หวย กินแล้วแบ่งรัฐบาล

หวย กินแล้วแบ่งรัฐบาล

บทความโดย
นายจักรี พิศาลพฤกษ์

บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่าการเล่นหวย หรือการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน คนบางกลุ่มอาจซื้อเพื่อความสนุกโดยไม่ได้หวังถูกรางวัลอย่างจริงจัง ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจยอมเสียเงินเพื่อซื้อและหวังถูกรางวัลอย่างจริงจัง โดยในแต่ละงวดอาจใช้เงินหลายบาทหมดไปกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือที่เรียกกันอย่างง่ายว่า ลอตเตอรี่ หรือหวยถูกกฎหมาย ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนที่ดีเป็นตัวเงิน (ถูกหวย) หรืออาจสร้างความหวังในการเสี่ยงโชคให้กับคนซื้อหวย (ทางจิตใจ) เพราะหวังโชคลาภได้เช่นกัน แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากลอตเตอรี่จะเป็นความหวังให้กับคนซื้อหวยในทุกๆ กลางเดือน และสิ้นเดือนแล้วนั้น แท้จริงแล้วรายได้จากการขายหวยก็เป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐบาลเช่นกัน โดยในบทความนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายถึงความสำคัญของรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีต่อรายได้ของรัฐบาล

การนำส่งรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ลำดับแรกขออธิบายถึงข้อมูลที่ควรทราบในการวิเคราะห์ความสำคัญของรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อรายได้ของรัฐบาล คือ องค์ประกอบของรายได้ของรัฐบาล โดยรายได้ของรัฐบาลประกอบด้วย (1) รายได้ที่เป็นภาษี ได้แก่ รายได้จากการจัดเก็บของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร และ (2) รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ซึ่งประกอบด้วย การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การนำส่งรายได้ของส่วนราชการอื่น และการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยมีพันธกิจหลักประกอบด้วย (1) ผลิต จำหน่าย ออกรางวัล และจ่ายรางวัล เพื่อเสริมรายได้รัฐ (2) ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน และ (3) พัฒนาองค์กร บุคลากร ผลิตภัณฑ์ และบริการให้ทันสมัย บริหารงานด้วยความโปร่งใส ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความสำคัญของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลส่วนหนึ่งคือเพื่อการหารายได้เข้ารัฐตามพันธกิจในข้อ (1) นั่นเอง

ทั้งนี้ เงินจำนวนเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้นำส่งคลังของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจะมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยในช่วง 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562) พบว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีการนำส่งรายได้แผ่นดินโดยเฉลี่ยร้อยละ 19.8 ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่นำส่งรายได้แผ่นดิน อีกทั้งยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาล่าสุด (ภาพที่ 1) ซึ่งการนำส่งรายได้แผ่นดินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2562 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งรายได้ทั้งสิ้น 41,916 ล้านบาท (ภาพที่ 2) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 24.8 หรือเกือบ 1 ใน 4 ของการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่ารายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นมีความสำคัญต่อรายได้ของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

ภาพที่ 1: รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสูงสุด 5 อันดับแรก ปีงบประมาณ 2558 – 2562
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รวบรวมโดยผู้เขียน
ภาพที่ 2: เงินนำส่งรายได้แผ่นดินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
ที่มา: สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวบรวมโดยผู้เขียน

สำหรับการนำส่งรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรายได้แผ่นดิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งรายได้แผ่นดิน สามารถสรุปได้ ดังนี้

มาตรา 22 เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด ให้จัดสรรดังนี้

(1) ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล
(2) ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบสามเป็นรายได้แผ่นดิน
(3) ไม่เกินกว่าร้อยละสิบเจ็ดเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย

ภาพที่ 3: การจัดสรรเงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล
ที่มา: สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวบรวมโดยผู้เขียน

อย่างไรก็ดี ข้อความตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้ถูกแก้ไขจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2558 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งเดิมให้จัดสรรดังนี้

(1) ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล
(2) ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบเป็นรายได้แผ่นดิน
(3) ไม่เกินกว่าร้อยละสิบเจ็ดเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย
(4) ร้อยละสามเป็นเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม

มาตรา 24 ดอกผลที่เกิดจากเงินตามมาตรา 22 (1) และ (2) ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วนดอกผลที่เกิดจากเงินตามมาตรา 22 (3) ให้สมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน

มาตรา 26 เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22 (1) หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22 (1) ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลและไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปตามวรรคหนึ่ง ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22 (1) ที่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล แต่ผู้นั้นไม่มาขอรับเงินรางวัลภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 37 ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา 27 ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานตามมาตรา 22 (3) มาตรา 23 และมาตรา 24 ในปีหนึ่งๆ หากมีเหลือ ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกันไว้เป็นเงินสำรองได้ไม่เกินร้อยละห้าสิบ ส่วนที่เหลือให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เมื่อใดรัฐมนตรีเห็นว่าเงินที่กันไว้เป็นเงินสำรองตามวรรคหนึ่งมีจำนวนสูงเกินสมควรหรือเกินความจำเป็น รัฐมนตรีโดยลำพังหรือโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ลดจำนวนเงินสำรองนั้น ให้คงเหลือเท่าที่รัฐมนตรีเห็นสมควร ในกรณีดังว่านี้ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่งเงินที่สูงไปกว่าจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดเป็นรายได้แผ่นดิน

ภาพที่ 4: การจัดสรรรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรายได้แผ่นดิน
ที่มา: สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวบรวมโดยผู้เขียน

ทั้งนี้ การนำส่งรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำแนกตามประเภทรายได้ในช่วง 5 ปีงบประมาณล่าสุด (ปีงบประมาณ 2558 – 2562) แสดงดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5: รายได้นำส่งคลังของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำแนกตามประเภทรายได้ปีงบประมาณ 2558 – 2562
ที่มา: สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวบรวมโดยผู้เขียน
*หมายเหตุ: กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม จัดสรรตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2558 และระเบียบสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่าด้วยการบริหารกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม พ.ศ. 2559 โดยให้จัดสรรร้อยละ 3 ของรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในส่วนรายรับหรือเงินเหลือจ่ายที่เกินจาก 1,000 ล้านบาท เป็นรายได้แผ่นดิน

จากภาพที่ 5 แสดงให้เห็นว่า รายได้นำส่งคลังของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยพบว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 32,149.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.7 ของรายได้ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ารายได้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล

ปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล

เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรายได้มาจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งรายได้ดังกล่าวจะมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล ดังนั้น จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่ารายได้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจจะมีจำนวนมากหรือน้อยจะมาจากการนำส่งรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล นั่นเอง

ทั้งนี้ ปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด จะขึ้นอยู่กับผลการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (คณะกรรมการฯ) ว่าจะมีมติให้มีการพิมพ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชน และป้องกันการขายสลากเกินราคา ส่วนการปรับลดปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เช่น ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการฯ อาจมองว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และจะทำให้เกิดภาระแก่ผู้ขายที่ขายสลากไม่หมด นอกจากนี้ ในกรณีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องการนำรายได้จากการจำหน่ายสลากไปใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะ จะทำการพิมพ์สลากการกุศลโดยจะปรับลดการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลแบบปกติเพื่อให้เพดานการพิมพ์สลากโดยรวมเท่าเดิม และไม่ต้องนำส่งรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศลเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่รวมสลากการกุศล แสดงดังภาพ

ภาพที่ 6: ปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล (ล้านฉบับ)
ที่มา: สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวบรวมโดยผู้เขียน
หมายเหตุ:
1. คำนวณจากปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลจากรายได้ร้อยละ 20 (และ 23) จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จัดสรรเป็นรายได้แผ่นดิน
2. สีแดงหมายถึงช่วงเดือนที่มีการปรับลดปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลที่คำนวณเป็นรายได้แผ่น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในแต่ละเดือนมีการพิมพ์ลอตเตอรี่เพื่อจำหน่ายสูงกว่า 100 ล้านฉบับ ในขณะที่ประชากรไทยมีจำนวนประมาณ 70 ล้านคนเท่านั้น หรือหากสมมติว่าคนที่ซื้อหวยอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป (เพราะอายุต่ำกว่านี้อาจจะยังไม่มีรายได้) จำนวนประมาณ 47 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) นั่นหมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วในทุกๆ งวด คน 1 คนจะซื้อลอตเตอรี่อย่างน้อยคนละ 2 ใบ

นอกจากนี้ จากภาพที่ 6 จะเห็นได้ว่าการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับลดการพิมพ์สลากลงในบางเดือน (แท่งสีแดง) ได้แก่ ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2559 และเดือนเมษายน 2560 เนื่องจากมีการคาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดลง และในเดือนเมษายน 2562 ลดลงเนื่องจากมีการพิมพ์สลากการกุศลซึ่งจะไม่ถูกจัดสรรเป็นรายได้แผ่นดิน อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเช่นกัน ตามการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางไปรับหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลข้ามเขตพื้นที่จังหวัด จึงทำให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล มีมติให้เลื่อนการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ในงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 ไปเป็นวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 พร้อมงดขายสลากฯ ในงวดวันที่ 16 เมษายน 2563 และงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ทำให้ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีสลากกินแบ่งรัฐบาลออกจำหน่ายเพียง 1 งวด และเป็นฐานในการคำนวณเพื่อจัดสรรเป็นรายได้แผ่นดิน (หลังหักสลากการกุศล) เพียง 88 ล้านฉบับ

ทั้งนี้ พบว่า รายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในภาพที่ 5 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีงบประมาณล่าสุดสอดคล้องกับปริมาณการพิมพ์ที่เพิ่มขึ้นในภาพที่ 6 อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่ไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ปริมาณการพิมพ์สลากล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563) มีเพียง 1,156 ล้านฉบับ ซึ่งหากในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถพิมพ์สลากได้เท่ากับในช่วงเวลาปกติ ก็ไม่สามารถทำให้รายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีจำนวนเท่ากับในปีก่อนหน้าได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ปริมาณการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลจะเป็นเท่าใดนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าจะมีการปรับเพดานการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลอีกหรือไม่ นั่นเอง

บทสรุป

รายได้ของรัฐบาลประกอบด้วย (1) รายได้ที่เป็นภาษี ได้แก่ รายได้จากการจัดเก็บของกรมสรรพากรกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร และ (2) รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ซึ่งประกอบด้วย การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การนำส่งรายได้ของส่วนราชการอื่น และการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์

สำหรับรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะมาจากรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นหลัก ทั้งนี้ การออกและจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่บริหารงานภายใต้พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. สลากฯ) โดย มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. สลากฯ พ.ศ. 2562 ระบุว่า เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวดให้จัดสรรดังนี้ (1) ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล (2) ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบสามเป็นรายได้แผ่นดิน และ (3) ไม่เกินกว่าร้อยละสิบเจ็ด เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย

ดังนั้น รัฐบาลจะได้รับรายได้ร้อยละ 23 จากรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในทุกๆ งวด หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า หวยทุกๆ ใบ จะเป็นรายได้รัฐประมาณ 18.4 บาท (23% x 80 บาท) ทั้งนี้ รัฐบาลจะได้รับรายได้เท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะพิมพ์สลากเป็นจำนวนเท่าใดในแต่ละงวด ซึ่งหากประชาชนยังคงหวังโชคลาภ ซื้อลอตเตอรี่กันทุกงวด งวดละหลายใบ และมีแนวโน้มความต้องการซื้อสลากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะมีแนวโน้มการพิมพ์ลอตเตอรี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นผลดีกับทั้งผู้ซื้อและรัฐบาล เพราะประชาชนก็จะสามารถหาหวยหรือตัวเลขที่ชอบได้ง่ายขึ้นและรัฐบาลก็จะมีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น หรืออาจะเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ วิน-วิน (Win-Win) ทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามการลงทุนทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้น ก่อนจะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลก็คำนวณเงินในกระเป๋ากันให้ดีก่อนนะครับ ไม่งั้นอาจจะต้องกินบะหมี่สำเร็จรูปตอนสิ้นเดือนก็เป็นได้

จักรี พิศาลพฤกษ์

นายจักรี พิศาลพฤกษ์
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน