การพัฒนาโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้ดีขึ้น

การพัฒนาโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้ดีขึ้น

บทความโดย
ดร.ศิวพร พรหมวงษ์

บทนำ

บทวิเคราะห์โครงการลงเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 และ 2561 มุ่งเน้นเพื่อตอบคำถาม โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร? ทั้งนี้ผู้เขียนได้วิเคราะห์โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐภายใต้คำถามจากสองประเด็นหลัก ประการที่หนึ่งโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐบรรลุเป้าประสงค์หรือไม่? และประการที่สองคือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคนเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจริงหรือไม่?

1. โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐบรรลุเป้าประสงค์หรือไม่?

วัตถุประสงค์ของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

ประการแรกคือจัดตั้งโครงการเพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงลึกของผู้มีรายได้น้อยทุกคนในประเทศไทย

ประการที่สองคือเพื่อให้ทราบสถานการณ์ด้านความยากจนของประเทศไทยในภาพรวม ประการที่สามคือเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจน

ในที่สุด วัตถุประสงค์ประการที่สี่เพื่อจัดสรรสวัสดิการและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน และประการสุดท้ายคือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนทั้งนี้การประเมินประสิทธิผลของการบรรลุเป้าหมายแต่ละด้านสามารถอธิบายได้ตามรายละเอียด ดังนี้

1.1 กระทรวงการคลังมีข้อมูลเชิงลึกของผู้มีรายได้น้อย“ทุกคน” ในประเทศไทยแล้วหรือไม่?

ปัจจุบันมีการจัดเก็บฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยของประเทศไทยทั้งหมด [2] 14,549,559 คน เป็นการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล [3] เฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน และจัดเก็บในรูปแบบของ Data Mining ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และถือว่าเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดรองจากฐานข้อมูลสำมะโนประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ เงินฝาก [4] การออมและการลงทุนในลักษณะต่างๆ [5] เลขประจำตัวประชาชน [6] ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ปัจจุบัน [7] ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพทางร่างกาย (ความพิการ) ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว [8] และการอยู่อาศัย [9] ข้อมูลด้านความพิการ ข้อมูลผู้ดูแลและผู้อนุบาล วุฒิการศึกษาสูงสุด สถานภาพการทำงานและอาชีพ ข้อมูลการเป็นหนี้ (ในระบบและนอกระบบ) และเหตุผลของการกู้ [10] ข้อมูลการครอบครองที่ดินและที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ [11]

1.2 กระทรวงการคลังตอบคำถามสถานการณ์ด้าน “ความยากจน”ของประเทศไทยได้หรือไม่?

ปัจจุบันสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังมีการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบในรูปแบบของ Fact Sheet ที่แสดงในรูปแบบของตารางและแผนภาพสรุปจำนวนและสัดส่วนผู้มีรายได้น้อย (รูปภาพที่ 1 และ 2)

โดยสามารถแสดงรายละเอียดข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยในมิติต่างๆ เช่น การศึกษา มูลค่าหนี้สิน อายุ ทรัพย์สินที่ครอบครอง ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเลือกให้แสดงผลข้อมูลความยากจนของแยกรายพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัดและภูมิภาค

ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้บริหารในการใช้ข้อมูลข้างต้นเพื่อให้ทราบถึงปัญหาในระดับพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง นำไปสู่การวิเคราะห์หาแนวทางแก้ปัญหาความยากจนและเตรียมพร้อมความช่วยเหลือด้านสวัสดิการในระดับพื้นที่ได้ดีมากยิ่งขึ้น

1.3 ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจนหรือไม่ ?

การประเมินประสิทธิผลของการพัฒนารายได้ในบทความนี้สามารถประเมินรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้มีรายได้น้อยเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นเนื่องจากยังไม่มีการติดตามข้อมูลผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดหลังจากการได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ โดยรัฐบาล

มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2561 [12] (มาตรการฯ) มีจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งหมด 3,267,941 ราย [13] จากการสำรวจและติดตามผลพบว่ามาตรการฯ สามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น [14] จำนวนร้อยละ 7.8 ของผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด ซึ่งมีหลุดพ้นจากเส้นความยากจนทั้งหมด [15] ร้อยละ 6.9 ของผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด จะเห็นว่าสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลสามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและหลุดพ้นความยากจน (ที่สามารถตรวจสอบได้) คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการทั้งหมด

แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเทียบกับจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่เข้าฝึกอบรมทั้งหมด จะพบว่ารัฐบาลสามารถช่วยผู้มีรายได้น้อยที่เข้าฝึกอบรมมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจนกว่าร้อยละ 43.3 และ 38.8 ของผู้เข้าฝึกอบรมทั้งหมดตามลำดับ เมื่อประเมินความคุ้มค่าของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้หลักการ Cost and Benefit Analysis [16]โดยต้นทุนรวมของมาตรการดังกล่าวอยู่ที่ 6 ล้านบาท [17] และผลได้จากรายได้เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของผู้มีรายได้น้อยรวมทั้งหมด 26 ล้านบาท ดังนั้นมาตรการฯ ให้ผลประโยชน์มากกว่าต้นทุนทั้งหมดกว่า 2 หมื่นล้านบาท

หากพิจารณาจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ประสงค์พัฒนาทักษะและศักยภาพในการทำงานและสามารถฝึกอบรมให้แล้วเสร็จมีเพียงร้อยละ 22.5 ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมดเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะเกิดจากการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ทั่วถึงหรือมาตรการสร้างแรงจูงใจของภาครัฐยังไม่สามารถดึงดูดให้ผู้มีรายได้เข้าร่วมฝึกอบรมได้ดีเท่าที่ควร

ดังนั้นควรมีการสร้างแรงจูงใจด้านผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังจากการเข้าร่วมมาตรการฯ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จะได้รับเพิ่มมากขึ้นและโอกาสให้การนำความรู้ดังกล่าวไปประกอบอาชีพและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นในที่สุด ประกอบกับโอกาสที่จะได้รับในการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการไม่เข้าร่วมมาตรการฯ อาจจะเกิดจากการตัดสินใจของผู้มีรายได้น้อยเอง

กล่าวคือผู้มีรายได้น้อยอาจจะยังไม่เข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของความยากจนของตนเองที่อาจจะมีสาเหตุมาจาก “อาชีพ” “การมีงานทำ” หรือ “ทักษะ” ของตนเองซึ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อเพิ่ม “รายได้” ทำให้เลือกที่จะไม่เข้าร่วมมาตรการฯ อีกนัยหนึ่งคือผู้มีรายได้น้อยอาจจะต้องการเพียงความช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น

1.4 รัฐสามารถจัดสรรสวัสดิการและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกันได้หรือไม่ ?

ที่ผ่านมามีการจัดสรรสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเพื่อตอบสนองการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านความเป็นอยู่และการดูแลผู้สูงอายุผู้มีรายได้น้อยเป็นหลักซึ่งหลักการของการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ อ้างอิงมาจากฐานข้อมูลความต้องการของผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ของประเทศ [18] เช่น การบรรเทาภาระค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า-ค่าประปา ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล และค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามหากมีการนำข้อมูลความมาวิเคราะห์รายภูมิภาคเพิ่มเติมจะทำให้รัฐสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันได้มีการพยายามเชื่อมต่อข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ได้จากการลงทะเบียนด้วย “เลขประจำตัวประชาชน” กับ 9 ฐานข้อมูล ประกอบด้วย ฐานข้อมูลการฝึกอบรมของผู้มีรายได้น้อยโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังฐานข้อมูลความต้องการของผู้มีรายได้น้อยจากรัฐในการช่วยเหลือ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยกรมพัฒนาชุมชน ฐานข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค) โดยกรมพัฒนาชุมชน ฐานข้อมูลประกันสังคมของผู้ประกันตนโดยสำนักงานประกันสังคม ฐานข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และฐานข้อมูลการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ดังนั้นหากระบบฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของประเทศเชื่อมต่อเสร็จสมบูรณ์จะนำไปสู่การทราบข้อมูลและรายละเอียดเชิงลึกด้านจัดสรรสวัสดิการ และการได้รับสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยทุกคน ก่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือไม่เกิดการจัดสรรสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือการให้ความสำคัญกับข้อมูลและนำข้อมูลต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์สำหรับการออกนโยบาย (Data-Driven Policy) ต่อไป

1.5 ปัญหาความยากจนในประเทศไทยได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนแล้วหรือไม่?

เป้าประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนจะสำเร็จได้จะต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเชิงลึก (Data Analytics)กล่าวคือต้องอาศัยข้อมูลที่ได้จากวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยของความยากจนทางเศรษฐมิติ (Econometrics) ร่วมกับการศึกษาข้อมูลแบบองค์รวม (Fact Sheet)จากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ [19] พบว่าผู้ที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศในทุกกลุ่มอายุมีโอกาสในการหลุดพ้นจากความยากจน [20] ด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ ดังนี้ “มีงานทำ [21]” “มีที่อยู่อาศัย [22]” “มีที่ดินทำกิน [23]” และ “ได้รับการศึกษา”

จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และอาชีพต่างๆ พบว่า อาชีพ ลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรม ลูกจ้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างในภาคบริการ เป็นอาชีพที่มีโอกาสที่จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยในทุกภูมิภาคและทุกกลุ่มอายุหลุดพ้นจากความยากจนได้มากที่สุด [24] ในขณะเดียวกันอาชีพที่มีโอกาสทำให้ผู้มีรายได้น้อยในทุกภูมิภาคและทุกกลุ่มอายุยังคงมีรายได้ต่ำกว่าความยากจน [25] คือ อาชีพ เลี้ยงสัตว์ อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายในการสนับสนุนและจูงใจปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ที่ดินทำกิน หรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น นั้นไม่สามารถทำได้ในลักษณะที่เป็นแบบถ้วนหน้า “One size fits all” ทั้งในมิติพื้นที่และอายุ เนื่องจากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficeints) นั้นระหว่างตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่อรายได้มีความแตกต่างกัน[26] ดังนั้น ผลของการศึกษาดังกล่าวสามารถนำไปใช้พิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ ในการแก้ปัญหาความยากจนที่ “ถูกฝาถูกตัว” ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนนั้นสามารถทำได้โดยสร้างเครื่องมือในการช่วยผู้มีรายได้น้อย “หางาน” และช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแรงงานได้ง่ายและตรงเป้าหมายมากที่สุด โดยการเก็บข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านการเข้าร่วมมาตรการฯ และทำความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอาชีพและทักษะต่างๆกับสำนักงานแรงงานจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างแรงงานและผู้ประกอบการให้ตรงทักษะในพื้นที่

2. ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคนเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจริงหรือไม่?

การลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านมาพบว่ายังมีผู้ที่ “จนไม่จริง” (Inclusion Error) ผ่านคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยอยู่จำนวนหนึ่งจากทางสื่อมวลชน และยังมีผู้ที่ “จนจริงแต่ไม่ได้รับบัตร” (Exclusion Error)

จากการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสมาที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากจุดอ่อน 3 ด้านหลักประกอบด้วย ขั้นตอนการลงทะเบียนหลักเกณฑ์คุณสมบัติและการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อย และการปรับปรุงแบบฟอร์มลงทะเบียน

2.1 ขั้นตอนและข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ช่องทางสำหรับการรับลงทะเบียน: โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านมาพบว่าประชาชนต้องเดินทางมาลงทะเบียนด้วยตนเอง [27] และพบว่าขั้นตอนการรับลงทะเบียนยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยได้ครอบคลุมนัก ดังนั้นหากมีการเพิ่มช่องทางในการลงทะเบียนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาร่วมรับลงทะเบียนมากยิ่งขึ้น หรือ การลงพื้นที่เพื่อรับการลงทะเบียนจากประชาชนจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

การประชาสัมพันธ์: จากการสัมภาษณ์ข้าราชการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องพบว่าการประชาสัมพันธ์ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐนั้นยังไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ของการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการ และวิธีการรับลงทะเบียนเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ยังขาดความเชื่อมั่น และความไว้วางใจด้านการทำงานภายใต้โครงการฯ ในระยะเริ่มแรก

นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากช่องทางในการประชาสัมพันธ์ ยังมีน้อยอยู่ เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย รายการวิทยุลูกทุ่งมหานคร เป็นต้น ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องเพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต และที่สำคัญที่สุดคือการประสานงานโดยขอความร่วมมือผ่าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ และนายอำเภอที่ใกล้ชิด และรู้จักประชาชนมากที่สุด

2.2 หลักเกณฑ์ของผู้มีคุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อย

เกณฑ์รายได้: สำหรับการลงทะเบียนครั้งที่ผ่านมาผู้มีสิทธิ์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องเป็นผู้ว่างงานหรือเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท [28] โดยแบ่งเกณฑ์ความช่วยเหลือเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 คือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และกลุ่มที่ 2 คือผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 30,001-100,000 บาทต่อปีอย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการกระจายรายได้ของประเทศไทยจะพบว่าควรปรับขยายเกณฑ์ขั้นสูง (Upper-bound) รายได้ของกลุ่ม 1 และปรับลดเกณฑ์ขั้นสูง (Upper-bound) ของรายได้ของกลุ่ม 2 โดยมีเหตุผล ดังนี้

เมื่อพิจารณาความหนาแน่นของประชากรตามการกระจายรายได้ (The Density of the Populations and Income Distribution) (รูปภาพที่ 3) และลักษณะลอการิทึม
ของรายได้ (Fraction of Log of Income) ตามการกระจายรายได้ที่แบ่งเป็น 100 ส่วน (รูปภาพที่ 4) จะพบว่าลอการิทึมรายได้ของประชากรไทยมีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้งหมด 3 ส่วนหลัก ณ รายได้ที่เปอร์เซนไทล์ (Percentiles) ที่ 5, 50 และ 95 ดังนั้นหากต้องการจัดกลุ่มประชากรตามรายได้ควรแบ่งโดยอิงตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของลอการิทึมของรายได้ (Cameron and Trivedi, 2009, Chapter 7)

เพราะฉะนั้นกลุ่มของประชากรจะถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 [29] (รายได้ที่ต่ำที่สุด) ควรจะเป็นผู้ที่มีรายได้ร้อยละ 5 แรกของรายได้ของประชาชนทั้งหมด กลุ่มที่ 2 [30] (รายได้ต่ำ) คือผู้ที่มีรายได้อยู่ระหว่างมากกว่าร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 25 กลุ่มที่ 3 [31] (รายได้ปานกลาง) คือรายได้ระหว่างร้อยละ 25 ไม่เกินรายได้ร้อยละ 75 กลุ่มที่ 4 [32] (รายได้สูง) รายได้ระหว่างร้อยละ 75 ถึงร้อยละ 95 และ กลุ่มที่ 5 [33] (รายได้สูงที่สุด) คือรายได้มากกว่าร้อยละ 95 ขึ้นไป (รูปภาพที่ 5)

เกณฑ์รายได้ของ “ผู้มีรายได้น้อย” อิงตามระดับรายได้จากลำดับชั้นการกระจายรายได้ที่แท้จริงของประชากรไทยเกณฑ์รายได้ของผู้มีรายได้น้อยจะอยู่ที่ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่เกินกลุ่มที่ 2 (รายได้ต่ำ) นั่นคือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 5,275 บาท หรือ 63,300 บาทต่อปี (รูปภาพที่ 5) เมื่อพิจารณาเทียบกับค่าจ้างแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท พบว่าแรงงานจะมีรายได้ปีละประมาณ 78,300 บาทต่อปี [34] ดังนั้น เกณฑ์ขั้นสูง (Upper-bound) ของผู้มีรายได้น้อยควรมีรายได้อยู่ระหว่าง 63,300 ถึง 78,300 บาทต่อปีเท่านั้น สำหรับเกณฑ์จุดตัด (Cut-off Income) ระหว่างผู้มีรายได้น้อยกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 คือ รายได้ตามเส้นความยากจน ณ ปี 2559 ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 2,667 บาทต่อเดือน หรือ 32,004 บาทต่อปี

ดังนั้นหากขยายเกณฑ์รายได้ผู้มีรายได้น้อยกลุ่ม 1 มากขึ้นจากรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี เป็น 33,000 บาท จะทำให้รัฐสามารถช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้ตรงและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันหากมีการปรับลดเกณฑ์รายได้ของกลุ่ม 2 จากรายได้ระหว่าง 30,001 ถึง 100,000 เป็น 33,001 ถึง 63,300 หรือ 78,300 บาทต่อปี รัฐจะประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น และสามารถขจัดกลุ่มคนที่ไม่ควรได้รับสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเนื่องจากผู้ที่มีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ข้างต้นนั้นเป็นผู้ที่มีรายได้ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 ซึ่งมีรายได้อยู่ในระดับปานกลาง

นอกจากนี้การตั้งหลักเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินทางการเงิน [35] และทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์ [36] ที่ผู้มีรายได้น้อยครอบครองหรือถือกรรมสิทธิ์อยู่ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ขั้นสูงสุด (Upper-bound) ของเกณฑ์กำหนดรายได้ข้างต้นที่ไม่เกิน 63,300 หรือ 78,300 บาทต่อปี

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินจะสมเหตุสมผล และยุติธรรมต่อประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถือครองที่ดินในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินที่จำนวน 1 ไร่ในกรุงเทพฯ อาจจะมีมูลค่าสูงกว่าที่ดินจำนวน 10 ไร่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

2.3 การตรวจสอบคุณสมบัติ

ตรวจสอบรายได้: ถึงแม้ว่าข้อมูลรายได้จะเป็นการกรอกข้อมูลโดยผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเอง แต่มีการตรวจสอบรายได้จากข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยกรมสรรพากร อย่างไรก็ตามพบว่าเพดานรายได้ขั้นต่ำที่กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 150,001 บาทต่อปีขึ้นไปเท่านั้น [37] ฉะนั้นหากเทียบกับเพดานรายได้ของผู้มีคุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อยเดิมที่ 100,000 บาทต่อปีหมายความว่ายังมีช่องว่าง [38] ให้ผู้ที่มีรายได้อยู่ระหว่าง 100,001 ถึง 150,000 บาทต่อปี กลายเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นั่นคือเป็นผู้ที่ “จนไม่จริงแต่มีบัตร” นั่นเอง

หากมีการปรับลดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำตามข้อเสนอแนะจาก 100,000 บาทต่อปี เป็น 63,300 หรือ 78,300 บาทต่อปีแม้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการตรวจสอบจะต้องอาศัยการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น นอกจากตรวจสอบรายได้ของผู้มีรายได้น้อยจากฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วควรมีการตรวจสอบรายได้ของลูกจ้างหรือพนักงานจากผู้ประกอบการ (ฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล) ที่ผู้มีรายได้น้อยทำงานอยู่ เป็นต้น ดังนั้นแบบฟอร์มการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องระบุให้ผู้ลงทะเบียนระบุสถานที่ทำงานหรือนายจ้างเพิ่มเติม

ตรวจสอบทรัพย์สินทางการเงิน: สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ [39] และธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง [40] ในการตรวจสอบทรัพย์สินทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการวางแผนในการตรวจสอบภาวะความเป็นหนี้กับ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ [41] จะถือว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยเนื่องจากเป็นผู้ที่สถาบันการเงินประเมินแล้วว่าสามารถจ่ายคืนสินเชื่อได้ในอนาคตนอกจากนี้ขั้นตอนการตรวจสอบทรัพย์สินทางการเงินสามารถทำให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นโดยการตรวจสอบฐานะทางการเงินด้านความยั่งยืนของรายได้และทรัพย์สิน เช่น ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของเงิน (Dynamic Data analysis) ในบัญชีธนาคารควบคู่กับจำนวนเงินสุทธิจะสามารถแก้ปัญหา “จนไม่จริงแต่มีบัตร” ได้ ยกตัวอย่าง ในกรณีที่ผู้มีรายได้น้อยบางรายถอนเงินจากบัญชีออกก่อนมีการลงทะเบียน และการตรวจสอบ และนำเงินเข้าสู่ระบบภายหลัง เป็นต้น

ตรวจสอบทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์: จากการที่ผู้มีรายได้น้อยยื่นเรื่องขออุทธรณ์ที่ผ่านมาพบว่า กรณีร้องเรียนส่วนมากคือเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื่องจากจำนวนที่ดินในฐานข้อมูลของสำนักงานที่ดินจังหวัดกับกรมที่ดินมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความล่าช้าด้านการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ทันสมัยและข้อมูลยังจัดเก็บในรูปแบบเอกสารที่เป็นกระดาษอยู่

การตรวจสอบที่ควรมีเพิ่มเติม: การลดจำนวนคนที่ “จนไม่จริงแต่มีบัตร” ยังสามารถทำได้โดยการตรวจสอบการครอบครองหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ โดยขอความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ให้ตรวจสอบลักษณะรถ (เช่นเก๋ง กระบะ จักรยานยนต์ เป็นต้น) ขนาดรถยนต์ ชนิด และรุ่นของรถยนต์ ประกอบกับวันจดทะเบียนรถยนต์เพื่อพิจารณา และประเมินมูลค่ารถยนต์ให้อยู่ภายใต้กรอบของการเป็นผู้มีรายได้น้อย เช่น มูลค่ารถยนต์ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 63,300 หรือ 78,300 บาท ณ วันที่ทำการตรวจสอบ เป็นต้น

ทั้งนี้หากไม่มีการตรวจสอบมูลค่าของรถยนต์อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยที่แท้จริงที่ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 20 ปีซึ่งมูลค่ารถยนต์ดังกล่าวอาจมีมูลค่าต่ำกว่า 63,300 หรือ 78,300 บาท [42] ก็เป็นได้ นอกจากนี้สามารถตรวจสอบการประวัติการทำหนังสือเดินทางและข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศโดยกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ตรวจสอบการใช้น้ำ-ไฟในครัวเรือน หากพบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น 1,000 บาทต่อเดือนถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ เป็นต้น

2.4 การปรับปรุงแบบฟอร์มลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ข้อมูลด้านรายได้ควรปรับให้ผู้ลงทะเบียนกรอกจากเป็นลำดับขั้นของรายได้เป็นตัวเลข (Continuous Variable) ทั้งนี้จะสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในการคำนวณโดยใช้เศรษฐมิติในเชิงลึกและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขและขจัดความยากจนของประเทศให้ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ควรลดขั้นตอนและเวลาในการกรอกข้อมูลบางส่วนที่สามารถตรวจสอบโดยใช้เลขบัตรประชาชนได้ เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนให้เหลือเพียงที่อยู่ปัจจุบันเท่านั้น

โดยคุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อยจะถูกตรวจสอบจากระบบของฐานข้อมูลที่หน้าเชื่อถือและถูกต้องจากหน่วยงานภาครัฐมากกว่าการยึดหลักจากการให้ข้อมูลโดยประชาชนแต่อย่างไรก็ตามทุกสิ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและมีการเชื่อมต่อในรูปแบบเดียวกันระหว่างหน่วยงานราชการ

บทสรุป

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับความพยายามขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนในประเทศไทยโดยเริ่มจากการการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่อาศัยเทคโนโลยีทางโปรแกรมขั้นสูงเข้ามาช่วย นอกจากนี้ยังมีการเตรียมพร้อมด้านการใช้ประโยชน์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการจัดการและจัดระบบฐานข้อมูลให้แสดงผลให้ดูง่ายและสะดวกต่อผู้บริหาร ในรูปแบบของ Fact Sheet และ Dashboard ที่ให้ข้อมูลจำเป็นด้านต่างๆ นอกจากจากนี้ยังมีความพยายามในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึกอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญและความท้าทายนับจากนี้คือการให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลและผลทางเศรษฐมิติเพื่อประกอบการพิจารณาสำหรับออกนโยบายให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้คือการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ
อย่างยิ่งการบูรณาการด้านการเชื่อมต่อข้อมูล (การเชื่อมต่อโดยอาศัย “เลขบัตรประชาชน” เป็นตัวกลาง) ซึ่งจะนำไปสู่ระบบการช่วยเหลือสวัสดิการอย่างเป็นระบบและลดความซ้ำซ้อนอีกด้วย ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรและคณะทำงานที่มีความรู้และความสามารถเฉพาะทาง เช่น Data Science และ Data Analytics เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักด้านการสร้างระบบและการประสานดังกล่าว

ดร.ศิวพร พรหมวงษ์

ดร. ศิวพร พรหมวงษ์
ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 12)

เอกสารอ้างอิง

[1] ผู้เขียนขอขอบพระคุณ นายพงศ์นคร โภชากรณ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ นายสุธรรม ส่งศิริ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ และ นางสาวอรกันยา เตชะไพบูลย์ เศรษฐกรชำนาญการ สำหรับคำปรึกษา แนะนำและตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของบทความฉบับนี้ ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวเชิงวิชาการของผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามข้อเสนอในบทความนี้
[2] ข้อมูลจากการลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 และ 2561
[3] มิใช่การเก็บข้อมูลแบบการสุ่มตัวอย่าง
[4] รายละเอียดชื่อธนาคารและเลขที่บัญชี
[5] สลากออมสิน สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พันธบัตร ตราสารหนี้
[6] ข้อมูลจากบัตรประชาชนประกอบด้วย คำนำหน้าชื่อ ชื่อ นามสกุล ภาพใบหน้า ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด
[7] อยู่ปัจจุบันแตกต่างจากที่อยู่ที่ปรากฏตามบัตรประชาชนซึ่งใช้เป็นตัวแปรหลักในการนำมาวิเคราะห์
[8] จำนวนสมาชิก ข้อมูลบิดา-มารดาและบุตร
[9] จำนวนสมาชิกในครอบครัว
[10] กู้เพื่อการศึกษา หนี้เพื่อการเกษตร หนี้เพื่อประกอบธุรกิจ หนี้เพื่ออุปโภค/บริโภค หนี้เพื่อซื้อบ้าน/ที่ดิน หนี้เพื่อซื้อรถยนต์/จักนยานยนต์
[11] ที่อยู่อาศัยประเภทที่ดิน (บ้านเดี่ยว/ทาวเฮ้าส์/ทาวน์โฮม) (ไม่เกิน 25 ตรว.) และห้องชุด (ไม่เกิน 35 ตรม.) ที่ดินทำกินสำหรับทำการเกษตร (ไม่เกิน 10 ไร่) ที่ดินทำกินสำหรับทำการค้า โกดัง และยุ้งฉาง (ไม่เกิน 1 ไร่) และที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์/รกร้างว่างเปล่า (ไม่เกิน 1 ไร่)
[12] มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริม พัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้มีรายได้น้อยโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ในการจัดอบรม โดยมุ่งเน้นให้ผู้มีรายได้น้อยมีงานทำ ได้รับการฝึกอบรมอาชีพและได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ
[13] ข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม 2562 ติดตามผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการพัฒนาแล้วทั้งหมด 2,607,195 ราย และคงค้างติดตามจำนวน 660,746 ราย
[14] 1,127,843 ราย
[15] 1,012,727 ราย
[16] คำนวณต้นทุนที่ใช้สำหรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2561 เทียบกับผลประโยชน์ทางตรงที่ได้ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้มีรายได้น้อยในแต่ละกลุ่ม
[17] งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ปี 2561
[18] ความต้องการได้มาจากโครงการสำรวจผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด 10,547,351 ราย โดยผู้มีรายได้น้อยกว่าร้อยละ 82 ร้อยละ 66.4 ร้อยละ 47.2 ร้อยละ 39.5 มีความต้องการให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องของการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาลดภาระค่าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันลดภาระค่ารักษาพยาบาลและเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา ตามลำดับ
[19] การศึกษาและประเมินสาเหตุและปัจจัยของผู้มีรายได้น้อยโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติในการคำนวณ ผ่านแบบจำลอง Odered Logistic Regressionเพื่อค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficeints) หรือการประเมินผลของความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย
[20] รายได้เพิ่มขึ้น
[21] ผู้ว่างงาน = Reference Level
[22] ไม่มีที่อยู่อาศัย = Reference Level
[23] ไม่มีที่ดินทำกิน = Reference Level
[24]ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์มีค่าเป็นบวก และ Statistically Significant at 1% level
[25] มีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ และอาชีพแบบแปรผกผัน
[26] สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก “คู่มือแก้ปัญหาความยากจน ฉบับ TAILOR-MADE สำหรับผู้บริหาร” โดย ดร.ศิวพร พรหมวงษ์
[27] สถานที่รับลงทะเบียนประกอบด้วยสำนักงานคลังจังหวัด (76 จังหวัด) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงไทย และ สำนักงานเขต กทม.
[28] รายได้ ณ ปี พ.ศ. 2559
[29] รายได้เฉลี่ยของกลุ่มที่ 1 อยู่ที่เดือนละ 3,034 บาทต่อเดือน
[30] รายได้เฉลี่ยของกลุ่มที่ 2 อยู่ที่เดือนละ 5,275 บาทต่อเดือน
[31] Log of Income ณ ตั้งแต่ร้อยละ 25 ถึง 75 ค่อนข้างคงที่จึงถูกจัดไว้อยู่ในกลุ่มเดียวกันนั่นคือกลุ่มรายได้ปานกลางโดยรายได้เฉลี่ยของกลุ่มที่ 2 อยู่ที่เดือนละ 7,322 บาทต่อเดือน
[32] รายได้เฉลี่ยของกลุ่มที่ 4 อยู่ที่เดือนละ 11,071 บาทต่อเดือน
[33] รายได้เฉลี่ยของกลุ่มที่ 4 อยู่ที่เดือนละ 29,267 บาทต่อเดือน
[34] 300 บาท/วัน x 261 วัน (จำนวนวันทำงานใน 1 ปี มาจาก 365 วัน – 104 วัน;วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ในหนึ่งปี)
[35]เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลากธนาคารการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร พันธบัตร และตราสารหนี้
[36]ที่อยู่อาศัยประเภทที่ดิน (บ้านทาวน์เฮาวส์ และทาวน์โฮม) ที่ดินทำกินสำหรับทำการเกษตรและอื่นๆ (สำหรับทำการค้า โกดัง และยุ้งฉาง) และที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
[37] ผู้ที่มีเงินได้สุทธิระหว่าง 0 ถึง 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น บุคคลดังกล่าวจะไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร
[38] รายได้อยู่สูงเกินกว่าคุณสมบัติและมีรายได้ต่ำกว่าเพดานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
[39] ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
[40] ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไท​ย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)​ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)​​​ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ​ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)​ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคาร​ธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ​ธน​าคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)​​​ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
[41] สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อเงินสด การเช่าซื้อรถยนต์ ประวัติการค้ำประกัน การซื้อขายหลักทรัพย์
[42] บัญชีราคาประเมินรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2559 กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม

Cameron, C. A., and Trivedi, P. K., 2009. Microeconometrics using Stata (Revised.). College Station, TX: StataCorp LP.

Phromwong, S., 2017. The Causal Impact of Education on Income, Income Inequality and Poverty in Thailand, University of Portsmouth.