“โครงการวังจันทร์วัลเล่ย์” เมืองอัจฉริยะของจังหวัดระยอง

“โครงการวังจันทร์วัลเล่ย์” เมืองอัจฉริยะของจังหวัดระยอง

บทความโดย
นางสาวคงขวัญ ศิลา
นายกานต์ แจ้งชัดใจ


เมื่อเราพูดถึงจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก  จะทำให้เรานึกถึงจังหวัดระยองเป็นจังหวัดแรก เนื่องจากจังหวัดระยองมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง นอกจากภาคอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นแล้ว จังหวัดระยองยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม เช่น เกาะเสม็ด เกาะมันใน หาดแม่รำพึง และหาดแม่พิมพ์ เป็นต้น โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ว่า จังหวัดระยองมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 993,978 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 26,585 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 967,392 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ทั้งนี้ ภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 797,837 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 169,555 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามภาพที่ 1) นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 998,748 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

ภาพที่ 1 แผนภูมิวงกลมแสดงผลิตภัณฑ์จังหวัดระยอง
(ที่มา สศช.)

นอกจากนี้ จังหวัดระยอง ยังเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปี หรือที่รู้จักกันว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด (รายละเอียดตามภาพที่ 2)  โดยโครงการอีอีซี มีการพัฒนาพื้นที่ในหลายรูปแบบ รวมไปถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงนวัตกรรมเข้ามาบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน  ทั้งนี้ โครงการเมืองอัจฉริยะของจังหวัดระยองที่อยู่ในพื้นที่ของโครงการอีอีซี คือ “โครงการวังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley)”

ภาพที่ 2 โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ที่มา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)https://www.sme.go.th/en/page.php?modulekey=381

โครงการวังจันทร์วัลเลย์เป็นโครงการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพัฒนาตามแนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 7 ด้าน ได้แก่ Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกในพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ โดยปตท. ได้ลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการอำนวยสะดวก
ต่าง ๆ ในพื้นที่อีกทั้งพัฒนาให้มีพื้นที่สีเขียวในปริมาณมาก เพื่อสร้างให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และเพิ่มศักยภาพรองรับการลงทุน และการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย Thailand 4.0 ทั้งนี้ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และวารสารการเงินและการคลังได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับโครงการวังจันทร์วัลเลย์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

คุณสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน)

ความเป็นมา ความโดดเด่น และความคืบหน้าของวังจันทร์วัลเลย์ เมืองอัจฉริยะของจังหวัดระยอง

          โครงการวังจันทร์วัลเลย์เป็นโครงการที่บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ได้รับภารกิจจากภาครัฐให้เตรียมความพร้อมจากการเปลี่ยนแปลงของโลกจากยุคอุตสาหกรรม 3.0 ไปสู่ยุคดิจิทัล 4.0 (Thailand 4.0 ) ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “นวัตกรรม (Innovation)” โดยสิ่งที่ ปตท. มีแนวคิดคิดการพัฒนาในครั้งนี้ คือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จากพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าให้กลางเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งใหม่ โดยหลักการในการพัฒนาเมืองที่โครงการวังจันทร์วัลเลย์นำมาใช้ ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ว่างกรอบไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1) เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (Biopolis) 2) เมืองนวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innopolis) 3) เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (Space Innoplis) และ 4) เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Aripolis)

          ทั้งนี้ วังจันทร์วัลเลย์ ได้การรับรองเป็น Smart City เมืองอัจฉริยะของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 โดยเมืองอัจฉริยะจะสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพได้จะต้องมี ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ที่บูรณาการกันทุกภาคส่วน ได้แก่ 1) Start up, SMEs 2) Smart Township 3) School & University 4) Large Firm และ 5) Research Institute & Regulators ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุด คือ Large Firm หรือบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นส่วนที่ให้บริษัทเข้ามาลงทุนในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เมื่อมีบริษัทเข้ามาเพิ่มขึ้นจะทำให้เมืองแห่งนี้ขยายตัวและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ได้แบ่งโซนพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1) Community Zone หรือการพัฒนาพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับนักวิจัยและครอบครัว รวมถึงชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบและประชาชนทั่วไป ประกอบไปด้วยที่อยู่อาศัย ร้านค้า และพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม 2) Education Zone หรือการพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย ประกอบไปด้วย โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ เป็นต้น 3) Innovation Zone หรือการพัฒนาพื้นที่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารกลุ่มนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐ บริษัทในกลุ่ม ปตท. และภาคเอกชนอื่น ๆ เข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ยังรอการพัฒนาในอนาคตร่วมกับพันธมิตรอื่น ๆ ที่สนใจดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวิจัยและนวัตกรรม (รายละเอียดตามภาพที่ 3)

          สำหรับความคืบหน้าของโครงการวังจันทร์วัลเลย์นั้น โครงการวังจันทร์วัลเลย์ในเกือบทุกโซนได้เปิดทำการแล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาศูนย์การค้าที่มีขนาดเล็ก (Community Mall) โรงแรม และอพาร์ตเมนต์ ใน Community Zone คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณปี 2566

ภาพที่ 3 พื้นที่ในโครงการวังจันทร์วัลเลย์
ที่มา https://www.wangchanvalley.com/th/Home/About

ปัญหาและอุปสรรคของโครงการ

          ด้วยโครงการวังจันทร์วัลเลย์ เป็นโครงการที่สร้างเมืองจากพื้นที่ป่าให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีต้นแบบมาจาก Silicon Valley ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ทำให้ต้องมีการเร่งรัดการพัฒนา Smart City แห่งนี้ โดยปัญหาที่ทำให้การพัฒนาโครงการวังจันทร์วัลเลย์แห่งนี้ล่าช้า ก็คือ การขาดนักลงทุน ทำให้พื้นที่ในโครงการคงเหลือมาก ซึ่งทำให้ ปตท. ต้องรับผิดชอบทั้งด้านการจัดการและทางการเงิน โดยหากมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่แห่งนี้มากจะทำให้วังจันทร์วัลเลย์แห่งนี้พัฒนาได้ต่อเนื่อง เพราะ ปตท. ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการวังจันทร์วัลเลย์เป็นเมืองอัจฉริยะที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทำให้นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนต้องเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมทุกด้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Key Success ของโครงการ

          สำหรับ Key Success ของโครงการวังจันทร์วัลเลย์แห่งนี้ ได้แก่ คนและนักลงทุน โดยเมื่อมีจำนวนคนที่เข้ามาในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นทำงาน ศึกษาเล่าเรียน และอยู่อาศัย เพิ่มขึ้น จะทำให้เมืองมีการขยายตัวและพัฒนาระบบนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมไปถึงนักลงทุนที่เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะนักลงทุนจะมาตั้งอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในเมืองแห่งนี้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงจะกระตุ้นการจ้างงานได้อีกด้วย

นางสาวคงขวัญ ศิลา

เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

กานต์ แจ้งชัดใจ

เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน