ทุกวันนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ จากการที่เราต้องเผชิญกับสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อชีวิตเรามากขึ้นทุกที ฤดูแล้งที่แล้งจัด ฤดูฝนที่กลายเป็นฤดูแห่งอุทกภัย ต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการก่อสร้าง
ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ขาดสมดุลและส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติจนน่ากลัวว่าทั้งมนุษย์และสัตว์กำลังจะขาดแคลนอาหารในอนาคต
มนุษย์ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าแต่ก่อน เราใช้พลาสติกน้อยลง เลือกการเดินทางที่ลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ
แต่ในขณะที่เรากำลังปรับตัวรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ได้เกิดอีกปัญหาขึ้น นั่นคือ โรคอุบัติใหม่ การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง เราต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน สวมหน้ากากอนามัย ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เราต้องทำในหลายสิ่งที่ไม่เคยทำในยามปกติจนกลายมาเป็นพฤติกรรมปกติ (New Normal) ไปแล้ว
แม้โควิด-19 ส่งผลร้ายต่อมนุษย์ แต่อีกด้านหนึ่งมันส่งผลพลอยได้ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าเมื่อมนุษย์ต้องอยู่แต่ในบ้าน ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้คลี่คลาย เพราะมนุษย์หยุดการเดินทาง หยุดการทำกิจกรรมที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ ธรรมชาติที่ไม่ถูกคนรุกรานก็กลับมาฟื้นฟู เราเห็นสัตว์ป่าสัตว์ทะเลออกมาปรากฏตัว เห็นแม่น้ำและทะเลที่สะอาดปราศจากขยะทั้งที่คนใช้พลาสติกมากขึ้นจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ในช่วงกักตัว
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีการใช้พลาสติก (ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย) แต่หากมนุษย์ไม่ทิ้งขยะอย่างไร้ระเบียบและมีการจัดการกับวัสดุเหลือใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาขยะทำลายสิ่งแวดล้อมก็จะไม่เกิดขึ้น ที่สุดแล้วมนุษย์ก็คือตัวการของปัญหาสิ่งแวดล้อมตัวจริง
ในยุคที่การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นอกจากการปรับพฤติกรรมในระดับปัจเจกชนแล้ว ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมก็ต้องมีการปรับตัวด้วย โดยแนวโน้มการปรับตัวที่บริษัทใหญ่ทั่วโลกกำลังดำเนินการ คือ การทำธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development: SD) ซึ่งเป็นการดำเนินการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมมีการจัดการอย่างรับผิดชอบต่อสังคม
ขณะนี้ธุรกิจอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยต่างได้รับการสนับสนุนให้มุ่งสู่ความเป็น SD กันแล้ว อีกทั้งบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้รับการเชิญชวนให้หันมาดำเนินธุรกิจตามหลักของ SD เช่นกัน เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
และหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แต่ได้มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางของ SD คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตราสิงห์ที่คนไทยรู้จักดี บริษัทบุญรอดฯ อยู่มานาน 87 ปี มีการปรับตัวตามยุคสมัยและสถานการณ์ของโลกมาตลอด จากที่เริ่มด้วยการเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor Intensive) เปลี่ยนมาสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรทันสมัย (Capital Intensive) จนก้าวสู่การดำเนินอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน
วารสารการเงินการคลังฉบับนี้ มีโอกาสได้นำเสนอแนวคิดการดำเนินการในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทบุญรอดฯ โดยได้รับเกียรติสัมภาษณ์ คุณโรจน์ฤทธิ์ เทพาคำ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งคุณโรจน์ฤทธิ์ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านโรงงานอุตสาหกรรมมากว่า 30 ปี มีโจทย์ว่า
จะทำการผลิตอย่างไรโดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนาคน และไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสุรุ่ยสุร่าย
ได้นำเสนอแนวคิด “สถานที่ทำงานอัจฉริยะ” (Smart Workplace) มาประยุกต์ใช้ให้ตอบโจทย์ และนำพาโรงงานผลิตในเครือบุญรอดฯ 9 แห่งทั่วประเทศไปสู่การเป็น SD
ก่อนที่เราจะไปดูว่าการปรับโรงงานให้เป็นสถานที่ทำงานอัจฉริยะจะนำไปสู่การเป็น SD อย่างไรนั้น เรามาทำความเข้าใจเรื่อง Smart Workplace กันก่อน
Q: Smart Workplace คืออะไร
Smart Workplace ประกอบด้วยเสาหลัก 5 ประการ ได้แก่
- โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory)
- สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน (Working Conditions)
- การเพิ่มศักยภาพพนักงาน (Smart Employee)
- สุขภาวะที่ดีของพนักงาน (Health & Well-Beings)
- การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Management)
คุณโรจน์ฤทธิ์เริ่มอธิบายตั้งแต่เสาที่ 1 ว่า โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) คือ การที่เราพัฒนาให้เครื่องจักรฉลาดขึ้น โดยให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้เอง (Automation) และสามารถสื่อสารกับคนโดยบอกถึงสถานภาพหรือปัญหาของตัวเครื่องจักรได้ เป็นการผสมผสานระหว่างระบบ Automation กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าด้วยกัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสร้างผลผลิตได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
เสาที่ 2 สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน (Working Conditions) คือ การสร้างความปลอดภัยในที่ทำงานให้ได้มากที่สุด เราตั้งเป้าลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานของพนักงานในโรงงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident) ซึ่งหลายโรงงานสามารถรักษาสถิตินี้ได้ถึง 400-500 วัน แต่หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแม้จะเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น มีดบาด ก็จะต้องเริ่มนับสถิติใหม่หมด อีกเรื่องคือ เราปรับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามจุดต่างๆ ในโรงงาน สภาพแวดล้อมที่ดีจะช่วยให้พนักงานผ่อนคลายและมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น
เสาที่ 3 การเพิ่มศักยภาพพนักงาน (Smart Employee) คือ การฝึกอบรมพนักงานขึ้นใหม่ (Retrain) เพื่อเพิ่มทักษะการทำงานให้พวกเขา แต่เดิมพนักงานจะถูกฝึกให้เชี่ยวชาญในงานด้านใดด้านหนึ่ง (Single-tasking) แต่โลกที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ทำให้เราต้องปรับศักยภาพของพนักงานให้สามารถทำงานได้หลากหลายขึ้น (Multi-tasking) เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เข้ามา รวมทั้งให้อำนาจการตัดสินใจ (Empowerment) กับพนักงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของพวกเขา
เสาที่ 4 สุขภาวะที่ดีของพนักงาน (Health & Well-Beings) คือ การดูแลพนักงานให้มีความสุข ด้วยการทำโรงงานให้เป็น “โรงงานความสุข” (Happy Factory) โดยจัดสรรพื้นที่ให้พนักงานได้ทำกิจกรรมนันทนาการตามความสนใจ อาทิ พื้นที่ออกกำลังกาย สนับสนุนให้พนักงานสุขภาพแข็งแรง ลดโรคภัยไข้เจ็บ ยิ่งพนักงานมีความสุขในที่ทำงาน พวกเขาก็จะยิ่งผูกพันกับองค์กรมากขึ้น
เสาที่ 5 การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Management) คือ การจัดการสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตตามมาตรฐานและระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม เราแยกขยะ ทำให้ปริมาณขยะลดลง ขณะเดียวกันก็พยายามเก็บสิ่งเหลือใช้จากการผลิตมา Reuse และ Recycle เรานำขยะบางส่วนมาทำปุ๋ยใส่แปลงปลูกพืช นำน้ำเหลือใช้มาบำบัดและรดต้นไม้ เกิดเป็นกิจกรรมดีๆ ให้พนักงานได้ทั้งออกกำลังและปลูกพืชผักสร้างผลผลิต จากนั้นก็นำไปขายได้ในราคาย่อมเยา
จะเห็นว่า Smart Workplace ในโรงงานครอบคลุมทั้งในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า การพัฒนาคนทั้งในด้านศักยภาพและสุขภาวะทางกายใจ และการจัดการกับทรัพยากรที่นำกลับมาหมุนเวียนอย่างไม่สูญเปล่า ทั้ง 5 ข้อ
หากนำไปใช้ร่วมกันอย่างสอดคล้องจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขึ้นภายในโรงงานและระหว่างโรงงานด้วย ถือเป็นแนวทางที่มุ่งสู่การเป็น SD อย่างเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง
Q: อะไรคืออุปสรรคในการทำ Smart Workplace
เรื่องแรก คือ “การทำความเข้าใจ” เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราต้องปรับตัวกับอะไรสักอย่าง ก็จะมีคนที่ต่อต้านเพราะกลัวว่าอาจจะตามไม่ทันหรือเปลี่ยนไม่ได้ เราจึงต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ความปลอดภัยที่ดีขึ้น และสุขภาพที่ดีขึ้น เมื่อเข้าใจแล้วพวกเขาก็จะเริ่มมั่นใจและให้ความร่วมมือกับการเปลี่ยนแปลง เรื่องที่สอง คือ การผสานจุดแข็งของคนทำงานรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน บริษัทบุญรอดฯ เป็นบริษัทเก่าแก่ เรามีคนทำงานทั้ง 2 รุ่น ซึ่งมีจุดแข็งต่างกัน คนรุ่นใหม่จะรับเทคโนโลยีได้มากกว่า ขณะที่คนรุ่นเก่าจะมีความอดทนมากกว่า เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้จุดแข็งของคนทั้ง 2 รุ่นมาผสานกันให้ได้
Q: อยากให้ช่วยอธิบายว่า ทำไมธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้ทันโลก
ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป เรามีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ต้องปรับตัวมาสู่ SD และไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา โควิด -19 ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการปรับตัว หลายธุรกิจหันมายอมรับการใช้นวัตกรรม เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นส่งสินค้าเดลิเวอรี่ ก่อนหน้านี้ธุรกิจจำนวนมากมองข้ามเรื่องออนไลน์ พอมาเจอวิกฤตนี้เข้าก็ทำให้ได้หยุดคิดและปรับตัวมาสู่ออนไลน์ในที่สุด ส่วนการผลิตในโรงงานก็ต้องหยุดคิดและปรับตัวเช่นกัน เราต้องพิถีพิถันกับกระบวนการฆ่าเชื้อยิ่งขึ้น เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในสินค้าของเรา จากวิกฤตครั้งนี้ทำให้มีคำตอบว่า ทำไมเราต้องพัฒนาสินค้า พัฒนาวิธีทำงานให้ทันโลก
Q: มีมุมมองอย่างไรต่ออุตสาหกรรมไทย
อุตสาหกรรมไทยคงจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เราจะยืนอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ เราต้องปรับตามโลกให้ทัน ยุคนี้คือยุคแห่งเทคโนโลยี เราก็ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีก็ย่อมจะมีคนตกงานมากขึ้น จึงต้องพัฒนาแรงงานให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีด้วย ควบคู่กันไป ตรงนี้ภาครัฐก็ควรจะต้องสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนในเทคโนโลยีตลอดจนด้านภาษีต่างๆ
Q: สุดท้ายนี้ คิดว่าโลกธุรกิจในอนาคตจะไปในทิศทางใด
แน่นอนว่าทิศทางจะไปในด้านของเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) มากขึ้น มีการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โลกมันเปลี่ยนมาทิศทางนี้ ยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีนำพวกเราไปแล้ว จากนี้ธุรกิจอุตสาหกรรมอีกหลายประเภทจะถูกดิสรัปชั่นและล้มหายตายจาก แต่หากใครปรับตัวได้ทันก็จะฟื้นกลับขึ้นมาใหม่
เราคงเห็นแล้วว่า การปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นหนทางของความอยู่รอดไม่ว่าจะในระดับปัจเจกชนหรือในระดับธุรกิจอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญคือ การขบคิดอย่างจริงจังว่า เราจะพัฒนาตัวเอง พัฒนาธุรกิจอย่างไรให้ทันโลก โดยที่ยังสามารถรักษาสิ่งแวดล้อม และทำให้ความเจริญกับธรรมชาติอยู่คู่กันได้อย่างยั่งยืน