ขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของไทย

ขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของไทย

บทความโดย
นางสาวสลิล พึงวัฒนานุกูล

การท่องเที่ยวถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยจากข้อมูลปี 2561 พบว่า มีเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของภาคการท่องเที่ยวที่สามารถทำลายสถิติได้เป็นประวัติการณ์ ได้แก่ 1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 38.27 ล้านคน 2) รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สูงสุดที่ 2.01 ล้านล้านบาท และ 3) สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อ GDP ของประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.3

และเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกมาตรการหรือนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ การสนับสนุนให้ท่องเที่ยวในเมืองรอง โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษี ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ มาตรการหลักที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย คือ มาตรการ Free Visa On Arrival ซึ่งเห็นผลชัดเจนเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวมากขึ้นหลังจากใช้มาตรการนี้ จะเห็นว่าด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเครื่องชี้ภาคการท่องเที่ยวในมิติอื่น เช่น ขีดความสามารถหรือศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะเป็นไปในทิศทางอย่างไร และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนได้หรือไม่นั้น ผู้เขียนจะขอนำเสนอรายละเอียดดังนี้

1. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย ปี 2561

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 38,277,300 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 35,591,978 คน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2561 นี้ ถือได้ว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยออกเป็นรายประเทศ พบว่า 10 ประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย เกาหลี ลาว ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งทั้ง 10 ประเทศดังกล่าวมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เป็นตลาดกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดรองอย่างมาเลเซีย เป็นอีกหนึ่งตลาดเป้าหมายที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีพรมแดนที่ติดกัน ง่ายต่อการเดินทางมาท่องเที่ยว โดยในปี 2561 นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็นการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 แสดงจำนวน สัดส่วนและอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2561

RankCountry%ShareNumberGrowth
1China27.5%10,535,9557.4
2Malaysia10.7%4,097,60417.3
3Korea4.7%1,796,5965.1
4Laos4.6%1,750,6584.1
5Japan4.3%1,656,1007.2
6India4.2%1,596,77212.8
7Russia3.8%1,472,9499.4
8USA2.9%1,123,2486.3
9Singapore2.8%1,067,3093.4
10Vietnam2.7%1,027,4309.9
 Others31.7%12,152,6795.0
 Total100.0%38,277,300 7.5

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

2. สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวประเทศไทย

แม้ว่าในปี 2561 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม มีสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2561 อาทิ เหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ

โดยในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2561) ตลอดจนประเด็นค่าเงินของตุรกีที่อ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียที่เป็นตลาดรองในด้านการใช้จ่าย (สัดส่วนด้านรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 2 รองจากรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน) ลดการเดินทางมาไทยลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความสำคัญกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีมาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้น และจูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง (ภาพที่ 1)

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมที่หน้าด่านเป็นจำนวน 2,000 บาท หรือ Free Visa On Arrival (VOA) ให้แก่ 21 ประเทศ โดยมีทั้งสิ้น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 – 13 มกราคม 2562
  • ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม – 30 เมษายน 2562
  • ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2562
ภาพที่ 1 แสดงสถานการณ์และมาตรการสำคัญ ๆ ที่เกิดขั้นในปี 2561
ที่มา : รวบรวมโดยผู้เขียน

ทั้งนี้ ผลจากการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านมาตรการ VOA ในช่วงปลายปี 2561 ทำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยทั้งประเทศกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 4.5 และ 7.7 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2561 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณาที่นักท่องเที่ยวชาวจีน จะเห็นได้ชัดว่า อัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี หลังจากหดตัว 5 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ยังเกิดอานิสงค์ต่อการกระตุ้นตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ โดยมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่สูงที่ร้อยละ 19.9 และ 20.2 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ตามลำดับ (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 แสดงจำนวน และอัตราการขยายตัวรายเดือน ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2561

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สำหรับในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย รัฐบาลพยายามเน้นภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยมีมติให้เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน “Amazing Thailand Tourism Year 2018” ที่เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 – มกราคม 2562 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อาทิ 10 เมืองห้ามพลาด 12 เมืองรองต้องห้ามพลาด plus และหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง

โดยมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติไปเที่ยวในเมืองรองให้มากขึ้น เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง และจากข้อมูลสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง พบว่า อัตราการขยายตัวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในเมืองรองสูงกว่าอัตราการขยายตัวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในเมืองหลัก นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 สะท้อนให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของมาตรการของรัฐบาลที่พยายามสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองมาโดยตลอด นอกจากนี้ บริษัทสายการบินต่าง ๆ จับมือกับรัฐบาลในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยมีการเปิดเส้นทางการบินใหม่ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่ขยายเส้นทางมากกว่า 10 เส้นทางบินไปยังเมืองรองของประเทศไทย

และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนาและขยายตัวการท่องเที่ยวในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่านักท่องเที่ยวมุสลิมสนใจอาเซียนอยู่แล้ว และในอาเซียนมีประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือ อินโดนีเซีย การท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) หรือบางคนใช้คำว่า “การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิม” (Muslim-Friendly Tourism) ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้ตอบสนองความต้องการของชาวมุสลิม

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิม โดยติดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก แต่หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับ 2 ของโลกที่นักท่องเที่ยวมุสลิมนิยมเข้ามาท่องเที่ยว รองจากประเทศสิงคโปร์

3. การพัฒนาขีดความสามารถด้านสนามบินเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนผ่านสนามบินหลักเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี (ตารางที่ 3) ทำให้ธุรกิจการบินขยายตัวในอัตราสูง คนล้นทะลักสุวรรณภูมิ และจากสถิติล่าสุดมีคนใช้บริการถึง 61 ล้านคนต่อปี เกินขีดความสามารถ 45 ล้านคนต่อปี ทำให้รัฐบาลเร่งขยายสนามบินสุวรรณภูมิเป็นระยะที่ 2-5 วางกรอบพัฒนาไปถึงปี 2573 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท สำหรับสนามบินในประเทศไทยที่สำคัญ 5 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ โดยในปี 2561 สัดส่วนนักท่องเที่ยวผ่านสนามบินทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเรียงจากมากไปน้อย (ภาพที่ 2) จะเห็นว่าขีดความสามารถในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติผ่านสนามบินในประเทศไทยยังสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินหลักอย่างสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ในปี 2561 สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินนานาชาติที่ดีที่สุดในลำดับที่ 36 จาก 100 สนามบินทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 2 ลำดับจากปี 2560 ที่อยู่ลำดับที่ 38 อย่างไรก็ดี ในปี 2562 สนามบินสุวรรณภูมิถูกลดอันดับลงมาอยู่ที่ 46

ตารางที่ 3 แสดงจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบิน

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ภาพที่ 2 แสดงสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินของไทยในปี 2561
ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นอกจากนี้ จากการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ปี 2562 โดย Skytrax พบว่า สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ คว้าแชมป์สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2562 และเป็นแชมป์ 7 ปีซ้อนติดต่อกัน สำหรับ    ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จากอันดับ 36 เมื่อปี 2561 นั้น ร่วงลงมาถึง 10 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 46 ในปี 2562 ขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างสนามบินจาการ์ต้า อินโดนีเซีย อันดับขึ้นจากอันดับที่ 45 มาอยู่อันดับที่ 40 (ตารางที่ 4)

อย่างไรก็ดี ในปี 2561 OAG Aviation เป็นองค์กรที่รวมข้อมูลเกี่ยวกับไฟล์ทการบินและตารางเวลาบินไว้มากที่สุดในโลก ได้เผย 20 อันดับของเส้นทางบินที่มีความหนาแน่นที่สุดในโลก โดยได้สำรวจตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561 พบว่า อันดับหนึ่งคือ เส้นทางบินระหว่างมาเลเซีย – สิงคโปร์ ส่วนเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ นั้น ติดด้วยกัน 2 อันดับคือ อันดับ 11 เส้นทางกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ และอันดับที่ 12 เส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ตามลำดับ (ตารางที่ 5)

