บทความโดย
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
ในช่วงปลายปี 2558 รัฐบาลไทยเริ่มดำเนินนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติหรือ National e-Payment เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย มีมาตรฐานสากล มีต้นทุนต่ำ และรองรับธุรกรรมการชำระเงินของประชาชน รวมถึงยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการโอน ชำระเงินของทั้งภาครัฐและเอกชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างชัดเจนในด้านการชำระเงิน มีการโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลาย สะท้อนจากข้อมูลทางสถิติชี้ให้เห็นว่าการใช้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในช่วงปี 2559-2562 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 116 ต่อปี โดยเฉพาะการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ที่มียอดลงทะเบียนที่สูงถึง 46.5 ล้านหมายเลข และมีการใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 4.5 ล้านครั้งต่อวัน รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจำนวน 14.6 ล้านคน ในการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นบัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
หลังจากนั้น ในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด หรือที่เรียกว่า Lockdown ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักเพื่อลดการแพร่ระบาดของ Covid-19 เช่น สถานประกอบการบางประเภทที่ถูกสั่งปิดตามช่วงเวลาที่กำหนด การจำกัดช่วงเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน การรณรงค์ให้มีการ Work from Home เป็นต้น อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ใกล้เคียงกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างทางสังคม การประชุมออนไลน์ การสั่งอาหารผ่านแอพลิเคชั่น เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เรียกว่า ภาวะปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยดังกล่าว รัฐบาลก็มิได้นิ่งนอนใจได้เร่งดำเนินมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบ New Normal ด้วยเช่นกัน โดยการนำกระบวนการด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภาครัฐต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระและมีรายได้น้อย ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อลดปริมาณการใช้เงินสด และอาจเป็นตัวกลางของการแพร่ระบาดของ Covid-19
รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์ และมีกระบวนการตรวจสอบคัดกรองด้วยการใช้เทคโนโลยี Big data ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เป็นผลให้ช่วงที่ผ่านมาเรามักจะเห็นคนซื้อและคนขายหยิบโทรศัพท์ 2 เครื่องมาสแกน QR Code เพื่อซื้อ-ขายสินค้า โดยกระทรวงการคลังได้เริ่มดำเนินการมาตรการรูปแบบนี้ครั้งแรกในปี 2562 ผ่านโครงการชิมช้อปใช้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยภาครัฐสนับสนุนทางการเงินและส่วนลดสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “เป๋าตัง” โดยมีประชาชนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 14.4 ล้านคน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 2.9 หมื่นล้านบาท ต่อมาในปี 2563 กระทรวงการคลังจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown จึงได้ดำเนินโครงการเราไม่ทิ้งกัน โดยเป็นการโอนเงินจำนวน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบพร้อมเพย์และบัญชีธนาคาร เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด Covid-19 ผ่านการใช้เงินสด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 15.3 ล้านคน นอกจากนั้น กระทรวงการคลังยังได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพื่อมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)อย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ Covid-19 ตัวอย่างเช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยภาครัฐให้สิทธิส่วนลดที่พัก อาหาร และค่าเดินทางทั่วประเทศ มีประชาชนร่วมลงทะเบียนมากถึง 7.6 ล้านคน มีการใช้จ่ายแล้วกว่า 6.7 พันล้านบาท การรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 13.7 ล้านคนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการใช้จ่ายแล้วกว่า 4.0 หมื่นล้านบาท และโครงการคนละครึ่งที่ภาครัฐบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนด้วยการที่รัฐชำระเงินให้ 50% ผู้ได้รับสิทธิชำระเงินเอง 50% ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังในการซื้ออาหารและสินค้ากับร้านค้าที่เข้าโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหาบเร่แผงลอยรายเล็ก โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 15.2 ล้านคน มีการใช้จ่ายแล้วกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ 1 กุมภาพันธ์ 2564) เป็นต้น
ในปี 2564 จากการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ กระทรวงการคลังจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอีกครั้งและเพื่อมุ่งสู่ Cashless Society จึงเป็นที่มาของ “โครงการเราชนะ” ที่จะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือ 7,000 บาทให้แก่ประชาชน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2) กลุ่มที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จาก “โครงการคนละครึ่ง” และ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” และ 3) ผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่ม 1 และ 2 และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของ “โครงการชนะ” ต้องมาลงทะเบียนใน www.เราชนะ.com ซึ่งมีผู้ร่วมโครงการไปทั้งสิ้นกว่า 30.7 ล้านคน และสามารถสร้างเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ 9 มีนาคม 2564) ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจของโครงการนี้คือ ผู้ได้รับสิทธิจะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1.2 ล้านรายซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ผ่านบัตรประจำตัวประชาชน และผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ไม่สามารถกดเป็นเงินสดออกมาใช้จ่ายได้
หากพิจารณาความพร้อมทางด้านดิจิทัลของไทยที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อันสะท้อนจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจทั่วโลก (IMD World Digital Competitiveness Ranking) ประจำปี 2563 ของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) โดยในภาพรวมประเทศไทยถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 39 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 อันดับ อีกทั้ง การจัดอันดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Networked Readiness Index) ประจำปี 2563 ของ World Economic Forum เพื่อประเมินแนวโน้มความสามารถในการแสวงหาโอกาสจากเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวม 134 ประเทศ ประเทศไทยติดอยู่อันดับที่ 51 ดีขึ้น 5 อันดับจากปี 2562 โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลของภาครัฐและภาคประชาชนที่อันดับดีขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ จากการที่ Tufts University และ MasterCard ร่วมกันจัดทำดัชนีความพร้อมทางดิจิทัล (Digital Intelligence Index) ประจำปี 2563 พบว่า ประเทศไทยไทยมีคะแนนติดอันดับที่ 48 จากทั้งหมด 90 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีอันดับที่ดีกว่าสหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
Cashless Society ในยุค New Normal ดังกล่าว ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชน
จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพื่อมุ่งสู่ Cashless Society ในยุค New Normal ดังกล่าว ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชน สะท้อนจากยอดผู้เข้าร่วมและยอดการใช้จ่ายในแต่ละโครงการ ทำให้เห็นถึงรูปแบบพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยการดำเนินมาตรการในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความพร้อมด้านดิจิทัลของไทย ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีของคนไทยทุกเพศทุกวัย เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Cashless Society อย่างสมบูรณ์ จะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ อีกทั้งทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวและเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากความเร็วการหมุนของปริมาณเงินในระบบ รวมถึงประชาชนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาฝาก-ถอนเงินที่ธนาคารอีกต่อไป ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในเกิดปัญหาอาชญากรรม ในมุมมองของภาครัฐ การสร้าง Cashless Society อย่างสมบูรณ์ จะช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้ง ตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินได้ง่าย ซึ่งช่วยป้องกันการฟอกเงินและการกระทำความผิดในการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการโจรกรรมทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการบั่นทอนความเชื่อมั่นให้ประชาชนทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ฉะนั้น มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินออกไลน์ให้แก่ประชาชน รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจทางการเงินออนไลน์ของผู้ให้บริการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การเกิด Cashless Society ยังปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ขาดความรู้ทางเทคโนโลยีและยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 แสนคนทั่วประเทศ โดย “โครงการเราชนะ”รัฐบาลได้คำนึงถึงประเด็นดังกล่าว และให้เงินสนับสนุนแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อนำไปใช้จ่าย
แผนระยะยาวของรัฐบาลมีการกำหนดแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์”
นอกจากนี้ แผนระยะยาวของรัฐบาลมีการกำหนดแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์” ซึ่งมีตัวอย่างนโยบายสำคัญ เช่น การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล การสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยด้านดิจิทัล การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะต้องอาศัยความร่วมมือของภาคประชาสังคมในการปรับตัวและการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลอยู่เสมอในยุค New normal ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์ได้ในอนาคต
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน