นักเรียนทุน UIS : คลื่นลูกใหม่ของ สศค.

นักเรียนทุน UIS : คลื่นลูกใหม่ของ สศค.

บทความโดย
นายบรรลุ คงคารัตน์

ในอดีตผู้เขียนเคยรับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน ส่วนบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานเลขานุการกรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หนึ่งในหน้าที่ที่เคยปฏิบัติในส่วนดังกล่าวก็คือ การจัดเตรียมเอกสารเพื่อให้ข้าราชการบรรจุใหม่ ได้ทำการกรอกข้อมูล เช่น ก.พ. 7 แฟ้มประวัติ เป็นต้น ซึ่งรวมถึงข้าราชการที่ได้รับทุนรัฐบาล เพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพที่กำลังอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ (ทุน Undergraduate Intelligence Scholarship หรือ ทุน UIS) ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจถึงความสามารถของนักเรียนทุนรัฐบาล UIS ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของ สศค. จึงได้ทำการศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักเรียนทุน UIS ว่า มีความเป็นมาอย่างไร มีวิธีการคัดเลือกอย่างไร และนักเรียนทุนUIS มีความสำคัญอย่างไรกับ สศค.

ความเป็นมา

สำนักงาน ก.พ. ได้สนับสนุนส่วนราชการให้มีกำลังคนที่มีคุณภาพ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนในเรื่องการสรรหาและการรักษาคนดี คนเก่ง และที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ. ได้พัฒนาเครื่องมือและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่หลากหลายเพื่อช่วยส่วนราชการในการเตรียมกำลังคนสำหรับทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในมิติของการสรรหานั้นมีเครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่ ทุนรัฐบาลสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งประกอบไปด้วยทุนสำหรับการไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงระดับปริญญาเอก

ภายใต้สภาวะการแข่งขัน การดึงดูดบุคลากรคุณภาพสูงเข้าสู่หน่วยงานต่าง ๆ โดยวิธีการสรรหาบุคลากรคุณภาพสูงของภาคราชการ ยังคงมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่สำเร็จ การศึกษาแล้ว อีกทั้งการจัดสรรทุนรัฐบาลเพื่อไปศีกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาตรีหรือระดับมัธยมก็ยังเป็นส่วนน้อยของการจัดสรรทุนทั้งหมด เพื่อให้การสรรหาบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ภาคราชการ สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ การขยายกลุ่มเป้าหมายการสรรหา (Source of recruits) ด้วยวิธีการพัฒนาระบบการสรรหาเชิงรุกรูปแบบใหม่ให้จูงใจผู้กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทยที่เป็นผู้มีศักยภาพสูง จะทำให้เกิดความน่าสนใจในการเข้ารับราชการมากยิ่งขึ้น

                 สำนักงาน ก.พ. จึงได้เห็นชอบการจัดสรรทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศัยกภาพสูง (Ungraduate Intelligence Scholarship Program) หรือ UIS ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศระดับปริญญาตรีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นปีแรก และจัดสรร ทุนรัฐบาลดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดสรรทุนดังกล่าวก็เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนภาครัฐอย่างทันการณ์ผ่านกระบวนการสรรหาผู้มีศักยภาพสูงเชิงรุกพร้อมทั้งเป็นการเพิ่มอุปทาน (Supply) กำลังคนคุณภาพของราชการอีกทั้งยังเป็นเพื่อให้ราชการมีภาพลักษณ์การบริหารกำลังคนที่ดีต่อนักศึกษาและสังคมอีกด้วย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็คือ ผู้มีสิทธิรับทุนจะต้องเป็นผู้ที่กำลังจะศึกษาชั้นปีสุดท้ายในสถาบันการศึกษารระดับปริญญาตรีในประเทศ ในสาขาวิชาและมีระดับคะแนนตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด ทั้งนี้ ให้ถือปีการศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด

วิธีการคัดเลือกนักเรียนทุน UIS

         แนวทางการจัดสรรทุนของสำนักงาน ก.พ. ก็คือการสอบถามความต้องการของส่วนราชการต่าง ๆ โดยให้ลำดับความสำคัญในการกำหนดส่วนราชการ กล่าวคือ เป็นส่วนราชการที่มีความพร้อมในการบริหารกำลังคนคุณภาพหรือการวางแผนความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งได้แก่ ส่วนราชการดำเนินการระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (HiPPS) และปัจจุบันมีข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงในส่วนราชการด้วยซึ่งการกำหนดตำแหน่งที่จะบรรจุนักเรียนทุนรัฐบาล และสาขาวิชาที่จะสรรหาโดยส่วนราชการจะเป็นผู้กำหนด นอกจากแนวทางดังกล่าวแล้ว องค์ประกอบในการพิจารณาจัดสรรทุนให้กับส่วนราชการยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ดังนี้

  1. การพิจารณาความสนใจและความต้องการที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการ
  2. การมีแผนพัฒนาบุคลากรที่ผ่านความเห็นชอบจาก อ.ก.พ. กรม
  3. คำขอทุนของส่วนราชการมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาบุคลากร
  4. การกระจายโอกาสในการรับทุนให้กับส่วนราชการต่าง ๆ และความสมดุล

ของสาขาวิชาที่ได้รับการจัดสรรทุน โดยรูปแบบของทุนรัฐบาลของสำนักงาน ก.พ. กำหนดช่วงเวลาให้ทุนเป็น 2 ระยะ คือ

                 ระยะที่ 1 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาในชั้นปีที่ 4 หรือชั้นปีสุดท้ายจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีตามโครงสร้างหลักสูตร ทั้งนี้ ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี

                 ระยะที่ 2 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหรือต่างประเทศตามเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด โดยภายหลังสำเร็จการศึกษาจะต้องกลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการเดิมที่บรรจุ ซึ่งวิธีการสรรหาและคัดเลือกของสำนักงาน ก.พ. แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

                          การสรรหานักเรียนทุนในระยะที่ 1

                          ดำเนินการโดยการใช้การประเมินความเหมาะสมของบุคคลเพื่อรับทุนโดยอาจใช้แนวทางของวิธีศูนย์รวมการประเมิน (Assessment Centers Method : ACM) และให้ส่วนราชการมีส่วนร่วมในการดำเนินการสรรหานักเรียนทุนด้วย

                           การสรรหานักเรียนทุนในระยะที่ 2

  1. ส่วนราชการพิจารณาคัดเลือกเบื้องต้นโดยคำนึงถึง
    • ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนางานที่รับผิดชอบของนักเรียนทุนหรืองานสำคัญอื่นของส่วนราชการ โดยมีความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
      • ผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการของนักเรียนทุน
      • ศักยภาพและความเหมาะสมในการศึกษาต่อต่างประเทศ

2. ส่วนราชการเสนอผลการคัดเลือกให้ ก.พ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ

นักเรียนทุน UIS ของ สศค.

ในปัจจุบัน สศค. ได้พิจารณารับผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในประเทศในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ในสถาบันการศีกษาต่าง ๆ ในประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น เข้ารับราชการซึ่งมีศักยภาพสูง มีผลการศึกษาในระดับดีเข้ารับราชการใน สศค. โดยผ่านวิธีการสรรหาและคัดเลือกของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนทุน UIS ของ สศค. จะบรรจุเข้ารับราชการในสำนักต่าง ๆ เช่น สำนักนโยบายการคลัง สำนักนโยบายภาษี สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และสำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน เป็นต้น  สำนักงาน ก.พ. ได้จัดสรรนักเรียนทุน UIS เพื่อมาบรรจุเข้ารับราชการใน สศค. เป็นจำนวน 34 คน โดยหลังจากที๋ผ่านการสรรหาและคัดเลือกของสำนักงาน ก.พ. เรียบร้อยแล้วจะะมีหนังสือส่งมาถึง สศค. เพื่อให้บรรจุนักเรียนทุน UIS เข้ารับราชการ ซึ่ง สศค. จะมีการสอบสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งเพื่อทดสอบภาษาอังกฤษ ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ วุฒิภาวะทางอารมณ์ เป็นต้น เพื่อให้ได้บุคลากรที่ความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริงมารับราชการ ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา สศค. ได้รับนักเรียนทุน UIS เฉพาะในระยะที่ 1 เพื่อเข้ารับราชการใน สศค. คือ ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาในชั้นปีที่ 4 หรือชั้นปีสุดท้ายจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีตามโครงสร้างหลักสูตร สำหรับระยะที่ 2 จะให้ทุนรัฐบาลแก่นักเรียนทุน UIS ที่บรรจุเข้ารับราชการใน สศค. แล้ว เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหรือต่างประเทศ ตามเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด โดยภายหลังสำเร็จการศึกษาจะต้องกลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนใน สศค. สำหรับการสรรหานักเรียนในระยะที่ 1 ในช่วงระยะที่ 2 ที่ดำเนินการโดยการใช้การประเมินความเหมาะสมของบุคคลเพื่อรับทุนโดยอาจใช้แนวทางของวิธีศูนย์รวมการประเมิน (Assessment Centers Method : ACM) และให้ส่วนราชการมีส่วนร่วมในการดำเนินการสรรหานักเรียนทุนด้วย นั้น สศค. จะมีส่วนในการดำเนินการสรรหานักเรียนด้วย กล่าวคือ สศค. จะเป็นผู้พิจารณาสาขาวิชาที่ข้าราชการนักเรียน UIS เหล่านั้นประสงค์จะลาศึกษาต่อให้ตรงกับลักษณะงานที่ปฏิบัติอยู่ เช่น ข้าราชการ UIS ที่บรรจุเข้ารับราชการในสำนักนโยบายภาษี ก็จะให้ศึกษาด้านภาษี เป็นต้น และสำหรับการสรรหานักเรียนทุนในระยะที่ 2 ในช่วงระยะที่ 2 สศค.จะพิจารณาคัดเลือกเบื้องต้นโดยคำนึงถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนางานที่รับผิดชอบของนักเรียนทุนหรืองานสำคัญอื่นของส่วนราชการ โดยไม่มีความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการของนักเรียนทุนและศักยภาพและความเหมาะสมในการศึกษาต่อต่างประเทศ

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สศค. ได้ให้ความสำคัญกับนักเรียนทุน UIS อย่างยิ่งเนื่องจากข้าราชการที่บรรจุเข้ารับราชการด้วยทุนดังกล่าวมีศักยภาพสูง เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างยิ่งต่อ สศค. ซึ่งโดยทั่วไปการบรรจุนักเรียนทุนดังกล่าวเข้ารับราชการใน สศค. นั้น เมื่อนักเรียนทุนเหล่านั้นที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการใน สศค. แล้ว ก็จะรับราชการประมาณ 1 – 2 ปี และหลังจากนั้นจะไปขอทุนเพื่อลาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโททั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่จะศึกษาต่อในสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาข้าราชการให้มีความรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปและเมื่อสำเร็จการศึกษาและรายงานตัวกลับเข้ารับราชการใน สศค. แล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในการปฏิบัติราชการใน สศค. ซึ่งจะได้นำความรู้ที่ได้ศึกษามาใช้การปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญของ สศค. ต่อไป

ตัวอย่างเส้นทางการทำงานและผลงานของนักเรียนทุน UIS ในสังกัด สศค. 

ผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์ข้าราชการนักเรียนทุน UIS ในสังกัด สศค. หลังที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ จำนวน 2 ราย ว่า ภายหลังจากการบรรจุและเข้ารับราชการใน สศค. มีเส้นทางการทำงานและผลงานของนักเรียนทุน UIS ในสังกัด สศค. ว่าเป็นอย่างไร ดังนี้

1. นายสัณหณัฐ  เศรษฐศักดาศิริ นักเรียนทุน UIS รุ่นที่ 6

ภายหลังจากที่นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ (สัณหณัฐฯ) นักเรียนทุน UIS รุ่นที่ 6 ทำงานที่ สศค. เป็นระยะเวลา 2 ปี จึงได้ตัดสินใจเลือกเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ (Economics) และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Sciences) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพในการทำงานของตนเอง โดยในปัจจุบัน สัณหณัฐฯ ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ส่วนงานนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากต่างประเทศมาปรับใช้กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของโครงการภาครัฐที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา และฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงคิดค้น ศึกษา และพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น         การติดตามการย้ายถิ่นของผู้มีรายได้น้อยจากข้อมูลการใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจัดทำ Interactive Dashboard สรุปผลโครงการภาครัฐต่าง ๆ สำหรับผู้บริหารในระบบออนไลน์ การจัดทำเครื่องชี้เศรษฐกิจเร็ว (Early Indicators) จากข้อมูลดาวเทียมและการทํา Web Scraping เป็นต้น นอกจากนี้ สัณหณัฐฯ ได้สร้างชื่อเสียงด้านวิชาการให้กับ สศค. อย่างมากมาย อาทิ ปี 2560 ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับ Silver ในโครงการเพชรวายุภักษ์ ครั้งที่ 7 ประเภทผลงานการขยายต่อยอดนวัตกรรม ด้วยผลงานที่ชื่อว่า “การพัฒนาเครื่องมือติดตามภาวะเศรษฐกิจเชิงพื้นที่” และปี 2564 ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับ Silver ในโครงการเพชรวายุภักษ์ ครั้งที่ 8 ประเภทแนวคิดนวัตกรรมเพื่ออนาคต ด้วยผลงานที่ชื่อว่า “เปิดโลกผู้มีรายได้น้อยด้วย Machine Learning” ในท้ายที่สุด ภารกิจงานสำคัญต่าง ๆ ของ สัณหณัฐฯ เหล่านี้ จะเป็น สศค. และเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป

2. นางสาวศิริญา  วงษ์ทิพย์ นักเรียนทุน UIS รุ่นที่ 5 สำหรับนางสาวศิริญา วงษ์ทิพย์ (ศิริญาฯ) นักเรียนทุน UIS รุ่นที่ 5 จากประสบการณ์การทำงานเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ในสำนักนโยบายภาษีโดยทำงานที่เกี่ยวกับการปฏิรูประบบภาษีของประเทศ และงานออกแบบนโยบายภาษีสิ่งแวดล้อม จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioural Economics) ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้ โดยเฉพาะการนำความรู้ในด้านผลของนโยบายต่อพฤติกรรมประชาชนมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายภาษี ซึ่งภายหลังจากสำเร็จการศึกษา ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ส่วนนโยบายภาษีท้องถิ่นและรายได้อื่น โดยเป็นช่วงที่ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. อยู่ระหว่างการเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ก่อนที่จะประกาศใช้ในเวลาถัดมา ทำให้งานหลักหลังสำเร็จการศึกษา คือ การเตรียมการร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,800 แห่งทั่วประเทศ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติเพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนออกกฎหมายลำดับรอง ทำให้ศิริญาฯ ต้องเดินทางไปยัง อปท. หรือจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ​เพื่อสร้างความรู้ความใจให้แก่เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษี ประกอบกับการทำงานด้านกฎหมายเพื่อร่างกฎหมายลำดับรองไปในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการคนละครึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการทุจริตโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการใช้ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมและความรู้ด้านกฎหมายที่ได้รับจากการทำงานด้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานขั้นต่อ ๆ ไปอีกด้วย อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการทำงานหลักตามภารกิจหน้าที่เท่านั้น ศิริญาฯ ได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง รุ่นที่ 16 และเข้าอบรมในหลักสูตรที่สำนักงาน ก.พ. ได้จัดขึ้น จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้หรือการศึกษาไม่ได้จบแค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเกิดการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ระหว่างการทำงานต่อ ๆ ไปอีกด้วย โดยศิริญาฯ ได้ทิ้งท้ายว่า “การรับทุน UIS และเข้าทำงานที่ สศค. ไม่ได้เปิดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเท่านั้น แต่ยังเปิดโลกของการเรียนรู้ในชีวิตการทำงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสที่เข้ามานั้นจะช่วยให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

         จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ข้าราชการทั้ง 2 ราย ที่เป็นนักเรียนทุน UIS และได้บรรจุเข้ารับราชการในสังกัด สศค. แล้ว หลังจากนั้นก็ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในต่างประเทศ และได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาต่อในระดับที่สูงมาขึ้นมาใช้ในการปฏิบัติราชการที่ สศค. อันจะเป็นประโยชน์ต่องานราชการ ต่อหน่วยงาน และที่สำคัญ ได้นำมาความรู้มาใช้ปฏิบัติงานด้านเศรษศาสตร์ใน สศค. ทั้งนี้ ก็เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาอารยะประเทศต่อไปในอนาคต


นายบรรลุ คงคารัตน์
เจ้าพนักงานห้องสมุดชำนาญงาน
เลขานุการกรม
ผู้เขียน