ย้อนอดีต เยี่ยมหมู่บ้านโบราณ กับพิพิธภัณฑ์บ้านญี่ปุ่น

ย้อนอดีต เยี่ยมหมู่บ้านโบราณ กับพิพิธภัณฑ์บ้านญี่ปุ่น

ดร. พิมพ์นารา หิรัญกสิ

ตั้งแต่ญี่ปุ่นประกาศยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 นักท่องเที่ยวจากไทยได้หลั่งไหลเข้าญี่ปุ่นแล้วกว่าหนึ่งล้านคน เชื่อว่าถึงบัดนี้ หลายคนคงได้ตักตวงโอกาส “โนวีซ่า” ครั้งนี้ เยี่ยมเยือนแดนซามูไรเพื่อชมซากุระบาน ใบไม้เปลี่ยนสี ภูเขาไฟฟูจิ พร้อมลิ้มรสปลาดิบชั้นดีจากต้นกำเนิดกันไปแล้ว

เมื่อพูดถึงญี่ปุ่น แน่นอนว่าเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วไปคงจะเป็นโตเกียว เมืองหลวงที่ครองอันดับ 1 ของการท่องเที่ยวญี่ปุ่นและมีสนามบินนานาชาติถึง 2 แห่งให้เลือกใช้บริการ ตลอดจนเมืองใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโอซาก้า เกียวโต หรือเมืองอื่นๆ บนเกาะใหญ่อย่างฮอกไกโดหรือคิวชู แต่นอกจากเมืองใหญ่เหล่านี้แล้ว นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางออกนิอกเส้นทางหลัก ไปเยี่ยมเยือนเมืองเล็กๆ ที่เป็นมรดกโลกอย่างชิราคาวาโกะที่มีเอกลักษณ์เป็นบ้านทรงหลังคาหน้าจั่วสูงแต่หากไม่อยากเดินทางไกล ใกล้ๆ โตเกียวเองก็มีบ้านโบราณให้ชมอย่างจุใจ ในพิพิธภัณฑ์บ้านญี่ปุ่นโบราณกลางแจ้งที่จัดแสดงรูปแบบหมู่บ้านยุคเอโดะแบบต่างๆ และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนชาวญี่ปุ่นในยุคโบราณให้เข้าชม

พิพิธภัณฑ์บ้านญี่ปุ่นโบราณกลางแจ้ง (Nihon Minkaen Open-air Folk House Museum -日本民家園)

พิพิธภัณฑ์บ้านญี่ปุ่นโบราณกลางแจ้งตั้งอยู่กลางสวนอิคุตะปาร์ค ในเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานากาว่า อาจจะฟังดูไกลแต่จริงๆ แล้วใช้เวลาเดินทางจากใจกลางโตเกียวเพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้น โดยหากตั้งต้นที่สถานีชินจูกุที่แสนวุ่นวาย ให้คอยมองหาป้ายรถไฟสายโอดาคิว (Odakyu)เลือกขึ้นรถด่วนสีแดง นั่งเพลินๆ เพียง 20 นาที ก็จะถึงสถานีมุโคงะโอกะ-ยูเอน (Mukogaoka-Yuen) ในเมืองคาวาซากิจากสถานีให้คอยมองหาป้ายทางไปพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งมีอยู่เกือบตลอดทาง เดินอีกเพียง 15 นาทีก็จะถึงทางเข้าพิพิธภัณฑ์ฯเสียค่าเข้าชม 500 เยน (ประมาณ 150 บาท) ปัจจุบันมีบ้านโบราณจัดแสดงอยู่ถึงกว่า 25 หลัง

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงมีคนคิดนำบ้านญี่ปุ่นหรือมิงกะ (Minka – 民家) เหล่านี้มาจัดแสดงไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อได้เข้าชมแล้วจึงได้รู้ว่าบ้านหลายหลังเป็นบ้านที่เจ้าของจำต้องปล่อยทิ้งไว้ บ้างก็ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สร้างเขื่อน หากไม่ถูกนำมาจัดแสดงไว้เป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว บ้านเหล่านี้คงหลับไหลอยู่ก้นเขื่อนเป็นแน่ บางหลังถูกปล่อยรกร้างไว้หลายปี ส่วนบางหลังก็เป็นบ้านที่ทางการและชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เพื่อให้คนทั่วไปได้ศึกษา

ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงบ้านตามภูมิลำเนา เริ่มจากบ้านเรือนในชุมชนโบราณ (Shukuba – 宿場) หมู่บ้านในเขตชิน-เอตสึ (Shin-Etsu – 信越) หมู่บ้านในเขตคันโตหรือที่ราบภาคตะวันออก (Kanto – 関東) หมู่บ้านในจังหวัดคานากาว่า ไปจนถึงหมู่บ้านจากเขตโทโฮคุหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Tohoku – 東北) นอกจากนี้ ยังมีโรงละครคาบุกิและเรือนสาธิตการย้อมผ้าด้วยครามอีกด้วย

ส่วนการจัดแสดงการสร้างบ้านแบบญี่ปุ่น

หลังจากซื้อบัตรเข้าชมแล้ว อาคารแรกที่เราเดินเข้าไปคืออาคารนิทรรศการที่จัดแสดงเทคนิคการสร้างบ้านแบบญี่ปุ่น ด้วยการสร้างบ้านเป็นการผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ บ้านญี่ปุ่นจึงสะท้อนทั้งแนวคิด วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่น โดยหนึ่งในเทคนิคการสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การใช้ลิ่มไม้ตอกแทนตะปูซึ่งจะช่วยให้โครงสร้างแข็งแรง บ้านญี่ปุ่นแต่ละหลังจึงมีอายุยืนยาวอยู่ได้นับร้อยปี

เตาอิโรอิ

เมื่อเดินออกจากอาคารนิทรรศการ เรายืนมองบ้านซูซุกิ (Suzuki House – 鈴木家住宅 ) ซึ่งเดิมเคยเป็นโรงเตี๊ยมสำหรับคนซื้อขายม้าในจังหวัดฟูคุชิม่า ที่ตั้งตระหง่านราวกับพร้อมต้อนรับผู้มาเยือน พื้นส่วนใหญ่ในบ้านชั้นล่างเป็นดิน เนื่องจากสมัยก่อนชั้นล่างของบ้านเป็นคอกม้า เมื่อเดินเข้าไปในบ้าน เราได้กลิ่นเหมือนมีใครจุดเตาถ่าน พอมองเข้าไป
ก็เห็นเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ข้างเตาโบราณที่เรียกว่าอิโรริ (Irori – 囲炉裏) ที่ถ่านติดไฟลุกโพลงอยู่ เหนือเตามีหม้อต้มน้ำแขวนไว้บนตะขอเกี่ยวที่เรียกว่าจิไซคางิ (Jizaikagi – 自在鉤) ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่เตาอุ่นๆ ที่จุดกลางบ้านในวันที่ลมเย็นๆ ยังโบกพัด ก็ช่วยให้เรารู้สึกคลายหนาวได้อีกนิด

นอกจากนั้น เนื่องจากคณะที่เราไปมีคุณแม่ลูกอ่อนที่จำเป็นต้องหาที่ให้นมลูก พอเจ้าหน้าที่เห็นอย่างนั้นก็รีบกุลีกุจอหาห้องว่างซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบ้าน พร้อมทั้งกั้นฉากเพื่อความเป็นส่วนตัว ราวกับเสกห้องให้นมลูกชั่วคราวขึ้นมากลางบ้านโบราณ

  มิเสะหรือหน้าร้าน   

บ้านหลังต่อไปที่อยู่ติดกัน คือบ้านอิโอกะ (Ioka House – 井岡家住宅) ซึ่งเคยตั้งอยู่ในเมืองนารา เมืองหลวงเก่าแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น บ้านอิโอกะเคยเป็นร้านค้ามาก่อน เริ่มจากการขายน้ำมันตะเกียง จนต่อมากลายเป็นร้านขายธูปและโรงงานทำธูปขนาดย่อมๆ บ้านอิโอกะนี้มีจุดเด่นด้วยระเบียงแบบพับได้ ที่เรียกว่าอะเงมิเสะ (Agemise – 揚見世) ซึ่งใช้เป็นหน้าร้านในเวลากลางวัน พอตกกลางคืนก็พับเก็บพร้อมปิดบ้าน แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุดของคนญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคโบราณ ขณะที่บ้านหลังอื่นๆ ที่เคยเป็นร้านค้ามาก่อน มักจะมีหน้าร้านแบบเป็นคอกเล็กๆ ที่เรียกว่ามิเสะ (Mise -店) ให้คนขายนั่งต้อนรับลูกค้า

รั้วและประตูบ้านซาจิ (Saji Gate – 佐地家の門)

 นอกจากบ้านเป็นหลังๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังจัดแสดงรั้วและประตูบ้านซาจิ (Saji Gate – 佐地家の門) ซึ่งมาจากบ้านของตระกูลซามูไรในเมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ โดยเคยเป็นสมบัติของตระกูลอิชิคาว่า ก่อนจะตกเป็นของตระกูลซาจิจนกระทั่งมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้ รั้วและประตูบ้านซาจิมีหลังคามุงกระเบื้องดินเหนียวแผ่นโค้งที่เรียกว่าซังกาวาระ (Sangawara -桟瓦) ซึ่งเป็นกระเบื้องชนิดเดียวกับที่ใช้กับตัวบ้านดั้งเดิม

เสียงน้ำไหลทำให้เราต้องหันกลับไปมองกังหันน้ำ (Suishagoya – 水車小屋) ที่ย้ายมาจากจังหวัดนากาโน่เป็นกังหันที่เอาไว้โม่แป้ง เมื่อมีน้ำไหลผ่านกังหัน พลังงานจากน้ำจะขับเคลื่อนกลไกให้สากไม้คอยตำข้าวและบดโม่แป้ง เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำเอาพลังงานธรรมชาติมาใช้อย่างชาญฉลาด

กังหันน้ำ (Suishagoya – 水車小屋)
บ้านเอมุไค

เมื่อเห็นมองหน้าจั่วสามเหลี่ยมหลังคาสูงของบ้านหลายหลังที่เรียกว่ากัสโชซึคุริ (Gassho-zukuri – 合掌造) หรือบ้านทรง “พนมมือ” ที่ตั้งในอาณาบริเวณเดียวกัน ทำให้รู้ว่าเราเข้าสู่เขตชิน-เอตสึแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้านซาซากิ (Sasaki House – 佐々木家住宅) ที่เริ่มสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1731 บ้านเอมุไค (Emukai House – 江向家住宅) บ้านยามาดะ (Yamada House – 山田家住宅) และบ้านโนะฮาระ (Nohara House – 野原家住宅) บ้านในเขตนี้มีหลังคาหน้าจั่วที่แคบและหลังคาสูงเพื่อไว้เผชิญฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนัก เพราะเมื่อหิมะตก หน้าจั่วที่แคบและหลังคาที่สูงนี้จะทำให้หิมะหล่นลงสู่พื้นได้โดยง่าย ไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับหลังคาและโครงสร้างบ้านเพื่อให้เป็นอันตรายแต่อย่างใด

บ้านยามาชิตะ (Yamashita House – 山下家住宅)

หลังจากเดินมาได้ครึ่งทาง ห้าชีวิตก็หันมาสบตากันโดยมิได้นัดหมาย เพราะเราเดินมาถึงบ้านยามาชิตะ (Yamashita House – 山下家住宅) ซึ่งเป็นบริเวณร้านอาหารของทางพิพิธภัณฑ์ที่หลายคนเห็นแล้วอดนึกถึงภาพเมืองชิราคาวาโกะไม่ได้ เนื่องจากบ้านยามาชิตะนั้น เดิมเคยตั้งอยู่ในเมืองชิราคาวาโกะ จังหวัดกิฟุ มาก่อน เป็นบ้านทรงพนมมือ หน้าจั่วแคบ หลังคาสูงจนภายในสามารถแบ่งเป็น 2 ชั้นได้สบายๆ แถมภายในอากาศยังถ่ายเทได้ดี สมกับที่เมื่อก่อนเคยเป็นฟาร์มเลี้ยงไหมขนาดย่อมๆ แต่ปัจจุบันชั้น 2 ของบ้านกลายเป็นร้านอาหาร มีของว่างง่ายๆ อย่างโซบะกับไอศกรีมให้นักท่องเที่ยวได้พักเติมกำลัง นอกจากนั้น ยังมีนิทรรศการเล็กๆ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวันสุดท้ายของหมู่บ้านคัตสึระเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ที่ปัจจุบันทั้งหมู่บ้านจมอยู่ใต้ทะเลสาบคัตสึระซึ่งเกิดจากเขื่อนกั้นแม่น้ำซาไค (境川ダム)

