ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ กรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา The Customs Department’s Border Trade Development Strategy for the New Normal Economy: The Case of Sadao Customs House in Songkhla

ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ กรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา The Customs Department’s Border Trade Development Strategy for the New Normal Economy: The Case of Sadao Customs House in Songkhla

บทความโดย
ดร. เกริกฤทธิ์ ฉายศิริกุล

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการค้าชายแดนภายใต้เศรษฐกิจวิถีใหม่ ปัญหาอุปสรรค และประเด็นท้าทายของการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา โดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ แบบวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก มีการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้ข้อมูลทุติยภูมิ จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์โดยใช้ SWOT Analysis และ TOWS Matrix จนได้ปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญและนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ ต่อไป

                ผลการศึกษาพบว่า การค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการค้าทางบกโดยผู้ประกอบการระหว่างประเทศนิยมใช้การค้าแบบสากลผ่านระเบียบพิธีการศุลกากร เพื่อทำการส่งออก-นำเข้าสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การค้าชายแดนในบริเวณดังกล่าวพบปัญหาและอุปสรรคในด้านการกีดกันทางการค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ปัญหาการจราจรและการขนส่งสินค้า การค้านอกระบบและการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และการไม่สามารถเปิดใช้งานด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ได้อย่างเป็นทางการ โดยการค้าชายแดนมีความสำคัญต่อประเทศไทยโดยช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกันและยังช่วยส่งเสริมให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของพื้นที่ชายแดน การจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนบริเวณพื้นที่ชายแดนทั้งสองประเทศอันเป็นรากฐานที่แท้จริงด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ด้าน ได้แก่ (๑) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการค้าชายแดน (2) การผลักดันให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นต้นแบบประตูการค้าสากลในอนาคต (3) การพัฒนาและจัดระเบียบพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงระบบการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน (4) การพัฒนาผู้นำองค์กรรุ่นใหม่ให้มีทักษะการประสานงาน การบริหารจัดการชายแดนและเทคโนโลยีดิจิทัล

บทนำ

          ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีนและมีอาณาเขตทางบกติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา และประเทศมาเลเซีย จึงเป็นโอกาสให้มีการติดต่อสัมพันธ์ ไปมาหาสู่และค้าขายกันมาแต่อดีต ผ่านช่องทางการค้าชายแดนต่าง ๆ โดยมีทั้งจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราวและจุดผ่อนปรนการค้า กระจายอยู่ในจังหวัดชายแดนมากกว่า 97 ช่องทาง ครอบคลุมพื้นที่ใน 27 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเปิดจุดการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (คณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา, 2563) นอกจากนี้ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และการร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้การค้าชายแดนและผ่านแดนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1.32 ล้านล้านบาท โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นคู่ค้าที่มีมูลค่าทางการค้าสูงสุด และมีด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นประตูการค้าที่สำคัญที่สุดของภาคใต้ (กรมการค้าต่างประเทศ, 2565) และรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการค้าชายแดน โดยบรรจุประเด็นดังกล่าวไว้ในยุทธศาสตร์ที่ ๗ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ และยุทธศาสตร์ที่ ๑๐ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการค้าชายแดนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต

          อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง (Disruptive Technology) รวมถึง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข ที่เห็นได้ชัด คือ การปิดประเทศ ปิดเมือง หรือการปิดด่านการค้าต่าง ๆ การจำกัดการเดินทาง และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) รวมถึงการใช้วิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจวิถีใหม่ (New Normal Economy) ด้วยการทำธุรกรรมและ/หรือการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล (สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์, 2563; กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2564) ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจวิถีใหม่ ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนของไทยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มาตรการปิดด่านชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการคัดกรองบุคคลข้ามแดนหรือจำกัดรถสินค้า การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ มาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานขนส่งและพาหนะที่ใช้ขนส่ง มาตรการด้านกฎระเบียบสุขอนามัยพืชและสัตว์ที่ง่ายต่อการเป็นพาหะนำเชื้อโรค รวมถึง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้กับการค้าระหว่างประเทศ การปฏิบัติพิธีการศุลกากร การผ่านแดนของคนและสินค้าด้วยช่องทางระบบดิจิทัลที่อาจส่งผลให้เกิดการค้าชายแดนวิถีใหม่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยมี กรมศุลกากรและด่านศุลกากร ณ ชายแดนของประเทศที่เปรียบเสมือนนายประตู ผู้ทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางรองรับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลง สามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) สามารถปกป้องสังคมจากภัยคุกคามภายนอกประเทศและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้เกิดขึ้นอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ (กรมศุลกากร, 2564) จึงควรมีการศึกษาวิเคราะห์ด้วยกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อให้มียุทธศาสตร์และ/หรือแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมของกรมศุลกากรในการพัฒนาการค้าชายแดนเพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                ๑. เพื่อศึกษาสภาพการค้าชายแดนภายใต้เศรษฐกิจวิถีใหม่ ปัญหาอุปสรรค และประเด็น
ท้าทายของการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา

                ๒. เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน

                ๓. เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากรภายใต้เศรษฐกิจวิถีใหม่

ขอบเขตของการวิจัย

  1. การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยต้องการศึกษาเกี่ยวกับสภาพการค้าชายแดนภายใต้เศรษฐกิจวิถีใหม่ แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ปัญหาอุปสรรค ปัจจัยแวดล้อมและประเด็น ท้าทายของการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา ในระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ได้อย่างเหมาะสมต่อไป
  2. ขอบเขตด้านประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึง ผู้ประกอบการระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา อาทิเช่น สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ด่านศุลกากรสะเดา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา บริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ บริษัท สหชัย อินเทอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไอพีดี ทรานสปอร์ตแอนอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

                1. ทราบถึงสภาพการค้าชายแดนภายใต้เศรษฐกิจวิถีใหม่ ปัญหาอุปสรรค และประเด็น
ท้าทายของการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา

                2. ทราบถึงแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน

                3. มียุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่

การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัย          การค้าชายแดน – การค้าชายแดนเป็นการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) รูปแบบหนึ่ง ประกอบด้วย การค้าชายแดน (Border Trade) ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชนที่อาศัยตามแนวพรมแดนของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงและอาจไม่มีการส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานทางการค้า และการค้าผ่านแดน (Cross Border Trade) เป็นการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออกประเทศไทยโดยผ่านประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการนำไปขนส่งต่อหรือใช้อุปโภคบริโภคในประเทศเองก็ได้ สำหรับประเทศไทยเป็นการส่งสินค้าออกผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดไทยไปยังประเทศที่สาม และการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สามผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดไทยตามความตกลงด้านขนส่งระหว่างประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (ตอนใต้) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (กรมการค้าต่างประเทศ, 2565) ทั้งนี้ การค้าชายแดนของไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย 2 ลักษณะ ได้แก่ การค้าผ่านระเบียบพิธีการศุลกากร เป็นการค้าที่ดำเนินการ/ ปฏิบัติตามขั้นตอนและข้อกำหนดของทางการและผ่านช่องทางของทางการ คือ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และจุดผ่อนปรนการค้า สำหรับการค้าไม่ผ่านระเบียบพิธีการศุลกากร จะมีทั้งการค้าที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ขึ้นอยู่กับเจตนาและปัจจัยและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

เศรษฐกิจวิถีใหม่ – การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เป็นผลจากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ผลจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้การจัดการบางอย่างซึ่งแต่เดิมเคยถูกมองว่าไม่ปกติและ/หรือเป็นกิจกรรมเฉพาะกรณี ได้กลับกลายมาเป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ทั่วไป (Gruenwald, 2020; Jacob et al., 2021) เช่น การทำธุรกรรมการค้า การเงินการธนาคารและ/หรือประกอบธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ (e-Commerce) การทำงานจากบ้าน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์และโซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสาร ประกอบธุรกิจและค้าขายอย่างเสรีผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้ชีวิตวิถีถัดไปภายหลัง Covid-19 (Next Normal) อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจในอนาคต (ธนาคารกรุงไทย, 2562; ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2563) ยกตัวอย่างเช่น Stay-at-home Economy ที่มีบ้านเป็นที่ทำงาน ห้องประชุม และกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล Touchless Society มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการสัมผัส การจ่ายเงินแบบ e-Payment และการสั่งงานด้วยเสียง (Voice Recognition) หรือจำลองโลกเสมือนจริง (Augmented Reality) และการเกษตรแบบออร์แกนิกเชิงฟื้นฟู (Regenerative Organic) ที่ให้ความสำคัญกับการรักโลกรักสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เห็นได้จากการลดการใช้ภาชนะพลาสติก รถไฟฟ้าอีวี พลังงานทางเลือกหลายรูปแบบ

                การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย – ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานโดยทั้งสองประเทศได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางด้านการทูตมานานกว่า 65 ปี (ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500) ซึ่งทั้งสองประเทศมีพื้นที่ทั้งทางบกและทางทะเลติดต่อกัน จึงได้มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างชายแดน ทั้งนี้ ชปา จิตต์ประทุม (2547) และ อรชา รักดี (2561) ระบุถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-มาเลเซีย ว่าเป็นไปในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน เนื่องจากมีพรมแดนทางบกติดต่อกันยาว 647 กิโลเมตร มีช่องทางการค้าเป็นจุดผ่านแดนถาวรทั้งหมด 9 จุด ได้แก่ จังหวัดสงขลา มีจุดผ่านแดนถาวร สะเดา ปาดังเบซาร์ บ้านประกอบ จังหวัดนราธิวาส มีจุดผ่านแดนถาวรสุไหง-โกลก ตากใบ บูเก๊ะตา จังหวัดยะลา มีจุดผ่านแดน เบตง และจังหวัดสตูล มีจุดผ่านแดนถาวรวังประจัน สตูล (ท่าเรือตำมะลัง) นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เกิดขึ้นเกิดจากการค้าขายระหว่างกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นไปด้วยความสมัครใจและมีผลตอบแทนสูง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสิ่งอุปโภคและบริโภคระหว่างกันได้ โดยมาเลเซียสามารถพึ่งพาสินค้าเกษตรจากไทย ด้วยข้อจำกัดทางด้านพื้นที่เพาะปลูกของประเทศ ในขณะที่ไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าด้านพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติจากมาเลเซีย

                ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงโครงการความร่วมมือทางการค้าที่มีความร่วมมือระหว่างกันพบว่า ไทยและมาเลเซียมีความร่วมมือระหว่างกันในหลายระดับทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas: JDS) คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-มาเลเซีย (Joint Commission: JC) คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) รวมถึง มีความตกลงและบันทึกความเข้าใจในสัญญาต่าง ๆ ระหว่างกัน จำนวน 37 สัญญา และในส่วนของภาคเอกชนมีสภาธุรกิจมาเลเซีย-ไทย (Malaysia-Thai Business Council: MTCC) (ทรงพล ธรรมชีวทัศน์, 2564; สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2565)

                สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยและมาเลเซียเป็นคู่ค้าที่สำคัญมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นที่มีชายแดนทางบกติดต่อกัน โดยในปี 2564 (มกราคม – ธันวาคม) การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย มีมูลค่าการค้ารวม 335,996 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 34.67 % แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 182,464 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.92 % และการนำเข้ามูลค่า 153,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.52 % ไทยได้ดุลการค้า 28,932 ล้านบาท ด่านการค้าที่มีมูลค่าการค้ารวมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรสะเดา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82.94 ของการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ ด่านฯ ปาดังเบซาร์ (14.83 %) ด่านฯ สุไหง-โกลก (0.89 %) ด่านฯ เบตง (0.77 %) (กรมการค้าต่างประเทศ, 2565) นอกจากนี้ สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ (2558) ระบุว่า ด่านศุลกากรสะเดา เป็นด่านการค้าที่สำคัญที่สุดในบรรดาด่านศุลกากรทั้งหมด เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในแง่ของมูลค่าการค้าชายแดนและพิธีการศุลกากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ พื้นที่บริเวณด่านพรมแดนสะเดา (ด่านนอก) เป็นพื้นที่การค้าเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยว เนื่องจากมีธนาคาร ร้านเพชรทอง ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด โรงแรม สวนสนุก ดิวตี้ฟรี ไปรษณีย์ และระบบคมนาคมขนส่งอย่างครบครัน จึงอาจกล่าวได้ว่าด่านศุลกากรสะเดามีความเป็นศูนย์กลางและมีลักษณะเป็นเมืองมากกว่าด่านอื่นในเขตชายแดนของภาคใต้ หรือในระดับประเทศ ด่านชายแดนสะเดาก็ยังคงเป็นด่านที่มีบทบาททั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าด่านอื่น ๆ ทั่วประเทศ

                ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) เป็นการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปองค์กรที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ เพื่อให้ธุรกิจยังอยู่รอดต่อไปได้ ในกรณีการค้าชายแดน ที่มักใช้การซื้อขายแบบ Cash on Trade หรือการข้ามแดนเข้ามาซื้อ-ขายสินค้าอย่างที่ รวมถึง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบกระดาษ ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไป โดยในปัจจุบันเป็นการให้บริการบนพื้นฐานระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (TCES : Thai Customs Electronic System) ทั้งหมด ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบ National Single Window / ASEAN Single Window (NSW/ASW) ระบบการชำระเงิน/ธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบออนไลน์อย่างครบวงจร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (2563) สรุปว่า ปัจจัยที่เกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวของ e-Commerce และการลดมาตรการกีดกันทางการค้า และการลดกระบวนการทางศุลกากร จะช่วยกระตุ้นให้การค้าชายแดนมีทิศทางขยายตัวมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้การค้าชายแดนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเนื่องจากเกิดการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรือ NTMs โดยเชื่อมโยงกับมาตรการทางสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น ประเทศมาเลเซียออกมาตรการปิดด่านชายแดน การควบคุมการสัญจรและการข้ามแดน รวมถึง มาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อลดและป้องกันและควบคุมโรคระบาด ในส่วนของฝ่ายไทย ตามคำสั่งจังหวัดสงขลา ที่ 3126/2563 เรื่อง ปิดช่องทางเข้า-ออก ในราชอาณาจักรของจังหวัดสงขลา สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ปิดช่องทางเข้า-ออก ด่านศุลกากรสะเดา ยกเว้นการเข้า-ออก เพื่อการขนส่งสินค้าพร้อมด้วยคนประจำยานพาหนะขนส่งสินค้าเท่านั้น ทั้งนี้ สิริวิขวัญ จุไรรัตน์ และ ประจวบ ทองศรี (2564) พบว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศที่จะนำเข้าสินค้าราคาสูงมาเพื่อจำหน่ายในประเทศของตน สอดคล้องกับ นุสรา เทิงวิเศษ และคณะ (2564) พบว่า ผู้ประกอบการขนส่งสินค้ามีรายได้ลดลงหลังสถานการณ์ Covid-19 และส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว นอกจากนี้ สถาพร โอภาสานนท์ (2563) ระบุถึง ผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ส่งผลให้ขาดความสมดุลต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าโลก โดยประเทศไทยจะได้รับผลกระทบกับสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบที่นำเข้ามาจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสินค้าของประเทศจีน

                สำหรับการทบทวนวรรณกรรม พบว่ามีหลายงานวิจัยระบุถึงโอกาส อุปสรรค จุดแข็งและจุดอ่อน ที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

                    โอกาส – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564) ระบุถึงโอกาสจากช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าชายแดน รวมถึง การติดตามข้อมูลข่าวสารด้านนโยบายการค้าชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ Krainara and Routray (2015) และธนาคารแห่งประเทศไทย (2548) สรุปถึงปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งเสริมและสนับสนุนการค้าชายแดน ได้แก่ นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โครงการความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่มีประเทศเพื่อนบ้านเป็นสมาชิกร่วมอยู่ด้วย และโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสะดวกรวดเร็ว สอดคล้องกับงานวิจัยของ
สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ (2558) ที่ระบุถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจาก ด่านศุลกากรสะเดาในฐานะประตูการค้าที่มีมูลค่าสูงสุดของประเทศ การใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ การมีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า ในส่วนของ ฮาริด เวชสิทธิ์ (2558) สรุปว่า สภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นโอกาสต่อการค้าชายแดน ได้แก่ ภาครัฐสนับสนุนการสร้างด่านใหม่ การมีงบประมาณที่เพียงพอ และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

                    อุปสรรค – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564) สรุปว่า การค้าชายแดนของไทยจะยังคงพบกับภัยคุกคามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และอาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนเนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างออกมาตรการควบคุมการสัญจรและการข้ามแดนเพื่อลดและป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนเกิดการชะลอตัวหรือหยุดชะงัก นอกจากนี้ จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา (2560) พบว่า กฎระเบียบของกรมศุลกากรและกรมการค้าต่างประเทศมีผลกระทบต่อการจัดการการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมข้ามแดนและผ่านแดนมากที่สุด ในขณะที่ คณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา (2563) ระบุถึงปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ทางการค้า สอดคล้องกับงานวิจัยของ สุบิน ชะรอยรัมย์ (2560) ที่ระบุถึงข้อจำกัดด้านกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ รวมถึง การสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (2548) พบปัญหาและอุปสรรคจากการแข่งขันกันและตัดราคากันเองของผู้ประกอบการส่งออก ระเบียบขั้นตอนพิธีการของภาครัฐที่ยุ่งยากซับซ้อน และข้อกำหนดด้านการขนส่งสินค้าของมาเลเซีย

                    จุดแข็ง – สุบิน ชะรอยรัมย์ (2560) พบว่า จุดแข็งของการค้าชายแดน ณ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา คือ ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การเมืองและกฎหมาย รวมถึงเทคโนโลยี ที่มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับความคาดหวังจากผลกำไรยอดขาย และความยั่งยืนในธุรกิจของผู้ประกอบการค้าชายแดน ในขณะที่ ฮาริด เวชสิทธิ์ (2558) และ ลาวัณย์ พงษ์สุวรรณศิริ และ อุษณีย์ พรหมศรียา (2564) ระบุถึงความได้เปรียบในด้านของทำเลที่ตั้งที่มีความเหมาะสมในการเป็นตลาดการค้าชายแดน เป็นสัญลักษณ์ด้านการค้าและการท่องเที่ยวของภาคใต้ และเป็นช่องทางการขนส่งสินค้ากับประเทศมาเลเซีย สอดคล้องกับ สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ (2558) ที่ระบุถึงจุดแข็งของด่านชายแดนสะเดาในด้านบุคลากร งบประมาณ และด้านกายภาพ นอกจากนี้ อังคณา ธรรมสัจการ และ
สายฝน ไชยศรี (2558) พบว่า มีความนิยมในการใช้เงินสดทั้งสกุลบาทและริงกิตในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าบริเวณชายแดน รวมถึงความนิยมซื้อและใช้สินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทย

                    จุดอ่อน – สุบิน ชะรอยรัมย์ (2560) ระบุถึงปัญหาการค้าชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ การลักลอบส่งออกหรือนำเข้าสินค้าหนีภาษี ปัญหายาเสพติด การขนส่งทางบกบริเวณด่านชายแดนมีพื้นที่จำกัดและมีความแออัดทำให้ขาดความสะดวกในการขนส่ง ความไม่ชัดเจนของกฎระเบียบทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า และการควบคุมสินค้าบางชนิด สอดคล้องกับผลการวิจัยของ ปาลิดา สุทธิชี และคณะ (2562) ที่พบว่า กระบวนการผ่านแดนใช้เวลานานและส่วนใหญ่สูญเสียเวลาไปกับการคอยหรือเข้าคิว
เดินรถ ส่งผลให้มีรถบรรทุกรอคอยบริเวณด่านทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด เกิดความแออัดและความคับคั่งของด่านศุลกากร ในขณะที่ ลาวัณย์ พงษ์สุวรรณศิริ และ อุษณีย์ พรหมศรียา (2564) พบปัญหาด้านขาดการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาการบริหารจัดการด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับตลาดการค้าชายแดน นอกจากนี้ ฮาริด เวชสิทธิ์ (2558) พบว่า คุณภาพสินค้าและการบริการยังไม่ได้มาตรฐานสากล การจัดโซนพื้นที่ไม่เป็นระบบ โครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกยังไม่พร้อม ทั้งนี้ สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ (2558) กล่าวถึงจุดอ่อนที่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการชายแดน และไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการชายแดน

                ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดน – มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การค้าชายแดน อาทิเช่น ชปา จิตต์ประทุม (2547) ระบุถึง การมียุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน โดยเฉพาะการขยายตลาดการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างปัจจัยภายในประเทศให้พร้อม มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับให้ทันสมัย สนับสนุนการลดการนำเข้า เพื่อถ่วงดุลการส่งออกที่ลดลง และสร้างสินค้าไทยให้เด่นชัด ได้มาตรฐาน และทำให้ครบวงจร ในขณะที่ ดวงจันทร์ ทรงเจริญ (2560) นำเสนอยุทธศาสตร์การค้าชายแดนด้วยการยกระดับด่านการค้าชายแดนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเพื่อใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาด และสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจบริเวณชายแดน การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างแหล่งงานในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว การขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า การลงทุน และการบริการของ สอดคล้องกับข้อเสนอของ สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ (2558) ฮาริด เวชสิทธิ์ (2558) และคณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา (2563)
ที่ได้เสนอแนะยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนด้วยการพัฒนายกระดับด่านการค้าชายแดน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์รองรับการค้าชายแดน การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ ณ จุดเดียว (NSW) และการเชื่อมโยงกับอาเซียน (ASW) การผลักดันประเด็นการค้าชายแดนผ่านกรอบทวิภาคีและกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค และการผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในขณะที่ อรไท แก้วขาว (2561) ได้เสนอแนะยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการของเจ้าหน้าที่ การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ เพิ่มทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงในการตรวจสอบสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ และการพัฒนาด่านฯ สะเดาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้ ยุพาวดี สมบูรณกุล และคณะ (2556) ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการพัฒนาการค้าชายแดนใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) สร้างเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาล (Political Will) ในการวางระบบบริหารจัดการชายแดนอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ 2) สร้างกลไกประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลเพื่อตัดสินใจร่วมกันในบางกรณี 3) ขับเคลื่อนและเชื่อมต่อระบบสารสนเทศภายในและระหว่างหน่วยงาน (NSW) โดยเร่งด่วน 4) จัดลำดับความสำคัญของการบริหารงานบุคคลให้เพียงพอเพื่อรับกับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 และ 5) ขอรับความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Assistance and Cooperation) โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน (Best Practices) จากประเทศที่พัฒนาแล้วในการวางระบบจัดการชายแดน

กรอบแนวคิดการวิจัย

                จากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยได้นำมาเป็นกรอบแนวคิดการวิจัย (Conceptual framework) ได้ดังนี้

แผนภาพที่ 1: แสดงกรอบแนวคิดการวิจัย

วิธีดำเนินการวิจัย

                การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) จากเอกสาร บทความทางวิชาการ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎี ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ และมีการเก็บข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย (In-depth Interview) เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย และสนับสนุนให้ผลการวิจัยมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชา จำนวน 3 คน (ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ผู้อำนวยการสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา และนายด่านศุลกากรสะเดา) ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 1 คน (นักวิชาการศุลกากร) รวมถึง ผู้ประกอบการระหว่างประเทศและ/หรือ โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 คน (ผู้ส่งออก-นำเข้าหรือตัวแทนและ/หรือผู้ประกอบการโลจิสติกส์) รวม 7 คน และดำเนินการสัมภาษณ์ในรูปแบบวิดีโอคอล ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2565 – 30 พฤษภาคม ๒๕๖๕
ทั้งนี้ ข้อมูลที่รวบรวมได้จะนำไปผ่านการตรวจสอบความถูกต้อง ความแม่นตรง และความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนนำไปวิเคราะห์ด้วยการตรวจสอบสามเส้า (Triangulation) โดยในการศึกษาวิจัยนี้จะใช้การตรวจสอบด้านวิธีการและการตรวจสอบด้านข้อมูลที่ได้รับ เช่น ใช้วิธีการสังเกตควบคู่กับการสัมภาษณ์ พร้อมกับการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลด้านเอกสารประกอบด้วย หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบมาประกอบการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร ปัจจัยภายใน (จุดแข็ง/จุดอ่อน) และปัจจัยภายนอก (โอกาส/อุปสรรค) ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร การสรุปปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์และการกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ SWOT Analysis และสังเคราะห์ข้อมูลผ่านกระบวนการ TOWS Matrix จนได้ปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญและนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผลการวิจัย

                การวิจัยเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจ
วิถีใหม่ กรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา พบว่า

  1. สภาพการค้าชายแดนภายใต้เศรษฐกิจวิถีใหม่ ปัญหาอุปสรรค และประเด็นท้าทายของการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา พบว่า การค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการค้าระหว่างประเทศทางบกโดยผู้ประกอบการระหว่างประเทศนิยมใช้การค้าสากลผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อทำการส่งออก-นำเข้าสินค้าผ่านช่องทางจุดผ่านแดนถาวร ณ ด่านพรมแดนสะเดา เพื่อส่งสินค้าออกไปประเทศมาเลเซียหรือผ่านไปสู่ประเทศสิงค์โปร ทั้งนี้ ด่านศุลกากรสะเดาเป็นประตูการค้าที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดในปี 2564 (มกราคม 2564 – ธันวาคม 2564) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82.94 ของการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.25 ของการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง การเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ นอกจากนี้ พื้นที่เศรษฐกิจด่านนอก (พื้นที่บริเวณรอบด่านพรมแดนสะเดา) ยังเป็นตลาดการค้าชายแดนที่เป็นแหล่งรวมสินค้าที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศใกล้เคียง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์รวมสินค้าจากชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่มีสินค้าหลากหลายประเภทจัดจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุนประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รวมถึงของที่ระลึก และยังเป็นด่านฯ ที่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเข้า-ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีหลายโครงการและ/หรือด่านศุลกากรสะเดาจะเป็นประตูการค้าชายแดนที่มีศักยภาพสูง แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในด้านการกีดกัน ทางการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ปัญหาการจราจรและการขนส่งสินค้า การค้านอกนอกระบบและการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และการไม่สามารถเปิดใช้งานด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ได้อย่างเป็นทางการ
  2. สำหรับแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน สามารถสรุปได้ว่า การค้าชายแดน เป็นการค้าระหว่างประเทศรูปแบบหนึ่ง โดยมีการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนทางบกติดต่อกัน ประกอบด้วยการส่งออกและนำเข้าสินค้าผ่านทางจุดผ่านแดนที่จัดตั้งขึ้นบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นทางการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยภายใต้พระราชบัญญัติการตรวจคนเข้าเมือง ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และจุดผ่อนปรนเพื่อการค้า สำหรับการค้าชายแดนที่เป็นทางการและถูกกฎหมาย ประกอบด้วยการส่งสินค้าออกหรือนำสินค้าเข้า โดยผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ครบถ้วน ไม่ว่าสินค้านั้นจะต้องเสียภาษีอากรในการส่งออกหรือนำเข้าหรือไม่ก็ตาม และจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2560 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พุทธศักราช 2530 (ปรับปรุงถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2565 บังคับใช้พิกัดศุลกากรฮาโมไนซ์ ฉบับปี 2022) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่ออกตามความในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน ในส่วนของการค้าชายแดนไทย – มาเลเซีย มีช่องทางผ่านแดนรวม 9 แห่ง โดยเป็นจุดผ่านแดนถาวรทั้งหมด ในส่วนของการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการค้าผ่านด่านพรมแดนสะเดา ทั้งนี้ การค้าชายแดนมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนทางบกติดต่อกันได้มากถึง 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย และที่ผ่านมาประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด การค้ารูปแบบดังกล่าวจึงก่อให้เกิดประโยชน์ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกันและยังช่วยส่งเสริมให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของพื้นที่ชายแดน การจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ส่งผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนบริเวณพื้นที่ชายแดนทั้งสองประเทศอันเป็นรากฐานที่แท้จริงด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ โครงการความร่วมระหว่างประเทศทั้งในระบบพหุภาคี เช่น AEC GMS IMT-GT BIM-STEC และทวิภาคี เช่น JDS JC JTC ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางการค้าการลงทุนและสนับสนุนให้การค้าชายแดนมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
  3. การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยนำปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่ได้คัดเลือกไว้ในเบื้องต้น จำนวน 11 ปัจจัย ไปให้ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าชายแดน จำนวน 5 คน ทำการประเมินน้ำหนักความสำคัญ ระดับผลกระทบและคะแนนถ่วงน้ำหนักในแต่ละปัจจัย โดยผลรวมของคะแนนน้ำหนักความสำคัญของทุกปัจจัยมีค่าเท่ากับ 1.00 เมื่อคะแนนถ่วงน้ำหนักมีค่ามากแสดงถึงความสำคัญและจำเป็นของประเด็นยุทธศาสตร์ที่ต้องให้ความสำคัญและ/หรือเร่งดำเนินการ (Wheelen & Hunger, 2012) ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์พบว่า

    (1) โอกาส (O) 4 ปัจจัย ประกอบด้วย O1. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและมาเลเซีย รวมถึงลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบพึ่งพาอาศัยกันมาอย่างยาวนาน (0.20) O2. เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการค้าในรูปแบบออนไลน์ (0.50) O3. ด่านศุลกากรสะเดามีทำเลที่ตั้งเหมาะสมและ
อยู่บนเส้นทางคมนาคมขนส่งสายหลักเชื่อมโยงประเทศไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ (1.00) O4. รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาการค้าชายแดน (0.50)

    (2) อุปสรรค (T) 2 ปัจจัย ประกอบด้วย T1. ปัญหาการจราจรติดขัด ความแออัดของพื้นที่ชายแดน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ (0.20) T2. มาตรการกีดกันทางการค้า หรืออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ของประเทศเพื่อนบ้าน (0.50)

    (3) จุดแข็ง (S) 3 ปัจจัย ประกอบด้วย S1. กรมศุลกากรมีระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ (0.40) S2. มีด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่รองรับการค้าชายแดน (0.60) S3. ผู้นำองค์กรมีวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ (0.24)

    (4) จุดอ่อน (W) 2 ปัจจัย ประกอบด้วย W1. ปัญหาจราจรติดขัด ปัญหาความแออัดในพื้นที่ (0.20) W2. ด่านศุลกากรสะเดา มีสภาพพื้นที่คับแคบและแออัด ในขณะที่ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างเป็นทางการ (0.06)

จากผลการวิเคราะห์คะแนนถ่วงน้ำหนัก (ตารางที่ 1) แสดงให้เห็นว่าเมื่อสรุปปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์โดยภาพรวม (Strategic Factor Analysis Summary: SFAS) โดยเลือกเฉพาะปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักที่สูงรวมกันทุกด้าน (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค) เมื่อนำค่าเฉลี่ยน้ำหนักมารวมกันได้ 4.40 (ค่าเฉลี่ยมาตรฐาน คือ 3.0) (Pearce & Robinson, 2009; Wheelen & Hunger, 2012) พิจารณาได้ว่าการค้าชายแดนด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา มีปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถตอบสนองได้ดี (ค่าเฉลี่ยน้ำหนักรวม 4.00 – 5.00) กล่าวคือ มีปัจจัยเชิงโอกาสและจุดแข็งมากกว่ามีจุดอ่อนและอุปสรรคจึงเป็นโอกาสในการพัฒนายุทธศาสตร์การค้าชายแดนในทิศทางเชิงรุกได้ต่อไป ผู้วิจัยจึงได้นำปัจจัยดังกล่าวไปทำการสังเคราะห์ด้วย TOWS Matrix เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ โอกาสและอุปสรรคที่องค์กรหรือหน่วยงานเผชิญอยู่ นำมาจับคู่เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยภายในที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร และนำมาซึ่งยุทธศาสตร์ทางเลือก 4 ชุด ได้แก่ ยุทธศาสตร์เชิงรุก (SO) ยุทธศาสตร์เชิงแก้ไข (WO) ยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน (ST) และยุทธศาสตร์เชิงรับ (WT) (ตารางที่ 2)

  • ผลการวิจัยทำให้ได้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ ที่สามารถผลวิจัยนำไปปรับปรุงและพัฒนายุทธศาสตร์ มาตรการและแผนงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเชิงบวกต่อบทบาทและภารกิจกรมศุลกากรให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ด้าน ได้แก่ ๑) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการค้าชายแดน 2) การผลักดันให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นต้นแบบประตูการค้าสากล 3) การพัฒนาและจัดระเบียบพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงระบบการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน 4) การพัฒนาผู้นำองค์กรรุ่นใหม่ให้มีทักษะการประสานงาน การบริหารจัดการชายแดนและเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนดังกล่าว ประกอบด้วย เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ (ตารางที่ 3)

ข้อเสนอแนะ

                ๑. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

                    ๑.๑ รัฐบาลและกรมศุลกากรควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อการพัฒนาการค้าชายแดนเชิงรุกครอบคลุมมิติการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อย่างรอบด้านเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้และอำนวยความสะดวกให้กับการค้าชายแดน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานสากล การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม โดยให้โอกาสผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

                    1.2 รัฐบาลและกรมศุลกากรควรกำหนดให้การเปิดด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นวาระแห่งชาติ และมีวาระ “ปีแห่งการพัฒนาการค้าชายแดน” มุ่งพัฒนาให้เป็นด่านศุลกากรต้นแบบรองรับการค้าชายแดนและเศรษฐกิจวิถีใหม่ได้อย่างครบวงจร เพื่อเป็นแม่แบบการพัฒนาการค้าชายแดนให้แก่ประเทศไทยได้ในอนาคต

                    1.3 รัฐบาลควรมีนโยบายมอบหมายให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทและมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการด่านพรมแดนทั่วประเทศ โดยให้กรมศุลกากรมีอำนาจจัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการชายแดนร่วมกัน ประกอบด้วยหน่วยงานความมั่นคงชายแดน ภาคเอกชนและผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความชัดเจนในการปฏิบัติและสามารถมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

                2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ

                    2.๑ กรมศุลกากรและหน่วยงานความมั่นคงชายแดนที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ โดยนำหลักการบริหารจัดการชายแดนร่วมกันเข้ามาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการระหว่างประเทศและประชาชนในพื้นที่ได้รับคุณภาพบริการที่ดียิ่งขึ้น

                    2.2 ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ควรบูรณาการความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพื่อจัดระเบียบ ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลหรือมีระบบกลางสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน การจัดการพื้นพรมแดน การจราจร การคมนาคม และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

                    2.3 ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ เพิ่มทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อยกระดับมาตรฐานการในการปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรไปสู่การเป็นผู้นำองกรค์ที่มีวิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่ มีทักษะการประสานงาน การบริหารจัดการชายแดนและเทคโนโลยีดิจิทัล

                3. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

                    3.๑ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาเฉพาะหน่วยงานกรมศุลกากรและกรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งอาจแตกต่างกับหน่วยงานเชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่อยู่ชายแดน หน่วยงาน CIQ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจมีบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ รวมถึงภารกิจแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ด่านศุลกากรมีสำนักงานกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ปัจจัยด้านกายภาพพื้นที่ สังคม วัฒนธรรม รูปแบบธุรกิจชายแดนที่แตกต่างกันอาจส่งผลให้ได้ผลการวิจัยแตกต่างกัน ดังนั้น การวิจัยครั้งต่อไปควรมีการศึกษาที่ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือพื้นที่ด่านชายแดนภาคอื่น ๆ เพื่อทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อการค้าชายแดนในแต่ละพื้นที่ รวมถึงได้ภาพรวมของยุทธศาสตร์การค้าชายแดนที่เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต

                    3.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในครั้งนี้ แม้จะได้ทำการเก็บข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) จากเอกสาร ตำรา บทความทางวิชาการ แนวคิดทฤษฎี และการค้นคว้าจากเว็บไซต์ต่าง ๆ และข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) แต่ยังมีข้อจำกัดจากแหล่งข้อมูลเพียงไม่กี่ราย ดังนั้นในการศึกษาครั้งต่อไปผู้สนใจศึกษาควรทำการศึกษาในเชิงปริมาณร่วมด้วย โดยอาจใช้การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพร่วมกันในระยะต่างๆ ของการวิจัย เพื่อสามารถได้รับข้อมูลในหลากหลายมิติและสามารถบริหารจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมได้ดีกว่า ส่งผลให้งานวิจัยมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

                    3.3 ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน เช่น ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองชายแดน ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการค้าชายแดน ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนด้วยการบริหารจัดการชายแดนร่วมกัน การพัฒนาบทบาทของภาคเอกชนให้เป็นหน่วยนำการพัฒนาการค้าชายแดนในอนาคต เป็นต้น

ปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ [1]น้ำหนัก ความสำคัญ [2] (0-1.0)ระดับ ผลกระทบ [3] (0-5)คะแนน ถ่วงน้ำหนัก [4] [2]x[3] ข้อคิดเห็น [5]
ปัจจัยที่เป็นโอกาส     
O1. ประเทศไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ดี มีลักษณะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมแบบพึ่งพาอาศัยกันมาอย่างยาวนาน0.0540.20ส่งเสริม รักษาและต่อยอดความสัมพันธ์ทางการทูตให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติการค้าชายแดนของทั้งสองประเทศ และสนับสนุนให้มีช่องทางการแก้ไขปัญหาทางการค้าทั้งในระดับรัฐบาลและระดับพื้นที่
O2. เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการค้าในรูปแบบออนไลน์0.150.50พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการค้าในรูปแบบออนไลน์
เข้ามาใช้สนับสนุนการค้าชายแดนในทุกมิติทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
O3. ด่านศุลกากรสะเดา มีทำเลที่ตั้งเหมาะสม อยู่บนเส้นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 2 (AH-2) และเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศไทย มาเลเซียและสิงคโปร์0.251.00เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ถนนมอเตอร์เวย์
การคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศและระหว่างเมือง และวางแผนจัดระเบียบพื้นที่เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางของภาคใต้และอาเซียน
O4. รัฐบาลมีวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” และสนับสนุนการค้าชายแดนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ0.150.50วางแผนการพัฒนาพื้นที่ชายแดนสะเดาให้เป็นประตูการค้าชายแดนของภาคใต้และอาเซียน และขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้ วิสัยทัศน์เชิงนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค 
T1. ปัญหาการจราจรติดขัด ความแออัดของพื้นที่ชายแดน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์0.0540.20ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ด่านฯ อย่างต่อเนื่อง วางแผนจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นระเบียบ ขยายช่องทางจราจรให้เพียงพอที่การสัญจร และจัดระบบการจราจร
ให้ได้มาตรฐานและนำระบบ AI เข้ามาใช้วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจร
ในพื้นที่
T2. มาตรการกีดกันทางการค้า หรืออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ของประเทศเพื่อนบ้าน0.150.50สนับสนุนให้ใช้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีทั้งในระดับทวิภาคีและ
พหุภาคี รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าให้ลดน้อยลงเพื่อสนับสนุนการเป็นประตูการค้าชายแดนระหว่างกันในอนาคต
S1. กรมศุลกากรมีระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่รองรับการค้าระหว่างประเทศในทุกรูปแบบและได้มาตรฐานสากล0.140.40ปรับปรุงและพัฒนาระบบ IT/ICT ของกรมศุลกากรให้สามารถรองรับการค้าสากลได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
S2. มีด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่รองรับการค้าชายแดน รวมถึงมีวัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่การดำเนินงานอย่างเพียงพอและทันสมัย0.1540.60เตรียมความพร้อมในการเปิดด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เพื่อรองรับการค้าชายแดน
S3. ผู้นำองค์กร (ผู้บริหารกรมศุลกากร และนายด่านศุลกากรสะเดา)
มีวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ มีนโยบายและทิศทางการทำงานที่ชัดเจน เปิดกว้างพร้อมรับการพัฒนาการค้าชายแดนในรูปแบบเศรษฐกิจวิถีใหม่
0.0830.24สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นผู้บริหารกรมศุลกากร/ด่านศุลกากรมากขึ้น สนับสนุนให้เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาการค้าชายแดน
ปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน
W1. ปัญหาจราจรติดขัด ปัญหาความแออัด และความล่าช้าในการให้บริการข้ามแดนของนักท่องเที่ยวและสินค้า ณ ด่านพรมแดน ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น0.0540.20ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ด่านฯ ขยายช่องทางจราจรให้เพียงพอที่การสัญจร และจัดระบบการจราจรให้ได้มาตรฐานและนำระบบ AI เข้ามาใช้วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่
W2. ด่านศุลกากรสะเดา (ด่านฯ ปัจจุบัน) มีสภาพชำรุดทรุดโทรมและขาดการบำรุงรักษา มีสภาพพื้นที่คับแคบและแออัดรวมทั้งมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการพัฒนา ในขณะที่ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างเป็นทางการ0.0230.06เพิ่มบทบาทเชิงรุกและสนับสนุนการผลักดันให้มีการเปิดใช้งาน
ด่านฯ สะเดาแห่งใหม่ภายในปี 2565 รวมถึง วางแผนงานและพัฒนาด่านฯ สะเดาปัจจุบัน ให้เป็นช่องทางสำรองเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ด่านนอก อ.สะเดา
1.04.40
ตารางที่ 1: แสดงสรุปปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์โดยภาพรวม (Strategic Factor Analysis Summary: SFAS)

จุดแข็ง (S) S1. กรมศุลกากรมีระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่รองรับการค้าระหว่างประเทศในทุกรูปแบบและได้มาตรฐานสากล (0.40) S2. มีด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่รองรับการค้าชายแดน รวมถึงมีวัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่การดำเนินงานอย่างเพียงพอและทันสมัย (0.60) S3. ผู้นำองค์กรมีวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ มีนโยบายและทิศทางการทำงานที่ชัดเจน เปิดกว้างพร้อมรับการพัฒนาการค้าชายแดนในรูปแบบเศรษฐกิจวิถีใหม่ (0.24) จุดอ่อน (W) W1. ปัญหาจราจรติดขัด ปัญหาความแออัด และความล่าช้าในการให้บริการข้ามแดนของนักท่องเที่ยวและสินค้า ณ ด่านพรมแดน (0.20) W2. ด่านศุลกากรสะเดา (ด่านฯ ปัจจุบัน) มีสภาพพื้นที่คับแคบและแออัดรวมทั้งมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการพัฒนา ในขณะที่ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างเป็นทางการ (0.06)
โอกาส (O) O1. ประเทศมีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียกัน รวมถึงลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบพึ่งพาอาศัยกันมาอย่างยาวนาน (0.20) O2. เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการค้าในรูปแบบออนไลน์ (0.50) O3. ด่านศุลกากรสะเดามีทำเลที่ตั้งเหมาะสมและอยู่บนเส้นทางคมนาคมขนส่งสายหลักเชื่อมโยงประเทศไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ (1.00) O4. รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาการค้าชายแดน (0.50) ยุทธศาสตร์เชิงรุก (SO) S1O2O4 สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่อง S2O2O4 วางแผนการพัฒนาให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นต้นแบบประตูการค้าสากลในอนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสนับสนุนการค้าชายแดนอย่างเต็มรูปแบบ S2O3 วางแผนการพัฒนาและจัดระเบียบพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงระบบการคมนาคมกับด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่และประเทศมาเลเซีย S3O3O1 วางแผนพัฒนาผู้นำองค์กรรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้านการประสานงานระหว่างประเทศ การบริหารจัดการชายแดนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์เชิงแก้ไข (WO) W1W2O2 จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและการจัดการพื้นที่ชายแดนร่วมกัน W1O2O4 วางแผนและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสนับสนุนการจัดการจราจรและพื้นที่ชายแดนอย่างเป็นระบบ W2O1O3 เร่งรัดให้มีการเปิดใช้ด่านศุลกากรแห่งใหม่ภายในปี 2565 และวางแผนการปรับปรุงและพัฒนาด่านฯ สะเดา (ด่านปัจจุบัน) ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้/ประชุม/อบรม/พัฒนาการค้าชายแดนของภาคใต้  
อุปสรรค (T) T1. ปัญหาการจราจรติดขัด ความแออัดของพื้นที่ชายแดน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ยังไม่พร้อมและไม่มีระบบกลางที่จะสนับสนุนด่านชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ (0.20) T2. มาตรการกีดกันทางการค้า หรืออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ของประเทศเพื่อนบ้าน (0.50) ยุทธศาสตร์ป้องกัน (ST) S1S2T1 ส่งเสริมให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการชายแดนโดยมีระบบเทคโนโลยีทางศุลกากรเข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและเป็นระบบกลางด้านการค้าชายแดนให้แก่ทุกภาคส่วน S1S2T2 สนับสนุนให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นเวทีต้นแบบในการเจรจาแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้าน S2S3T2 สนับสนุนให้ด่านศุลกากรสะเดาเป็นหน่วยนำและเป็น Contact Point ในการแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าในระดับพื้นที่และเป็นหน่วยประสานสร้างความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการพัฒนาการค้าชายแดนร่วมกันเพื่อเป็นต้นแบบประตูการค้าของอาเซียน ยุทธศาสตร์เชิงรับ (WT) W1T1 วางแผนและจัดระเบียบการใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ในรูปแบบคณะทำงาน W2T2 เร่งรัดให้มีการเปิดใช้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ และให้เป็นด่านฯ ต้นแบบแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองประเทศ
ตารางที่ 2: แสดงผลการพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ กรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการค้าชายแดน
เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ มาตรการ
1. มีระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นระบบกลางสนับสนุนการค้าชายแดนอย่างครบวงจร 1. กรมศุลกากรมีนโยบายสนับสนุนให้มีระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นระบบกลางสนับสนุนการค้าชายแดนอย่างครบวงจร
2. มีโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการค้าชายแดน 2. นำเสนอและพัฒนาโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการค้าชายแดนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. มีคณะทำงานพิจารณาและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการค้าชายแดน 3. จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการค้าชายแดน ประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการค้าชายแดนด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา ทุกภาคส่วน
4. จัดสรรงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์สนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลักดันให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นต้นแบบประตูการค้าสากล
เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ มาตรการ
1. มีแผนการพัฒนาให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นต้นแบบประตูการค้าสากลในอนาคต 1. เร่งรัดให้รัฐบาล โดย กรมศุลกากรและด่านศุลกากรสะเดา มีวาระ “ปีแห่งการพัฒนาการค้าชายแดน”และนำเสนอแผนการพัฒนาระยะสั้นและระยะยาวให้ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่เป็นต้นแบบประตูการค้าสากล
2. มีโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา 2. นำเสนอและพัฒนาโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการค้าชายแดนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มาตรฐานสากล 3.พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ภูมิทัศน์ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการค้าชายแดนและการคมนาคมขนส่งให้ได้มาตรฐานสากล
  4. จัดสรรงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์สนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและจัดระเบียบพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงระบบการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน
เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ มาตรการ
1. มีแผนการจัดระเบียบ ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการค้าชายแดนและการคมนาคมขนส่งให้ได้มาตรฐาน 1. วางแผนและจัดระเบียบการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า เหมาะสมและมีระบบคมนาคมขนส่งที่ได้มาตรฐาน โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่
2. มีคณะทำงานจัดระเบียบ ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้มีความพร้อมรองรับการค้าชายแดนและการเชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศมาเลเซีย 2. จัดตั้งคณะทำงานจัดระเบียบ ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ด่านพรมแดนสะเดา ประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการค้าชายแดนทุกภาคส่วน
3. มีการเจรจาการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกันระหว่างสองรัฐ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3. จัดให้มีการเจรจาการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมเชื่อมต่อกันระหว่างสองรัฐ โดยใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาผู้นำองค์กรรุ่นใหม่ให้มีทักษะการประสานงาน การบริหารจัดการชายแดนและเทคโนโลยีดิจิทัล
เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ มาตรการ
1. มีแผนพัฒนาผู้นำองค์กรรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้านการประสานงานระหว่างประเทศ การบริหารจัดการชายแดนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 1. มีโครงการพัฒนาผู้นำการค้าชายแดน สนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านการประสานงานระหว่างประเทศ การบริหารจัดการชายแดนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
2. มีแผนความก้าวหน้าทางอาชีพให้แก่ผู้บริหารกรมศุลกากร “ผู้บริหารรุ่นใหม่หัวใจพัฒนาการค้าชายแดน” 2. มีโครงการ Fast Track เปิดโอกาสให้บุคลากรที่เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ มีโอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ประตูการค้าที่สำคัญของประเทศและมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาการค้าชายแดนในพื้นที่รับผิดชอบ
3. มีช่องทางติดต่อสื่อสารและสร้างเครือข่ายผู้นำการค้าชายแดนของกรมศุลกากร รวมถึง ระบบติดตามการพัฒนาทักษะของผู้นำรุ่นใหม่อย่างรอบด้าน 3. พัฒนาช่องทางการฝึกอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การติดต่อสื่อสาร และการสร้างเครือข่ายผู้นำการค้าชายแดนของกรมศุลกากรผ่านสื่อดิจิทัล และโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้อง
4. จัดสรรงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์สนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ
ตารางที่ 3: แสดงยุทธศาสตร์การพัฒนาค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่
กรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย เอกสารวิจัย

กรมการค้าต่างประเทศ. (2558). Policy interview: นโยบายการพัฒนาการค้าชายแดนนำร่อง แม่สอด-เมียวดี โมเดล. วารสารการค้าชายแดน, ฉบับปฐมฤกษ์ (มกราคม – มีนาคม 2558), 4-7.

กรมศุลกากร. (2563). รายงานประจำปี 2563. กรุงเทพมหานคร: กรมศุลกากร, 2564.

คณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา. (2563). การส่งเสริมการค้าชายแดน: ชายแดนไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์. รายงานการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.

จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา. (2560). กฎระเบียบโลจิสติกส์และการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามแดนและสินค้าผ่านแดน. วารสารการขนส่งและ
โลจิสติกส์
, 10(1), 7-24.

ชปา จิตต์ประทุม. (2547). ยุทธศาสตร์การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย, ใน วัชรินทร์ ยงศิริ, บรรณาธิการ, การค้าชายแดนไทยกับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ดวงจันทร์ ทรงเจริญ. (2560). บทความยุทธศาสตร์การค้าชายแดน. สุราษฎร์ธานี: ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ สปข.5 (IOC-Region 5).

ทรงพล ธรรมชีวทัศน์. (2564). การบริหารจัดการชายแดนไทย – มาเลเซีย. วารสารมุมมองความมั่นคง, 5 (ตุลาคม 2563 – มกราคม 2564), 49-54.

ธนาคารกรุงไทย. (2562). ทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจในยุค New Normal. Krungthai Compass. กรุงเทพมหานคร: ธนาคารกรุงไทย.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2548). การค้าชายแดนไทยกับเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ: มาเลเซีย พม่า จีนตอนใต้ ลาว และกัมพูชา. รายงานการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: ธนาคารแห่งประเทศไทย.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563). The Next Normal ส่องเทรนด์ความปกติถัดไป หลังโควิด-19.
BOT พระสยาม Magazine. 6 (พฤศจิกายน – ธันวาคม 2563), 8-9.

นุสรา เทิงวิเศษ ดาราวลี แก้วเมือง และพรรษพร เครือวงษ์. (2564). การศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อธุรกิจขนส่งสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก. รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, 1-14.

ปาลิดา สุทธิชี นิกร, ศิริวงศ์ไพศาล และ วนัฐฌพงษ์ คงแก้ว. (2562). การจำลองสถานการณ์การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย กรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา. วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร. 13(2), 1-12.

ยุพาวดี สมบูรณกุล, สมแก้ว รุ่งเลิศเกรียงไกร, สมมาตร จุลิกพงศ์, เสาวณี จุลิรัชนีกร, ธีรศักดิ์ จินดาบถ,

                กุลวดี ลิ่มอุสันโน, สิทธิชัย ศุภผล และนูรีมันต์ หลงหนิ. (2556). รูปแบบระบบการจัดการด่านพรมแดนสะเดา จังหวัดสงขลา. รายงานการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ลาวัณย์ พงษ์สุวรรณศิริ และ อุษณีย์ พรหมศรียา. (2564). รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน กรณีศึกษาเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส: เมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 40(2), 65-79.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2563). New Normal ท้าทายการปรับตัวของธุรกิจขนส่งอาหารผ่านพรมแดนของไทยจนกว่า COVID-19 จะคลี่คลาย. KasikornThai Econ Analysis: Current Issue. 26(3121), 1-5.

สุบิน ชะรอยรัมย์. (2560). สภาพแวดล้อมภายนอกกับความคาดหวังของผู้ประกอบการธุรกิจการค้าชายแดน : กรณีศึกษาอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา. เอกสารวิจัยอิสระหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา.

สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์. (2558). แนวทางการพัฒนาด่านชายแดนสะเดา. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.

สิริวิขวัญ จุไรรัตน์ และ ประจวบ ทองศรี. (2564). ผลกระทบการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในช่วงวิกฤต Covid-19 กรณีศึกษา ด่านเบตง. ผลงานวิจัยเสนอการประชุมวิชาการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมระดับชาติ ครั้งที่ ๒๐ ระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคม – ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา.

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์. (2563). เศรษฐกิจหลัง COVID-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส. วารสาร สนค. 10(108), 3-7.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2564). การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ปี 2563. รายงานการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

อรชา รักดี. (2561). 6 ทศวรรษความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย: เพื่อนบ้านที่แนบแน่น. วารสาร อัล-ฮิกมะฮฺ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี. 8(15), 181-190. 

อรไท แก้วขาว. (2561). การศึกษากระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้าและส่งออกสินค้า ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อังคณา ธรรมสัจการ และ สายฝน ไชยศรี. (2558). พฤติกรรมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียในจังหวัดสงขลา. รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.

ฮาริด เวชสิทธิ์. (2558). การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย: ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนด่านวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

กรมการค้าต่างประเทศ. (2565). รายงานสถิติการค้าชายแดนผ่านแดน ปี 2562-2564 (ม.ค.-ธ.ค.). สืบค้นวันที่ 9 เมษายน 2565. จาก https://www.dft.go.th/bts/trade-report

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (2564). New Normal” คืออะไร? เมื่อโควิด-19 ผลักเราสู่ชีวิต “ปกติวิถีใหม่”. สืบค้นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 จาก https://www.bangkokbiznews.com

สถาพร โอภาสานนท์. (2563). การจัดการโลจิสติกส์ ในช่วงวิกฤตโรคระบาด: การปรับตัวทางธุรกิจสู้ภัยโควิด 19: COVID-19: BUSINESS SURVIVAL by TBS. TBS Insights 2020. สืบค้นวันที่ 22 มีนาคม 2565 จาก https://www.tbs.tu.ac.th

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2563). ข้อมูลประเทศมาเลเซีย (Malaysia). สืบค้นวันที่ 8 มกราคม 2565 จาก https://www.parliament.go.th

การสัมภาษณ์

คณิต มีปิด, นายด่านศุลกากรสะเดา. สัมภาษณ์. 23 เมษายน 2565.

ฉัตร์สุดา ชุมแสง, พาณิชย์จังหวัดสงขลา. สัมภาษณ์. 25 เมษายน 2565.

ประสงค์ อิ่มประพันธ์ตรี, กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอพีดี ทรานสปอร์ตแอนอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด. สัมภาษณ์. 20 เมษายน 2565.

พิภพ พุทธสุข, นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายควบคุมและตรวจสอบทางศุลกากร ด่านศุลกากรสะเดา. สัมภาษณ์. 3 พฤษภาคม 2565.

ไพโรจน์  ชัยจีระธิกุล, รองประธานกรรมการ บริษัท สหชัย อินเทอร์เนชั่นแนล จำกัด. สัมภาษณ์.
23 เมษายน 2565.

ยุทธนา พูลพิพัฒน์, ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4. สัมภาษณ์. 21 เมษายน 2565.

ศิวกร วิชากิจ, รองประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ (V-SERVE GROUP) และผู้อำนวยการสาขาภาคใต้. สัมภาษณ์. 25 เมษายน 2565.

ภาษาอังกฤษ

Gruenwald, H. (2020). Covid-19 New Normal Economy. Project: Corona & Collateral Damage. Retrieved February 3, 2022, from www.researchgate.net.

Jacobs, J., Delledonne, M., Palandrani, P., & Little, A. (2021). Key Themes for the New Normal Economy. GLOBAL X ETFs RESEARCH. May 2021, 1-10.

Krainara, C., & Routray, J.K. (2015). Cross-Border Trades and Commerce between Thailand and Neighboring Countries: Policy Implications for Establishing Special Border Economic Zones. Journal of Borderlands Studies. 30(3), 345-363.

Pearce, J.A., & Robinson, R.B. (2009). Strategic Management: Formulation, Implementation and Control (11th ed.). Boston: McGrawHill.

Wheelen, T.L., & Hunger, J.D. (2012). Strategic Management and Business Policy:

                Toward Global Sustainability (13th ed.). New Jersey: Pearson Education.

ดร.เกริกฤทธิ์ ฉายศิริกุล
ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร ด่านศุลกากรภูเก็ต
ผู้เขียน