สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายปี 2564

สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายปี 2564

บทความโดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
นายกานต์ แจ้งชัดใจ

เมื่อนึกถึงจังหวัดท่องเที่ยวในภาคเหนือในความคิดของหลายๆ ท่านคงจะนึกถึงจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกๆ เนื่องจากเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีสถานที่ท่องเที่ยวในหลายรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในหลายๆ รูปแบบ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี โบราณสถาน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนผ่านคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่ ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติงามตา งามล้ำค่านครพิงค์”  รวมไปถึงอาหารพื้นถิ่นของภาคเหนือที่น่ารับประทานและเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ เช่น ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว น้ำพริกหนุ่ม และแกงฮังเล เป็นต้น

จังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนืออีกด้วย โดยในปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ของจังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าเท่ากับ 259,026 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดของจังหวัดการเกษตร 209,206 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ทั้งนี้ ภาคนอกการเกษตร สามารถแบ่งออกเป็นภาคอุตสาหกรรม 26,519 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 182,687 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามรูปที่ 1)  สะท้อนให้เห็นว่าภาคบริการนั้นเป็นภาคส่วนที่มีสามารถสร้างมูลค่าได้มากที่สุด และมีความสำคัญต่อจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก

ภาพที่ 1 แผนภูมิวงกลมแสดงผลิตภัณฑ์จังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันก็ได้ส่งผลต่อจังหวัดเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สร้างมูลค่าให้กับจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด สังเกตได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง โดยก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกที่ 1 (ก่อนเดือนมีนาคม 2563) จำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่สูงสุดอยู่ที่ 1,166,487 คนในเดือนธันวาคม 2562 ต่อมาเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกหนึ่งระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ลดลงอย่างมาก โดยต่ำที่สุดอยู่ที่ 2,707 คนในเดือนเมษายน 2563 หลังจากหมดการระบาดในระลอกแรกแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบกับมีมาตรกาส่งเสริมการท่องเที่ยว “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1” ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่สูงขึ้นอีกครั้งก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกที่ 2 ที่เริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนเดือนธันวาคม ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากในช่วงเดือนมกราคม 2564 และทรงตัวต่อเนื่อง จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งมีการระบาดในระลอกที่ 3 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอีกครั้งและลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 เนื่องจากภาครัฐมีการมาตรการในการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายน 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ภาครัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคดังกล่าว (รายละเอียดตามภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่
(ที่มา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการระบาดของโรคดังกล่าวต่อเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ สามารถสังเกตได้จากดัชนีชี้เร็วเศรษฐกิจ Facebook Movement Range ซึ่งเป็นดัชนีชี้เร็วที่แสดงถึงการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น Facebook เมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนที่ในช่วงในต้นปี 2563 หรือระหว่างม.ค.– ก.พ.2563 หรือก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต้นปี 2563 โดยพบว่าในการระบาดระลอกที่ 1 (เดือนมีนาคม 2563 – มิถุนายน 2563) ทำให้ดัชนีชี้เร็วของจังหวักเชียงใหม่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ร้อยละ -39 ในระหว่างวันที่ 10 – 17 เมษายน 2563 ขณะที่การระบาดในระลอกที่สอง (เดือนธันวาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564) ดัชนีชี้เร็วของจังหวัดเชียงใหม่ลดลงต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ -24 ในระหว่างวันที่ 14 -17 มกราคม 2564 และการระบาดในระลอกที่สาม (เดือนเมษายน 2563 – ปัจจุบัน) ดัชนีชี้เร็วของจังหวัดเชียงใหม่ลดลงต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ -36 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงการระบาดระลอกต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ดัชนี้ชี้เร็วของจังหวัดเชียงใหม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รายละเอียดตามภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ดัชนีชี้เศรษฐกิจเร็ว Facebook Movement Range ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เจ็ดวันของจังหวัดเชียงใหม่
(ที่มา Facebook ประมวลผลโดย สศค.)

ทั้งนี้ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และวารสารการเงินการคลังได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณวัชรายุธ์ กัววงศ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่  เกี่ยวกับการติดตามความคืบหน้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

คุณวัชรายุธ์ กัววงศ์ ผู้อำนวยการ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานเชียงใหม่

สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวและผลกระทบของโรคโควิด 19 ของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) เป็นอย่างมาก โดยจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะใกล้เข้าสู่ฤดูกลาท่องเที่ยวแล้ว อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่มีความพยายามในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19  เพื่อที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด โดยผู้บริหารระดับจังหวัดยืนยันว่าสามารถควบคุมการระบาดในครั้งนี้ได้

การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 พฤศจิกายน กับสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันผู้ประกอบการภาคบริการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว และได้ทำตามแผนที่ภาครัฐกำหนดเพื่อให้ผ่านการประเมินมาตรฐาน SHA และ SHA + (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ที่จะทำให้สถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวสามารถรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา จังหวัดเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางทางอากาศ จำนวนทั้งหมด 127 คน (จำนวน ณ วันสัมภาษณ์) โดยยอดจองเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้ามาจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 4 มีนาคม 2565 ประมาณ 55 เที่ยวบิน ได้แก่ สายการบิน Jeju Air, สายการบิน Korean Air, สายการบิน Asiana Airline และ สายการบินJin Air ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากเที่ยวบินเช่าเหมาลำประมาณ 12,510 คน พักเฉลี่ย 6 วันต่อคน และค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ ในวันที่ 7 -11 ธันวาคม 2564 จะมีเที่ยวบินซึ่งทำการบินตรงจากประเทศมาเลเซีย มายังเชียงใหม่ มีจำนวนผู้โดยสาร 127 คน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ (ททท.) ประมาณการรายได้จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ เท่ากับ 600.48 ล้านบาท นอกจากนี้ ททท. ได้การประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว คาดว่า
จะมีนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.5 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท

“โครงการ Charming Chiang Mai” เปิดเมืองตอนรับนักท่องเที่ยว

          โครงการ Charming Chiang Mai เป็นหนึ่งในโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวในลักษณะ Sandbox คือ เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยต้องกักตัวในจังหวัดที่เป็น Sandbox เป็นเวลา 7 วัน และตรวจเชื้อโควิด 19 แบบ RT-PCR 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 63 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยใช้รูปแบบ Test and Go คือ นักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยจะเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA และ SHA + 1 คืนและเข้ารับการตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง หากไม่พบเชื้อสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ โดยใช้รูปแบบนี้กับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการาณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่เหลือนอกเหนือจาก 63 ประเทศนั้น หากประสงค์เดินทางเข้าท่องเที่ยวประเทศไทยก็สามารถเข้าร่วมโครงการในรูปแบบ Sandbox ที่กล่าวมาข้างต้นได้

นโยบายภาครัฐด้านการท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่

ในส่วนของนโยบายภาครัฐที่จะช่วยผลักดันด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ สามารถแบ่งออกได้ 2 ส่วน อันดับแรก คือ นโยบายจากส่วนจังหวัดและท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการช่วยกันร่วมมือกันผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดมาโดยตลอด รวมไปถึง ททท. สำนักงานเชียงใหม่ ก็ได้มีส่วนในการช่วยประชาสัมพันธ์ และจัดงานโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด ซึ่งในใกล้นี้จังหวัดเชียงใหม่กำลังจะมีงานเทศกาลใหญ่ คือ เทศกาลประเพณียี่เป็ง โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานจัดงาน และงานตกแต่งเมืองเชียงใหม่ อาทิเช่น ประตูท่าแพ เป็นต้น จัดโดยเทศบาลเมืองเชียงใหม่ และอีกส่วนหนึ่งคือ นโยบายจากส่วนภาครัฐส่วนกลาง ได้แก่ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เป็นโครงการที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจและเข้าร่วมเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการลงทะเบียนของผู้ประกอบการ ซึ่งทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการได้เข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมแล้ว

Key Success และความท้าทายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในครังนี้

สำหรับ Key Success ของการเปิดรับนักท่องเที่ยในครั้งนี้ คือ จังหวัดเชียงใหม่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างสูงจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการช่วยกันส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กำลังจะเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายปี ซึ่งถือว่าเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของภาคเหนือ เนื่องจาก ภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิลดลง สิ่งแวดล้อมที่น่าท่องเที่ยว และเข้าสู่เทศกาลสำคัญของจังหวัด คือ งานประเพณียี่เป็ง โดยขณะนี้อุณหภูมิบนดอยต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อุณหภูมิลดลงเป็นเลขหลักเดียวแล้ว และสำหรับความท้าทายของจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และควรเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคบริการได้รับการประเมินมาตรฐาน SHA และ SHA + เพิ่มมากขึ้น

ภาพที่ 4 – 5 งานประเพณียี่เป็ง
ที่มา เว็บไซต์ travel.kapook.com
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ

ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

กานต์ แจ้งชัดใจ

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน