กองทุนเพื่อการฟื้นฟูร้านอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกา (Restaurant Revitalization Fund)

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูร้านอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกา (Restaurant Revitalization Fund)

บทความโดย
นางสาวสุมาลี สถิตชัยเจริญ
นางสาววิสาร์กร เพชรฐิติวัฒน์

1. บทนำ

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูร้านอาหารของสหรัฐอเมริกา หรือ Restaurant Revitalization Fund (RRF) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมาย American Rescue Plan Act 2021 ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 โดย RRF เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 มีงบประมาณรวม 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินให้เปล่า (grant) เพื่อช่วยเหลือร้านอาหาร บาร์ รถขายอาหาร และธุรกิจที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้ความสำคัญกับธุรกิจร้านอาหารเนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มทำงานครั้งแรกในร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่

2. สาระสำคัญของ RRF[1]


[1] สามารถดูรายละเอียดได้จาก https://www.sba.gov/sites/default/files/2021-04/RRF%20Overview%20Deck%20FINAL%204.27-508.pdf

2.1 RRF บริหารโดย Small Business Administration (SBA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้สินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อ การให้คำปรึกษา และการอบรมผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ 

2.2 RRF มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ร้านอาหารและธุรกิจอื่นที่เข้าข่ายที่สูญเสียรายได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 สามารถเปิดบริการต่อไปได้ โดย RRF มีการกำหนดธุรกิจที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ และเกณฑ์การใช้เงินช่วยเหลือ สรุปได้ ดังนี้

(1) ธุรกิจที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ

(1.1) ต้องเป็นธุรกิจที่สูญเสียรายได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่ปิดกิจการถาวร หรือกำลังจะเปิดให้บริการซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในวันที่ 11 มีนาคม 2564 และดำเนินธุรกิจให้บริการอาหารหรือเครื่องดื่มแก่ลูกค้าเป็นหลัก เช่น ร้านอาหาร รถขายอาหาร ผู้ให้บริการจัดเลี้ยง บาร์ และร้านเบเกอรี่ เป็นต้น โดยธุรกิจต้องมีรายรับจากการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในสถานที่ตั้งอย่างน้อยร้อยละ 33 ของรายรับรวม ในปี 2562 สำหรับธุรกิจที่เปิดในปี 2563 หรือธุรกิจที่ยังไม่เปิดทำการแต่มีรายจ่ายล่วงหน้าเกิดขึ้นแล้ว ลักษณะในการดำเนินธุรกิจต้องมีรายรับจากการขายอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อยร้อยละ 33 ต่อสาธารณชน โดยรวมถึงร้านอาหารที่ดำเนินธุรกิจอิสระที่ตั้งอยู่ในสนามบิน โรงแรม หรือศูนย์ประชุม

(1.2) ต้องเป็นธุรกิจที่จัดตั้งในรูปแบบทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา และมีเลขการประกอบธุรกิจที่ยังไม่หมดอายุที่ใช้ในการยื่นภาษี (Tax Identification Number-TIN)  ได้แก่ เลขประจำตัวนายจ้าง (Employer Identification Number -EIN) เลขประกันสังคม (Social Security Number -SSN) หรือ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (Individual Tax Identification Number -ITIN)

(1.3) ข้อจำกัดสำหรับธุรกิจที่ข่ายเข้า เช่น ต้องไม่เป็นธุรกิจที่มีสาขามากกว่า 20 สาขา ไม่เป็นธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  ไม่เป็นองค์การที่ไม่แสวงหากำไร ต้องไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจาก Shuttered Venue Operators Grant ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือฉุกเฉินธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามกฎหมาย Economic Aid to Hard-Hit Small Business, Nonprofit, and Venues Act ที่ได้มีการแก้ไขตาม the American Rescue Plan Act ที่ดำเนินการโดย SBA เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือ

(2) เกณฑ์การใช้เงินช่วยเหลือ

(2.1) ให้เงินช่วยเหลือเท่ากับรายได้ที่สูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงสุด 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งธุรกิจ (ประมาณ 32 ล้านบาท) และไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16 ล้านบาท) ต่อหนึ่งสถานที่ตั้ง วงเงินขอความช่วยเหลือต่ำสุดอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32,000 บาท) ทั้งนี้ผู้ขอรับเงินช่วยเหลือไม่ต้องคืนเงินให้เปล่าหากใช้เงินตามเกณฑ์ที่กำหนดภายในวันที่ 11 มีนาคม 2566

(2.2) ธุรกิจต้องนำเงินช่วยเหลือไปใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1) ค่าจ้างพนักงานซึ่งรวมถึงการลาป่วยที่ได้รับค่าตอบแทน (sick leave) และค่าประกันสุขภาพของพนักงาน 2) ค่าเช่าร้าน 3) ดอกเบี้ยที่เกิดจากการจำนองร้าน 4) ค่าสาธารณูปโภค 5) หนี้ค้างชำระของธุรกิจ 6) ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมร้าน 7) ค่าก่อสร้างที่นั่งทานอาหารกลางแจ้ง (outdoor) 8) ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งไปถึงอุปกรณ์ป้องกันและทำความสะอาด 9) ค่าใช้จ่ายของธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยรวมถึงวัตถุดิบสำหรับเบียร์ ไวน์ และสุรา 10) ค่าใช้จ่ายในการจัดหา (suppliers) จากนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในการจัดหาสินค้าที่จำเป็นในการดำเนินกิจการ ตามสัญญาจ้าง หรือสั่งซื้อ ทั้งก่อนเวลาที่ได้รับเงินจาก RRF หรือในช่วงเวลาที่ได้รับเงินจาก RRF และ 11) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจตามปกติที่จำเป็นและธุรกิจต้องจ่ายในการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ค่าประกัน การฝึกอบรม เป็นต้น ทั้งนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายของกิจกรรมรายวันที่เกิดขึ้นนอกบริษัท  โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2566  และต้องใช้เงินจากกองทุนให้หมดภายในวันที่ 11 มีนาคม 2566 หากใช้ไม่หมดต้องคืนเงินช่วยเหลือในส่วนที่เหลือแก่ SBA

  (2.3)  SBA ได้กันวงเงินช่วยเหลือเพื่อให้กระจายไปถึงธุรกิจขนาดเล็ก ดังนี้

1) 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ขอรับความช่วยเหลือที่มีรายรับไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐในปี 2562

2) 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ขอรับความช่วยเหลือที่มีรายรับเกิน 5 แสน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562

3) 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ขอรับความช่วยเหลือที่มีรายรับไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2562

ทั้งนี้ธุรกิจจะต้องยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือต่อ SBA ตามแบบฟอร์มที่กำหนดซึ่งมีการจัดทำ ตัวอย่างถึง 34 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย

3. ผลการดำเนินการ

RRF ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 และปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากมีผู้ยื่นสมัครเกินกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยมีธุรกิจสมัครขอรับความช่วยเหลือประมาณ 278,000 ราย เงินที่ขอความช่วยเหลือมากกว่า 7.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสามสัปดาห์แรกของการเปิดสมัคร ซึ่ง SBA สามารถให้เงินช่วยเหลือได้เพียง 101,004 ราย จากงบประมาณ 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งตามวงเงินช่วยเหลือที่ได้รับ ดังนี้

เงินช่วยเหลือที่ได้รับ (ดอลลาร์สหรัฐ)ร้อยละ
ไม่เกิน 5 หมื่น2.2
มากกว่า 5 หมื่น – 1 แสน4.9
มากกว่า 1 แสน – 1.5 แสน5.6
มากกว่า 1.5 – 3.5 แสน21.2
มากกว่า 3.5 แสน – 1 ล้าน27.2
มากกว่า 1 ล้าน – 2 ล้าน16.4
มากกว่า 2 ล้าน – 5 ล้าน18.0
มากกว่า 5 ล้าน – 10 ล้าน4.6
ที่มา: https://www.sba.gov/sites/default/files/2021-07/RRF_Report-508.pdf ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จากทั้งพรรคเดโมเครตและพรรครีพับลีกัน ได้เสนอให้จัดสรรเงินช่วยเหลือรอบสองแก่ RRF วงเงิน 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภาสหรัฐฯ นอกจากนี้การพิจารณาให้เงินช่วยเหลือของ SBA จาก RRF ได้รับการเรียกร้องให้เปิดเผยผลการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีประเด็นในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่เจ้าของเป็นผู้หญิง ทหารผ่านศึก และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเป็นกรณีพิเศษก่อน ทำให้ผู้เรียกร้องหลายรายเห็นว่าไม่เป็นธรรมจนมีการฟ้องร้องในชั้นศาล ทั้งนี้ SBA ได้มีการแสดงข้อมูลในการพิจารณาว่ามีการอนุมัติให้แก่ธุรกิจใดและไม่อนุมัติให้แก่ธุรกิจใดเพื่อความโปร่งใสในเว็บไซต์ของ SBA ด้วย

4. บทสรุป

RRF เป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดเป็นการเฉพาะนอกเหนือไปจากโครงการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบมาก และเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานมาก แต่การช่วยเหลือดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอหากพิจารณาจากข้อมูลที่ผู้ร้องยื่นขอความช่วยเหลือมากกว่า 3 เท่าของวงเงินที่ให้ความช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ดีการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถช่วยธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยทำควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาดโดยสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานที่ให้บริการ รวมทั้งบางมลรัฐในสหรัฐฯ ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการในร้านอาหารต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วยเพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นยังอำนวยการสะดวกให้แก่ร้านค้าที่มีขนาดเล็กในการจัดทำสถานที่ข้างทางด้านนอกร้านอาหารเพื่อให้รับประทานอาหารด้านนอกที่มีอากาศถ่ายเท ซึ่งเป็นการช่วยเหลืออย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวต่อการประกอบธุรกิจต่อไป

คลายล็อก หนี้เสียบัตร คลินิกแก้หนี้ by SAM
สุมาลี สถิตชัยเจริญ

นางสาวสุมาลี สถิตชัยเจริญ
อัครราชทูต (ฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง) ประจำกรุงวอชิงตัน
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน
ผู้เขียน

นางสาววิสาร์กร เพชรฐิติวัฒน์
ผู้ช่วยดำเนินการด้านการเงินการคลัง
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน
ผู้เขียน