เตาไฟในบ้านโอตะ (Ota House – 太田家住宅)

เมื่อเดินออกจากบ้านยามาชิตะ เราก็เข้าสู่เขตคันโต ซึ่งโดยมากมักจะเป็นบ้านที่มีพื้นเป็นดิน มีส่วนครัวที่มีเตาไฟและที่ประกอบอาหารที่เรียกว่าคามาโดะ (竈) ตั้งอยู่บนพื้น ส่วนบริเวณที่พักอาศัยจะยกพื้นขึ้นสูงเล็กน้อยตามธรรมเนียมการสร้างบ้านญี่ปุ่นทั่วไป บางหลังอย่างเช่นบ้านฮิโรเสะ (Hirose House – 広瀬家住宅) จะปูด้วยพื้นที่ทำจากฟางมัดอย่างเป็นระเบียบ เรียกว่าโดสะ (Doza – 土座) แล้วจึงปูเสื่อฟางหรือเสื่อทาทามิทับไว้อีกที แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน นอกจากเตาไฟแล้ว บ้านบางหลังยังมีคอกม้าที่อยู่ในบริเวณเดียวกับบริเวณบ้าน คล้ายๆ กับบ้านสมัยใหม่ที่จำเป็นต้องมีโรงรถ  ในสมัยนั้นม้าเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 เป็นทั้งพาหนะไว้ขนคน แล้วยังเป็นแรงงานไว้ใช้ขนของอีกด้วย ไม่ต่างจากรถยนต์ในสมัยนี้

คอกม้าในบ้านคุโด้ (Kudo House – 工藤家住宅)  
กระท่อมคนแจวเรือ

นอกจากบ้านที่เคยมีคนอยู่อาศัยแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงกระท่อมของคนแจวเรือ ซึ่งมีขนาดเล็กกะทัดรัดกว้างและยาวเพียง 1.8 เมตรเท่านั้น อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา สามารถใช้คานสอดและแบกบนไหล่คนเพียง 4 คนได้สบายๆ กระท่อมนี้เดิมตั้งริมแม่น้ำทามะ (多摩川) เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานากาว่าไม่ไกลจากตัวพิพิธภัณฑ์เท่าใดนัก เป็นกระท่อมที่พักของผู้มีอาชีพรับจ้างแจวเรือข้ามฟากข้ามแม่น้ำทามะนั่นเอง ภายในกระท่อมถึงจะเล็กแต่ก็พอเพียง โดยฝั่งพื้นดินมีเตาไฟและม้านั่งตั้งอยู่ ขณะที่ฝั่งที่ปูเสื่อไม้ไผ่ก็มีที่พอให้เอนหลังนอนพักได้

ศาลเจ้าโคคะเงซัง (Kokagesan Shrine – 蚕影山祠堂)

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่วิถีชีวิตของชาวซามูไรที่นับถือศาสนาชินโตเป็นส่วนใหญ่ คือศาลเจ้า จึงไม่แปลกที่จะได้เจอศาลเจ้าโคคะเงซัง (Kokagesan Shrine – 蚕影山祠堂) อยู่ในบริเวณจัดแสดงไม่ไกลจากบ้านอิวาซาว่า (Iwasawa House – 岩澤家住宅) เท่าใดนัก ศาลเจ้านี้เป็นศาลเจ้าขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ หลังคามุงฟางแบบง่ายๆ สร้างขึ้นเมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว เพื่อถวายสักการะแด่เทพเจ้าแห่งการเลี้ยงไหม ซึ่งการเลี้ยงไหมเคยเป็นอาชีพสำคัญอาชีพหนึ่งของคนในแถบคันโตในอดีต แต่เมื่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมเริ่มซาลง ชาวเมืองก็ได้ตัดสินใจย้ายศาลเจ้ามาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เนื่องจากสู้ค่าดูแลไม่ไหว ภายในศาลเจ้าสลักภาพนูนต่ำเล่าประวัติของ “เจ้าหญิงทองคำ” ซึ่งมาจากทางตอนเหนือของอินเดียและต้องประสบเคราะห์กรรมถึง 4 อย่างก่อนที่จะเดินทางถึงญี่ปุ่นในร่างพระโพธิสัตว์เมเมียว

โรงละครคาบุกิ
ซากุระในสวนอิคุตะปาร์ค

เมื่อเดินพ้นบริเวณที่จัดแสดงบ้าน สิ่งก่อสร้าง 2 สิ่งสุดท้ายที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเราคือโรงละครคาบุกิและเรือนสาธิตการย้อมผ้าด้วยคราม โรงละครคาบุกินี้เดิมตั้งอยู่ที่เมืองชิมะ จังหวัดมิเอะ สร้างขึ้นในช่วงปลายยุคเอโดะมีเวทีที่หมุนได้ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนฉากได้อย่างลื่นไหล

สุดท้ายคือเรือนสาธิตการย้อมผ้าด้วยครามที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี และหากอยากลองศิลปะการย้อมผ้าด้วยครามแบบดั้งเดิมด้วยมือตัวเอง ก็สามารถเลือกซื้อผ้า หรือนำผ้ามาเองแล้วลองย้อมผ้าด้วยตัวเองได้ในราคาไม่แพง น่าเสียดายว่าเมื่อเรามาถึงเรือนสาธิตช้าไปนิด จนเลยเวลารับผู้ชมรอบสุดท้ายไปแล้ว เลยอดทดสอบความสามารถทางศิลปะของเราที่อาจจะแอบซ่อนอยู่ลึกๆ ก็เป็นได้

เราเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ตอนใกล้เวลาปิด อากาศกลางเดือนเมษายนช่วงใกล้ค่ำยังเย็นยะเยือกด้วยอุณหภูมิใกล้ๆ 10 องศาเซลเซียส ระหว่างทางเดินกลับไปยังสถานีรถไฟผ่านสวนอิคุตะปาร์ค เราสูดลมหายใจเอาอากาศเฮือกใหญ่ไว้เต็มปอด เป็นอากาศของฤดูใบไม้ผลิที่เจือกลิ่นอายของวันวาน กลิ่นอายของหมู่บ้านโบราณ ผสมกับกลิ่นจากเกสรดอกไม้จากซากุระที่กำลังผลิบาน ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเพียง 3 ชั่วโมงที่เราหมดไปกับพิพิธภัณฑ์บ้านญี่ปุ่นโบราณกลางแจ้งจะพาเรากลับไปยังโลกแห่งอดีต ที่ยังมีคนญี่ปุ่นสมัยเอโดะทำนาทำไร่ ค้าขาย เลี้ยงไหม และแจวเรือเลี้ยงชีพ

เราก้าวเท้าเข้าสถานีมุโคงะโอกะ-ยูเอน ในมือกำบัตรรถไฟเอาไว้แน่น พลางทำใจรับมือกับความวุ่นวายอันแสนศิวิไลซ์ที่กำลังจะได้เจออีกครั้ง ณ ใจกลางกรุงโตเกียว.

พิพิธภัณฑ์บ้านญี่ปุ่นโบราณกลางแจ้ง
(Nihon Minkaen Open-air Folk House Museum -日本民家園) 7-1-1 Masugata, Tama Ward, Kawasaki City, 214-0032 Japan โทร: +81-44-922-2181 เวลาเปิด: 9.30 – 17.00 (มีนาคม – ตุลาคม)             9.30 – 16.30 (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) ปิดวันจันทร์ และวันหยุดช่วงปีใหม่