บทความโดย
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
นายกานต์ แจ้งชัดใจ
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นการนำร่องการส่งเสริมการบริหารและการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ โดยใช้จังหวัดเป็นฐาน เน้นการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่สถานศึกษานำร่องและหน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดนั้น ๆ ให้มีความคล่องตัวในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่เน้นการพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นความหวังหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาทุนมนุษย์และศักยภาพของแรงงานในอนาคต อันจะนำมาซึ่งการยกระดับความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย
บทความนี้จะเน้นในการนำเสนอโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดจังหวัดหนึ่งของประเทศ การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษนั้น เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ ภาคีการศึกษาไทย และภาคการศึกษาในจังหวัด โดยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านการศึกษาของจังหวัด โดยอาศัยแผนการดำเนินการหลักๆ ได้แก่ การให้อิสระในการบริหารจัดการโรงเรียน การพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดการศึกษา การเชื่อมโยงผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาทั้งโรงเรียน ครูภูมิปัญญา ชุมชน ผู้ปกครองและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการศึกษาที่บูรณาการ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และการนำไปใช้จริงในบริบทสังคม และการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ ตำรา และการทดสอบ ให้สอดคล้องกับโจทย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน
เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษในเชิงลึกมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศษรฐกิจการคลัง และวารสารการเงินการคลัง ได้รับเกียรติในการสัมภาษณ์ คุณวัชรกาญจน์ คงพูล ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวกับโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ของโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นจะยึดโยงไปกับ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งต้องมีการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อลดความเลื่อมล้ำ กระจายอำนาจ สร้างอิสระให้กับหน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ ในส่วนของพื้นที่นัวตกรรมการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ดังนี้
- การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ (Attitude)
- สร้างคนรุ่นใหม่ให้กับจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้แนวคิด “รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ”
รู้คิด เป็นการเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงบวก จิตใจดี เน้นให้ผู้เรียนมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มีคุณธรรม มีทักษะชีวิต ผู้เรียนมีเป้าหมายในชีวติ มีทักษะอาชีพ ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับอาชีพในอนาตคต - สร้างจิตสำนึกร่วมเพื่อทำให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นเมืองที่น่าอยู่
- ชาวศรีสะเกษต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อเป็นพลังในการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม
หลังจากเมื่อเราทราบวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษแล้ว เราต้องกลับมามองว่าศรีสะเกษมีทรัพยากรด้านไหนที่จะเป็นทุนให้เกิดการพัฒนาเพื่อกำหนดกรอบของหลักสูตร คือ “ศรีสะเกษ ASTECS”
A: Agriculture การส่งเสริมและพัฒนาทำการเกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า
S: Sport World Class การส่งเสริมให้เป็นจังหวัดกีฬาระดับชั้นนำของประเทศ
T: Creative Tourism การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
E: Innovation Entrepreneur การส่งเสริมการคิดต่อยอดเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่
C: Culture Diversity การนำความหากหลายทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญามาสร้างสรรค์ให้กับจังหวัด
S: Srisaket Spirit จิตวิญญาณของชาวศรีสะเกษ
โดยแต่ละโรงเรียนที่ร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถกรอบหลักสูตร “ศรีสะเกษ ASTECS ไปปรับประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน
- ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกี่แห่ง และคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมอย่างไร
ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษมีโรงเรียนประมาณ 900 – 1,000 โรงเรียน โดยเข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรม 115 โรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนเอกชน โดยแต่ละโรงเรียนสามารถสมัครใจเข้าร่วมได้เลย โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้บริหารโรงเรียนสามารทุ่มเทและร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ได้ และต้องไม่เกษียณภายใน 3 ปีข้างหน้า ประกอบกับหน่วยงานต้นสังกัด และกรรมการสถานศึกษาเห็นชอบให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนในพื้นที่นอกเมืองหรือชนบท ซึ่งตรงตามความต้องการของโครงการที่ต้องการลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา
- โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีความแตกต่างจากโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนสาธิตหรือไม่
โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการไม่เหมือนกับโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนสาธิต โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเน้นให้เป็นโรงเรียนของชุมชน กล่าวคือ เป็นโรงเรียนที่ปรับแนวทางให้เหมาะกับชุมชนมากสุด โดยจะมีการรับฟังเสียงจากชุมชนเพื่อนำมาปรับใช้ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะไม่ได้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่จะเป็นการคิดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับโรงเรียนมากที่สุด โดยแต่ละหลักสูตรจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษของจังหวัด เมื่อได้รับอนุมัติแล้วโรงเรียนจะต้องนำหลักสูตรมาใช้ โดยจะมีการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) ประกอบกับจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมหลักสูตรด้วย เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของโรงเรียน และเป้าหมายของจังหวัด
- ตัวอย่างนวัตกรรมที่เด่น เป็นรูปธรรม และตอบโจทย์มากที่สุด
สำหรับนวัตกรรมที่สามารถสังเกตได้เป็นรูปธรรมมากที่สุด ได้แก่ 1. นวัตกรรมการจัดการเรียนสอนแบบ BBL: Brain Base Learning เป็นการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกับพัฒนาการทางสมองของผู้เรียนมากที่สุด ตัวอย่างที่สังเกตได้ชัดคือ โรงเรียนที่มีสนามฟุตบอลและมียางรถยนต์ที่ทาสีหลายๆ สีและวางหรือแขวนไว้ให้เด็กได้เล่น การนำ BBL มาปรับใช้คือ ขั้นแรกให้ผู้เรียนได้มีการเล่นและออกกำลังกายเบาๆ เพื่อปรับอารมณ์ให้พร้อมต่อการเรียน ขั้นต่อไปคือผู้สอนจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนสนใจในการเรียน หลักจากนั้น จะเป็นการให้ผู้เรียนฝึกทำซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ และขั้นสุดท้ายคือการนำความรู้ไปต่อยอด สร้างสรร์ผลงานต่างๆ โดยโรงเรียนในโครงการนี้อขงจังหวัดศรีษะเกษที่ใช้ BBL และมีผมสัมฤทธิ์ที่ดี เช่น โรงเรียนบ้านอีหนา เป็นต้น 2. โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา การเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL: Problem Base Learning) เป็นการพัฒนาปัญหาภายในให้เชื่อมโยงกับสมรรถนะภายใน ซึ่งจะเน้นให้ผู้สอนและผู้เรียนเคารพซึ่งกันและกัน สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีทั้งกายและใจ โดยนวัตกรรมนี้มีต้นแบบมาจากโรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
- การเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ยังมีการสอนในหลักสูตรของโรงเรียนที่ร่วมโครงการหรือไม่
ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการยังมีการสอนวิชาพื้นฐานปกติ แต่จะเป็นการผสมผสานมีการนำนวัตกรรมทางการศึกษาต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้กำหนดให้เหมาะสมกับพื้นฐานของผู้เรียนเป้นหลัด แต่ก็ยังต้องยึดโยงกับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย โดยที่ผ่านมาโรงเรียนที่มีการนำ BBL มาผสมผสานมีผลการสอบ O-NET ที่ดีขึ้น
- ปัญหาการดำเนินการ และการประเมินผล
- การติดต่อประสานงานของโรงเรียน และต้นสังกัดรวมไปถึงภาคของจังหวัด ยังมีการสับสนในภาระงาน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข และต้องการให้หน่วยงานต้นสังกัดมีความเข้าใจและให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้นด้วย
- การขาดหน่วยงานที่ดูแลโครงการโดยตรง ปัจจุบันสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดดูแลโครงการอยู่ แต่ไม่มีบุคลากรเข้ามาดูแลโดยตรง ทำให้ตกเป็นภาระของศึกษานิเทศ ซึ่งเดิมทีมีภาระงานของตนอยู่แล้ว ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการนี้โดยตรงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพกว่าเดิม
- งบประมาณของโครงการที่จำกัด ทำให้การปรับเพิ่มเป้าหมายไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เพราะขาดงบประมาณด้านการฝึกอบรมบุคลากร
- การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีขั้นตคอนที่ซับซ้อน
- การเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับจังหวัดบ่อย เช่น ผู้อำนวยการ สพฐ. จังหวัด และผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของโครงการ
สำหรับการประเมินผลของโครงการนั้น เนื่องจากโครงการเริ่มต้นได้ไม่นาน อาจจะยังไม่สามารถประเมินผลได้ทั้งหมด แต่ที่ผ่านมา TDRI ได้เข้ามาช่วยสำรวจพบว่า โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในการดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมเพื่อนำไปสู่ศตวรรษที่ 21
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
ผู้เขียน
นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
ผู้เขียน