พาณิชยกรรมและหัตถกรรม: ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภาคเหนือจากบันทึกข้าหลวงธรรมการ

พาณิชยกรรมและหัตถกรรม: ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภาคเหนือจากบันทึกข้าหลวงธรรมการ

บทความโดย
ชัยวัฒน์ ปะสุนะ[1]


[1] นิสิตหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีเมล: chaiwatpasuna@gmail.com

เมื่อกล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศสยามสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ส่วนใหญ่ยังคงสัมพันธ์กับภาคการเกษตรและการค้าระดับท้องถิ่น ประกอบกับข้อจำกัดด้านประวัติศาสตร์มักจะให้ความสำคัญเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น จึงทำให้เกิดภาพความเข้าใจเศรษฐกิจของประเทศสยามแบบเหมารวม จึงส่งผลให้เศรษฐกิจนอกเขตปริมณฑลอำนาจของกรุงเทพฯ ขาดหายไปจากพื้นที่การศึกษา ฉะนั้นการทำความเข้าใจสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสยามจึงยังต้องการส่วนเติมเต็ม บทความนี้จะได้ถ่ายทอดสภาพวิธีชีวิต เศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของชุมชนหัวเมือง กรณีศึกษามณฑลพายัพในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 โดยเล่าเรื่องผ่านการบันทึกและรายงานราชการจากข้าหลวงธรรมการ ซึ่งรัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งมาตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ

ในช่วงการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล “มณฑลพายัพ” เดิมเรียกว่า “มณฑลลาวเฉียง” รัฐบาลสยามได้รวมหัวเมืองในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองน่าน และเมืองแพร่ โดยมีศาลาว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ (ดำรงราชานุภาพ, 2495, หน้า 130) รวมถึงส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามารับราชการในมณฑลพายัพ ความพยายามปฏิรูปการปกครอง และพยายามจัดระเบียบสังคมและเศรษฐกิจทั่วประเทศให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะนโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร และการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2463)

ข้าหลวงธรรมการที่ทางรัฐบาลกลางส่งมานั้น นอกจากจะมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการรายงานด้านการศึกษาและการศาสนา ยังพบว่ามีบันทึกสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของราษฎรรายงานแก่รัฐบาลอีกด้วย อนึ่งสอดคล้องกับนโยบายในช่วงรัชกาลที่ 6 ซึ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจและการส่งออก จึงจะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งหลักสูตรที่ใช้สอนภายในโรงเรียนมณฑลพายัพ จึงสอดแทรกวิชาเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การแปรรูปสินค้า การเย็บปักถักร้อย การเพาะปลูก ฯลฯ (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2456) สิ่งเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อสร้างนิสัยและความคุ้นเคยในวิถีเศรษฐกิจและการพาณิชย์ให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่

จากบันทึกของข้าหลวงธรรมการที่ได้เดินทางล่องเรือขึ้นมายังมณฑลพายัพ แล้วเริ่มตรวจราชการตามลำดับการเข้าสู่พื้นที่มณฑล เริ่มจากตรวจราชการเมืองแพร่ เมืองลำปาง เมืองลำพูน และเมืองเชียงใหม่ ฉะนั้นบันทึกความเป็นอยู่และวิธีทางเศรษฐกิจของราษฎรในมณฑลพายัพ จึงได้รับการถ่ายทอดผ่านทรรศนะของข้าหลวง และมีเมืองที่ได้เดินทางผ่านหลักๆ 4 เมือง ซึ่งให้ภาพเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของราษฎรที่สามารถลงรายละเอียดในการอธิบายทั้งสินค้า และพืชผลในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2456) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เมืองแพร่

เมืองแพร่เป็นเมืองขนาดเล็กทางตอนล่างของมณฑลพายัพ รัฐบาลสยามได้ส่งพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ แต่งตั้งขึ้นมาเป็นข้าหลวงไปปกครองแทนเจ้านายพื้นเมืองหลังเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยว (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย, 2446) ส่งผลให้การปกครองเมืองแพร่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาจากข้าราชการสยามโดยตรง ประกอบกับพื้นที่ขนาดไม่กว้างมาก ฉะนั้นข้าหลวงธรรมการจึงใช้เวลาตรวจราชการเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น โดยรายงานข้าหลวงธรรมการระบุว่า งานหัตถกรรมและพาณิชยกรรมในเมืองแพร่ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา รับจ้างทำป่าสัก ปลูกยาสูบ ปลูกฝ้าย และขายของเบ็ดเตล็ด ซึ่งการเพาะปลูกพืชผักนิยมมักปลูกให้เพียงพอต่อการใช้สอย และบริโภคเป็นรายบุคคลหรือเพียงพอสำหรับครอบครัวเท่านั้น ไม่ค่อยปรากฏว่าถึงขั้นเพาะปลูกเพื่อส่งขาย ดังนั้นข้าหลวงธรรมการจึงมีทรรศนะว่าราษฎรเมืองแพร่ชอบอยู่เฉย จึงไม่ได้ประกอบอาชีพที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก นอกจากนี้ทรัพยากรที่พอจะเป็นสินค้าได้ดีนอกจากไม้สัก ได้แก่ มะพร้าว และยาสูบ ซึ่งยาสูบที่ปลูกในอำเภอสองค่อนข้างได้คุณภาพและจัดอยู่ในระดับที่ดีมาก มีรสชาตดีและมีกลิ่นหอม

2. เมืองลำปาง

เมืองลำปางเป็นเมืองอีกแห่งที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และกว้างขวางตั้งอยู่กลางมณฑลพายัพ ข้าธรรมการเมื่อเดินทางมาตรวจราชการบันทึกไว้ว่า งานหัตถกรรมในเมืองลำปางสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป แต่ทว่ามีไม่มากพอในทางกลับกันนั้นราคาขายค่อนข้างแพง การประกอบอาชีพส่วนใหญ่แล้วราษฎรนิยมทำเกษตรกรรม ทำไร่นา ทำป่าไม้ และทำครั่ง เมื่อพิจารณาถึงการทำนามักจะทำให้พอสำหรับเลี้ยงครอบครัว หรือเป็นการทำเกษตรแบบพอใช้พอกินเท่านั้น อนึ่งภายในที่ดินแห่งเดียวกันนั้นยังปลูกทั้งข้าว ผัก พริก ฯลฯ ข้าหลวงธรรมการที่ได้ไปตรวจราชการจึงได้แนะนำแก่พระสงฆ์และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้พวกเขาเห็นว่าการปลูกพืชผักในปริมาณเล็กน้อยเช่นนี้ จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนถาวร ถ้าหากว่าปีไหนฝนแล้งก็ทำให้ราษฎรต้องอดอยาก จึงพยายามถ่ายทอดคำสั่งให้ผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้ ไปแนะนำบอกกล่าวราษฎรต่อไป ซึ่งมีท่าว่าพวกเขาจะดูยินดีรับฟังคำแนะนำ แต่ต้องเข้าใจถึงนิสัยของข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้ด้วยว่าลงปฏิบัติตามเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น พอนานวันเข้าก็เฉื่อยชาไม่สนใจ ข้าหลวงธรรมการเสนอว่าควรให้มีผู้รับผิดชอบมากระตุ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรสรรหาข้าหลวงธรรมการประจำเมือง

งานหัตถกรรมในพื้นที่ต่างอำเภอ ซึ่งข้าหลวงธรรมการได้เดินทางออกสำรวจแล้วนั้น พบทรัพยากรประเภทหินชนวนในเขตอำเภอลองมีคุณภาพอย่างดีมาก ดังจะเห็นได้จากบรรดาเด็กนักเรียนมักเก็บมาใช้ แต่ยังไม่ได้ขัดเงาให้เรียบ เมื่อพิจารณาดูเล็งเห็นว่าคุณภาพเนื้อหินดีกว่าหินชนวนต่างประเทศ ถ้าในอนาคตจะทำเป็นอุตสาหกรรมส่งออกจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากหินชนวนสามารถนำมาทำเป็นกระดานดำได้อย่างดี ประกอบกับแหล่งหินตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟ คาดว่าประมาณ 2 ปี จะเปิดเดินรถไฟได้แล้วและอาจลำเลียงหินชนวนมาทางรถไฟ คุณสมบัติที่มีอยู่หลากลายนอกจากจะใช้เพื่อทำกระดานดำ ยังสามารถทำกระเบื้องมุมหลังคา ทำดินสอก็ได้ ข้าหลวงธรรมการจึงแนะนำให้ทางอำเภอลองศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป หรือจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิชาหัตถกรรมสำหรับฝึกนักเรียนก็ได้ ซึ่งนายอำเภอและข้าหลวงประจำเมืองลำปางรับเรื่องไว้แล้ว ส่วนตัวอย่างหินได้เก็บมาจำนวน 1 แผ่น และได้ส่งไปยังกรุงเทพฯ

นอกจากหินชนวนแล้วยังพบว่ามีโลหะเหล็กด้วย ราษฎรเคยถลุงเหล็กส่งเป็นส่วยให้แก่เจ้านายตั้งแต่สมัยการปกครองยุคจารีต ต่อมาเมื่อเจ้านายเลิกเกณฑ์ส่วยแล้วก็ไม่มีการถลุงเหล็กอีกเลย ข้าหลวงธรรมการจึงได้นำเอาแร่เหล็กและเหล็กที่ถลุงแล้ว พร้อมด้วยมีดแปรรูปส่งมาเป็นตัวอย่าง 1 เล่ม พร้อมกับส่งแร่ธาตุอื่นมาด้วย ข้าหลวงธรรมการมีทรรศนะว่าน่าจะเป็นแร่ทองแดงหรือตะกั่ว แร่เหล่านี้พบว่าอยู่ในเนื้อหิน เมื่อให้ราษฎษรงัดหินออก 1 ชั้นแล้ว พบว่าสามารถใช้เป็นหินลับมีดได้ แหล่งหินเมืองลำปางนับว่ามีชื่อเสียงมากและตั้งอยู่ใกล้ทางรถไฟทั้งสิ้น ส่วนการค้าขายตามปกติราษฎรก็ประกอบการค้าอยู่บ้างตามท้องตลาด ส่วนการขายของปริมาณมากที่ใช้ม้าต่างและวัวต่างสินค้า กลับยังมีสัดส่วนที่น้อยมากเนื่องจากไม่ค่อยมีสินค้าที่ผลิตได้เองจำนวนมากเพียงพอต่อการส่งออกต่างเมือง ขณะเดียวกันสินค้าจากคาราวานม้าต่างวัวต่างส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเกลือและหนังสัตว์ ส่วนข้าวสารมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคและมีจำนวนเฉพาะในพื้นที่ลำปางเท่านั้น แต่ก็ยังปรากฏว่าบางพื้นที่ปลูกข้าวได้ไม่มากและต้องอดยาก ส่วนประเด็นทางแก้ไขในการส่งสินค้านั้น ข้าหลวงธรรมการมีทรรศนะว่าแนวทางอื่นยังไม่มีทางเลือกที่ดีมากพอ ซึ่งการขนส่งสินค้าแบบใช้สัตว์พาหนะถือว่าสมเหตุสมผลอยู่แล้ว หากจะทำให้ดีกว่านั้นต้องลำเลียงด้วยรถไฟเท่านั้น เพราะหนทางขึ้นเขาลงห้วยจะใช้ล้อเกวียนก็ลำบากยกเว้นกรณีที่เมืองน่านเท่านั้น

การประกอบอาชีพของราษฎรเมืองลำปางนอกจากการทำนาและทำป่าสัก ยังพบว่ามีการทอผ้าบ้างเล็กน้อย และการค้าขาย สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไม้สักและส่งออกครั่งเป็นบางครั้ง สินค้าประเภทครั่งลดลงจำนวนไปทุกปี เนื่องจากขายได้ราคาถูกฉะนั้นจึงไม่ค่อยนิยมทำแล้ว ส่วนสินค้าขาเข้ามีจำนวนมากและจัดอยู่ในประเภทเป็นเครื่องอุปโภค สิ่งที่สามารถผลิตได้เองในเมือง เช่น ผ้า และเครื่องนุ่งห่ม สินค้าขาเข้าจำนวนมากซื้อมาทางกรุงเทพฯ หรือเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น พม่า ซึ่งลำเลียงมาจากเมืองมะละแหม่งผ่านเข้าสู่เมืองเถิน และพบว่ายังมีการสั่งซื้อมาจากเมืองสิบสองปันนาทางตอนใต้ประเทศจีน หากพิจารณาราคาของสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ส่งมาทางเมืองมะละแหม่งเนื่องจากขนส่งด้วยรถไฟรถไฟ ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่ารถไฟมีคุณูปการอย่างยิ่ง ถ้าหากขยายทางรถไฟขึ้นมายังมณฑลพายัพโดยเร็ว จะส่งผลให้มีสินค้าผ่านจากกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้เมืองลำปางมีแร่จำนวนมาก นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ข้าหลวงธรรมการพบว่า บริเวณใกล้ฝั่งแม่น้ำวังตรงอำเภอสบปราบจดอำเภอเถินมีภูเขา 4 ลูก โดยส่วนใหญ่เนื้อดินเป็นแร่มีค่า ได้สั่งให้ราษฎรขุดและนำตัวอย่างส่งไปกรุงเทพฯ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นแร่ตะกั่ว เมื่อวิเคราะห์ดินก้อนหนึ่งได้เนื้อแร่ประมาณร้อยละ 60 พบว่าราษฎรในท้องที่ก็มาขุดเอาไปใช้เองบ้าง แร่นี้ถ้าหาแนวทางใช้งานจะเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นใหม่ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น และพบแร่ประเภทอื่นอีก เช่น พลอย แต่ก็ยังมีปริมาณไม่มากพอ

อีกสถานที่หนึ่งในอำเภอสบปราบมีบ่อน้ำผุดตรงก้อนหิน ถ้าได้รับแรงกระเทือนมักมีน้ำผุดขึ้น ราษฎรมาตักเท่าไหร่ก็ไม่แห้ง น้ำผุดมีรสคล้ายน้ำยาจุฬาลงกรณ์ (พระนาม“จุฬาลงกรณ์”ถูกนำไปใช้อย่างคาดไม่ถึง, 2561) จึงได้สั่งให้ตักมาเป็นตัวอย่างส่งมายังกรุงเทพฯ จำนวน 2 ขวด เพื่อให้ลองนำไปศึกษาแยกแร่ธาตุ ถ้าหากว่าเหมือนกับ “น้ำยาจุฬาลงกรณ์” จริงคาดว่าจะเป็นประโยชน์ น้ำผุดตามตำนานระบุว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยในป่าดังกล่าวนี้ ไม่มีน้ำฉันจึงได้เอาพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) กดลงที่ก้อนหินเกิดเป็นน้ำผุดขึ้น ชาวเมืองจึงเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ส่วนสัตว์พาหนะประเภทวัวมีอยู่เป็นจำนวนมาก วัวตัวเมียราคาถูกมากเพราะรัฐบาลประกาศห้ามไม่ให้ฆ่า นอกจากจะจำเป็นจริงๆ วัวตัวเมียตัวหนึ่งราคา 6 หรือ 7 รูปีเท่านั้น ข้าหลวงธรรมการจึงได้แนะนำให้ราษฎรลองทำนมวัวกระป๋อง และเนย ถ้าหากว่าประสบผลสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการส่งออกสินค้า

3. เมืองลำพูน

เมืองลำพูนเป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางด้วยม้าประมาณ 1 ชั่วโมง ฉะนั้นการตรวจราชการภายในเมืองนี้จึงมีไม่ค่อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วกิจการเมืองลำพูนอยู่ใกล้กับเมืองเชียงใหม่ ส่งผลให้รูปแบบสังคมและเศรษฐกิจพึ่งพาและนำสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างเมืองทั้งสองเป็นปกติ ส่วนงานด้านหัตถกรรมและพาณิชยกรรมในเมืองลำพูน พบว่าส่วนใหญ่เพาะปลูกพืช แต่บางตำบลมีความแห้งแล้งจึงทำนาไม่ค่อยได้ผลผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภค มีความแร้งแค้นถึงขั้นที่ราษฎรขุดกลอยบริโภคแทนข้าวทุกปี ข้าหลวงธรรมการได้สอบถามไปยังราษฎรถึงสาเหตุพวกเขายังคงทนอยู่ในตำบลนั้น ราษฎรได้ตอบว่าถ้าหากย้ายไปตำบลอื่น พวกเขาเกรงว่าจะหากลอยยากหรืออาจอดยากไม่มีอะไรรับประทาน นอกจากนี้สภาพการค้าขายโดยภาพรวมพิจารณาดูแล้วคล้ายกับที่เมืองลำปาง ส่วนงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของเมืองลำพูน ได้แก่ การทอผ้า การทำร่ม ฯลฯ

4. เมืองเชียงใหม่

เมืองเชียงใหม่ถือเป็นจุดหมายปลายทางของข้าราชการสยาม เนื่องจากว่าเมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการมณฑลพายัพ อีกทั้งเป็นเมืองขนาดใหญ่รวมศูนย์บัญชาการของหน่วยงานต่างประเทศ เช่น กงสุลอังกฤษ ฯลฯ ข้าหลวงธรรมการจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพักอาศัยและเขียนรายงานส่งไปยังรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ การประกอบอาชีพของราษฎรในเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่นิยมทำไร่ ทำนา และทำป่าสัก การทำนาในเมืองเชียงใหม่มีจำนวนมากและราษฎรค่อนข้างจริงจัง แต่ยังมีพื้นที่บางตำบลมีที่นาน้อยไม่เพียงพอต่อการทำนา ส่วนการทำไร่ในตำบลที่เป็นป่ามักทำเรียบง่าย และการทำปางไม้สักหรือป่าสักมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลเป็นอย่างดี ส่วนงานหัตถกรรมประเภทอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ ช่างเงิน ช่างเขิน ช่างปั้น ช่างทอผ้า ช่างทำหมวก ช่างทำร่มกระดาษ ช่างสานเสื่อ ช่างตีเหล็ก ฯลฯ

งานช่างเงิน ค่อนข้างมีฝีมือมากทำได้ละเอียดประณีต ประกอบกับค่าจ้างงานถูกถึงขั้นถูกกว่าชาวจีน แต่ทว่ามีข้อบกพร่องตรงที่นิยมทำในรูปแบบเดียวไม่พลิกแพลงเปลี่ยนรูปแบบ ข้าหลวงธรรมการได้รับรายงานว่าช่างเงินทั้งเมืองเชียงใหม่เหลืออยู่เพียงคนเดียวที่พอจะทำได้ กระบวนการทำงานต่อผลงานหนึ่งชิ้นจะสำเร็จใช้เวลากว่า 3 เดือน พบว่าช่างไม่ค่อยอยากพลิกแพลง เช่น โต๊ะเท้าคางจะเขียนลายเพิ่ม ก็อ้างว่าทำไม่ได้เนื่องจากจับพลิกไม่ได้ ฉะนั้นช่างจึงนิยมทำงานเป็นชิ้นใหญ่ชิ้นเดียว ทรรศนะของข้าหลวงธรรมการที่ได้ไปดูช่างเงินมองว่า ถ้าหากเขาปรับรูปแบบงานเป็นชิ้นส่วน แล้วนำมาประกอบกันจะทำให้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเครื่องเงินยังแพงอยู่มากเพราะคนทำน้อย

ช่างปั้น นิยมปั้นถ้วยชาม ปั้นกระถางทรงหนา และปั้นคนโท ดินที่ใช้ผสมมีเนื้อที่ไม่ค่อยดีนักจึงทำให้ภาชนะแตกหักง่าย ในหมู่บ้านช่างปั้นพบว่ามีอยู่บางส่วนที่ทำงานปั้นแบบเคลือบ ข้าหลวงธรรมการจึงมีความสนใจแล้วได้ไปสอบถามถึงน้ำยาที่ใช้สำหรับเคลือบ พวกช่างปั้นกล่าวว่าใช้ด่างจากไม้มะก่อ ซึ่งพบมากบริเวณเชิงดอยสุเทพนำมา 2 ส่วน แล้วผสมปนกับดินเหนียวอีก 1 ส่วน ละลายน้ำให้ข้นแล้วนำเครื่องปั้นที่ผึ่งแห้งแล้วมาทาทับให้ทั่ว ตากไว้ให้แห้งแล้วเผา เมื่อเสร็จกระบวนการเผาแล้วจะเป็นเครื่องปั้นเคลือบเขียว สูตรทั้งหมดที่ช่างปั้นเหล่านี้ได้บอกให้ทราบก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะเป็นจริงทั้งหมดหรือไม่ ข้าหลวงธรรมการจึงได้ออกคำสั่งให้หลวงอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2458) ให้ช่วยจัดหาไม้มะก่อและตัดเอาใบมาด้วย แล้วจะได้ทยอยส่งมากรุงเทพฯ ภายหลังเพื่อเป็นตัวอย่าง เมื่อทดลองแล้วจึงจะทราบได้ว่าสูตรที่ช่างปั้นบอกนั้นจริงมากน้อยเพียงใด

ช่างทอผ้า นับว่าประสบปัญหาเช่นเดียวกันด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากขาดการพลิกแพลง พบว่าราษฎรยังนิยมทอผ้าซิ่นและทอผ้านุ่ง ช่างทำหมวกและร่ม พวกเขาทำหมวกด้วยกระดาษข่อยด้วยตนเองทุกกระบวนการ รูปทรงของหมวกที่ผลิตนั้ มีลักษณะเป็นหมวกกันแดดแบบบาง อีกทั้งทนทานกันฝนได้ดี ลวดลายที่นิยมมาก คือ การทาสีและเขียนลาย พิจารณาแล้วถือว่าเป็นหมวกที่ร่วมสมัยจึงพบเห็นว่าราษฎรนิยมสวมใส่แทนงอบ จึงได้จัดหาตัวอย่างหมวกทำเป็นทรงข้าราชการพลเรือนและจัดส่งมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ถ้าเมื่อเย็บขึ้นทรงเรียบร้อยดีแล้ว พิจารณาดูค่อนข้างใช้ได้และจะเป็นประโยชน์มาก ราคาใบละประมาณ 12 สตางค์ แต่คิดค่าเย็บต่างหาก ช่างสานเสื่อ พบว่าใช้กกเป็นวัสดุหลักในการสานเสื่อ แต่ทว่าราคากลับยังคงแพงอยู่มาก ช่างตีเหล็ก โดยทั่วไปงานเหล็กทำเป็นสินค้าใช้สอยในครัวเรือน เช่น มีด และดาบ เป็นต้น งานฝีมือช่างตีเหล็กค่อนข้างพอใช้

ข้อสังเกตประการหนึ่งของข้าหลวงธรรมการ พบว่าบรรดาราษฎรที่ประกอบอาชีพงานฝีมือ หรือพวกช่างเหล่านี้ นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยรวมกันเป็นพวก หรือตามประเภทวิชาช่างที่ถนัด เช่น บ้านช่างฆ้อง บ้านช่างแต้ม ฯลฯ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาชีพช่างดังกล่าวไม่ใช่อาชีพหลัก ฉะนั้นจะเริ่มทำและเลิกทำตอนไหนล้วนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในครัวเรือนช่วงนั้นๆ นอกจากอาชีพจริงจังคงจะมีแต่เพียงช่างตีเหล็ก โดยส่วนใหญ่จึงเป็นการใช้เวลาว่างของราษฎรที่ว่างเว้นจากฤดูเพาะปลูกทำนา เมื่อถึงฤดูทำนาก็เลิกทำงานช่าง

ข้าหลวงธรรมการพร้อมด้วยหลวงอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ ได้ตกลงกับบรรดาช่างว่าทางโรงเรียนรัฐบาลจะส่งนักเรียนไปฝึกหัดงานฝีมือ เป็นการสอนนอกโรงเรียนและขอให้ทางหน่วยงานราชการยกเว้นกฎและข้อบังคับบางอย่างเป็นการตอบแทนช่างเหล่านั้น แม้จะให้ใบตั้งเป็นครูเชลยศักดิ์ตามกฎเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ข้าหลวงธรรมการมีทรรศนะเห็นชอบด้วย เนื่องจากช่างหล่านี้ทำหน้าที่เป็นครูเหมือนกัน แต่กฎเกณฑ์ที่ต้องยึดถือไว้ คือ จำนวนนักเรียนต้องให้มีสัดส่วนตรงตามเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ถ้าหากเป็นเช่นนี้จะมีส่วนช่วยให้เกิดการผลิตบุคคลากรทางงานฝีมือและงานช่างจำนวนมาก ส่วนที่จะฝึกให้ช่างออกแบบผลิตภัณฑ์หลากรูปทรง เห็นสมควรว่าต้องหาตัวอย่างรายการสินค้าเป็นแคตตาล็อก (Catalog) จากต่างประเทศมาให้ศึกษา หลังจากนั้นให้ลองศึกษาเลียนแบบก่อน เมื่อคุ้นชินแล้วคงจะพัฒนางานฝีมือของตนได้อย่างหลากหลายรูปแบบ

ส่วนการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้า ข้าหลวงธรรมการได้รับทราบว่าสินค้าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะรับมาจากกรุงเทพฯ รับจากเมืองปากน้ำโพบ้าง และรับจากจากเมืองตาก ซึ่งเป็นสินค้าต่างประเทศเข้ามาทางเมืองมะละแหม่ง รัฐฉานและยูนนาน ทั้งนี้สินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ และเมืองปากน้ำโพเป็นอาหารและเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนสินค้าที่รับจากมะละแหม่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งของเครื่องใช้จากอังกฤษ ส่วนที่มาจากรัฐฉานและยูนนานเป็นไหมและด้าย รายการสินค้าสำหรับส่งออกจากเมืองเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงอย่างมาก คือ ไม้ขอนสัก นอกจากนั้นยังมีหนังสัตว์ที่ส่งมาขายกรุงเทพฯ น้ำมันหมูส่งมาขายเมืองตากและเมืองปากน้ำโพ ผ้าไหมส่งไปขายยังเมืองมะละแหม่ง (Foreign office, 1910) เครื่องเขินส่งมายังเมืองปากน้ำโพและกรุงเทพฯ นอกจากนั้นก็มีของเบ็ดเตล็ดที่มีขายอยู่ตามท้องถิ่น การคมนาคมรับส่งระหว่างเมืองตากกับเมืองเชียงใหม่ใช้เรือเป็นหลัก แต่จากเมืองตากกับเมืองมะละแหม่งเป็นการคมนาคมทางบกใช้สัตว์พาหนะต่างสินค้า เช่นเดียวกับการขนส่งจากรัฐฉานและยูนนานลงมาเมืองเชียงใหม่นิยมใช้สัตว์พาหนะต่างสินค้า สินค้าที่ได้ผลิตในเมืองเชียงใหม่นั้น ข้าหลวงธรรมการได้ไปติดต่อไว้ก่อนบ้างแล้ว

ภาพรวมพาณิชยกรรมและหัตถกรรมในมณฑลพายัพ

งานหัตถกรรมและพาณิชยกรรมของมณฑลพายัพ ในภาพรวมที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ การทำป่าสัก การเพาะปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการจับสัตว์น้ำ โดยส่วนใหญ่การเพาะปลูกและจับสัตว์น้ำทำเฉพาะนำไปประกอบอาหารเลี้ยงชีพเท่านั้น จึงยังไม่มีผลผลิตมากเพียงพอต่อการส่งออกไปยังต่างมณฑล ด้านงานฝีมือด้วยเช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่นิยมทำขึ้นเพื่อใช้สอยในท้องถิ่น ข้าหลวงธรรมการวิเคราะห์ว่าสาเหตุมาจากการที่ราษฎรมีความคิดจำกัด คือ ทำให้พอสำหรับเลี้ยงชีพเท่านั้น จึงไม่ได้ลงมือทำถึงขั้นเป็นอุตสาหการ และยังคงทำหลายอาชีพร่วมกัน เรื่องดังกล่าวนี้ข้าราชการท้องถิ่นกำลังส่งเสริมราษฎร โดยตั้งกฎไว้ว่าหากราษฎรที่ประกอบอาชีพอย่างใดแล้วไม่ลงมือปฏิบัติจริงจัง ทางราชการจะเกณฑ์แรงงานคนเหล่านี้ไปช่วยงานราชการ ส่วนผู้ที่ตั้งใจทำงานเลี้ยงชีพจริงจัง จะให้หน่วยราชการพิจารณายกเว้นให้บ้างบางกรณี

ข้าราชการฝ่ายกระทรวงธรรมการควรมีส่วนสนับสนุนและให้การช่วยเหลือด้วย กล่าวคือ มอบหมายให้เจ้าพนักงานที่ออกไปปฏิบัติตนเหมือนกับมิชชันนารี คือ มีหน้าที่ช่วยแนะนำสั่งสอน เพื่อเป็นการแสดงความเกื้อกูลกับราษฎร ข้าหลวงธรรมการกล่าวว่า “…ราษฎรจะเจริญไม่ได้นอกจากมีผู้สั่งสอน คือ พระและเจ้าหน้าที่จัดการศึกษา สาสนาจะรุ่งเรืองก็ยากนอกจากราษฎรจะมั่งคั่ง เพราะฉะนั้นฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายสาสนาต้องเกี่ยวกันและทำไปพร้อมกัน การฝึกหัดให้พระเทศน์นั้นเปนทางสดวกมากไม่เกี่ยวแก่โปลิติก จะเปนคนชาติใดก็ได้ ราษฎรเชื่อพระมากกว่าคฤหัสถ์…” (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2456) นอกจากนี้การขนส่งสินค้ามณฑลพายัพมีครบทั้งทางบกและทางเรือ ฝ่ายมณฑลได้วางสาธารณูปโภคเหล่านี้ไว้แล้วและค่อนข้างดี โดยเฉพาะการขยายถนนให้กว้างพอสำหรับเกวียน เนื่องจากจะได้บรรทุกของได้จำนวนมาก โดยเฉพาะการลำเลียงสินค้าที่เข้ามาจากเมืองมะละแหม่งในเส้นทางบก ฉะนั้นรัฐบาลเล็งเห็นว่าการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคจึงเป็นสิ่งที่สมควรพัฒนาอย่างเร่งด่วน

ส่วนบรรดาแร่ธาตุซึ่งขุดค้นพบจำนวนมากดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ประกอบด้วย แร่เหล็ก แร่ตะกั่ว (มีมาก) น้ำแร่ หินประเภทต่างๆ รวมทั้งแผ่นหินสีดำเช่นเดียวกับที่จะนำมาทำกระดานชนวน ฯลฯ ข้าหลวงธรรมการเล็งเห็นศักยภาพให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ทางฝ่ายมณฑลพายัพได้เคยพยายามรวบรวมบัญชีแร่ธาจุ และทรัพยากรตัวอย่างส่งไปให้กระทรวงเกษตราธิการพิจารณาครั้งหนึ่งมาแล้ว แต่ทว่าเรื่องกลับเงียบหายไป จึงทำให้ข้าราชการฝ่ายมณฑลไม่ได้ติดตามการพัฒนาใช้ทรัพยากรเหล่านี้อีก แร่เหล่านี้ที่ข้าหลวงธรรมการจะนำตัวอย่างจากมณฑลพายัพไปยังกรุงเทพฯ จะส่งไปให้มิสเตอร์มัดช์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทพสิรินทร์เป็นผู้พิสูจน์และตรวจแยกโลหะอีกด้วย

การศึกษาเศรษฐกิจต่างมณฑลนอกเหนือจากกรุงเทพฯ พบว่ามีหลักฐานที่ให้รายละเอียดบันทึกสภาพความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎรต่างมณฑลน้อยมาก ฉะนั้นกรณีศึกษามณฑลพายัพได้รับคุณูปการจากบันทึกของข้าหลวงธรรมการ ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในด้าน “พาณิชยกรรมและหัตถกรรม” ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 จะสังเกตได้ว่าวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของราษฎรมณฑลพายัพ ยังคงมีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ และการสร้างรายได้จำกัดอยู่ในระดับครัวเรือน ส่งผลให้วิถีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกมีไม่มากนัก ขณะเดียวกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นให้เกิดการขยายฐานเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก

ฉะนั้นรัฐบาลสยามจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ข้าราชการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ราษฎร โดยมุ่งหวังให้เกิดการผลิตในปริมาณมากเพียงพอต่อการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัว เศรษฐกิจจึงได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศสยาม ดังนั้นการออกสำรวจทรัพยากรและวิถีชีวิตตามบันทึกข้าหลวงธรรมการ ได้ให้ภาพความเข้าใจทั้งสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรและเติมเต็มประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมณฑลพายัพ ซึ่งกำลังเผชิญกับกระแสเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวขึ้น ภายใต้ความพยายามของรัฐบาลสยามที่ผลักดันให้เกิดวิถีการผลิตแบบใหม่ เน้นการผลิตสินค้าท้องถิ่นให้ได้ปริมาณมากเพียงพอต่อการส่งออก

เอกสารอ้างอิง

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย. (2446, 17 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 20 ตอน 42, หน้า 718-719.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2495). เทศาภิบาล. พระนคร: คลังวิทยา.

พระนาม“จุฬาลงกรณ์”ถูกนำไปใช้อย่างคาดไม่ถึง. (2561, 1 พฤศจิกายน). ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นจาก     https://www.silpa-mag.com/history/article_22022

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2456). ศธ 43/14. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ “พระไพศาลฯ ไปตรวจ    ราชการมณฑลพายัพ”

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2458). ศธ 45/16. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ “ซื้อที่บ้านหลวงอุปกรศิลป ศาสตร์เมืองเชียงใหม่”

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2463). กต 35/22. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ “จ้างกัปตันแมคเกนซีเข้ามาเป็นผู้แต่งหนังสือ”

Foreign office. (1910). Siam: Report for the Year 1909 on the Trade and Commerce of the Consular District of Chiengmai. London: Her Majesty’s Stationery Office.

ชัยวัฒน์ ปะสุนะ

ชัยวัฒน์ ปะสุนะ
นิสิตหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
chaiwatpasuna@gmail.com
ผู้เขียน