จากวิกฤตศรีลังกาสู่บทบาททางเศรษฐกิจของไทย

จากวิกฤตศรีลังกาสู่บทบาททางเศรษฐกิจของไทย

บทความโดย[1]
นายศิรพล ฤทธิ์ประศาสน์
นางสาวกันตา ศุขสาตร
นายพุทธิสมบัติ ปานกุล


[1] บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ได้สะท้อนความเห็นของหน่วยงาน

1. บทนำ

ปัญหาเศรษฐกิจศรีลังกาสืบเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองในประเทศที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 26 ปี[2]  (พ.ศ. 2526 – 2552) ทำให้ประเทศศรีลังกาไม่มีการพัฒาอุตสาหกรรม และพึ่งพาสินค้าส่งออกพื้นฐานเป็นหลัก เช่น ชา เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการท่องเที่ยว อีกทั้งรัฐบาลศรีลังกาได้มีการกู้เงินจากต่างประเทศมาเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศศรีลังกามีความเปราะบางต่อภาคเงินตราต่างประเทศเป็นอย่างมาก ต่อมา เมื่อมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น รัฐบาลศรีลังกามีความจำเป็นต้องใช้เงินในการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้หนี้ของรัฐบาลศรีลังกาเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยในปี 2021 หนี้ต่างประเทศของศรีลังกาสูงถึงร้อยละ 60 ของจีดีพี และเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณไตรมาสละ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินสำรองระหว่างประเทศ นอกจากนี้เอง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้ประเทศศรีลังกาขาดรายได้จากภาคการท่องเที่ยวไปด้วย ซึ่งส่งผลให้ศรีลังกาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อมาใช้ชำระหนี้ต่างประเทศ โดยศรีลังกาพึ่งพาการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 10.4 ของจีดีพี (ข้อมูลเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โควิด-19 แพร่ระบาด)              


[2] บัณฑิต นิจถาวร. (13 กันยายน 2564).  ศรีลังกา จากโควิดสู่วิกฤติการเงิน. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/business/1004331

2. สถานการณ์ทั่วไปของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา

ในปัจจุบัน ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี ประชาชนจำนวนประมาณ 22 ล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง รวมถึงการขาดแคลนเชื้อเพลิง ยารักษาโรค และสิ่งของที่จำเป็นอย่างหนัก[3] ศรีลังกากำลังประสบกับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อศรีลังกาเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ร้อยละ 29.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และรัฐบาลต้องใช้วิธีตัดไฟวันละกว่าสิบชั่วโมงเนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า และเพื่อลดรายจ่ายของภาครัฐ อีกทั้ง ยังมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลศรีลังกาทั่วประเทศ เนื่องจากประชาชนไม่พอใจการบริหารประเทศโดยรัฐบาลของตระกูลราชปักษา รวมถึงมีการเผาทำลายบ้านพักของเหล่านักการเมืองฝ่ายบริหารหลายแห่ง


[3] Timeline of Sri Lanka’s worst economic crisis since independence. (2022, April 13). Al Jazeera. https://www.aljazeera.com/news/2022/4/13/timeline-of-sri-lankas-worst-economic-crisis-since-independence

นอกจากนี้ ทางธนาคารกลางศรีลังกาได้กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงเป็นไปไม่ได้ที่จะชำระหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องเก็บเงินสดสำรองระหว่างประเทศไว้เพื่อใช้ซื้อสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ เชื้อเพลิง
โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า[4] ปริมาณเงินสดสำรองของศรีลังกาลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 2 ใน 3 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ประกอบกับการก่อหนี้ของรัฐบาล อีกทั้ง ทางสำนักข่าว AP ได้รายงานว่า[5] ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศที่จะต้องจ่ายคืนประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า และเฉพาะในปี 2565 ก็ถึงกำหนดจะต้องชำระคืนประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์


[4] Jayasinghe, U., & Rosario, J. D. (2022, April 12). Sri Lanka unilaterally suspends external debt payments, says it needs money for essentials. Reuters. https://www.reuters.com/world/asia-pacific/sri-lanka-temporarily-suspend-foreign-debt-payments-c-bank-governor-2022-04-12/

[5] Francis, K., & Mallawarachi, B. (2022, April 19). Sri Lankan president admits mistakes led to economic crisis. AP NEWS. https://apnews.com/article/business-biden-cabinet-sri-lanka-mahinda-rajapaksa-c85718a88d4ff03d2a72f969eb595afa

3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ทางด้านมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับศรีลังกา ในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 428.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (13,517 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 360.8 ล้านดอลาร์สหรัฐ (11,346 ล้านบาท) ด้านการนำเข้ามีมูลค่ารวม 68.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,171 ล้านบาท) ทั้งนี้ จากมูลค่าการส่งออกที่มูลค่ามากกว่านำเข้าอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกโดยสุทธิกับประเทศศรีลังกามาโดยตลอด

ด้านการส่งออก ในปี 2564 ประเทศศรีลังกาเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 47 โดยการส่งออกของไทยไปยังตลาดศรีลังกามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.13 ของมูลค่าการส่งออกรวม ทั้งนี้ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผ้าผืน เม็ดพลาสติก และอัญมณีและเครื่องประดับ

ตารางที่ 1 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของประเทศไทยไปสู่ประเทศศรีลังกา
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

ชื่อสินค้า

มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ

2562

2563

2564

  –  ยางพารา

20.85

16.29

43.28

  –  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

13.10

19.54

29.68

  –  ผ้าผืน 

41.24

26.68

28.24

  –  เม็ดพลาสติก

15.26

13.54

25.82

  –  อัญมณีและเครื่องประดับ

10.31

11.99

15.84

  –  ปลาแห้งและส่วนต่าง ๆ แห้ง ใส่เกลือหรือรมควัน

31.78

21.81

14.83

  –  ผลิตภัณฑ์ยาง

9.89

9.31

14.03

  –  น้ำตาลทราย

37.48

12.31

12.52

  –  เคมีภัณฑ์        

11.38

10.84

11.72

  –  เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์          

17.63

19.92

11.68

รวม 10 รายการ

208.91

162.24

207.65

อื่น ๆ

167.24

140.48

153.16

รวมทั้งสิ้น

376.15

302.72

360.81

ด้านการนำเข้า ในปี 2564 ศรีลังกาเป็นแหล่งนำเข้าของไทยอันดับที่ 84 โดยไทยนำเข้าจากศรีลังกาคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ทั้งนี้ มีสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณีฯ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และผ้าผืน

ตารางที่ 2 สินค้านำเข้า 10 อันดับแรกจากประเทศศรีลังกามาสู่ประเทศไทย
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

ชื่อสินค้า

มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ

2562

2563

2564

  –  เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 

33.88

24.15

37.00

  –  เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

4.96

3.99

4.94

  –  เสื้อผ้าสำเร็จรูป

7.87

5.65

4.91

  –  พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

7.40

5.74

3.83

  –  ผ้าผืน

3.08

1.07

2.70

  –  สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป

3.98

3.48

2.62

  –  ลวดและสายเคเบิล

3.48

3.81

2.47

  –  เคมีภัณฑ์

0.74

0.83

1.63

  –  กาแฟ ชา เครื่องเทศ

1.73

1.00

1.33

  –  ด้ายและเส้นใย 

1.25

0.78

1.15

รวม 10 รายการ

68.36

50.51

62.58

อื่น ๆ

10.63

22.21

5.47

รวมทั้งสิ้น

78.99

72.72

68.05

จากตารางที่ 1 และ 2 พบว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับประเทศศรีลังกาที่น้อยมาก และประเทศศรีลังกาถือว่าไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย จึงทำให้ผลกระทบทางด้านการส่งออก และการนำเข้าระหว่างประเทศไทยและประเทศศรีลังกามีจำกัดจากวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกานี้

ด้านการลงทุน ศรีลังกามียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในประเทศไทยต่ำมาก โดยไม่พบข้อมูล FDI ของศรีลังกาในประเทศไทย รวมถึง ประเทศไทยก็มีการลงทุนโดยตรงในประเทศศรีลังกาต่ำมากเช่นกัน โดยไม่พบข้อมูล FDI ของไทยในศรีลังกา (อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยรวมแล้วประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านการลงทุนกับประเทศศรีลังกาที่น้อย จึงทำให้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบด้านการลงทุนมากนักการที่ประเทศศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ

ด้านการท่องเที่ยว โดยในปี 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากศรีลังกาเพียงจำนวน 576 คน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมดประมาณ 4.27 แสนคน จึงทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการที่ประเทศศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ

โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยถือว่ามีความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจกับประเทศศรีลังกาไม่มากนัก ดังนั้น
การส่งผ่านผลกระทบทางเศรษฐกิจจากประเทศศรีลังกาที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจมาสู่ประเทศไทย จึงส่งผลกระทบมาได้น้อย

4. เปรียบเทียบเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศศรีลังกา

ตารางที่ 3 เปรียบเทียบเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศศรีลังกา

ร้อยละ

ไทย

ศรีลังกา

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth)

2562

2563

2564

2565f

2562

2563

2564

2565f

2.3

-6.1

1.6

3.5

2.3

-3.6

3.7

2.4

หนี้สาธารณะต่อจีดีพี

60.17 (ก.พ. 2565)

119 (ธ.ค. 2564)

ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี (ไตรมาส 4 ปี 2564)

-1.84

-4.6

ทุนสำรองระหว่างประเทศ (ธ.ค. 2564, ล้านดอลลาร์)

245,997

2,362

ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อการนำเข้า
(ไตรมาส 4 ปี 2564)

9.5

1.46

อัตราเงินเฟ้อ (เม.ย. 2565)

4.7

29.8

ความน่าเชื่อถือของประเทศ (Moody’s)

Baa1

C

ความน่าเชื่อถือของประเทศ (Fitch)

BBB+

C

ดุลการคลังต่อจีดีพี (ไตรมาส 3 ปี 2564)

0.1

-11.1

อัตราแลกเปลี่ยน (YTD ณ สิ้นเดือน มี.ค. 65,
ต่อดอลลาร์สหรัฐ)

+0.02

-46.39

หมายเหตุ: ค่าเงินสกุลต่างๆ เครื่องหมาย + คือแข็งค่าขึ้น และเครื่องหมาย – คืออ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
              สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็นประมาณการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังรอบ เม.ย. 65
              สำหรับประมาณการเศรษฐกิจศรีลังกาปี 2565 เป็นประมาณการจากธนาคารพัฒนาเอเชียรอบ เม.ย. 65

จากตารางที่ 3 จะสังเกตได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพที่ดีกว่าศรีลังกา ทั้งประเด็นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ในระดับที่สูง ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ สัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง รวมทั้งระดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่อยู่ในระดับดีกว่ามาก สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจด้านต่างประเทศและระบบการเงินของไทยที่ยังมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ และมีโอกาสน้อยที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดังเช่นประเทศศรีลังกาขึ้น

5. บทสรุป

ปัญหาเศรษฐกิจศรีลังกาสืบเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 26 ปี รวมถึงการที่รัฐบาลศรีลังกาได้มีการกู้เงินจากต่างประเทศมาเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ส่งผลให้ศรีลังกามีความเปราะบางต่อภาคเงินตราต่างประเทศ อีกทั้ง เมื่อประสบกับวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ศรีลังกาขาดรายได้จากภาคการท่องเที่ยว จึงยิ่งทำให้ปัญหาที่ศรีลังกาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อมาใช้ชำระหนี้ต่างประเทศหนักขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี สำหรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาสู่วิกฤตเศรษฐกิจไทย คาดว่ามีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับศรีลังกาที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ในแง่ของวิกฤตเศรษฐกิจที่ศรีลังกากับเผชิญอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยถือว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดังเช่นประเทศศรีลังกาขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพที่ดีกว่าศรีลังกา ทั้งประเด็นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับที่สูง ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ สัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ความน่าเชื่อถือของประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจด้านต่างประเทศและระบบการเงินของไทยที่ยังมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ยกระดับภาคการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกให้ได้ ตลอดจนถึงการส่งเสริม R&D หรือการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการยกระดับรายได้ของประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่มีระดับรายได้สูงได้อีกด้วย เพื่อให้ถ้าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ในอนาคต ประเทศไทยจะสามารถรับมือกับวิกฤตดังกล่าวได้โดยไม่รับผลกระทบมากนัก

ศิรพล ฤทธิ์ประศาสน์

นายศิรพล ฤทธิ์ประศาสน์
เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน

นางสาวกันตา ศุขสาตร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ธพุทธิสมบัติ ปานกุล

นายพุทธิสมบัติ ปานกุล
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน