การพัฒนาประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน

การพัฒนาประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน

บทความโดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล
บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
ปภัช สุจิตรัตนันท์

1.การพัฒนาประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน

ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒนาฯ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ในสมัยรัฐบาลจองพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ โดยในปี พ.ศ. 2504 ได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกขึ้น ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 มีระยะเวลาของแผน 6 ปี โดยที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มา มีระยะเวลาของแผน 5 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กลายเป็นแม่แบบของการวางแผนด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยอย่างเด่นชัด รวมทั้งยังเป็นเป้าหมายร่วมที่คนในสังคมไทยพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน แม้ระยะหลังจะเน้นฉันทามติและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในขั้นตอนการร่างแผนมากขึ้น

ในช่วงเริ่มต้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ได้รับอิทธิพลจากอิทธิพลของนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา โดยวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนา ฯ ฉบับนี้ คือ เร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเน้นกลยุทธ์การวางแผนด้วยการลงทุนในโครงการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยเทคนิคการวางแผนด้านการวิเคราะห์โครงการ อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาของแผนฉบับนี้เน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ (Infrastructure) ในรูปแบบของการคมนาคมขนส่ง ระบบเขื่อนเพื่อการชลประทานและผลิตไฟฟ้า เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น และสาธารณูปโภคต่าง ๆ อีกทั้ง รัฐบาลทุ่มเททรัพยากรเพื่อการปูพื้นฐานให้มีการลงทุนในด้านเอกชนเป็นหลัก ทำให้ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 นั้น เศรษฐกิจของประเทศได้มีความเจริญไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.2 จากประมาณ 56,000 ล้านบาท ในปี 2503 เป็น 87,000 ในปี 2509 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ คือ เศรษฐกิจขยายตัวสูง มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่เกิดปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ในเมืองและเป็นผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514) ยังคงเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศคล้ายแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 โดยแนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ยังคงเน้นการขยายอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ได้มีการเริ่มพูดถึงความสำคัญของการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทั้งช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-2

ต่อมาในช่วงแผนพัฒนาฯ 3 (พ.ศ. 2515-2519) แม้ว่าจะยังเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น และเริ่มพูดการวางแผนทางด้านสังคม โดยมีการกำหนด

นโยบายด้านประชากรเป็นครั้งแรก แต่ยังมองประชากรเพียงเฉพาะในด้านการลดอัตราการเพิ่มเท่านั้น อีกทั้ง ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 นี้ประเทศไทยเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายด้านได้ผลต่ำกว่าเป้าหมาย เกิดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อและการว่างงาน รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประกอบกับสถานการณ์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์ที่เกิดในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 จึงมุ่งเน้นแนวทางหลักในการพัฒนาที่สำคัญ คือ เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งขยายการผลิตสาขาเกษตร ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และกระจายรายได้และการมีงานทำในภูมิภาค รวมถึงรักษาดุลการชำระเงินและการขาดดุลงบประมาณ จากผลการดำเนินงานในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 นั่น ทำให้ตลอดช่วงระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นกว่าเป้าหมายเล็กน้อย คือ เพิ่มในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.1 ต่อปี สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ที่ร้อยละ 7.0

จากการที่ประเทศไทยได้ทำการพัฒนามาแล้วกว่า 20 ปีนั้น ปรากฏว่าเศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างสูง รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้น การผลิตมีการกระจายตัวอย่างกว้างขวาง ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมถึงบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวกว้างขวางขึ้น แต่ปรากฏว่ายังคงมีปัญหาสำคัญ หลายประการ เช่น เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ดังนั้น ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5-6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศเป็นแนวใหม่ ยึดพื้นที่เป็นหลักในการวางแผนพัฒนา เน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินการคลังของประเทศเป็นพิเศษ และเน้นความสมดุลในการพัฒนาโดยมุ่งเน้นการกระจายรายได้และการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท และเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่

ต่อมาแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ได้มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 นี้ ถึงแม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย รายได้ประชาชาติและรายได้เฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น แต่ปัญหาสำคัญ ๆ เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาสังคมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้ง ยังมีประชาชนที่อยู่ห่างไกลบางกลุ่ม ยังไม่ได้รับบริการพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงได้รับแต่ยังไม่เพียงพอ ยังคงมีอยู่เหมือนในช่วงที่ผ่านมา

ในปี 2540 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดการว่างงาน ธุรกิจล้มละลาย และปัญหาหนี้สินจากต่างประเทศ จนนำไปสู่การขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้มีการปรับปรุงกรอบและทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางด้านมหภาคที่ได้ตกลงกับ IMF รวมถึงให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งนอกจากจะต้องรักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินการคลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศให้กลับคืนมา ยังจำเป็นต้องดำเนินการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศอันเป็นการสร้างรากฐานการผลิตให้เข้มแข็งและแข่งขันภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ได้ในระยะปานกลางและระยะยาว ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องดำเนินการลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มีต่อคนและสังคม จากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย จนส่งผลกระทบให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2540 และปี 2541 หดตัวลงร้อยละ -2.8 และ -7.6 ตามลำดับ โดยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดไว้เดิมนั้น จึงจำเป็นต้องปรับกรอบเศรษฐกิจมหภาคใหม่และให้ความสำคัญสูงสุดต่อการเร่งรัดรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยในช่วง 2 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2541) จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สำหรับในปี 2542 – 2544 ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมุ่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและขยายตัวในระดับปานกลาง

ต่อมาในช่วงปี 2545 – 2549 เป็นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นแผนที่ได้อันเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยยึดหลักทางสายกลางเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเป้าหมายสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้คือ การสร้างดุลภาพทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิตการบริหารจัดการระบบราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นที่ดีมีการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่เอื้ออาทรต่อคนจน เปิดโอกาสและสร้างศักยภาพในการพัฒนาให้คนจนมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน สามารพึ่งตนเองได้ สามารถลดอัตราคนจนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 12 ของประชากรทั้งประเทศ

ในช่วงต่อมา ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและแสวงหาประโยชน์อย่างรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วน และเป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงปี 2550 – 2551 (ค.ศ. 2007 – 2008) เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis)” จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีอุปสงค์รวมลดลงด้วยจึงทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ลดลงเช่นกัน รวมทั้งประเทศไทยที่จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2551 – 2552 เศรษฐกิจไทยเริ่มมีการชะลอตัวลง (รูปที่ 1) ทำให้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้ ได้มีการวางเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจไว้ คือ มุ่งเน้นให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวอย่างมีคุณภาพและมีเสถียรภาพ เพิ่มระดับการออม และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน ขณะเดียวกันปรับโครงสร้างการผลิตที่สมดุลยั่งยืนโดยรักษาสัดส่วนการผลิตภาคเกษตรที่เหมาะสม และเพิ่มบทบาทการผลิต ภาคบริการ พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและกระบวนการผลิตทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปรับโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ของประเทศให้มีคุณภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย

ต่อมาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) เป็นช่วงที่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะข้อผูกพันที่จะเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ในแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพคนและสังคม รวมถึงเน้นความสมดุลและความยั่งยืนของเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์

รูปที่ 1: อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในแต่ละช่วง

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวบรวมโดยคณะผู้เขียน

ทั้งนี้ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 – 11 (พ.ศ.2545 – 2559) เป็นช่วงที่มีหัวใจสำคัญของการพัฒนา ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เข้มข้นขึ้น ประกอบกับการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นอีกทั้ง ประเทศไทยยังประสบกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อาทิ วิกฤตสหรัฐฯ เหตุการณ์ประท้วงทางการเมือง เป็นต้น ทำให้ประไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเริ่มมีการปรับใช้แผนยุทธศาสตร์ (Strategy Plan) มาใช้ในการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ต่อมาในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการพัฒนา เพราะได้เชื่อมต่อกับภาพอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้าสู่การปฏิบัติในระยะเวลา 5 ปี โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นแผนแรกที่ถูกใช้ให้เป็นกลไกเชื่อมโยงสู่การขับเคลื่อนการพัฒนา ซึ่งกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดโดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มุ่งพัฒนาให้คนไทยทุกช่วงวัย เป็นคนที่สมบูรณ์ รวมถึงมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางสังคมที่มีคุณภาพ รวมถึงผู้ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพรวมทั้งชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีแนวทางการพัฒนาจังหวัด ภาค และเมือง ที่กำหนดพื้นที่เป้าหมาย สาขาการผลิตและบริการเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและกำกับให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ จังหวัด ภาค และเมือง เกิดผลสัมฤทธิ์และสอดคล้องกับเป้าหมายรวมของประเทศ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเป็นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อาศัยประสิทธิภาพของภาคการผลิตและคุณภาพสินค้าในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาปัจจัยสนับสนุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การฝึกอบรมแรงงาน ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน และความพร้อมของเทคโนโลยี ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร รวมทั้งยังมีอุปสรรคในการยกระดับประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน และประสิทธิภาพของภาครัฐที่มีความล่าช้าเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่เริ่มพัฒนาในช่วงเวลาเดียวกันและสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน จากการจัดสรรทรัพยากรระหว่างภาคเศรษฐกิจที่ผ่านมาที่ทำให้รูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถขับเคลื่อนสู่การเป็นประเทศรายได้สูง อีกทั้งยังไม่สามารถตอบสนองต่อโอกาสและทิศทางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดแข็งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยการใช้กลไกทางการคลัง และการบริหารจัดการนโยบายภาครัฐ แต่ยังคงมีปัญหาจากปัจจัยโครงสร้าง อาทิ การพึ่งพาต่างประเทศในสัดส่วนสูง ทั้งเงินลงทุน เทคโนโลยี ปัจจัยการผลิต ตลาดสำหรับการส่งออก รวมทั้งขีดจำกัดเชิงผลิตภาพของเศรษฐกิจโดยรวมที่เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับรายได้ และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนไหวต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อีกทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการรับจ้างผลิตหรืออยู่ในภาคการผลิตเดิมที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มากนัก และพบว่า ผลิตภาพการผลิตรวมของไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง จากข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะและคุณภาพแรงงาน อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อจำกัดและความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายประการ แต่ประเทศไทยยังคงมีสถานะของทุนทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพจากการมีพื้นฐานทางทรัพยากรที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าได้มาตรฐานสากลและมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดโลก

ดังนั้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จึงจำเป็นต้องเร่งรัดผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการผลิตเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนวัตกรรมและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เน้นการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการเชิงคุณภาพ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์สู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในประเทศอย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรม โดยถ่ายทอดแนวคิดในการพลิกโฉมประเทศสู่นโยบายและแผนในระดับต่าง ๆ ที่สนับสนุนการยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ทั้งเพื่อพลิกฟื้นสภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลักดันการพัฒนาสาขาการผลิตที่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะต่อไป ตลอดจนใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยได้มีการวางระบบไว้แล้วให้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงผลิตภาพของแรงงาน ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

2.บทสรุป

ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2502 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ การดำเนินการวางแผนได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดแผนและนโยบายอันเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570)

ทั้งนี้ ในแต่ละช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจในแต่ละช่วง โดยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-2 (พ.ศ.2504-2514) เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3-4 (พ.ศ.2515-2524) เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคม ต่อมาช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5-7 (พ.ศ.2525-2539) เน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาภูมิภาค ในช่วงต่อมาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8-10 (พ.ศ.2540-2554) ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในส่วนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) เน้นความสมดุลและความยั่งยืนของเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ต่อมาแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) เน้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา วางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวเพื่อการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) เน้นปรับปรุงจุดอ่อน ลดข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมและพัฒนาศักยภาพให้สอดรับกับพลวัตและเงื่อนไขใหม่ของโลก (รูปที่ 2)

รูปที่ 2: วาระการพัฒนาประเทศ จากอดีตถึงปัจจุบัน

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวบรวมโดยคณะผู้เขียน

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวปภัช สุจิตรตนนท์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน