ขอนแก่นโมเดล การสร้างเมืองอัจฉริยะ (KhonKaen Smart City)
เพื่อเสริมสร้างปัจจัยทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง

ขอนแก่นโมเดล การสร้างเมืองอัจฉริยะ (KhonKaen Smart City)
เพื่อเสริมสร้างปัจจัยทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง

บทความโดย
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์

คำว่าเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นคำที่อาจจะได้ยินกันคุ้นหูและเห็นได้บ่อยครั้งในสื่อต่าง ๆ เพราะประเทศไทยเองมีแผนที่จะพัฒนาและก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะเพื่อมุ่งหวังการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 โดยนิยามของคำว่า เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City นั้น หมายถึง การเป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากร และยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Smart City เป็นโครงการที่หลาย ๆ ประเทศพยายามพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองเป็นเมืองที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการเมืองอัจฉริยะในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดตั้งแต่ปี 2560 คือ จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต ต่อมาได้มีการพัฒนาเพิ่มในอีกหลายจังหวัดและมีเป้าหมายภายในปี 2565 จะขยายไปทั่วประเทศ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 100 พื้นที่

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปติดตามการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา รวมถึงการเป็นพื้นที่นำร่องของการเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างจังหวัดขอนแก่น ที่ถือว่าเป็นตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่นมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ เน้นการขับเคลื่อน 3 ด้านหลัก คือ การขนส่ง Logistics & Transportation หรือ Smart Mobility ด้านการประชุมและเศรษฐกิจ MICE City หรือ Smart Economy และด้านการแพทย์ Medical & Healthcare หรือ Smart Living มุ่งสู่การเป็น Medical Hub of  AEC ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการดูแลสุขภาพเดินทางมายังประเทศไทย และหากพูดถึงจังหวัดขอนแก่นเราอาจจะนึกถึงภาพของไดโนเสาร์หรือวัตถุโบราณ ตามคำขวัญของจังหวัด “พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่เหรียญทองแรกมวยโอลิมปิก” แต่ในปัจจุบันขอนแก่นได้พัฒนาจากภาพจำเมื่อก่อนไปมาก

จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย[1] รองจากกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา และอุบลราชธานี อักทั้งยังเป็นจังหวัดที่อยู่ตรงกลางของภาคอีสาน จึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในหลากหลายด้าน จะเห็นว่าขอนแก่นเป็นจังหวัดหนึ่งในการพัฒนาเมือง ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นมีลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Products : GPP) ในภาคเกษตรกรรมที่น้อยกว่านอกภาคเกษตรกรรม โดยสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย ภาคเกษตรร้อยละ 10 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 39 และภาคบริการร้อยละ 61 (ดังภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดขอนแก่น
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

[1] ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2564

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 5 มาโดยตลอด แต่ในช่วงที่ผ่านมาหรือในปัจจุบัน พบว่า อัตราการเจริญเติบโตต่ำลงค่อนข้างมาก (น้อยกว่าร้อยละ 5)(ดังภาพที่ 2) โดยจากการศึกษาของ ESI ThoughtLab  พบว่า การนำเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะมาใช้สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) ได้ประมาณร้อยละ 21 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.2 ต่อปี) และสามารถเพิ่มการเติบโตของจำนวนประชากรในอีก 5 ปีข้างหน้าได้ถึงร้อยละ 13 นอกจากนี้ ในต่างประเทศการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจได้ตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศจะเน้นการมีส่วนร่วมในพื้นที่และการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาจาก Pain Point ของพื้นที่เป็นหลัก และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา

ภาพที่ 2 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์จังหวัดขอนแก่น ระหว่างปี 2553-2562
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดและความเป็นมาของการเป็นเมืองอัจฉริยะของจังหวัดขอนแก่นมากยิ่งขึ้น สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และวารสารการเงินการคลัง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เขตพื้นที่ภาคอีสาน เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะของจังหวัดขอนแก่น (KhonKaen Smart City)เพื่อเสริมสร้างปัจจัยทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ความเป็นมาของการนำแนวทางเมืองอัจฉริยะเข้ามาแก้ไขปัญหาในพื้นที่และ Pain Point ของจังหวัดขอนแก่น

แรกเริ่มของโครงการเมืองอัจฉริยะจังหวัดขอนแก่นเกิดขึ้นจาก รัฐบาลได้มีนโยบายกำหนดให้จะต้องมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และได้กำหนดเมืองต้นแบบ 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ต่อมารัฐบาลได้เพิ่มเติมนโยบายประกาศให้ทุกจังหวัดต้องเป็นสมาร์ทซิตี้ ปัจจุบันมี 15 จังหวัดที่ได้รับการประกาศว่าเป็นเมืองอัจฉริยะ อาทิ ขอนแก่น ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร (พื้นที่สามย่าน และพื้นที่บางซื่อ) ลำปาง ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา จึงทำให้การนำแนวทางการเป็นเมืองอัจฉริยะของขอนแก่นได้เริ่มต้นขึ้น นอกจากนี้ขอนแก่นเองได้มีปัญหาในพื้นที่ที่เป็นอีกหนึ่งที่มาของการเริ่มนำเทคโนโลยีอย่างเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยขอนแก่นมีปัญหาในพื้นที่ อาทิ การเข้าถึงการศึกษา ความยากจน การขาดแคลนแรงงาน การเข้าถึงเทคโนโลยี ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ การลงทุนจากภาคเอกชนและการลงทุนจากต่างประเทศ และปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ

แนวทางสมาร์ทซิตี้มีกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหา 7 ด้านหลัก และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน

รูปแบบของสมาร์ทซิตี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายชัดเจนว่าทุกจังหวัดต้องได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยในปัจจุบันได้มีเมืองที่ได้รับการประกาศว่าเป็นเมืองอัจฉริยะทั้งหมด 15 จังหวัด และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องในอีกหลายจังหวัดทั่วทั้งประเทศ สมาร์ทซิตี้เป็นขบวนการที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่และกรอบการพัฒนาเมือง 7 ด้านหลัก (ดังภาพที่ 3) ประกอบด้วย

ภาพที่ 3 องค์ประกอบหลักทั้ง 7 ด้านของสมาร์ทซิตี้
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

1) Smart Economy ประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ ทำให้เกิดการร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ
2) Smart Energy การมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีพลังงานทางเลือก
3) Smart Environment การจัดการของเสียและติดตามสภาพแวดล้อม
4) Smart Mobility มีความสะดวกในการขนส่งโลจิสติกส์ และมีการใช้พาหนะที่ประหยัดพลังงานและเดินทางปลอดภัย
5) Smart People การมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีที่สิ้นสุด
6) Smart Governance ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ มีส่วนร่วม รัฐโปร่งใสและตรวจสอบได้
7) Smart Living ประชาชนสุขภาพดีปลอดภัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว

ในส่วนของจังหวัดขอนแก่นได้รับตราสัญญาลักษณ์สมาร์ทซิตี้ครบทั้ง 7 ด้าน โดยขอนแก่นเน้นการดำเนินการในเรื่อง 3 M และ 1 E โดย 3 M ของขอนแก่นประกอบด้วย Medical & Healthcare (Smart Living) Mice (Smart Economy) และ Mobility (Smart Mobility) และตามข้อกำหนดของคณะทำงานการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ชุดระดับชาติ ได้กำหนดว่า ไม่ว่าจะดำเนินการในหัวข้อใดจำเป็นต้องดำเนินการเรื่อง Smart Environment ด้วยเสมอ ทำให้ขอนแก่นดำเนินการเรื่อง Smart Environment ควบคู่ไปด้วย แต่ทั้งนี้ขอนแก่นก็ไม่ได้ละเลยการดำเนินงานในหัวข้ออื่น ๆ

โดยในปัจจุบันการดำเนินงานทั้ง 3 M ของจังหวัดขอนแก่นมีความคืบหน้าทั้งหมด ในส่วนของ ด้านการแพทย์ Medical & Healthcare หรือ Smart Living จะเห็นว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหลาย ทั้ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้มีแผนในการดำเนินการขยายเตียงผู้ป่วย 5,000 เตียง ปัจจุบันกำลังก่อนสร้างระยะที่ 1 นอกจากนั้นยังมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ที่ช่วยสนับสนุนเรื่อง Medical Health นี้อีกด้วย ทางขอนแก่นมีการจัดตั้งเครือข่าย digital startup สำหรับนักพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม มุ่งเน้นการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการแพทย์ และเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในอนาคต ขอนแก่นจึงได้เตรียมการในส่วนนี้ไว้ ส่วนความคืบหน้าตัวถัดมา Mice หรือ Smart Economy มีการดำเนินการของภาคเอกชนโดยได้มีการรวมตัวกันใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทั้งด้านธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจของฝาก ที่เกี่ยวเนื่อง และรัฐบาลได้มีการสนับสนุนด้านงบประมาณในการขยายสนามบินจากสนามบินท้องถิ่น มาเป็นสนามบินนานาชาติขอนแก่น และเรื่องต่อมา Mobility หรือ Smart Mobility ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้ง ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT)  KhonKaen Transit System (KKTS) ที่ดูและเรื่องรถไฟฟ้า LRT ซึ่งสถานะล่าสุดได้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงสำหรับการขอรับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในช่วงก่อนปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมา

ขอนแก่นได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ K-City Network Global Cooperation Program ของ Ministry of Land, Infrastructure and Transport (MOLIT) of Korea

ภาพที่ 4 K-City Network Project Selection
ที่มา Khonkaen Think Tank (KKTT)

ที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกับต่างประเทศทั้งประเทศจีนและเกาหลี โดยประเทศจีนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาคเอกชนด้วยนโยบายและบริบทของสมาร์ทซิตี้ ในส่วนของโครงการ K City นั้นสืบเนื่องจาก ประมาณ 2 ปีที่แล้ว คณะนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีตามคำเชิญและได้มีการลงนามเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในเรื่องของเรื่องสมาร์ทซิตี้ ทำให้มีการต่อยอดมา โดย depa ได้มีการประสานเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานที่ประเทศเกาหลีให้เกิดการทำงานร่วมกัน เนื่องจากประเทศเกาหลีมีความก้าวหน้าอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องสมาร์ทซิตี้และทางประเทศเกาหลีได้มีการให้คำปรึกษาและคำแนะนำเรื่องระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) เป็นสำคัญโดยเน้นไปที่เรื่อง Mobility แต่ยังไม่ได้ลงไปถึงเรื่องงบประมาณเนื่องด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ

หากพูดถึงขอนแก่นหรือสมาร์ทซิตี้เรามักนึกถึงรถไฟฟ้าเป็นอันดับแรก โดยในปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้ามีความคืบหน้าอย่างไร

การพัฒนาด้าน Mobility ของขอนแก่นเป็นการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนทางรางหรือรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit system : LRT) โดยมีแผนการลงทุนในระยะแรกเส้นทาง เหนือ-ใต้ บนถนนมิตรภาพ เป็นระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี ในระหว่างการดำเนินการพบปัญหาเรื่องพื้นที่ ศูนย์จอด ศูนย์ซ่อมแซม ตามลำดับ แต่ก็มีความสำเร็จในบางเรื่อง เพียงแต่ในบางเรื่องยังจำเป็นต้องมีการเจรจารและแก้ไขปัญหาต่อไป โดยความคืบหน้าในปัจจุบัน ด้วยบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KhonKaen Transit System Co.,LTD. KKTS) เจ้าของโครงการ ได้มีการร่วมลงนามความร่วมมือกับประเทศจีนในเรื่องการจัดหาแหล่งทุน ในช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา และมีกรอบการดำเนินการ 6 เดือน ระยะเวลาก่อสร้างคาดว่าหลังจากมีความคืบหน้าเรื่องแหล่งทุนก็จะได้ดำเนินการต่อไป การระดมทุนจากประชาชนก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จังหวัดจะนำมาใช้ แต่การร่วมมือกับประเทศจีนก็เป็นอีกหนึ่งช่องทาง โดยประเทศจีนจะร่วมมือโดยการเจรจาหาแหล่งทุนเข้ามา อีกทั้งยังมีแผนจะดำเนินการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยเป็นการขายหุ้นสำหรับให้พี่น้องประชาชนเป็นเจ้าของกิจการนี้ร่วมกัน

มองไปข้างหน้าหากโครงการที่วางแผนไว้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ตามแผน มีความคาดหวังว่าจะมีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่นมีรายได้และรายจ่ายต่อคนต่อหัวสูงสุดในภาคอีสาน ในส่วน GPP ยังเป็นรองของจังหวัดนครรราชสีมา ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาคธุรกิจและบริการ ในปัจจุบันขอนแก่นเติบโตค่อนข้างมาก ถึงแม้จะเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โครงการต่าง ๆ ก็ยังมีความคืบหน้า อย่างโครงการของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ได้ขยายการลงทุนในเรื่องของการเข้ามารับช่วงต่อตึกร้างของโรงแรมโฆษะด้วยการมาจัดทำศูนย์นวัตกรรม และตั้งบริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด และได้มีแผนในการพัฒนาตึกร้างดังกล่าวออกเป็นหลายระยะการดำเนินงาน โดยในระยะแรกจะทำเป็นศูนย์นวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (incubation center) ให้กลุ่มสตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดมาใช้บริการ ขณะเดียวกัน แบ่งพื้นที่อีกส่วนไปทำ โรงแรม และ Co-working space เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพ SMEs ที่มีแนวคิดเดียวกันได้มาพบกันแลกเปลี่ยนความคิดกัน ประกอบกับเรื่องความเป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เรื่องของการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากตัวเลขจำนวนผู้เดินทางเข้ามายังจังหวัดขอนแก่นที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า จังหวัดขอนแก่นมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคบริการและภาคธุรกิจมากขึ้น และเชื่อว่าประเด็นตรงนี้จะช่วยให้ GPP ขอนแก่นหากพ้นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าเม็ดเงินในส่วนของการแพทย์ในอีก 3-5 ปี ภาคอีสานจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองขอนแก่นยังมีประเด็นปัญหาที่ท้าทายอีกหลายประการ อาทิ งบประมาณในการดำเนินงานรถไฟฟ้า LRT และการเจรจาการดำเนินการก่อสร้างศูนย์จอดรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมแซม เป็นต้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องเร่งจัดหาแหล่งทุนอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อให้เมืองขอนแก่นสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขอนแก่นไม่เพียงแต่เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีและดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเมืองที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และมีเวลาอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขมากขึ้น ขอนแก่นจึงเป็นเมืองที่น่าจับตามองต่อไปในอนาคตว่าจะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการพัฒนาเมืองมากน้อยเพียงใด

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
ผู้เขียน

บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์

นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
ผู้เขียน