อุทกภัยปี 2564 กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?

อุทกภัยปี 2564 กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?

บทความโดย[1]
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
นางสาวคงขวัญ ศิลา
นายภัทร จารุวัฒนมงคล
นายประกอบ สุริเยนทรากร
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
นายกานต์ แจ้งชัดใจ


[1] ผู้เขียน ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย นางสาวคงขวัญ ศิลา เศรษฐกรชำนาญการ
นายภัทร จารุวัฒนมงคล เศรษฐกรชำนาญการ นายประกอบ สุริเยนทรากร เศรษฐกรปฏิบัติการ นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ และนายกานต์ แจ้งชัดใจ เศรษฐกรปฏิบัติการ ขอขอบคุณ ดร.พิสิทธิ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค นายกัมปนาท ดีอุดมจันทร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) และเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัด สำหรับคำแนะนำและการให้ข้อมูล ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

1. สถานการณ์อุทกภัยปี 2564

ในปี 2564 ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุและร่องมรสุม จำนวน 4 ลูก ได้แก่ (1) พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 ถึง 7 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 33 จังหวัด (2) พายุโซนร้อนคมปาซุ ซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 17 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่6 จังหวัด (3) ร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณ ประเทศลาวและเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 18 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 9 จังหวัด และ (4) พายุโซนร้อนไลออนร็อก ซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 14 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 9 จังหวัด โดยสรุปในช่วงเวลาดังกล่าวของปี 2564 ประเทศไทยมีจังหวัดที่ประสบกับสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 41 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี สมุทรปราการ นครนายก ตราด ชุมพร ระนอง และตรัง (ภาพที่ 1)

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 ได้ส่งผลกระทบไปยังหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 จะพบว่า ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2564 มีประมาณ 2.5 ล้านไร่ (ภาพที่ 2) ต่ำกว่าในปี 2554 ที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 25.8 ล้านไร่ ค่อนข้างมาก (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปี 2564
ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
ที่มา: ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ภาพที่ 2 พื้นที่น้ำท่วมปี 2564 จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม
ภาพที่ 3 พื้นที่น้ำท่วมปี 2554 จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม แสดงให้เห็นว่า
ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2564 มีประมาณ 2.5 ล้านไร่
น้อยกว่าในปี 2554 ที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบกว่า 25.8 ล้านไร่ ค่อนข้างมาก

2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ และปริมาณฝน

2.1 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ

สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำ ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564 มีสถานการณ์น้ำในอ่างค่อนข้างสูงจากสถานการณ์พายุในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญหลายอ่างมีปริมาณน้ำมากเกินความจุอ่าง อาทิ (1) อ่างเก็บหนองปลาไหล จังหวัดระยอง มีระดับน้ำอยู่ที่ร้อยละ 116 ที่ระดับเก็บกักเดิม[2] แต่เป็นความจุที่ระดับเดิม โดยมีปริมาณน้ำเท่ากับร้อยละ 102 ของความจุชั่วคราว ยังไม่เกิดสถานการณ์ความเสี่ยงเรื่องอุทกภัย (2) อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำเกินความจุที่ร้อยละ 115 จากอิทธิพลของพายุและร่องความกดอากาศต่ำที่เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ส่งผลให้เขื่อนอุบลรัตน์มีความจำเป็นต้องระบายน้ำจำนวนมากลงลำน้ำพอง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และยังเพิ่มน้ำในแม่น้ำชีทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียงแม่น้ำชียังไม่คลี่คลาย (3) อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเกินความจุที่ร้อยละ 106 จากอิทธิพลของฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมา แต่เนื่องจากความสามารถในการเก็บกักน้ำสูงสุดของอ่างเก็บน้ำลำตะคองสามารถเก็บกักได้มากกว่าปริมาณน้ำในปัจจุบัน (ปริมาณน้ำในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุสูงสุด) และ (4) อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานีมีระดับน้ำเกินความจุอ่างที่ร้อยละ 102 เป็นระดับน้ำที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้า ปัจจุบันมีการระบายน้ำลดลง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุทัยธานีคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำล่าสุดอยู่ในสถานการณ์ปกติและปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคในฤดูแล้งของประเทศไทย


[2] กรมชลประทานได้มีการเสริมขอบอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง ส่งผลทำให้มีความจุ (ชั่วคราว) ที่เพิ่มมากขึ้น

ภาพที่ 4 อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก
ที่มา: คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564

2.2 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญเทียบกับในอดีต

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญหลายอ่างเมื่อเทียบกับในอดีตมีปริมาณน้ำสูงขึ้นจากฝนที่ตกหนักในช่วงฤดูฝนของประเทศ ส่งผลให้น้ำในเขื่อนหลายเขื่อนมีปริมาณน้ำสูงกว่าระดับน้ำในอดีต อาทิ เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง มีปริมาณน้ำมากกว่าในช่วงปี 2562 และ 2563 โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บที่ร้อยละ 116 แต่ปริมาณความจุดังกล่าวเป็นปริมาณความจุเดิม ในปัจจุบันกรมชลประทานได้แก้ไขสถานการณ์โดยการเพิ่มความจุของอ่างทำให้ปริมาณน้ำในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 97 ของความจุอ่างชั่วคราว ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างไม่ไหลท่วมไปยังจังหวัดระยอง อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในอ่างฯ นับเป็นปริมาณน้ำที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในอดีต โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์พายุและสถานการณ์ฝนตกที่ตกหนักในช่วงฤดูฝนของประเทศในปีนี้

ภาพที่ 5 ปริมาตรเก็บกัก เขื่อนหนองปลาไหล (116%)
ที่มา: คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564

อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำมากกว่าในช่วงปี 2562 และ 2563 ค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันมีระดับน้ำเกินระดับปริมาตรเก็บกักที่ร้อยละ 115 ซึ่งทำให้มีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และยังเพิ่มน้ำในแม่น้ำชีทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียงแม่น้ำชียังไม่คลี่คลาย สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์นับเป็นปริมาณน้ำที่สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต เป็นผลจากพายุเตี้ยนหมู่ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มสูงขึ้น

ภาพที่ 6 ปริมาตรเก็บกัก อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ (115%)
ที่มา: คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้น้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งของประเทศจะมีปริมาณน้ำสูงขึ้นกว่าระดับน้ำในอดีต เนื่องจากสถานการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยในปี 2564 แต่ในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งของประเทศทำให้ไม่มีปริมาณน้ำฝนมาเพิ่มและสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่คลี่คลาย ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ในระดับปกติ และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในฤดูแล้งของประชาชนในแต่ละภาคของประเทศ

2.3 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนในประเทศไทย ปี 2564

ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝน มากกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก เนื่องจากมีสถานการณ์พายุที่ส่งผลกระทบมายังประเทศไทยและส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด ขณะที่ปริมาณน้ำฝนในเดือนตุลาคม 2564 มีปริมาณฝนที่ตกมาทั้งหมด 221 มิลลิเมตร คิดเป็นร้อยละ 134 ของปริมาณฝนเฉลี่ยปกติ ซึ่งนับเป็นปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในเกณฑ์สูง สถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากพายุที่เข้ามายังประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกตลอดช่วงเดือนตุลาคม 2564

ภาพที่ 7 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนในประเทศไทย ปี 2564
ที่มา: ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2564

3.1 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในแต่ละสัปดาห์

ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 ได้ส่งผลกระทบไปยังหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังคงเพิ่มต่อเนื่องทุกสัปดาห์ แต่ในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มมีความจำกัด

กราฟที่ 1 มูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2564 เบื้องต้น
ในแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านมา (ล้านบาท)

3.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

จากการประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้น ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 แล้วประมาณ 53,282 ล้านบาท โดยภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบสูงที่สุดที่ 28,835 ล้านบาท และภาคบริการได้รับผลกระทบรองลงมาที่ 16,492 ล้านบาท ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจำกัดที่ 7,955 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กราฟที่ 2 มูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2564 เบื้องต้น (ล้านบาท)

3.3 ผลกระทบต่อภาคการเกษตร[3] (วันที่ 1 กันยายน – 9 พฤศจิกายน 2564)

ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 51 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน แพร่ พะเยา พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย อุทัยธานี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กรุงเทพฯ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครปฐม สระแก้ว สุพรรณบุรี นครนายก เพชรบุรี และระนอง เกษตรกร 523,695 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 5,808,089 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 4,008,122 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,739,333 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 60,634 ไร่

ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี ชัยนาท ปทุมธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี เกษตรกร 57,411 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 11,499,848 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 192,281 ตัว สุกร 234,957 ตัว แพะ-แกะ 58,908 ตัว สัตว์ปีก 11,013,702 ตัว

ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นต่อภาคการเกษตร ในกรณีที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยเสียหายทั้งหมด[4] มีดังนี้

  • ข้าวได้รับผลกระทบ 4,008,122 ไร่ หรือคิดเป็นผลผลิต 1,663,371 ตัน ราคาข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 7,500 บาท คิดเป็นมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้น 12,475 ล้านบาท
  • พืชไร่และพืชผัก 1,739,333 ไร่ (สมมติฐานให้ร้อยละ 35 เป็นมันสำปะหลัง ร้อยละ 35 เป็นอ้อย และอีกร้อยละ 30 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2 และ 8 บาท ตามลำดับ ขณะที่ราคาอ้อยเฉลี่ยตันละ 900 บาท รวมคิดเป็นมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้น 6,944 ล้านบาท
  • โค-กระบือ ได้รับผลกระทบ 192,281 ตัว ราคาเฉลี่ยตัวละ 35,000 บาท คิดเป็นมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้น 6,730 ล้านบาท
  • สุกร ได้รับผลกระทบ 234,957 ตัว หรือคิดเป็น 23,495,700 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 67 บาท คิดเป็นมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้น 1,574 ล้านบาท
  • แพะ-แกะ ได้รับผลกระทบ 58,908 ตัว ราคาเฉลี่ยตัวละ 3,500 บาท คิดเป็นมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้น 206 ล้านบาท
  • สัตว์ปีก (สมมุติให้เป็นไก่ทั้งหมด) ได้รับผลกระทบ 11,013,702 ตัว หรือคิดเป็น 25,882,200 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 35 บาท คิดเป็นมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้น 906 ล้านบาท
  • รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นของภาคการเกษตรอยู่ที่ 28,835 ล้านบาท
กราฟที่ 3 มูลค่าผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 เบื้องต้น (ล้านบาท)

[3] รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

[4] ราคาเฉลี่ยของข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โค กระบือ สุกร ไก่ และแพะ จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และข้อมูลผลผลิตต่อไร่ จากรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้มปี 2564 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

3.4 ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคลังจังหวัด 39 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และนำมารวบรวมประมวลผล พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม โดยพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอยู่ในบางจังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ มหาสารคาม จันทบุรี หนองบัวลำภู และสุโขทัย ทั้งนี้ พบว่า มูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นของภาคอุตสาหกรรม (ในช่วงวันที่ 23 กันยายน 2564 – 12 พฤศจิกายน 2564) พบว่าอยู่ที่ 7,955 ล้านบาท[5]

กราฟที่ 4 มูลค่าผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 เบื้องต้น (ล้านบาท)

[5] ประเมินจากการสอบถามความคิดเห็น รายงานประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของแต่ละจังหวัด และช่วงระยะเวลาที่เกิดผลกระทบ

3.5 ผลกระทบต่อภาคบริการ

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคลังจังหวัด 39 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และนำมารวบรวมประมวลผล พบว่า พื้นที่ภาคบริการที่ได้รับผลกระทบอยู่ในบางจังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ ลพบุรี ศรีสะเกษ นครราชสีมา จันทบุรี บุรีรัมย์ สระบุรี ปทุมธานี นครปฐม ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี เลย มหาสารคาม อุบลราชธานี ยโสธร อ่างทอง อุทัยธานีและหนองบัวลำภู ทั้งนี้ มูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นของภาคบริการ (ในช่วงวันที่ 23 กันยายน 2564 – 12 พฤศจิกายน 2564) พบว่าอยู่ที่ 16,492 ล้านบาท [5]

กราฟที่ 5 มูลค่าผลกระทบต่อภาคบริการจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 เบื้องต้น (ล้านบาท)

3.6 ผลกระทบจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเร็ว Facebook Movement Range

จาก Facebook Movement Range ค่าเฉลี่ย 7 วันของจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 โดยก่อนจะเกิดอุทกภัยนั้นพบว่า สถานการณ์การเดินทางของประชาชนทั่วไป (ผู้ใช้งาน Facebook) ในหลายจังหวัดที่ประสบอุทกภัยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลายลง อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดอุทกภัยไม่ได้ทำให้สถานการณ์การเดินทางของประชาชนทั่วไปลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับมูลค่าผลกระทบ
ทางเศรษฐกิจเบื้องต้นของภาคบริการที่ยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากนัก

กราฟที่ 6 Facebook Movement Range ค่าเฉลี่ย 7 วัน ของจังหวัดที่ยังประสบอุทกภัย
ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุม
ที่มา: Facebook
หมายเหตุ: % การเปลี่ยนแปลงเทียบกับ Baseline ก.พ. 63

4. มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของภาครัฐ

ในช่วงที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย สถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้กระทรวงการคลัง ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยผ่านการพักชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม ได้แก่

1) ธนาคารออมสิน ได้ออกมาตรการการพักชำระหนี้ และมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน โดยให้สินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระคืนเงิน 3 เดือนแรก และระยะเวลาผ่อนชำระ 3-5 ปี นอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อเคหะ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 40 ปี และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิม แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ระยะผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ สามารถยื่นคำขอสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติหรือวันที่ประสบภัยพิบัติ

2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และมาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี

3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ออกมาตรการสำหรับลูกค้าเดิมที่หลักประกันได้รับความเสียหาย สามารถขอรับการลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน มาตรการสำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่ประสงค์ยื่นขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างทดแทนอาคารเดิมหรือเพื่อซ่อมแซมอาคาร วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ในปีแรก และ MRR -3.5 ต่อปี หรือร้อยละ 3 ในปีที่ 2-3 มาตรการสำหรับลูกหนี้มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ที่หลักประกัน ได้รับเสียหาย สามารถขอพักชาระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 4 เดือนแรก และเดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 16 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี มาตรการสำหรับลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี และมาตรการสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยที่ทากรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จะพิจารณาจ่ายเงินสินไหมให้แก่ลูกค้าอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ

4) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้สำหรับลูกค้าที่มีการกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) จะได้รับการพักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน และสำหรับลูกค้าที่มีสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน และยังมีมาตรการสินเชื่อฉุกเฉินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

5) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไรเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge)

6) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า SMEs สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และหนังสือค้ำประกันสินเชื่อลงวันที่ตั้งแต่ 15 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน (ถ้ามี) เป็นระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. ได้แก่ มาตรการลดค่างวดโดยการผ่อนจ่ายร้อยละ 20 หรือจ่ายขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุด 3 เดือน และการพักดอกเบี้ยเกิดใหม่ หรือมาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้า บสย. ที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน โดยการพักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน และพักดอกเบี้ยเกิดใหม่

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้สามารถประกอบกิจการและประกอบอาชีพต่อไปได้

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนและเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง กิจกรรมต่าง ๆ และการอุปโภคบริโภคของประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการออกมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ได้แก่ 1) มาตรการเร่งเก็บน้ำ เป็นการเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท โดยการสูบทยอยน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำใต้ดิน 2) มาตรการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสียงขาดคลาดน้ำ และ 3) มาตรการเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงเพราะปลูกนาปี โดยมาตรการเหล่านี้จะช่วยดูแลประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรอย่างใกล้ชิด และป้องกันการประสบปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงถัดไป

5. สรุป

สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบไปยังหลายจังหวัดของประเทศ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการมีการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้เป็นอย่างดี และเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2564 มีประมาณ 2.5 ล้านไร่ ต่ำกว่าในปี 2554 ที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 25.8 ล้านไร่ ค่อนข้างมาก ทำให้ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีไม่มากนัก โดยประเมินว่า มูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้น ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ประมาณ 53,282 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.34 ของมูลค่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 (Nominal GDP) ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้กระทรวงการคลัง ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ผ่านการพักชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม

นอกจากนี้ จากสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในประเทศไทยที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยนั้น ได้ส่งผลดีในแง่ของการมีน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2564/65 (ฤดูแล้งประเทศไทยเริ่ม 1 พฤศจิกายน ถึง 30 เมษายน ของทุกปี) โดยในปี 2564 ปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำถึง 61,849 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 50,682 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนการบริหารจัดการน้ำในทุกกิจกรรมสำหรับประชาชนได้ในทุกภาคส่วน และสามารถวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปีและพืชฤดูแล้งอื่น ๆ ได้ โดยรัฐบาลมีนโยบายให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุกภัยในปี 2564 เป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรน้ำเป็นกลุ่มแรกสำหรับการทำเกษตรกรรมในปีนี้ สำหรับน้ำอุปโภคบริโภคของการประปานครหลวงที่ผลิตแจกจายให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็จะมีปริมาณเพียงพอและไม่ขาดแคลน ทำให้เขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ สำหรับในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก (EEC) พบว่า มีปริมาณน้ำเก็บกักถึง 2,824 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 91 ของความเก็บกัก ซึ่งมากกว่าในปี 2563 ถึง 330 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ลดการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ได้ โดยสรุป ปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับทุกภาคส่วนในปัจจุบัน จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น และจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปสามารถฟื้นตัวได้

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ

ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

คงขวัญ ศิลา

นางสาวคงขวัญ ศิลา
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ภัทร จารุวัฒนมงคล

นายภัทร จารุวัฒนมงคล
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายประกอบ สุริเยนทรากร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์

นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

กานต์ แจ้งชัดใจ

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน