โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับโอกาสทางเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง

โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับโอกาสทางเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ พวงนวม
นางสาวบุณฑริกา  ชลพิทักษ์วงศ์
นางสาวณัฏฐธิดา  จันภักดี

1. บทนำ

การพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ในปัจจุบันจำเป็น ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงแนวทางการดำเนินการ
ที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากบริบทและองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่มีลักษณะที่แตกต่างกันและต่างมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ลักษณะทรัพยากรธรรมชาติ
เชื้อชาติของประชากรในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างและอัตลักษณ์เหล่านี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญหากถูกนำมาใช้ในทางที่เหมาะสม ประกอบกับ ในแต่ละพื้นที่มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างชัดเจน สำหรับบทความฉบับนี้จะกล่าวถึงการดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับโอกาสทางเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นอีกโครงการที่ได้รับการพูดถึงเป็น
วงกว้างในช่วงเวลาที่ผ่านมาและนายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นศักยภาพของโครงการดังกล่าวที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว โดยบทความนี้ประกอบไปด้วย ทิศทางการพัฒนา
และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดระนอง ปัญหาและอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา และโอกาส
ความท้าทาย และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ในบทความฉบับนี้

2. ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัดระนอง

เมื่อพิจารณาข้อมูลผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า GPP ของจังหวัดระนองในปี 2564 เท่ากับ 29,824 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ภาคการเกษตร จำนวน 13,176 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของ GPP ภาคนอกการเกษตร จำนวน 16,208 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของ GPP โดยสามารถแบ่งย่อยได้ออกเป็น ภาคบริการ จำนวน 13,452
ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของภาคนอกการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม จำนวน 2,756 ล้านบาท
หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของภาคนอกการเกษตร จากข้อมูลข้างต้นจึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) ของจังหวัดระนอง ในปี 2564 เท่ากับ 105,256 บาทต่อหัว (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์จังหวัดของจังหวัดระนอง

ที่มา: สศช.

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กศม.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง บ่งชี้ว่า ดัชนี RSI ของจังหวัดระนองประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 77.3 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า RSI ของประเทศที่ระดับ 75.0 และ RSI ของภาคใต้ที่ระดับ 74.4 โดย สศค. กระทรวงการคลัง มองว่าสาเหตุสำคัญที่ RSI ของจังหวัดระนองอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการ (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

จัดทำโดย: นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์ เศรษฐกรชำนาญการ
ที่มา: กศม. สศค.

สำหรับดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamentals Index, SEFI)
ที่พัฒนา และจัดทำโดย กศม. สศค. กระทรวงการคลัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่งชี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ผ่าน 6 มิติได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข กำลังซื้อ ความท้าทายของทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ โดย SEFI ของจังหวัดระนองสะท้อนว่า ในพื้นที่จังหวัดระนองมีจุดแข็ง
ในด้านความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสาธารณสุข ตามลำดับ อย่างไรก็ดี จังหวัดระนองยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ตามลำดับ ทั้งนี้ ตำบลบางริ้น
เป็นตำบลที่มีค่าดัชนี SEFI สูงที่สุดในจังหวัดระนอง (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของจังหวัดระนอง

จัดทำโดย: นางสาวปภัช  สุจิตรัตนันท์ เศรษฐกรปฏิบัติการ
ที่มา : กศม. สศค.

3. การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับโอกาสทางเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง

จากรายละเอียดข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า จังหวัดระนองยังคงเผชิญกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าจะมีจุดแข็งในด้านความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสาธารณสุข จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดระนอง ในการนี้ กศม. สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้ร่วมกันจัดรายการเสวนา Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 ภายใต้แนวคิด “โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับโอกาสทางเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง” เพื่อเข้าใจมุมมองของผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยทางทีมงานรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณพรศักดิ์  แก้วถาวร (คุณพรศักดิ์ฯ) ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง มาถ่ายทอดรายละเอียด รวมถึงมุมมองส่วนบุคคลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ ดังต่อไปนี้

คุณพรศักดิ์  แก้วถาวร
ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง

3.1 ทิศทางการพัฒนาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดระนอง

คุณพรศักดิ์ฯ ได้เล่าว่า เศรษฐกิจการค้าของจังหวัดระนองผูกพันกับประเทศเมียนมามาเป็นระยะเวลานาน โดยหากพิจารณาข้อมูลการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา 5 ปีล่าสุด
(ระหว่างปี 2561 – 2565) พบว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาในเขตจังหวัดระนองเฉลี่ยมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 2 – 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี แม้ว่าที่ผ่านมาจังหวัดระนองเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 แต่จังหวัดระนองยังคงสามารถประกอบการค้าชายแดนระหว่างประเทศเมียนมาได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ได้คลี่คลายลงการค้าชายแดนกับประเทศเมียนมากลับเริ่มแสดงสัญญาณให้เห็นถึงการประสบปัญหา อันเป็นผลมาจากปัญหาการเมืองภายในของประเทศที่ส่งผลให้ค่าเงิน Myanmar Kyat (จัตพม่า) อ่อนตัวลง และส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนระหว่าง ๒ ประเทศ จากสภาพปัญหาข้างต้นได้นำไปสู่การหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายในจังหวัดระนอง และได้ข้อสรุปออกมาเป็นการกำหนดทิศทาง
การพัฒนาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดระนองภายใต้ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดระนอง ภายใต้เป้าหมาย “ระนองเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรมูลค่าสูง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” โดยมีแผนพัฒนาจังหวัดระนอง (พ.ศ. 2566 – 2570) เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่

1) พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและชุมชนอย่างยั่งยืน

2) พัฒนาเกษตรมูลค่าสูง

3) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

4) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

5) เชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง
7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา
และไทย) ตลอดจนการเชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศในอาเซียน

ภาพที่ 4 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาในเขตจังหวัดระนอง
ตั้งระหว่างปี 2561 – 2565

ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

จากแผนพัฒนาจังหวัดระนอง (พ.ศ. 2566 – 2570) ข้างต้นนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการ
ด้านเศรษฐกิจของจังหวัดระนองที่สำคัญ ซึ่งครอบคลุมนโยบายด้านการค้า นโยบายด้านการลงทุน นโยบายด้านการเกษตร และนโยบายด้านการท่องเที่ยว อาทิ โครงการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Land Bridge) โครงการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Economic Corridor: AWC) และโครงการโมเดลอารมณ์ดีมีความสุข (Happy Model) โดยเฉพาะโครงการ Land Bridge ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมที่มีการกล่าวถึง
อย่างแพร่หลาย เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อ 2 ท่าเรือเข้าด้วยกัน กล่าวคือ พัฒนาโครงข่ายเพื่อเชื่อมต่อท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง และพัฒนาการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัยและนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ดังแสดงในภาพที่ 5 โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค (Transshipment Port) ซึ่งเป็นการเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และช่วยเพิ่มอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าทางน้ำ
อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ฯพณฯ เศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นแม่เหล็กตัวใหม่ที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้หันกลับมาสนใจลงทุนในประเทศไทย และจะเป็นโอกาส
ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในการสร้างโอกาส สร้างงาน ตลอดจนสร้างรายได้สู่สังคม
ในอนาคต

ภาพที่ 5 แผนการดำเนินโครงการ Land Bridge

ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม

3.2 ปัญหาและอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา

คุณพรศักดิ์ฯ ได้อธิบายว่า แม้จังหวัดระนองมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและมีท่าเรือน้ำลึกซึ่งเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด แต่ยังคงประสบกับจุดอ่อนบางประการ เช่น ปัญหาด้านกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทำกินของประชาชน ระบบการขนส่งในพื้นที่ที่ยังเป็นในลักษณะ 2 ช่องจราจรและยังขาดรูปแบบการขนส่งสาธารณะระบบราง ขาดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแปรรูปวัตถุดิบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และขาดแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและชุมชนที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง

3.3 โอกาส ความท้าทาย และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

คุณพรศักดิ์ฯ ได้สรุปว่า โอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดระนองที่สำคัญ ประกอบด้วย การเชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศ BIMSTEC โครงการ SEC ของรัฐบาล โครงการ Land Bridge การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง ตลอดจนโครงการ AWC ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดระนองเป็นไปตามแผนพัฒนาจังหวัดระนอง (พ.ศ. 2566 – 2570) คุณพรศักดิ์ฯ ได้ทิ้งท้ายขอเสนอแนะในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดระนองในอนาคตไว้8 ประการ ดังนี้

1) เร่งรัดการแก้ปัญหาการใช้ที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุน ในพื้นที่ป่าของชุมชนเมืองประมาณ 2,700 ไร่
2) สนับสนุนให้มีการแปรูปอุตสาหกรรมประมงเกษตรและวัตถุดิบอื่น ๆ
3) เร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่ง เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
4) เชื่อมโยงการค้ากลุ่มประเทศ BIMSTEC
5) พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในพื้นที่
6) พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและชุมชนให้เป็นรูปธรรม
7) เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ (ระนอง – เกาะสอง)
8) จัดทำแผนการพัฒนาเมืองระนองเพื่อรองรับโครงการ Land Bridge และโครงการ AWC

ก่อนจากกันไป ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค และ ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง สศค. ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาคให้แก่ผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำมาอย่างต่อเนื่อง

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน