บทความโดย
นางอุบลรัตน์ จิพยัคฆ์
บทนำ
ประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ กล่าวคือ มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาพิจารณาคดีเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนเป็นการเฉพาะแยกอิสระจากศาลยุติธรรม ประเทศไทยมีศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ศาลทหาร โดยมีศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญด้วย ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับคดีพิพาททางปกครอง ซึ่งมีระบบตุลาการและองค์กรบริหารงานบุคคลแยกต่างหากเป็นอิสระจากระบบศาลยุติธรรม โดยตุลาการศาลปกครองมีคุณสมบัติเฉพาะและมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายปกครองเป็นพิเศษ ศาลยุติธรรมหมายถึงศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ศาลยุติธรรมได้แก่ศาลดังต่อไปนี้ ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลชำนัญพิเศษอื่นซึ่งก็คือศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และศาลล้มละลาย ส่วนศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญาในคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด
เมื่อระบบศาลของประเทศไทยเป็นระบบศาลคู่ดังกล่าวข้างต้น จึงอาจจะมีกรณีที่ผู้เสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายหรือผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลสับสนว่าจะดำเนินการฟ้องคดีที่ศาลใด หรือแม้แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเองอาจจะมีข้อโต้แย้งว่าคดีที่ตนถูกฟ้องไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลที่ตนถูกฟ้อง รวมถึงปัญหากรณีเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองแต่มีข้อโต้แย้งว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุดหรือศาลปกครองชั้นต้น[1] หรือโต้แย้งว่าอยู่ในอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นอื่น[2] ผู้เขียนจึงขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลกรณีมีเหตุสงสัยหรือกรณีศาลเห็นเองเกี่ยวกับปัญหาเขตอำนาจศาลระหว่างศาลปกครองกับศาลยุติธรรม และระหว่างศาลปกครองด้วยกันเอง โดยมุ่งหวังเพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีในศาลและเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษากฎหมาย บทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงกรณีมีเหตุสงสัยเกี่ยวกับเขตอำนาจระหว่างศาลยุติธรรมระบบเดียวกัน หรือกรณีมีเหตุสงสัยเกี่ยวกับเขตอำนาจระหว่างศาลทหาร ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายจัดตั้งศาลนั้นๆ และตามที่กฎหมายกำหนด
ในบทความนี้ ข้อความที่ระบุว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ” หมายถึง พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ” หมายถึง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 “คำวินิจฉัยฯ” หมายถึง คำวินิจฉัย ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล “ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ” หมายถึง ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 “ข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ” หมายถึงข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. 2544 “เขตอำนาจศาล” หมายถึง เขตอำนาจของศาลในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง
ศาลแต่ละระบบไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลทหาร หรือศาลปกครองอำนาจในการพิจารณาประเภทคดีแตกต่างกัน เช่น ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด คดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลกระทำการหรือละเว้นกระทำการและคดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง[3] แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
ทั้งนี้คดีพิพาททางปกครองที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองได้บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง (1) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร (2) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ (3) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น
[1] หัวข้อคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองชั้นต้น แต่ผู้ฟ้องยื่นคำฟ้องที่ศาลปกครองสูงสุด และหัวข้อคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุด แต่ผู้ฟ้องยื่นคำฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้น
[2] หัวข้อคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครองชั้นต้นแห่งหนึ่ง แต่ผู้ฟ้องยื่นฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้นอีกแห่งหนึ่ง
[3] มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นหรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
1.กรณีมีข้อโต้แย้งการนำคดีพิพาทยื่นฟ้องต่อศาลต่างระบบ
1.1 การนำคดีพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลหนึ่ง ไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลหนึ่ง แยกพิจารณา ดังต่อไปนี้
1.1.1 ศาลที่คู่ความฝ่ายที่ยื่นฟ้องมีคำสั่งรับคำฟ้อง
1.1.1.1 กรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง
ให้คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นคำร้องต่อศาลที่รับคำฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น โดยให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็วตามนัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ[4] และให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
ก) กรณีศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอํานาจของศาลตน และ ศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคําสั่งให้ดําเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเดิมนั้นต่อไป
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ อส.304/2558 ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม จึงขอให้มีการชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาล ศาลปกครองกลางมีความเห็นที่ 36 /2556 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2556 เห็นว่า กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีหนังสือส่งความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลถึงศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือลงวันที่ 30 เมษายน 2556 เรื่องส่งความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลถึงศาลปกครองมีความเห็นที่ 24/2561 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เห็นพ้องกับความเห็นของศาลปกครองว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอํานาจของศาลตน และ ศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว คำสั่งของศาลดังกล่าวจึงเป็นที่สุด ตามมาตรา 10 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ 2542
ข) กรณีศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอํานาจของอีกศาลหนึ่งที่คู่ความอ้าง และศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็น เพื่อมีคําสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจําหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอํานาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคํานึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1026/2559 ผู้ถูกฟ้องคดีเดิมรับราชการทหารเรือ ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงไม่มีสิทธิรับเบี้ยหวัด เงินบำเหน็จบำนาญและเงิน ช.ค.บ. ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือให้นำเงินที่ได้รับไปเกินสิทธิมาคืน แต่ผู้ถูกฟ้องเพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีไปฟ้อง ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งศาลจังหวัดพิษณุโลกดำเนินกระบวนพิจารณาจนถึงขั้นตอนการยื่นคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ต่อมาเห็นว่า เป็นคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดพิษณุโลกจึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ซึ่งศาลปกครองพิษณุโลกได้รับสำนวนคดีไว้พิจารณา
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 822/2550 ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง จึงได้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราวแล้วทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลส่งไปยังศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯและข้อ 19 ของข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ซึ่งศาลยุติธรรมโดยศาลจังหวัดกบินทร์บุรีได้พิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของศาลปกครองว่า อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2550 ให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลปกครองชั้นต้นเพราะเหตุคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงชอบด้วยกฎหมาย
ค) กรณีศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอํานาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจําเป็นนั้นไว้ด้วย
คำวินิจฉัยชี้ขาดฯ ที่ 14/2552 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าการจดทะเบียนนิติกรรมเรื่องแบ่งหัก เป็นที่สาธารณประโยชน์ นิติกรรมเรื่องกรรมสิทธิ์รวม และนิติกรรมเรื่องขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลแพ่งเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องและศาลที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องอ้างว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดี ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง (3)
กรณีจะเป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว หากศาลตรวจคำฟ้องและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ไม่เป็นกรณีตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 659/2556 ตามบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ศาลปกครองจะดำเนินการได้สองกรณี คือ กรณีที่หนึ่ง ศาลปกครองได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีตามคำฟ้องนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองจึงมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา ต่อมาระหว่างพิจารณาคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองโต้แย้งว่าคดีตามคำฟ้องนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลทหาร หรือศาลอื่น และอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีที่ศาลปกครองได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีตามคำฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองจึงมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อมาระหว่างพิจารณา ศาลปกครองเห็นว่า คดีที่ได้รับฟ้องไว้นั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม ศาลทหาร หรือศาลอื่น สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลปกครองชั้นต้น เห็นว่าคดีตามคำฟ้องมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตั้งแต่ในชั้นตรวจคำฟ้องแล้ว ศาลปกครองจึงมีอำนาจตามข้อ 37 วรรคสองของระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ ที่จะสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1410/2559 วินิจฉัยไปในแนวเดียวกัน)
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 191/ 2560 เหตุแห่งคดีเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง เมื่อมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ศาลปกครองชั้นต้นสั่งไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามข้อ 37 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ แล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ
[4] มาตรา ๑๐ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน และศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเดิมนั้นต่อไป
(๒) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งที่คู่ความอ้าง และศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม
(๓) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย
คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขต
อำนาจศาลตามวรรคหนึ่ง (๓) ให้เป็นที่สุด และมิให้ศาลที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปของศาลตามวรรคหนึ่งยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีก
ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม
1.1.2 ศาลที่คู่ความฝ่ายที่ยื่นฟ้องมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โดยเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น
1.1.2.1 กรณีที่มีการฟ้องคดีปกครองต่อศาลอื่นซึ่งมิใช่ศาลปกครอง
ถ้าปรากฏว่าศาลนั้นไม่รับคำฟ้องให้ถือว่ากำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีสะดุดหยุดอยู่เท่าระยะเวลาตั้งแต่วันยื่นคำฟ้องจนถึงวันที่คดีของศาลอื่นนั้นถึงที่สุดตามนัยข้อ 31 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ[5]
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 194 /2550 ผู้ฟ้องคดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2544 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งในวันเดียวกันไม่รับฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเป็นกรณีที่มีการฟ้องคดีปกครองต่อศาลอื่นซึ่งมิใช่ศาลปกครองและศาลสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพราะไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้น จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ตามนัยข้อ 31 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนเวนคืนที่ดิน จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และมีกรณีที่ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2543 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามนัยมาตรา 26 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ 6 กันยายน 2543 กล่าวคือ ผู้ฟ้องมีสิทธิฟ้องต่อศาลภายในวันที่ 6 กันยายน 2544 แต่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (ทั้งที่เป็นคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2544 จึงเป็นการฟ้องก่อนพ้นระยะเวลาการฟ้องคดี 8 วัน (30 สิงหาคม ถึง 6 กันยายน 2544) เมื่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งในวันเดียวกันไม่รับฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ระยะเวลาการฟ้องคดีจึงสะดุดหยุดอยู่เท่าระยะเวลาตั้งแต่วันยื่นคำฟ้องจนถึงวันที่คดีของศาลอื่นนั้นถึงที่สุด คดีนี้ผู้ฟ้องคดีในฐานะโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่ง ทำให้คดีถึงที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาสำหรับอุทธรณ์คำสั่งสิ้นสุด กล่าวคือคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2544 อายุความจึงสะดุดหยุดอยู่ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2544 ระยะเวลาการฟ้องคดีจึงเหลือ 8 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2544 ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
[5] ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 31 ในกรณีที่มีการฟ้องคดีปกครองต่อศาลอื่นซึ่งมิใช่ศาลปกครอง ถ้าปรากฏว่าศาลนั้นไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพราะไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้น หรือผู้ฟ้องคดีถอนคำฟ้องจากศาลนั้นเพื่อฟ้องคดีใหม่ต่อศาลปกครอง ให้ถือว่ากำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีสะดุดหยุดอยู่เท่าระยะเวลาตั้งแต่วันยื่นคำฟ้องจนถึงวันที่คดีของศาลอื่นนั้นถึงที่สุด
1.1.2.2 กรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใดแต่ศาลนั้นไม่รับฟ้อง
เพราะเหตุว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน
คําวินิจฉัยชี้ขาดฯที่ 2/2552 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่าพนักงานอัยการเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีสั่งฟ้องและยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลแพ่งเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และศาลปกครองเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 12 วรรคสอง คณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
1.2 กรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป
กรณีคู่ความหรือศาลเห็นว่า คดีนั้นไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดศาลหนึ่งที่รับฟ้อง ให้นำความในมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือดำเนินการตาม ข้อ 1.1.1 ก) หรือ ข) หรือ ค) โดยอนุโลมตามนัยมาตรา 12 ประกอบมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 92/2547 (ประชุมใหญ่) ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 อันเป็นเวลาหลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการในวันที่ 9 มีนาคม 2544 แล้ว ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้นำเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นอีก ศาลปกครองชั้นต้น จึงชอบที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ โดยจัดทำความเห็นส่งไปยังศาลจังหวัดสมุทรสาครตามมาตรา 12 ประกอบกับมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ระหว่างรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว ศาลที่รับคำฟ้องไว้พิจารณามีอำนาจมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนการพิพากษา
ระหว่างรอการพิจารณาตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ศาลที่รับคำฟ้องไว้พิจารณามีอำนาจมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนการพิพากษา แม้ว่าในระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ศาลปกครองชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่รับคำฟ้องไว้พิจารณาจะต้องรอการพิจารณาคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาไว้ก่อนตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 15[6] แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็ตาม แต่เมื่อผู้ฟ้องยื่นคำร้องขอก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องใช้สิทธิทางศาล ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การใช้สิทธิทางศาลดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี จึงย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันศาลในการใช้บังคับกฎหมายและตีความกฎหมาย ศาลปกครองชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่รับฟ้องไว้พิจารณาย่อมมีอำนาจมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 914/2557 (ประชุมใหญ่) )
เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคณะกรรมการวินิจฉัยเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลแล้วให้เป็นที่สุด โดยให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 822/2550 การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2550 ให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพระเหตุคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดไม่อาจยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาได้อีก
กำหนดเวลาการฟ้องคดีและการขยายระยะเวลา
เมื่อมีเหตุต้องฟ้องคดีใดใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ อันเนื่องจากมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ถ้าอายุความหรือกำหนดเวลาในการฟ้องคดีครบกำหนดไปแล้ว ในระหว่างการพิจารณาของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี หรือจะครบกำหนดก่อนหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้ขยายอายุความหรือกำหนดเวลาการฟ้องคดีออกไปจนถึงหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี[7]
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6690/2555 ผู้ร้องได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ. ศ. 2545 ครบถ้วนแล้ว โดยนำคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดยื่นภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดเพียงแต่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางจำหน่ายคดี เพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง โดยขณะที่ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีเป็นเวลาที่กำหนดในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 40 วรรคสองของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ. ศ. 2545 ครบกำหนดไปแล้ว และการจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางจึงเป็นคำสั่งอันเนื่องจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ การที่ผู้ร้องนำคดีมาร้องใหม่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจึงเป็นการนำคดีไปร้องเพื่อดำเนินคดีใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจอันเนื่องจากการมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวกรณี จึงต้องด้วยมาตรา 13 วรรคสอง
สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลนั้นต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้นเป็นการวินิจฉัยว่า คดีพิพาทในเรื่องนั้นอยู่ในอำนาจของศาลใดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มิใช่ว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้นจะถือเป็นเหตุยกเว้นบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 564/2548 แม้ว่าจะยังอยู่ในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็พ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ จึงไม่อาจขยายอายุความหรือกำหนดเวลาการฟ้องคดีออกไปจนถึงหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 33/2554 ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเกินระยะเวลาที่กำหนด (ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ) ต่อมามีความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ให้จำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ผู้ฟ้องจึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 อันเป็นการยื่นฟ้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามมาตรา 13 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯแต่การที่ผู้ฟ้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่งในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ก็เป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
กำหนดระยะเวลาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ นั้น หาใช่อายุความไม่
คำวินิจฉัยชี้ขาดฯ ที่ 65/2559 กรมบัญชีกลาง ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำละเมิดหน่วยงานของรัฐต่อศาลยุติธรรมในขณะเดียวกันก็แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงฟ้องโจทก์กับพวกขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดแต่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิด โดยคำพิพากษาของทั้งสองศาลต่างถึงที่สุด ดังนี้ แม้ว่าโจทก์จะยื่นคำร้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลคดีหลังสุด อันเป็นการล่วงเลยระยะเวลาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ก็ตาม แต่กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความไม่ เมื่อคู่ความยังไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมคณะกรรมการจึงรับคำร้องไว้พิจารณา
[6]พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 10 ถึงมาตรา 14 ไปใช้กับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา การยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการฟ้องคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ การสืบพยานหลักฐานไว้ก่อนฟ้องคดี การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ประการอื่นของศาลโดยอนุโลม
[7]พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 13 วรรคสอง “เมื่อมีเหตุต้องฟ้องคดีใดใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ อันเนื่องจากมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าอายุความหรือกำหนดเวลาในการฟ้องคดีครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี หรือจะครบกำหนดก่อนหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้ขยายอายุความหรือกำหนดเวลาการฟ้องคดีออกไปจนถึงหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี”
1.3 กรณีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน
คำวินิจฉัยฯที่ 26 / 2548 โจทก์และผู้ฟ้องคดีได้นำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องศาลคือศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง โดยทั้งสองศาลมีมูลเหตุแห่งคดีมาจากคำสั่งสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 198/1 2542 ลงวันที่ 27 กันยายน 2542 เรื่องอนุญาตให้ข้าราชการครูออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณก่อนกำหนด จึงเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ เมื่อศาลยุติธรรมตัดสินให้นายชุลีและผู้ค้ำประกันจำเลยต้องร่วมกันรับผิด ฐานผิดสัญญาใช้ทุนและศาลปกครองตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 198/1 2542 ลงวันที่ 27 กันยายน 2542 ที่ให้ผู้ฟ้องออกจากราชการว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำพิพากษาของทั้งสองสารนั้นถึงที่สุดแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้คู่ความไม่อาจบังคับหรือปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องถือว่าเป็นกรณีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ชอบที่คู่ความจะยื่นคำร้องขอให้มีการวินิจฉัย ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการฯ พิจารณาวินิจฉัย เห็นว่า ให้คู่ความปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยมิให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานคือเงินที่ได้รับชำระทั้งหมดให้แก่นายชุลีและผู้ค้ำประกันต่อไป
2. กรณีมีการนำคดีพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองแห่งหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกแห่งหนึ่ง
2.1 คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครองชั้นต้นแห่งหนึ่งแต่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้นอีกแห่งหนึ่ง
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 566/2553 ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลางเมื่อผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและมูลคดีเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนครศรีธรรมราช เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและพิพากษาคดี การที่ศาลปกครองกลางส่งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไปยังศาลปกครองนครศรีธรรมราชตามนัยข้อ 40 วรรคหนึ่ง[8] แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ นั้นชอบแล้ว
[8] ระเบียบของที่ประชุมตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ ข้อ 40 “ในกรณีที่องค์คณะเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นอื่น ให้เสนออธิบดีศาลปกครองชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งให้ส่งคำฟ้องนั้นไปยังศาลปกครองชั้นต้นอื่นที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาดำเนินการ และเมื่อศาลปกครองชั้นต้นอื่นได้รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาแล้ว ให้อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นที่ส่งคำฟ้องไปสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความและให้ถือว่ามีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นต่อศาลปกครองชั้นต้นอื่นตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นแห่งแรก”
2.2 คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองชั้นต้น แต่ผู้ฟ้องยื่นคำฟ้องที่ศาลปกครองสูงสุด
ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดอยู่ในอำนาจของศาลปกครองชั้นต้น ให้เสนอประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำฟ้องนั้นไปยังศาลปกครองชั้นต้นที่คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจตามนัยข้อ 99 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ[9]
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 8/2561 คดีปกครองศาลปกครองสุงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ. 3/2561 ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ส่งหนังสือของผู้ฟ้องคดีกับพวกซึ่งยื่นข้อเรียกร้องให้พิจารณาส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพขับรถรับจ้างสาธารณะ(แท๊กซี่)ไปยังธนาคารออมสิน โดยผู้ฟ้องต้องการให้รัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีส่งเสริมสนับสนุนเงินทุนซื้อแท๊กซี่ ทั้งนี้ โดยไม่ระบุเหตุแห่งการฟ้องคดีให้ชัดเจน กรณีจึงอาจเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้ลงทะเบียนในสารบบความ เพื่อให้องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีในศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งต่อไป
คำสั่งศาลปกครองสุงสุดที่ 13/2560 ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ศาลปกครองขอนแก่นรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณา ซึ่งศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา ผู้ฟ้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ (ฉบับที่ 2) ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้องตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลฯ แต่โดยที่มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้กำหนดให้คำขอดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้ เมื่อคดีนี้ศาลปกครองขอนแก่นเป็นศาลที่มีคำพิพากษา ดังนั้น คำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ของผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ของผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นตามมาตรา 10 และมาตรา 47 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 94 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และข้อ 99 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองขอนแก่นรับคดีไว้ลงทะเบียนในสารบบความ เพื่อให้องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีในศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งต่อไป
[9] ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ ข้อ 99 ในกรณีที่องค์คณะพิจรารณาพิพากษาคดีในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดอยู่ในอำนาจของศาลปกครองชั้นต้น ให้เสนอประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำฟ้องนั้นไปยังศาลปกครองชั้นต้นที่คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ แล้วให้องค์คณะในศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยให้ถือว่ามีการฟ้องคดีนั้นต่อศาลปกครองชั้นต้นตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด
2.3 คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุด แต่ผู้ฟ้องยื่นคำฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้น
คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นอยู่ในอำนาจของศาลปกครองสุงสุด ให้เสนออธิบดีศาลปกครองชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำฟ้องนั้นไปยังประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการ ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ให้ส่งคำฟ้องคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นและให้ศาลปกครองชั้นต้นนั้นพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวและศาลปกครองสูงสุดได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ให้อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และให้ถือว่ามีการฟ้องคดีนั้นต่อศาลปกครองสูงสุดตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ตามนัยข้อ 39 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ[10]
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ. 7/2561 ฟ้องคดีฟ้องเพิกถอน กฎกระทรวงฉบับที่ 621 (พ.ศ 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวน พ. ศ. 2507 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้และตำบลเกาะแก้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2537 กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาหรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 11 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 และต่อมาประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งลงวันที่ 16 มกราคม 2561 ให้ศาลปกครองสูงสุดรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป กรณีนี้จึงถือได้ว่ามีการฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามข้อ 39 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ
[10]ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ ข้อ 39 “ในกรณีองค์คณะเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นอยู่ในอำนาจของศาลปกครองสุงสุด ให้เสนอดฃอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำฟ้องนั้นไปยังประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการ
ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ให้ส่งคำฟ้องคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นและให้ศาลปกครองชั้นต้นนั้นพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวและศาลปกครองสูงสุดได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ให้อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และให้ถือว่ามีการฟ้องคดีนั้นต่อศาลปกครองสูงสุดตั้งแต่วันที่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น”
3. บทส่งท้าย
กรณีที่มีการฟ้องคดีซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ หรือกรณีที่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ การทราบว่าเมื่อมีการฟ้องคดีและสงสัยเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไรย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ คือ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้พิพากษา ตุลาการศาลปกครองที่เกี่ยวข้อง และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ทนายความ จึงทำให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
นางอุบลรัตน์ จิพยัคฆ์
ผู้ช่วยเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร
สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร
ผู้เขียน