ถอดบทเรียนประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ถอดบทเรียนประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ  พวงนวม
นายกานต์  แจ้งชัดใจ

1. บทนำ

          ความเชื่อมโยงของการศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพบริบทความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยเวลา ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศมักจะมีการเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับอีกประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศไว้ด้วยกัน โดยสำหรับประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับบริบทของประเทศไทยนั้นได้เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดหลังจากการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงการเข้าสู่ยุคสงครามเย็น (Cold War)และภายในเวลาต่อมาประเทศไทยได้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจไทย อันเป็นผลมาจากความพยายามของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องแสวงหาฐานการผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งใหม่ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) ได้อย่างเต็มรูปแบบ เรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงกับบริบทพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงการถอดบทเรียนประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยและมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับวารสารการเงินการคลัง และคณะทำงานโครงการบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมองค์กร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกันจัดรายการเสวนา “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค ประจำเดือนพฤษภาคม 2566” โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน (ดร.วิทย์ฯ) มาถ่ายทอดความรู้ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องสมุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง โดยรายละเอียดจะเป็นอย่างไร สามารถติตตามอ่านได้ในลำดับต่อไป

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
ผู้ประกาศข่าว พิธีกร และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ

2. ประวัติศาสตร์โลกที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองของ ดร.วิทย์ฯ

          ดร. วิทย์ฯ ได้เล่าว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยในอดีตมักนิยมศึกษาผ่านการใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นหลัก ทำให้เรามองเห็นภาพของประวัติศาสตร์ได้เพียงประวัติศาสตร์ไทย แต่เมื่อเราปรับจากการใช้ พ.ศ. เป็นคริสตศักราช (ค.ศ.) จะทำให้เรามองภาพของประวัติศาสตร์ได้ในมุมมองที่กว้างขึ้นและสามารถเชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์ทั่วโลกได้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2325 เป็นปีที่เกิดการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1782 โดยในช่วงนั้นตรงกับเหตุการณ์สำคัญของโลก ได้แก่ การประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่าในอดีตมุมมองการศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศได้แยกออกจากกัน แต่เมื่อเรานำประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกันแล้วจะสามารถเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างประวัติศาสตร์ในแต่ละประเทศได้

โดย ดร.วิทย์ฯ ได้เล่าถึงความเป็นมาของระเบียบโลกในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 และภายหลังจากนั้นโลกของเราได้แบ่งขั้วอำนาจออกเป็นสองขั้ว คือ 1) ขั้วสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) และ 2) ขั้วสหภาพโซเวียต และทำให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น (Cold War) ดังจะเห็นได้จากสงครามตัวแทน (Proxy War) ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมของโลก ยกตัวอย่างเช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม เป็นต้น ในขณะนั้นประเทศไทยได้เลือกที่จะอยู่กับขั้วสหรัฐฯ และได้ส่ง พ.อ. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงนั้น ไปเข้าร่วมประชุมกับสหรัฐฯ ในหลายประเด็น รวมถึงการจรดปากกาลงนามให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นแรงหนุนจากกระแสโลกที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนั้นส่วนสหรัฐฯ ในขณะนั้นกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันอันเป็นผลมาจากสงครามปาเลสไตน์ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องสำรวจแหล่งน้ำมันในพื้นที่ของชาติพันธมิตร ซึ่งประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่สหรัฐฯ ต้องการเข้ามาสำรวจ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ นายจิมมี่ คาร์เตอร์ ได้เจรจากับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้บริษัท สแตนดาร์ดออยล์ จำกัด (Standard Oil Co. Inc) ของสหรัฐฯ เข้ามาสำรวจน้ำมันในประเทศไทยในเวลาต่อมา

3. ประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของไทยในมุมมองของ ดร.วิทย์ฯ

          ดร. วิทย์ฯ ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ได้ร่วมหารือกันในช่วงทศวรรษที่ 1990 ก่อให้เกิดการลงนามในปฏิญญาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง (ข้อตกลง Plaza Accord) โดยข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ และลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อญี่ปุ่นและเยอรมนี ส่งผลให้เงินสกุลเยนของญี่ปุ่นและเงินสกุลมาร์คของเยอรมนีมีค่าสูงขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมา ข้อตกลง Plaza Accord ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วง “ฟองสบู่” เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนของญี่ปุ่นต้องพยายามหาฐานการผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ โดยในตอนนั้นญี่ปุ่นได้เลือกประเทศไทย เพราะ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เข้มแข็ง โดยต่อมาภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สหรัฐฯ และประเทศไทยค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทยและมีการเปรียบเทียบประเทศไทยในยุคนั้นว่า ได้ก้าวเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

ภาพที่ 1 พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดวาล์วท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรก ณ สถานีส่งก๊าซชายฝั่งจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2524

ที่มา: ThaiPublica

จากความสำเร็จดังกล่าวแสดงให้ถึงความสัมพันธ์ที่มีให้กันระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศและสำหรับในปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้ามามีบทบาทกับการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BYD บริษัท Shanghai Automotive Industry Corporation บริษัท Great Wall Motor เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยยึดโยงกับต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกตัวอย่างที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดในปัจจุบัน คือ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ภาพที่ 2 ภาพหมู่ในการประชุมลงนามในปฏิญญาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และผู้ว่าการธนาคารกลางหรือ Plaza Accord

(ที่มา: https://www.fxhanuman.com/web/index.php/89-2016-09-26-06-58-22/526-2017-12-25-05-50-12)

4. จุดแข็งของประเทศไทยที่ดึงดูดต่างชาติ         

สำหรับจุดแข็งของประเทศไทยที่ดึงดูดต่างชาติ ดร.วิทย์ฯ ได้อธิบายว่า จากการที่ได้สนทนากับผู้บริหารองค์กรต่างชาติมักจะพูดไปในทางเดียวกันว่า นอกจากประเทศไทยเป็นแหล่งของทรัพยากรที่หลากหลายแล้ว จุดแข็งของประเทศไทยที่ดึงดูดต่างชาติคือคนไทย โดยคนไทยนั้นจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในนาทีสุดท้ายและยามวิกฤตได้เสมอ กล่าวคือ เมื่อได้รับงานมอบหมายมา คนไทยมักจะสามารถใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเมื่อใกล้ครบกำหนดในการบรรลุภารกิจ โดยอาศัยแรงกระตุ้นจากเงื่อนเวลาช่วยให้การทำงานสำเร็จ นอกจากนี้ ดร.วิทย์ฯ ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการที่ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับอดีตเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยว่า นิสัยคนอิตาลีและนิสัยคนไทยมีความคล้ายคลึงกันจนสามารถเรียกว่า เป็นฝาแฝดกันได้ แต่มีความแตกต่างกันที่คนไทยมีความต้องการในการผสมผสานแนวทางที่ดีจากแบบอย่างรอบตัว แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับตัวเอง เช่น คนไทยมักประชุมหรือวางแผนนานๆ แบบชาวเยอรมนี ซึ่งอาจไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการเสมอไป นอกจากนี้ คนไทยสามารถเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ดีและทำทุกอย่างได้ตรงตามโจทย์ที่ได้รับมา แต่บางครั้งอาจขาดความคิดสร้างสรรค์และต้องการคำแนะนำหรือการกระตุ้นจากผู้บังคับบัญชา

5. “One City Country” ในมุมมองของ ดร.วิทย์ฯ

ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นถึงความเจริญของมหานครลอนดอน มหานครปารีส และกรุงเทพมหานคร

ที่มา: Freepik

ดร. วิทย์ฯ ได้อธิบายว่า หากเรากล่าวถึงสหราชอาณาจักรเรามักจะนึกถึงมหานครลอนดอน (London) หรือหากกล่าวถึงฝรั่งเศสเรามักจะนึกถึงมหานครปารีส (Paris) แต่หากเรากล่าวถึงประเทศเยอรมนีเราจะนึกถึงหลาย ๆ เมืองที่นอกเหนือจากเมืองหลวงอย่างเบอร์ลิน (Berlin) ยกตัวอย่างเช่น แฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt) มิวนิค (Munich) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมีบริบทที่แตกต่างกัน ส่งผลให้แต่ละประเภทมีรูปแบบการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกัน สำหรับกรณีของสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสนั้น มีรูปแบบที่เรียกว่า One Center Country กล่าวคือ การรวมศูนย์ความเจริญของประเทศไว้ที่เมืองใดเมืองหนึ่ง ในขณะที่เยอรมนีเกิดจากการรวมตัวของแคว้นต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ จึงทำให้เยอรมนีมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย แสดงให้เห็นผ่านการพัฒนาของแคว้นต่าง ๆ ที่เป็นของตัวเอง ทั้งนี้ สำหรับเยอรมนีมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ การมีโครงข่ายของแม่น้ำดานูบ (Danube River) ที่ไหลไปได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ประกอบสัณฐานกายภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำให้การคมนาคมของประเทศเยอรมนีมีการเชื่อมโยงได้ทั่วถึงกันโดยไม่จำเป็นต้องผ่านเมืองศูนย์กลาง สุดท้ายนี้ สำหรับประเทศไทยก็มีรูปแบบการพัฒนาในลักษณะ One City Country เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส โดย ดร.วิทย์ฯ มองว่า การกระจายตัวของความเจริญในประเทศค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงเป็นเมืองศูนย์รวมความเจริญด้านต่าง ๆ อยู่เพียงเมืองเดียว แม้ว่าเราได้มีความพยายามในการยกระดับพื้นที่หลายแห่งของประเทศ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แต่ระดับการพัฒนาในหลายๆ พื้นที่ยังคงแตกต่างจาก กทม. ค่อนข้างมาก และ ดร.วิทย์ฯ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า นอกจากการพัฒนาเมืองให้มีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมแล้ว การสร้างแรงจูงใจให้กับคนในพื้นที่ในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้ทิศทางใหม่ของการพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์โลก

ก่อนจะจากกันไป ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและ ดร.นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง สศค. ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาคให้เเก่ผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำในทุก ๆ เดือน

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน