หลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. เครื่องชี้เศรษฐกิจเร็วบอกอะไรบ้าง ?

หลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. เครื่องชี้เศรษฐกิจเร็วบอกอะไรบ้าง ?

บทความโดย [1]
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล


[1] บทความนี้ อธิบายรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมจากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ Bloomberg เกี่ยวกับบรรยากาศเศรษฐกิจไทยหลังการเปิดประเทศ สามารถติดตามได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-01/thai-gamble-on-reopening-pays-off-as-new-variant-threat-nears

หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 63 ประเทศมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ และมีผลตรวจ COVID-19 ไม่พบเชื้อ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่กำหนด ให้สามารถเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว เป็นที่น่าสนใจว่าสัญญาณเศรษฐกิจในขณะนี้ (บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64) มีการตอบสนองต่อการเปิดประเทศอย่างไรบ้าง

บทความนี้จะนำเสนอผลจากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มีความรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเครื่องชี้หลายรายการที่มีความถี่สูง สามารถติดตามได้เป็นรายวันซึ่งแตกต่างจากเครื่องชี้เศรษฐกิจทั่วไปซึ่งมักจะมีความถี่เป็นรายเดือน

1. ภาพรวมสถานการณ์ COVID-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้น การพิจารณาภาพรวมถึงการคาดการณ์และเสียงสะท้อนของประชาชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันจึงมีความสำคัญต่อการติดตามภาวะเศรษฐกิจ

1.1 การติดตามค่า R หรือ Reproduction Rate

(จาก www.globalrt.live) โดยปกติการติดตามสถานการณ์ COVID-19 โดยทั่วไปมักพิจารณาที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน อย่างไรก็ตาม ค่า R ซึ่งคำนวณจากสัดส่วนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อสัดส่วนผู้ที่หายจากการติดเชื้อ สามารถให้มุมมองที่เป็นการมองไปข้างหน้าในอนาคตในระยะสั้นได้ว่า สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือบรรเทาลง โดยหากค่า R มากกว่า 1 แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่หากน้อยกว่า 1 แสดงว่าแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อกำลังคลี่คลายลง

จากภาพจะเห็นว่า ณ วันที่ 27 พ.ย. 64 ค่า R ของไทยอยู่ที่ระดับ 1.03 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ที่ระดับ 1.04 และต่ำกว่าอีกหลายประเทศในยุโรปซึ่งกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ ดังนั้น สถานการณ์ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่ได้มีสัญญาณการแพร่ระบาดรุนแรงที่ชัดเจน

1.2 Sentiment Analysis

เกิดจากศักยภาพในการประมวลผลที่เรียกว่า Natural Language Processing (NLP) ของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ในการประมวลผลติดตามการสื่อสารในสื่อ Social Media ต่างๆ อาทิ Facebook, Instagram, Twitter, Youtube, Webboard และสื่อออนไลน์อื่นๆ ว่ามีการพูดถึงโควิดมากน้อยเพียงใด และการกล่าวถึงนั้นเป็นการกล่าวถึงในแง่บวกหรือแง่ลบ โดยจากการประมวลผลล่าสุดพบว่า นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมมาจนถึงเดือนพฤศจิกายนสัดส่วนของ Sentiment การพูดถึงในแง่บวกหรือลบไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจนคือ จำนวนครั้งในการพูดถึงโควิดซึ่งพบว่าในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น จำนวนการพูดถึงโควิดได้ลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยประมาณร้อยละ 50 25 และ 10 ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความตระหนักหรือกระแสของประเด็น COVID-19 ในสังคมที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

2. ภาพรวมของความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

2.1 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ของกระทรวงการคลัง

เกิดจากการประมวลผลการสำรวจความคิดเห็นทางเศรษฐกิจจากสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเป็นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่ออนาคตเศรษฐกิจในอีก 1-6 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีอยู่ในช่วง 0 – 100 หากมากกว่า 50 หมายความว่า ความเชื่อมั่นต่ออนาคตเศรษฐกิจมีแนวโน้มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน แต่ถ้าน้อยกว่า 50 ก็คือ มีแนวโน้มลดลงกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ ผลการจัดทำดัชนี RSI พบว่า มีค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังแสดงจากตารางซึ่งค่าดัชนีมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับ

2.2 แสงสว่างกลางคืน (Night Time Light)

โดยอาศัยการประมวลผลข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากเวป https://eogdata.mines.edu ด้วยโปรแกรม Quantum GIS พบว่า แสงสว่างยามค่ำคืนของไทยในเดือนพฤศจิกายนสว่างกว่าเดือนตุลาคมค่อนข้างชัดเจน แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

*ภาพแสงกลางคืนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564

3. การบริโภคภาคเอกชน

3.1 Provincial Private Consumption Search Index

คำนวณขึ้นจากผลิตภัณฑ์ Google Trends โดยพิจารณาจากการค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคหมวดหมู่ต่างๆ ตามที่การจัดหมวดหมู่ที่ถูกต้องของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า การค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนในภาพรวมร้อยละ 6 แม้ว่าข้อมูลจะมีเพียง 21 วันเท่านั้น

3.2 Google Mobility Index

แสดงถึงการเคลื่อนที่ไปยังที่หมายต่างๆ ซึ่งในภาพรวมพบว่า การเดินทางสู่ทุกที่หมายในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดือนตุลาคม และเดือนกันยายน ตามลำดับ แสดงถึงแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางไปยังร้านค้าหมวด Grocery and Pharmacy และ Retail and Recreation ที่ระดับการเดินทางเพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้ว

4. การเดินทางและการท่องเที่ยว

4.1 ปริมาณก๊าซ Nitrogen Dioxide (NO2)

ปริมาณก๊าซ Nitrogen Dioxide (NO2) ของเดือนพฤศจิกายน (ภาพขวา) ในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความเข้มข้นสูงกว่าเดือนตุลาคม (ภาพซ้าย) อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากการสัญจรเดินทางของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ข้อมูลก๊าซ NO2 มาจาก Google Earth Engine)

4.2 Google Travel Insights

เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่จาก Google ที่ประมวลผลการค้นหาการจองเที่ยวบินและที่พักทั่วโลก ซึ่งในกรณีของประเทศไทยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลกในช่วงระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ถึง 19 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีอัตราการเติบโตของความต้องการในการจองที่พักและเที่ยวบินสูงถึงกว่า 75% และเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามด้วยอินเดีย และสิงคโปร์ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของนักท่องเที่ยวต่อการเปิดประเทศของไทยตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

5. ตลาดแรงงาน

สามารถติดตามเครื่องชี้เร็วได้จากการสำรวจข้อมูลจากเวปหางานภาคเอกชนชื่อดังอย่างเช่น www.JobDB.com โดยจากการติดตามข้อมูลพบว่า ปริมาณการรับสมัครงานในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นในทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นสาขาการตลาด การเงิน บัญชี ไอที การผลิต และอื่นๆ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงมุมมองของภาคเอกชนในการเตรียมตัวเพื่อรองรับธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ดังนั้น ในภาพรวม สัญญาณเศรษฐกิจจากเครื่องชี้เร็วจึงสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของไทยในเดือนพฤศจิกายนหลังจากได้มีการเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีสัญญาณตอบรับในทิศทางที่ดี และหากภาวะเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ตามที่กระทรวงการคลังเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาว่าปี 2564 เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 1% และปี 2565 จะขยายตัวที่ 4% นั้น ระดับ GDP ของไทยน่าจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการกลายพันธ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธ์ใหม่ OMICRON ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีความรุนแรงในแง่ความรวดเร็วในการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของอาการ และผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคชีนเพียงใด หากผลกระทบรุนแรงกว่าสายพันธ์ DELTA อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจรุนแรงได้ โดยทั่วไป หลายฝ่ายจะมีความวิตกกังวลต่อภาคการท่องเที่ยวว่าจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันให้ยิ่งตกต่ำลง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า การบริโภคจากชาวต่างชาติในประเทศไทยมีเพียง 20,355 ล้านบาท ในขณะที่การส่งออกสินค้ามีมูลค่าสูงถึง 2,160,066 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 เสียอีก ดังนั้น หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศ เช่น การเกิดปัญหาหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานของโลก หรือการชะลอของภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าไทยลดลง หากผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับที่เคยเกินขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกอาจลดลงได้มากถึง 4 แสนล้านบาทต่อไตรมาส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่า GDP ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในปัจจุบันยังมีมูลค่าไม่มาก ดังนั้น แม้มีมูลค่าลดลงจากปัจจุบันที่ระดับประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด (เมื่อเทียบกับระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคส่วนต่างๆ มากน้อยเพียงใด

คลายล็อก หนี้เสียบัตร คลินิกแก้หนี้ by SAM
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ

ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล

ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน