแน่นของประชากรอยู่ 1,300 คนต่อตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศจีน ดังนั้น เพื่อรับมือกับความหนาแน่นของประชากรและกระจายความเจริญของปักกิ่งไปยังพื้นที่อื่นๆ ในกลุ่มเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย

รัฐบาลจีนจึงมีแนวคิดที่จะทำการย้ายภาคธุรกิจไปยังเขตใหม่ซงอัน รวมถึงจัดตั้งเขต Cluster ของกลุ่มเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรง โครงการเขตซงอัน ถือเป็นตัวจุดประกายการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ตามรอยเมืองเซินเจิ้น และผู่ตง ที่เป็นแนวหลักในการพัฒนากลุ่มเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และจูเจียง ตามลำดับ นอกจากนี้ ภายในกลุ่มเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย มีความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจอยู่สูง ทั้งปักกิ่ง และเทียนจินถือว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งเมืองเศรษฐกิจซงอันจึงช่วยดึงดูดความเจริญให้บริเวณใกล้เคียง ร่วมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กลุ่มเศรษฐกิจอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้มีแนวคิดพัฒนาเมืองซงอันตามกรอบของ Smart City เพื่อรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยี และเป็นมิตรต่อทั้งประชากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เมืองซงอันถือว่าเป็นเมืองต้นแบบแห่งแรกของจีนที่จะพัฒนาภายใต้แนวคิดดังกล่าว โดยรับความร่วมมือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน ได้แก่ Alibaba และ Baidu ในการพัฒนา “City Brain” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการควบคุมสมาร์ทซิตี้ และพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ที่จำเป็น เช่น ระบบ IoT และ Big Data ระบบ Cloud Computing ที่เป็นส่วนจัดเก็บข้อมูล

หน้าที่สำคัญของระบบดังกล่าว คือ วางแผน และจัดการในด้านพลังงาน ทรัพยากร การผลิตรวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง และ การวางแผนระบบการขนส่งจราจรของเมือง ยิ่งไปนั้น Emerging Technologies อื่นๆ ยังสามารถสร้างสรร Solution ใหม่ๆ ให้เขตซงอัน เช่น ระบบจอดรถอัจฉริยะ ซุปเปอร์มาร์เก็ตไร้เงินสด รถยนต์ไร้คนขับ และศูนย์กลางFintech เป็นต้น ทั้งนี้ การออกแบบเมืองนอกจากจะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วเขตซงอันยังให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยฟื้นฟูทะเลสาปไป่หยางเตี้ยน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในจีนตอนบน รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียนเป็นร้อยละ 40 และย้ายอุตสาหกรรมหนักออกจากพื้นที่

รัฐบาลจีนคาดการณ์ว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2035 โดยตั้งเป้าหมายให้เมืองซงอันเป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าทางเทคโลยีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงจุดประกายการพัฒนากลุ่มเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย

5. สมาร์ทซิตี้ในประเทศไทย

ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีโดยมีการออกนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งหมายที่จะยกระดับจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมหนัก และการผลิตแบบ OEM สู่เศรษฐกิจที่พึ่งพานวัตกรรม นโยบายดังกล่าวจึงสอดคล้องกับแนวคิดของสมาร์ทซิตี้ที่ใช้เทคโลยีเป็นขับเคลื่อนชีวิตความเป็นอยู่ของคน และเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของภูมิภาคต่างๆ

ในปัจจุบัน สองจังหวัดนำร่องในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น และภูเก็ต โดยทั้งสองจังหวัดได้รับความร่วมมือทั้งจากจากภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ทั้งนี้ในปี 2018 ทั้งจังหวัดขอนแก่น และภูเก็ตได้รับรางวัล Smart City Asia Pacific Awards ในสาขา Public Health and Social Services จากโครงการ Smart Health และสาขา Tourism, Arts, Culture, Open Spaces จากโครงการ Phuket Smart Tourism and Living Communities ตามลำดับ

โดยในจังหวัดขอนแก่นได้มีการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่ครอบคลุมถึงด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เช่น ระบบ Smart Ambulance ที่ใช้ IoT, Robotics และ Teleconference เพื่อให้แพทย์ได้ดูอาการผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนที่จะถึงโรงพยาบาล ระบบ Preventive Healthcare ที่ใช้เซ็นเซอร์ที่ถูกติดตั้งที่สายรัดข้อมือเพื่อจัดเก็บข้อมูลสุขภาพและแนะนำคำปรึกษาด้านสุขภาพตามข้อมูลนั้น และด้านการเดินทางขนส่ง เช่น การพัฒนาระบบ LRT หรือรถไฟฟ้าโมโนเรล และแอพพลิเคชั่น “อยู่ไส” ระบบอำนวยความสะดวกขนส่งสาธารณะรถสองแถว เป็นต้น

ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้พัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่ครอบคลุมต่างๆ ได้แก่ ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการให้บริการฟรีอินเตอร์เน็ตไร้สาย รวมถึงการจัดทำสายรัดข้อมูลและแอพพลิเคชั่นสำหรับนักท่องเที่ยว ด้านความปลอดภัยสาธารณะโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ฝังระบบวิเคราะห์ป้ายทะเบียนรถและระบบวิเคราะห์หน้าตาเพื่อตรวจตราสอดส่องความปลอดภัยและป้องกันการกระทำความผิด ด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้ IoT ในระบบการจัดการน้ำเสีย และด้านหน่วยงานรัฐโดยการใช้ฐานข้อมูล Big Data เพื่อวิเคราะห์ Insight ประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้ ในปี 2018 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้ตั้งเป้าการพัฒนาสมาร์ทซิตี้อีก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร รวมถึง 3 จังหวัดใน EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นของสมาร์ทซิตี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการพัฒนา ได้แก่ วิสัยทัศน์การพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน การพัฒนาระบบโครงสร้างให้มีความพร้อม การส่งเสริมทัศนคติของภาคส่วนต่างๆ ที่ให้ความสำคัญต่อนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น การพัฒนาดังกล่าวนอกจากจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดแล้ว ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้มีขีดความสามารถการแข่งขันมากขึ้นจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ รวมถึงเพิ่มความน่าดึงดูดการลงทุนและผู้มีความสามารถที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

6. บทส่งท้าย

สมาร์ทซิตี้ถือว่าเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหา Urban Malaise เช่น ปัญหาความแออัด ปัญหาจราจร ปัญหามลพิษ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเมืองให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กับรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การพัฒนาสมาร์ทซิตี้จำเป็นต้องอาศัยการนำ Emerging Technologies มาใช้ เช่น IoT Big Data และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น เพื่อจัดการด้านต่างๆ ในชุมชนเมือง ได้แก่ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านการเดินทางขนส่ง ด้านอาคารสถานที่ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ด้านหน่วยงานรัฐ ด้านเศรษฐกิจ และทรัพยากรมนุษย์ ให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนทางสังคม และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในปัจจุบัน ทั่วโลกได้ให้ความความสำคัญในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เนื่องจากในปี 2050 ร้อยละ 70 ของประชากรโลกจะอาศัยในชุมชนเมือง ทำให้ความเสี่ยงต่อปัญหา Urban Malaise มีมากขึ้น ประเทศสิงคโปร์ และจีน ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ โดยมีการจัดตั้งโครงการการริเริ่มอย่างจริงจัง โครงการ Smart Nation ของประเทศสิงคโปร์ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการจัดอันดับของสถาบัน Juniper ได้ให้โครงการ Smart Nation เป็นอันดับ 1 ในทุกๆ ด้านของสมาร์ทซิตี้ รวมถึงโครงการเขต Xiong An ที่พัฒนาเพื่อรองรับการขยายของนครหลวงปักกิ่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนโดยเฉพาะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของจีน ได้แก่ Alibaba และ Baidu ในการวางโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในพื้นที่

ประเทศไทยก็เช่นกัน ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ต และขอนแก่นได้ริเริ่มโครงการสมาร์ทซิตี้ โดยครอบคลุมการพัฒนาด้านต่าง ของชุมชนเมือง โดยเฉพาะด้านการเดินทางขนส่ง ด้านสาธารณสุข รวมถึงด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้ตั้งเป้าในการพัฒนาเพิ่มอีก 5 จังหวัด ซึ่งจะช่วยกระจายความเจริญสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันและความสามารถในการดึงดูดการลงทุนให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นๆ อีกด้วย

บรรณานุกรม

Alibaba plans to build Xiongan New Area into an AI ‘smart city’ [Online] / auth. Tech Wire Asia // Tech Wire Asia. – November 10, 2017. – July 2018, 16. – https://techwireasia.com/2017/11/alibaba-plans-build-xiongan-new-area-ai-smart-city/.

Baidu and Xiongan New Area Sign Strategic Agreement to Develop Smart City [Online] / auth. Global News Wire // Global News Wire. – December 20, 2017. – July 16, 2017. – https://globenewswire.com/news-release/2017/12/20/1267217/0/en/Baidu-and-Xiongan-New-Area-Sign-Strategic-Agreement-to-Develop-Smart-City.html.

Current trends in Smart City initiatives: Some stylised facts [Journal] / auth. Neirotti Paolo [et al.]. – Torino : Cities, 2014. – 36 : Vol. 25.

Highlights of Xiongan New Area master plan [Online] / auth. China Daily // TelegraphUK. – May 2, 2018. – July 18, 2018. – https://www.telegraph.co.uk/news/world/china-watch/business/highlights-of-xiongan-development/.

Making a new area in Xiong’an: Incentives and challenges of China’s “Millennium Plan” [Journal] / auth. Zou Yonghua and Zhao Wanxia. – [s.l.] : ELSEVIER, 2018. – Vol. 88.

Maximising The Smart Cities Opportunity [Report] / auth. GSMA. – 2017.

Singapore’s vision of a smart nation [Journal] / auth. Pan Gary and Foo See Liang. – Singapore : Asian Management Insights, 2016. – 82 : Vol. 76.

SMART CITIES – WHAT’S IN IT FOR CITIZENS? [Report] / auth. Juniper Research. – [s.l.] : Juniper , 2017.

Smart Cities and Cost-savings [Report] / auth. ABI Research. – New York : ABI Research, 2017.

Smart Cities: How rapid advances in technology are reshaping our economy and society [Report] / auth. Deloitte. – [s.l.] : Deloitte, 2017.

SMART CITY ASIA PACIFIC AWARDS: TOP SMART CITY PROJECTS FOR 2018 [Online] / auth. IDC // IDC Smart City. – July 19, 2018. – http://www.idc.asia/idcscapa/winners.html.

SMART CITY STRATEGY INSIGHT [Online] // bee smart city. – April 2, 2018. – July 2018, 16. – https://hub.beesmart.city/strategy/6-key-benefits-of-becoming-a-smart-city.

Smart Nation [Online] / auth. Smart Nation and Digital Government Office // Smart Nation Singapore. – June 05, 2018. – July 16, 2018. – https://www.smartnation.sg/about/Smart-Nation.

Image by Tumisu from Pixabay