ตารางที่ 4 แสดง World’s Top 100 Airports 2019

ที่มา: Skytrax รวบรวม: ผู้เขียน

ตารางที่ 5 แสดงเส้นทางบินที่หนาแน่นที่สุดในโลก

ที่มา: OAG Aviation รวบรวม: ผู้เขียน

นอกจากนี้ ไทยยังมีสนามบินดอนเมืองที่ถูกจัดอันดับให้เป็นสนามบินรองรับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carries: LCCs) อันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ การเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินดอนเมือง อาทิ การเร่งพัฒนารันเวย์ แท็กซี่เวย์ และหลุมจอดเพิ่ม จะทำให้ขีดความสามารถของดอนเมืองเพิ่มจาก 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ไปเป็น 60-65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จะช่วยแบ่งเบาภาระของสุวรรณภูมิได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทยมาก ทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในสนามบินหลัก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองที่มีผู้โดยสารเกินขีดความสามารถไปค่อนข้างมาก โดยหลังสิ้นปีงบประมาณ 2561 สนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 45 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 62.8 ล้านคน ขณะที่สนามบินดอนเมือง มีความสามารถรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน แต่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 40 ล้านคน นั่นหมายถึงผลกระทบต่อระดับการบริการ (level of service) ที่ลดลงด้วย

4. การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวของประเทศในภูมิภาคอาเซียน

World Economic Forum (WEF) ยังได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 34 ของโลก หรืออันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 การจัดอันดับและคะแนนขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน
ที่มา: WEF, 2017

ทั้งนี้ WEF มีเกณฑ์การพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ใน 4 เสาหลัก โดยมีองค์ประกอบในแต่ละเสา ดังนี้

  • สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
    • สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
    • ความมั่นคงปลอดภัย
    • สุขภาพและอนามัย
    • ทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงาน
    • ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • นโยบายและเงื่อนไขที่สำคัญ
    • การให้ความสำคัญกับการเดินทางและท่องเที่ยว
    • การเปิดรับนานาชาติ
    • การแข่งขันด้านราคา
    • ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
  • โครงสร้างพื้นฐาน
    • โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ
    • โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ
    • โครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว
  • ธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรม
    • ทรัพยากรธรรมชาติ
    • ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ

สำหรับด้านที่ไทยมีความได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบภายในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว ที่ประกอบด้วยจำนวนห้องพัก และคุณภาพของโครงสร้างนักท่องเที่ยว เป็นต้น โดยไทยได้อันดับ 1 ของอาเซียน และได้อันดับ 16 ของโลก อีกมิติหนึ่งคือ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไทยได้อันดับ 1 ของอาเซียน และได้อันดับ 7 ของโลก และอีกจุดแข็งหนึ่ง คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์

ขณะที่ ขีดความสามารถในด้านอื่น ๆ ไทยยังคงเป็นรองประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่อีกมาก เช่น ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ และด้านทรัพยากรทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ ตามลำดับ (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 แสดงการจัดอันดับและคะแนนขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว
ในแต่ละมิติที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของไทยเมื่อเปรียบเทียบในภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น จากข้อสังเกตข้างต้นจะเห็นว่า สิ่งที่ไทยควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ ด้านความมั่นคงปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นด้านที่มีคะแนนเกือบต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ควรให้ความสนใจกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ และด้านทรัพยากรทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ ตามลำดับ และในส่วนที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว ประเทศไทยจะต้องพยายามรักษาการมีทรัพยากรธรรมชาติที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน การมีโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนจะต้องพัฒนาศักยภาพในด้านอื่น ๆ ด้วย

5. ขีดความสามารถด้านจุดหมายปลายทาง

สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางยอดนิยม จากรายงานของ APAC Travel Trend อ้างอิงข้อมูลของ Skyscanner ครอบคลุม 8 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย ซึ่งพบว่า ญี่ปุ่น ไทย สหรัฐอเมริกายังครองตำแหน่ง 3 จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทางในปี 2561 อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า เกาหลีใต้ และเวียดนาม เป็น 2 จุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ

เนื่องจากมีการเติบโตของนักเดินทางที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยไต่ขึ้นมา 2 อันดับรวด ส่วนการปรับอันดับของจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักรขยับขึ้นมา 1 อันดับ ในขณะที่อินโดนีเซียร่วงลงมา 3 อันดับ (ตารางที่ 6) สำหรับสถิติข้อมูลรายเมือง พบว่า โตเกียว กรุงเทพ โอซาก้า คว้าตำแหน่ง 3 เมืองยอดฮิตของนักเดินทางชาวเอเชียแปซิฟิก โดย 9 ใน 10 อันดับยอดนิยมนั้นเป็นปลายทางในเขตภูมิภาค สะท้อนให้เห็นว่านักเดินทางยังให้ความสนใจกับจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก ซึ่งญี่ปุ่น เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยทั้งโตเกียว โอซาก้า และโอกินาวา คว้า 3 ที่นั่งใน 10 อันดับ เมืองยอดนิยม (ตารางที่ 7)

ตารางที่ 6 แสดง 10 จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวปี 2561 จำแนกรายประเทศ

ที่มา: APAC Travel Trends, 2018

ตารางที่ 7 แสดง 10 จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวปี 2561 จำแนกรายเมือง

ที่มา: APAC Travel Trends, 2018

นอกจากนี้ จากผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ดฉบับที่ 7 ประจำปี 2561 หรือ Mastercard Global Destination Cities Index, GDCI 2018 ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไทยยังเป็นเพียงประเทศเดียวจากผลการสำรวจทั่วโลกที่มีเมืองท่องเที่ยวถึง 3 แห่ง ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก กรุงเทพฯ คือสุดยอดเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุด นับเป็นการครองอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี (นับจากปี 2555) และเป็นการครองตำแหน่งต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ที่สำคัญในปีนี้ยังมีภูเก็ตและพัทยาติดโผเข้ามาอยู่ใน 20 อันดับแรกด้วย โดยภูเก็ตอยู่ในอันดับที่ 12 และพัทยาอยู่ในอันดับที่ 18

และล่าสุดในปี 2562 งาน International Tourismus Börse (ITB) 2019 งานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ศูนย์การจัดนิทรรศการ Messe Berlin Exhibition Ground กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับมอบรางวัลโก เอเชีย (Go Asia) ในหมวดรางวัลจุดหมายปลายทางในเอเชียที่ดีที่สุด (Best Destination Asia) จากนายดาริอุส โครล ผู้อำนวยการฝ่ายรายผลิตภัณฑ์และการตลาดของโก เอเชีย

  • สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางของโลกในด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านอาหารและวัฒนธรรม โดยจากผลการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯ ติดอยู่ในอันดับที่ 3 ของเมืองที่มีการใช้จ่ายด้านอาหารมากที่สุด โดยนักท่องเที่ยวจับจ่ายไปราว 108,000 ล้านบาท (3,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือ คิดเป็น 20.6 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นรองจากดูไบ และปัลมา ตามลำดับ (ตารางที่ 8)
  • สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางของโลกในด้านการช้อปปิ้ง พบว่า กรุงเทพฯ ครองอันดับที่ 6 ซึ่งถือว่ากรุงเทพฯ เป็นอีกเมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านการช้อปปิ้ง โดยนักท่องเที่ยวใช้จ่ายราว 120,000 ล้านบาท (3,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ตารางที่ 9) 

ตารางที่ 8 สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางของโลกในด้านอาหารและเครื่องดื่ม

ที่มา: Mastercard

ตารางที่ 9 สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางของโลกในด้านการช้อปปิ้ง

ที่มา: Mastercard

6. สรุป

จากบทความข้างต้น จะเห็นว่า ไม่ว่าจะพิจารณาภาคการท่องเที่ยวในมิติใดก็ตาม อาทิ การพิจารณาด้านเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนจาก 1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย 2) รายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ค่าใช้จ่ายตัวคนต่อทริปในการเดินทางมาเที่ยวประเทศ และ 4) สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อ GDP ของประเทศ ที่มีสถิติเกิดขึ้นในปี 2561 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

รวมถึงการพิจารณาด้านขีดความสามารถหรือศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่ไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวไทย เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพควบคู่กัน

นางสาวสลิล พึงวัฒนานุกูล
สำนักนโยบายภาษี