การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวแล้วหรือยัง?

การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวแล้วหรือยัง?

บทความโดย[1]
นางสาวกาญจนา จันทรชิต
นางสาวพิมพ์พาภรณ์ สุทธหลวง
                                                                                       นางสาวธัญลักษณ์ โกษาเสวียง
                                                                                                นายศุภชัย ธรรมสุปรีดิ์


[1] ขอขอบคุณ นายณัฐพล ศรีพจนารถ ผู้อำนวยการส่วนส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำหรับข้อแนะนำ อนึ่ง บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ได้สะท้อนความเห็นของหน่วยงาน

1. บทนำ : ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญ

ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.0 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) โดยแบ่งเป็นรายได้ของการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมูลค่า 1.91 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.08 ล้านล้านบาท นอกจากนี้บริการทางการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการขนส่ง ยังช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศอีกด้วย โดยในปี 2562 พบว่ามีแรงงานเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว จำนวน 4.4 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 37.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.6 ของการจ้างงานทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดของการจ้างงานในสาขาต่าง ๆ ของภาคการท่องเที่ยว พบว่าสาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนร้อยละ 52.3 ของสาขาการท่องเที่ยวทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สาขาการบริการโรงแรมและที่พัก และสาขาการขนส่งผู้โดยสารทางรถยนต์ที่มีสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 12.96 ของสาขาการท่องเที่ยวทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี 2563 การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมีการออกมาตรการจำกัดการเดินทาง โดยในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐมีการประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจนทำให้ไตรมาส 4 ปี 2563 ได้มีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภท Special Tourist VISA (STV) เดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้เพียง 10,822 คน ส่งผลให้ในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 6.7 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ถึงร้อยละ -83.2 ต่อปี และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียง 3.3 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ -82.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และจากที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึง 1.91 ล้านล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวลงถึงร้อยละ -6.2 ต่อปี

ตาราง 1 : สัดส่วนรายได้การท่องเที่ยวต่อ GDP และส่วนแบ่งการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศของแต่ละประเทศปี 2019
ที่มา : กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ World Travel & Tourism Council

Country

Share Tourism to GDP 2019 (%)

Proportion of tourism sector 2019

Real GDP (%)

Real GDP (%)

International

Domestic

2019

2020

Maldives

52.6

93

7

6.9

-33.5

Philippines

22.5

16

84

6.1

-9.6

Thailand

17.8

70

30

2.2

-6.2

Portugal

17.1

59

41

2.7

-8.4

Spain

14.1

57

43

2.1

-10.8

Italy

13.1

24

76

0.5

-9.0

China (Hong Kong)

12.0

72

28

-1.7

-6.5

Malaysia

11.7

81

19

4.4

–5.6

Singapore

11.1

71

29

1.1

-4.1

United Kingdom

10.1

18

82

1.7

-9.3

ขณะที่ปี 2564 สถานการณ์การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติยังคงได้รับผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้าซึ่งมีความรุนแรงของโรคและสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น ทำให้รัฐบาลหลายประเทศยังคงมีการใช้นโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้นโยบายควบคุมโควิด-19 เป็นศูนย์ (Zero-Covid-19) ของประเทศจีนตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยเพียง 4.3 แสนคน ลดลงจากปี 2563 ที่ร้อยละ -93.6 ต่อปี ขณะที่ข้อมูลจากข้อมูลของ World Tourism Organization a UN Specialized Agency (UNWTO) ระบุว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกก็ยังคงหดตัวสูงที่ร้อยละ -71.0 ซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ลดลงร้อยละ -55.15

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดลง ส่งผลให้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการศึกษาในครั้งนี้ว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวขึ้นแล้วรึยัง รวมถึงแนวโน้มในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไปควรอย่างไร จึงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2. เจาะลึกสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2565

สำหรับการติดตามและประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย จะสะท้อนจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ 1) จำนวนนักท่องเที่ยวชาวชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย 2) จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย และ 3) จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยาน 25 สนามบิน

2.1 เจาะลึกสถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 5 เดือนแรกปี 2565

สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 เริ่มส่งสัญญาณของการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง สะท้อนจากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (เบื้องต้น) ที่รายงานโดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 พฤษภาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วจำนวน 1.1 ล้านคน แม้จะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าทั้งปี 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียง 4.3 แสนคน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่เปิดให้ลงทะเบียน Thailand Pass อีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ได้มีการยกเลิกมาตรการ Test & Go และผ่อนคลายเงื่อนไขการยื่นขอลงทะเบียน Thailand Pass เช่น การลงทะเบียนขอให้แสดงหลักฐานวัคซีนและประกันภัยเท่านั้น จากเดิมที่ต้องมีการแสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 การจองห้องพัก และอื่น ๆ รวมทั้งลดวงเงินประกันภัย หรือประกันในรูปแบบอื่น ๆ เหลือ 10,000 USD จากเดิม 20,000 USD รวมทั้งการยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบวิธี RT-PCR เมื่อมาถึงโดยแนะนำให้ตรวจ Self-ATK ระหว่างพำนักแทน ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องภายในประเทศก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่านักเที่ยวเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปเป็นสำคัญ อาทิ นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส เนื่องจากกลุ่มประเทศยุโรปมีการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด -19 มากขึ้นและรวดเร็วเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมีสัดส่วนต่อนักท่องเที่ยวรวมลดลงจากช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 ที่มีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 10 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียถูกนานาประเทศคว่ำบาตรจากการที่รัสเซียโจมตียูเครน นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวชาวอินเดียยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่มีการทำ Travel Bubble ระหว่างไทยและอินเดียในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจาก สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกันจากการที่ประเทศข้างต้นมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา

ภาพที่ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วง 5 เดือนแรกปี 65
แท่งสีน้ำเงิน: นักท่องเที่ยวที่เข้ามาแบบ STV
แท่งสีเทา: นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในรูปแบบ Sand Box
แท่งสีส้ม: นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในรูปแบบ Test & Go
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
หมายเหตุ : * ตัวเลขเบื้องต้นจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ตารางที่ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรายสัญชาติเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565
สัญชาติเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565

ลำดับ

ประเทศ

จำนวน (คน)

สัดส่วน (%)

1

UK

70,865

9%

2

Germany

62,105

8%

3

Russia

56,042

7%

4

USA

46,860

6%

5

France

46,266

6%

6

India

44,177

6%

7

Australia

34,145

4%

8

Singapore

30,035

4%

9

Israel

24,183

3%

10

China

22,466

3%

 

Others

353,899

45%

รวม

791,043

100%

2.2 เจาะลึกสถานการณ์การท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2565

  • สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในในปี 2565 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 62.7 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 87.6  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการฉีดวัคซีนที่กระจายทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการทัวร์เที่ยวไทย และการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ (โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน)
  • ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำนวนผู้เยี่ยมเยือนเป็นรายภูมิภาคและจังหวัด พบว่า ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสูงสุด โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี อุดรธานี บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด
จำนวนผู้เยี่ยมเยือนรายภูมิภาค (หน่วย: ล้านคน)256225632564Q3/64Q4/64Q1/65มี.ค.65เม.ย.654 เดือนแรกปี 2565
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   42.1   23.0   12.9    0.8    5.2    7.2    2.4    2.6    9.8
ภาคเหนือ   30.6   19.3   12.4    0.9    5.6    7.6    2.3    2.6   10.1
ภาคตะวันตก   31.1   19.3   13.1    0.6    6.4    9.1    3.1    3.3   12.4
กทม.   42.1   18.8   11.9    0.8    4.1    7.0    2.4    2.6    9.6
ภาคกลาง   31.5   14.8    8.8    0.3    4.4    6.7    2.3    2.6    9.3
ภาคตะวันออก   26.7   14.6    7.0    0.4    4.4    4.7    1.6    1.7    6.4
ภาคใต้   25.7   13.4    5.7    0.2    1.8    3.7    1.2    1.4    5.1
ทั้งประเทศ229.7123.271.94.031.846.015.416.762.7
ตารางที่ 3 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนรายภูมิภาคในปี พ.ศ. 2563 – 2565 (4 เดือนแรกปี 2565)
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

2.2 เจาะลึกสถานการณ์การท่องเที่ยวของผู้โดยสารที่เดินทางผานกรมท่าอากาศยานในช่วง 4 เดือนแรกปี 2565

  • นอกจากนี้เมื่อพิจารณาสถานการณ์การท่องเที่ยว ผ่านเครื่องชี้จำนวนผู้โดยสารขาเข้า
    ที่เดินทางผ่านกรมท่าอากาศยาน[2] ในช่วง 4 เดือนแรกในปี 2565  พบว่าอยู่ที่ 1.54 ล้านคน สูงกว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ที่มีจำนวนอยู่ที่ 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.87 แสนคน หรือคิดอัตราการขยายตัวที่ร้อย 46.2

[2] จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานไทยจำนวน 28 สนามบิน เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ชี้วัดเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ภาพที่ 2 : จำนวนผู้โดยสารกรมท่าอากาศยานรายเดือนในปี พ.ศ. 2563- 2565 (หน่วย:คน)
ที่มา: กรมท่าอากาศยาน รวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

หากพิจารณาจำนวนผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางผ่านกรมท่าอากาศยานรายเดือนในช่วงปี 2563 – 2565 พบว่าจำนวนผู้โดยสารกรมท่าอากาศยานมีแนวโน้มที่ลดลง โดยเป็นผลมาจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยช่วงที่ผู้โดยสารมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญสามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 ในเดือนเมษายน 2563 จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านกรมท่าอากาศยานมีจำนวน 12,545 คน ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2563 ที่มีจำนวน 452,607 คน เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 รัฐบาลได้มีการประกาศล็อกดาวน์โดยห้ามประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์และห้ามอากาศยาน
ทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนจะมีการเริ่มผ่อนคลายมาตรการอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2563

ช่วงที่ 2 ในเดือนมกราคม 2564 จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านกรมท่าอากาศยานมีจำนวน 127,580 คน ลดลงจากเดือนก่อนที่มีจำนวน 601,051 คน เนื่องจากพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ระบาดเพิ่มขึ้นจากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร โดยพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 516 คน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นระบาดระลอกใหม่ในเวลาต่อมา โดยรัฐบาลได้ควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้งจากการห้ามเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สุมทรสาคร ชลบุรี จันทบุรีและตราด

ช่วงที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรุนแรงอีกครั้ง โดยต้นตอจากแคมป์คนงานหลักสี่ และเริ่มพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียหรือเดลต้า ซึ่งมีการอัตราแพร่กระจายหรือติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะเดียวกันแคมป์ก่อสร้างจังหวัดนราธิวาสมีการตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือเบต้า ซึ่งเป็นคลัสเตอร์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสจากผู้ลักลอบเข้าเมืองในเวลาเดียวกันส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารกรมท่าอากาศยานในเดือนดังกล่าวมีจำนวนลดลงมาอยู่ที่ 58,264 คน จากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 331,456 คน

ช่วงที่ 4 ในเดือนมกราคม 2565 จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านกรมท่าอากาศยานมีจำนวน 333,823 คน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ที่มีจำนวน 418,775 คน เนื่องจากมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์
โอมิครอนที่จังหวัดกาฬสินธุ์จากสองสามีภรรยาที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและได้มีการเดินทางไปหาญาติ จังหวัดอุดรธานี ทำให้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในช่วงเวลานั้นจำนวน 205 คน

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จำนวนผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานต่าง ๆ
จะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการแพร่รระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแต่ละระลอก แต่หลังจาก
ช่วงท้ายของปี 2564 สถานการณ์การเดินทางผ่านท่าอากาศยานมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนแต่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดก่อนหน้า และ 2) การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศและการใช้จ่ายของคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น

ลำดับภูมิภาค2562256325642565 (4 เดือนแรก)
1ภาคใต้4,076,1352,252,134898,008 640,027
2ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ3,968,7992,312,0601,060,827 764,305
3ภาคเหนือ823,103475,372208,508 133,437
4ภาคตะวันตก44,99815,0943,032 3,323
รวม 25 สนามบิน8,913,0355,054,6602,170,3751,541,092
ตารางที่ 3 จำนวนผู้โดยสารกรมท่าอากาศยานในปี 2562-2565 ในแต่ละภาค
ที่มา:กรมท่าอากาศยาน รวบรวมข้อมูลโดยผู้เขียน

หากพิจารณาจำนวนผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางผ่านท่าอากาศยาน 25 สนามบิน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า มีจำนวนผู้โดยสาร 1.54 ล้านคน และเมื่อวิเคราะห์เป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคที่มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางมากที่สุดเป็นอันดับแรกคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7.6 แสนคน รองลงเป็นภาคใต้และภาคเหนือจำนวน 6.4 และ 1.3 แสนคน ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันตกมีผู้โดยสารมีจำนวน 3.3 พันคน บ่งชี้ว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านเครื่องชี้จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน 25 สนามบิน มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมลง ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้คลอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 พบว่ามีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งถึงร้อยละ 81.1 เข็มสองร้อยละ 75.1 และเข็มกระตุ้นร้อยละ 39.5 ของประชากรในประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่มีการเพิ่มจำนวนอีก 1.5 ล้านสิทธิ และขยายเวลาของโครงการไปจนถึง 30 กันยายน 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2565 ให้มีการฟื้นตัวได้ต่อไป

3. สนับสนุนและปัจจัยกดดันของการท่องเที่ยวไทย

3.1 ปัจจัยสนับสนุนของการท่องเที่ยวไทย

1) ประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว

  • ที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ และศูนย์กลางการขนส่งภายในภูมิภาค โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมของไทยที่เชื่อมโยงกับเส้นทางการเดินทางไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคได้โดยง่าย รวมไปถึงของระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)ด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางเรือ และอากาศที่มีความพร้อมอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการขนส่งทางอากาศ สะท้อนจากการมีสนามบินนานาชาติที่กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค ทำให้มีการเดินทางเข้า – ออก ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความสะดวกและไม่กระจุกตัวเพียงสนามบินหลักเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทท่าอากาศยานไทยยังมีแผนที่จะขยายอาคารรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองเพื่อให้รองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพด้านของขนส่งของไทยให้เพิ่มขึ้นในอนาคต
  • ความพร้อมทางด้านแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในทุกกลุ่ม โดยประเทศไทยมีชื่อเสียงทั่วระดับโลกในด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ทะเล และชาดหาดที่สวยงามในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง และตราด ภูเขา อุทยานแห่งชาติต่าง ๆ รวมถึงการท่องเที่ยวทางการแพทย์ และการท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิงที่มีหลายรูปแบบ อาทิ สวนสนุก โรงละคร แหล่งช้อปปิ้ง และสถานบันเทิงต่าง ๆ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกระดับ ตั้งแต่นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงที่สามารถใช้จ่ายในระดับสูงไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัด จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์รวมแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจรที่สามารถตอบโจทย์ทุกกลุ่มนักท่องเที่ยว
  • ความพร้อมในด้านขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจากรายงาน Travel & Tourism Competitiveness Report 2019 (World Economic Forum) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ 140 ประเทศ ในปี 2562 โดยพิจารณาจากดัชนี 14 รายการและแต่ละรายการมีคะแนนเต็ม 7 คะแนน โดยพบว่าประเทศไทย มีคะแนนรวมอยู่ที่ 4.5 คะแนน (จาก 7.0 คะแนน) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 31 (จาก 140 ประเทศ) ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่อันดับ 34 และอยู่ในอันดับที่ 3 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งจากรายงานดังกล่าว พบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมสูงในด้านรัพยากรธรรมชาติ (อันดับที่ 10) โครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว (อันดับที่ 14) โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ (อันดับที่ 22) และการแข่งขันด้านราคา (อันดับที่ 25) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้านที่ประเทศไทยได้รับคะแนนน้อย คือด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (อันดับที่ 130) และด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว (อันดับที่ 111) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระยะต่อไป
ภาพที่ 3 : ระดับคะแนนขีดความสามารถในการแข่งด้านการท่องเที่ยวของไทยในปี 2562
ที่มา: รายงาน Travel & Tourism Competitiveness Report 2019 ,World Economic Forum

2) นโยบายภาครัฐในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 รัฐบาลได้ประกาศให้เริ่มต้นเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบด้วยการยกเลิกระบบ Test & Go สำหรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว จะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาได้รับความสะดวกสะบายมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนการตรวจหาเชื้อ หรือเป็นภาระในการจองห้องพักล่วงหน้า ทำให้คาดว่าจะสามารถดึงดูดจูงใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันระยะที่ 4 ไปจนถึง 30 กันยายน 2565 และเพิ่มจำนวนสิทธิโครงการฯ อีก 1.5 ล้านสิทธิ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของประชาชน

3.2 ปัจจัยกดดันของการท่องเที่ยวไทย

1) ความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ สูง เนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวนั้นเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวอาจตัดสินใจที่จะงดการเดินทาง เช่น ปัญหาความมั่นคงทางการเมือง การแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อความมั่นคงทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและความปลอดภัย ได้ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลง 

ภาพที่ 4 : จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในระยะเวลา 20 ปี
ที่มา: กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

2) การดำเนินนโยบายการเดินทางต่างประเทศของประเทศต้นทาง เพื่อควบคุมการระบาดของ
โรคติดเชื้อโควิด-19
 เช่น นโยบายปลอดโควิด (Zero COVID Policy) ของจีน ทำให้รัฐบาลต้องต้องล็อคดาวน์กว่า 45 เมือง รวมถึงความเข้มงวดในการเข้าออกประเทศ ซึ่งหากจีนยังไม่ปรับเปลี่ยนการใช้นโยบายดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวจีน (ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 30 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมดในปี 2562) จะยังไม่สามารถเดินทางมาไทยได้อย่างปกติได้

3) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียโดยหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากความไม่สะดวกในเรื่องระบบการชำระเงิน ซึ่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวของคนรัสเซียที่จะเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ จากปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลให้ระดับราคาพลังงาน และระดับราคาสินค้าหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ผู้บริโภคเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย

4) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีผู้ประกอบการต้องปรับลดขนาดการดำเนินธุรกิจลงชั่วคราวและจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานไปกว่าร้อยละ 50 ซึ่งแรงงานบางส่วนได้กลับไปภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพการเกษตรและอาชีพอื่น ๆ ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มสูงขึ้น แต่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวอาจยังขาดแคลนแรงงาน

5) ปัญหาเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาหมอกควันพิษอย่าง PM 2.5 ปัญหาบริหารจัดการขยะมูลฝอยในแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางธรรมชาติที่เกิดจากปัญหาในเรื่องของคุณภาพของนักท่องเที่ยวเที่ยวหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและจริงจัง เนื่องจากจะส่งผลกระทบการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต

5) ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังมีปัญหาในส่วนของโครงสร้างที่ไม่สมดุล ทั้งในแง่ของโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนสูง ทำให้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย Zero-Covid
ของจีน ขณะเดียวกันยังมีความไม่สมดุลของการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวระหว่างนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย
โดยเมื่อเปรียบเทียบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในปี 2562
หรือก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 จะพบว่าในแง่ของจำนวนนั้น จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (สะท้อนการท่องเที่ยวภายในประเทศของไทย) ในปี 2562 มีจำนวนถึง 230 ล้านคน หรือเฉลี่ยแล้วคนไทย 1 คนเที่ยว 3 ครั้งต่อปี มากกว่าที่ชาวต่างชาติมาเที่ยวไทยเกือบ 6 เท่า อย่างไรก็ดี ปริมาณที่มากกว่าไม่ได้สะท้อนว่าจะมีการใช้จ่ายที่มากกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพที่ 5 และภาพที่ 6 พบว่าผู้เยี่ยมเยือน 230 ล้านคน ใช้จ่ายเงินรวมกันคิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,708 บาท/คน/ครั้ง ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 40 ล้านคนใช้จ่ายเงินรวมกันคิดเป็นมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 47,895 บาท/คน/ครั้ง บ่งชี้ว่าการท่องเที่ยวของไทยมีการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก นอกจากนี้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยยังมีปัญหากระจุกตัวเพียง 22 จังหวัดเมืองหลัก โดยมีสัดส่วนร้อยละ 84 ของรายได้ของการท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ 55 จังหวัดเมืองรอง มีสัดส่วนร้อยละ 16 ของรายได้ของการท่องเที่ยวทั้งหมด

ภาพที่ 5 เปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปี 2016-2021
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ภาพที่ 6 เปรียบเทียบรายได้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยและชาวไทยปี 2016-2021
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ภาพที่ 7 สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP ปี 2016-2021
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา
ภาพที่ 8 สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างชาติต่อ GDP ปี 2016-2021
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา

4. แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยปี 2565

4.1 แนวโน้มการท่องเที่ยวต่างชาติ

ภาคการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณของการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งจากการที่รัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รัฐบาลก็ได้มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศผ่านการลงทะเบียน Thailand Pass ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ได้มีการระงับการลงทะเบียนดังกล่าวจากผลของการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่หลังจากจากที่มีการเปิดให้ลงทะเบียน Thailand Pass อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อในวันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังได้มีการแถลงมาตรการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะมีการยกเลิกมาตรการ Test and Go (ยกเลิกวิธีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR สำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มตามหลักเกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลก และยกเลิกนโยบายการไม่ต้องกักตัว) ทำให้หลักเกณฑ์ในการยื่นขอลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Thailand Pass ลดลงไปด้วย รวมทั้งมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่มีความผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งผู้เขียนก็คาดว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเบื้องต้นที่รายงานโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 – 20 พฤษภาคม 2565 ที่มีจำนวน 286,366 คน ( เฉลี่ยวันละ 14,318 คน ขณะที่เดือนเมษายน 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเฉลี่ยวันละ 8,784 คน ) ขณะเดียวกันหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ก็เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มมีการเปิดด่านชายแดนระหว่างประเทศ ซึ่งก็คาดว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในระยะถัดไป

ทำให้คาดว่าในระยะถัดไปภาคการท่องเที่ยวจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นภาพชัดเจน ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากปัจจุบันแม้จะมีสัญญาณของการฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงและแรงกดดันในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียลดลง โดยสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว ยังส่งผ่านไปยังภาวะเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ทั่วโลกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ขณะที่การดำเนินนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ของจีน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะดำเนินต่อไป ทำให้มีการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ลงจากครั้งก่อน

ทั้งนี้ ในปี 2565 ผู้เขียนคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย ทั้งสิ้น 6.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1,315 ต่อปี ขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลงมาอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 883 ต่อปี และคาดว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริป อยู่ที่ 61,047 บาท ลดลงจากปี 2564 เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในปี 2564 เป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดที่มีศักยภาพการใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขณะที่ในปี 2565 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง

ภาพที่ 9 คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ปี 2565 (ล้านคน)
ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์โดยผู้เขียนบทความ

4.2 แนวโน้มสถานการณ์การท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย และผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางผ่านสนามบินของกรมท่าอากาศยาน

สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวของภายในประเทศของไทย จะได้รับปัจจัยสนับสนุน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) ความมคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยในการลดอัตราการเสียชีวิตจากแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว 2) มาตรการผ่อนคลายในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการอนุญาตให้มีการเปิดกิจกรรมเป็นปกติ รวมถึงรัฐบาลได้มีสนับสนุนการท่องเที่ยวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2565 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง และ 3) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ระดับราคาสินค้าภายในประเทศ (อัตราเงินเฟ้อ) รวมถึงต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ผู้เขียนคาดว่าในปี 2565 จะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยประมาณ 185.6 ล้านคน และจำนวนผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางผ่านกรมท่าอากาศยานจำนวน 5.6 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งพิจารณา ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของสถานการณ์โควิด-19 วันหยุดยาวหรือเทศกาลต่าง ๆ ในแต่ละเดือนของปี 2565 และมาตรการการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ นอกจากนั้น ยังพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและต้นทุนการผลิต

ภาพที่ 11 ประมาณการจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและจำนวนผู้โดยสารกรมท่าอากาศยาน
ที่มา: กรมท่าอากาศยาน ประมาณการโดยผู้เขียน

5. แนวนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

5.1 จากการที่การท่องเที่ยวของไทยประสบปัญหาไม่สมดุลในด้านโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีการกระจุกตัวอยู่ 22 เมืองหลัก ดังนั้น จึงต้องเร่งผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยวให้มีกระจายตัวสู่เมืองรองเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้

5.2 ขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการเฉพาะ โดยมุ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง

ได้แก่

  • การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทั้งทะเล ชายหาด ภูเขา ที่สวยงามงามและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือนได้จำนวนมากในแต่ละปี 
  • การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) ที่นำบริการด้านสุขภาพมาผสมผสานกับการท่องเที่ยว เช่น การนวดสมุนไพร การฝึกโยคะ การบริการสุวคนธบำบัด วารีบำบัด การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ การรักษาโรคต่าง ๆ บริการทันตกรรม การผ่าตัดเสริมความงาม เป็นต้น
  • การท่องเที่ยวเชิงกีฬา เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชอบการออกกำลังกาย เช่น ปีนหน้าผา พร้อมทั้งเปิดมิติใหม่ด้วยการท่องเที่ยวเพื่อเล่นกีฬา เช่น การวิ่งมาราธอน การแข่งขันไตรกีฬา ตลอดจนการเข้าชมการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ
  • การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการท่องเที่ยวในพื้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ร่วมและประทับใจในคุณค่าของวัฒนธรรม นำไปสู่ความรู้สึกผูกพันระหว่างนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส เรียนรู้ ชื่นชม และเข้าใจผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศ
  • การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวตามศาสนสถาน เพื่อตอบสนอง
    ด้านจิตวิญญาณและความศรัทธา รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พานักท่องเที่ยวไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้าร่วมประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนา เช่น เทศกาลกินเจ งานบุญบั้งไฟพญานาค งานแห่เทียนพรรษาต่อยอดความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับการรักษาธรรมชาติที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมลดของเสียให้มากที่สุด (Zero Waste) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ภาคการท่องเที่ยวของไทย

5.3 เน้นขยายและแสวงหากลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในพื้นที่มีศักยภาพใหม่ๆ

เช่น มองโกเลีย เกาหลีใต้ ขณะที่พื้นที่ในตลาดเดิม New Partner สร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มเติม New Infrastructure ใช้เส้นทางการคมนาคมใหม่ ๆ ให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน – สปป.ลาว ที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางมายังจังหวัดหนองคายได้ และ New Way คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ (Millennials) ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

5.4 ส่งเสริมให้เกิด Greatest Change ด้วย Soft Power of Thailand ตามแนวทาง 5F : 4M

คือ Food Film Fashion Festival Fight Music Museum Master และ Meta เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง นำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้หลัก Inclusive Tourism เจาะกลุ่มเป้าหมายคุณภาพและนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เต็มใจจ่ายเพื่อตอบสนองคุณค่าของประสบการณ์ แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

5.5 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อมที่รองรับนักท่องเที่ยว

เช่น การเชื่อมโยงด้านคมนาคมในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และยกระดับให้ได้มาตรฐาน การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัย รวมทั้งการจัดระเบียบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในพื้นที่ เช่น ที่จอดรถ ห้องน้ำต่าง ๆ  เป็นต้น

6. ภาพรวมการท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม รวมถึงทยอยเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เปิดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go ผ่านการลงทะเบียน Thailand Pass ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยกว่า 2 แสนคนต่อเดือน สอดคล้องกับการท่องเที่ยวภายในประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ทำให้คาดว่าภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่แนวนโยบายการท่องเที่ยวที่ควรดำเนินการในระยะต่อไป ได้แก่ 1) ผลักดันการท่องเที่ยวให้มีกระจายตัวสู่เมืองรองเพิ่มมากขึ้น 2) ขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการเฉพาะ โดยการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง 3) ส่งเสริมให้เกิด Greatest Change ด้วย Soft Power of Thailand ตามแนวทาง 5F : 4M คือ Food Film Fashion Festival Fight Music Museum Master และ Meta และ 4) พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองให้มีความพร้อมที่รองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยต่อไป

7. บทสรุป

ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก สะท้อนจากรายได้จากจากท่องเที่ยวในปี 2562 อยู่ที่ 3.0 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.8 ของ GDP นอกจากนี้ ยังช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศด้วย โดยในปี 2562 พบว่ามีจำนวนแรงงานในที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวมีจำนวน 4.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.6 ของการจ้างงานทั้งหมด

ในปี 2563-2564  ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา -2019 ทำให้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 การท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเบื้องต้นที่รายงานโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วจำนวน 1.1 ล้านคน (วันที่ 1 มกราคม – 20 พฤษภาคม 2565) แม้จะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าทั้งปี 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียง 4.3 แสนคน สอดคล้องกับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 62.7 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 87.60 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อยู่ที่ 6.1 ล้านคน

สำหรับปัจจัยสนับสนุนของการท่องเที่ยวของไทย ได้แก่ 1) ประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว (ที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ และศูนย์กลางการขนส่งภายในภูมิภาค ความพร้อมทางด้านแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในทุกกลุ่ม ความพร้อมในด้านขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันในด้านการท่องเที่ยว) และ 2) นโยบายภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ทัวร์เที่ยวไทย เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยกดดันของการท่องเที่ยวของไทย ได้แก่ 1) ความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 2) การดำเนินนโยบายการเดินทางต่างประเทศของประเทศต้นทาง เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 3) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียโดยหลายประเทศ 4) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 5) ปัญหาเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และ 6) ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังมีปัญหาในส่วนของโครงสร้างที่ไม่สมดุล

ข้อเสนอแนวนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ผลักดันการท่องเที่ยวให้มีกระจายตัวสู่เมืองรองเพิ่มมากขึ้น 2) ขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการเฉพาะ โดยมุ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง 3) ส่งเสริมให้เกิด Greatest Change ด้วย Soft Power of Thailand ตามแนวทาง 5F : 4M คือ Food Film Fashion Festival Fight Music Museum Master และ Meta และ 4) พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองให้มีความพร้อมที่รองรับนักท่องเที่ยว

บสก. BAM พลิกฟื้นสินทรัพย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
กาญจนา จันทรชิต

นางสาวกาญจนา จันทรชิต
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

พิมพ์พาภรณ์ สุทธหลวง

นางสาวพิมพ์พาภรณ์ สุทธหลวง
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ธัญลักษณ์ โกษาเสวียง

นางสาวธัญลักษณ์ โกษาเสวียง
เศรษฐกร
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายศุภชัย ธรรมสุปรีดิ์

นายศุภชัย ธรรมสุปรีดิ์
นักศึกษาฝึกงาน
ผู้เขียน