“โครงการสกลนครโมเดล” การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดสกลนคร

“โครงการสกลนครโมเดล” การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดสกลนคร

บทความโดย
นางสาวคงขวัญ ศิลา
นายกานต์ แจ้งชัดใจ

“พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาน แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม” จากคำขวัญที่ได้กล่าวถึงสะท้อนถึงจังหวัดที่พร้อมไปด้วยวัฒนธรรมที่น่าสนใจ นั้นก็คือจังหวัดสกลนคร นอกจากวัฒนธรรมที่น่าสนใจตามคำขวัญของจังหวัดแล้ว สกลนครยังมีความโดดเด่นในภาคการเกษตรอีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรที่สร้างชื่อให้กับสกลนคร อาทิ ครามสกลนคร และเนื้อโคขุนโพยางคำ เป็นต้น โดยในปี 2562 สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จังหวัดสกลนครมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 60,737 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัดส่วนของผลิตภัณฑ์จังหวัดประกอบด้วย ภาคการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 65 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (ภาพที่ 1) นอกจากนี้ สกลนครมีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 65,900 บาท ซึ่งเป็นอันดับ 73 ของประเทศ

ภาพที่ 1 สัดส่วนของผลิตภัณฑ์จังหวัดสกลนคร ปี 2562

การมีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวอยู่ในอันดับท้ายๆ ของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า ประชากรในจังหวัดมีรายได้ค่อนข้างน้อย จากปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยหนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาด้านการเกษตร โดยในหลายอำเภอของจังหวัดสกลนครประสบปัญหาดินเค็ม ประกอบกับปัญหาด้านผลผลิตที่ไม่มากพอ ทำให้ต้องมีการพัฒนาการเกษตรซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดสกลนคร จึงทำให้เกิด “โครงการสกลนครโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบการสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมครัวเรือน เพื่อเพิ่มการผลิตและรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่

ทั้งนี้ วารสารการเงินการคลัง และสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี​ฝ่าย​วิจัย​ นวัตกรรม​และ​บริการ​วิชาการ​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เกี่ยวกับโครงการสกลนครโมเดลเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี​ฝ่าย​วิจัย​ นวัตกรรม​และ​บริการ​วิชาการ​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร

ความเป็นมา และความคืบหน้าของโครงการสกลนครโมเดล

                    โครงการสกลนครโมเดล เป็นการนำวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฏร โดยได้คุณสกุณา สาระนันท์ ซึ่งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครและเป็นกรรมาธิการชุดดังกล่าวเป็นผู้ผลักดันให้โครงการนี้ และดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้รับงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กองทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)  สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  (สอวช.)  และจังหวัดสกลนคร ปี 2564-2565 ให้เป็นต้นแบบดำเนินโครงการการสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร (เศรษฐกิจฐานราก สกลนครโมเดล) เริ่มในเขตอำเภอวานรนิวาส และอำเภอบ้านม่วง 140 ครัวเรือน ประกอบด้วยชุดโครงการวิจัยย่อย 6 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการปรับปรุงดิน
  2. การสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ
  3. การสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเกษตรกรกลุ่มคราม
  4. การสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเกษตรกรกลุ่มพืชสวนครัว
  5. การสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเกษตรกรกลุ่มสมุนไพร
  6. การสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเกษตรกรกลุ่มป่าเศรษฐกิจครอบครัว

ทั้งนี้ พบว่า การดำเนินโครงการปีที่ผ่านมามีการสัมฤทธิ์ผล และทำให้เห็นว่าการพัฒนาเกษตรฐานรากด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ตามรูปแบบสกลนครโมเดลนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรของจังหวัดสกลนครและสามารถเป็นต้นแบบให้ประเทศได้ ในปัจจุบันจึงได้มีการขยายผลอย่างเร่งด่วนไปในพื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดสกลนคร เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งมีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคตามเป้าหมายการพัฒนาของ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ( พ.ศ.2560 – พ.ศ.2579) ต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการสกลนครโมเดล

เพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วยลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 10,000 บาท ต่อเดือน อย่างยั่งยืน

ปัญหา และอุปสรรคการดำเนินงาน

การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานรากในรูปแบบสกลนครโมเดล ซึ่งมีรูปแบบการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยเกษตรกร พร้อมกับพาเกษตรกรทำที่แปลงของเกษตรกรนั้น เป็นรูปแบบหรือโมเดลที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ก็ยังเป็นรูปแบบหรือโมเดลใหม่ ทำให้ภาคีเครือข่าย นักวิจัย รวมทั้งเกษตรกรต้องมีการปรับตัวและทุ่มเทอย่างมาก

ผลสำเร็จของโครงการได้ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร

ผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า เมื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่แม่นยำ เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปรับปรุงดิน การบริหารจัดการน้ำ การคัดเลือกสายพันธุ์ การบริหารจัดการแปลง การดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต คุณภาพ แล้วนำมาสู่มูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรได้ เช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญเอนโดรกราฟาไรด์ 4-6% โดยน้ำหนัก สามารถเพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 40-50 บาทเป็น 150-750 บาท กระบวนการวิจัยนี้สามารถเพิ่มผลผลิตครามและเนื้อคราม ได้มากกว่าก่อนพัฒนามากถึง 2 เท่าตัว ผักสวนครัวจำหน่ายได้ง่ายเป็นที่ต้องการของตลาดแม้เจอภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดโควิด -19 เมื่อพัฒนาต้นน้ำ ให้มีคุณภาพแล้ว โครงการวิจัยยังมีการพัฒนาในส่วนกลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเน้นการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเกษตรกรจากผู้ผลิตเป็นผู้ขายทั้งออนไลน์และออนไซด์ การสร้างนวัตกรรมการสื่อสารการดำเนินโครงการ ผลคือ ทำให้โครงการเป็นที่รู้จัก รับรู้ต่อบุคคลทั่วไป และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์และสินค้าของเกษตรกรเป็นที่รู้จัก มีช่องทางจำหน่ายได้มากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่อำเภอวานรนิวาสและอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนครมีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวน 7,558.28 บาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 123.18 ซึ่งเดิมมีรายได้เฉลี่ยก่อนเข้าร่วมโครงการ เท่ากับ 6,136.03 บาท/เดือน และหลังสิ้นสุดโครงการมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 13,694.31 บาท/เดือน นอกจากนี้ เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายยังมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการลดต้นทุนการเพาะปลูก เมื่อมีความรู้ในการปรับปรุงดิน ลดต้นทุนได้ 6,750 บาทต่อไร่ต่อรอบการเพาะปลูก และสมาชิกกลุ่มเป้าหมายยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุนการผลิตทางด้านการเกษตรได้ 100 % จากการเปลี่ยนจากการใช้ระบบสูบแบบน้ำมันเชื้อเพลงและไฟฟ้า เป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ จำนวน 5 รูปแบบด้วยงบประมาณ 50,000 เจาะบาดาล ขนาดบ่อ 5 นิ้ว ลึกไม่เกิน 50 เมตร ปั้มน้ำบาดาลแบบจุ่มกระแสตรง ไร้แปลงถ่าน (DC Brushless) ขนาด 750 วัตต์ แผงโซล่าเซลล์ แบบ Poly 340 w จำนวน 3 แผง โครงสร้างถังสูง 3 เมตร ถังสำรองน้ำ PVC 2,000 ลิตร  ชุดควบคุมปั้ม สายไฟ ระบบท่อสูบ 1.5 นิ้ว ส่ง 2 นิ้ว  อัตราการการคืนทุน 1.2 ปี ให้กับชาวบ้าน

ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Key success) ของโครงการ

โมเดลแห่งความสำเร็จ ที่เรียกว่า “สกลนครโมเดล” เป็นโมเดลที่รวมความร่วมมือมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการเมือง ภาคประชาชน ให้มาทำงานด้วยกันโดยมีเกษตรกร เป็นเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะต้องพาเกษตรกรทำจริง พาทำ ทำอย่างแม่นยำ และแก้ปัญหาด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

นางสาวคงขวัญ ศิลา

เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

กานต์ แจ้งชัดใจ

เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน