ข้อคิดในการดำเนินนโยบาย Universal Basic Income (UBI): ถอดบทเรียนจากงานศึกษาของธนาคารโลก

ข้อคิดในการดำเนินนโยบาย Universal Basic Income (UBI): ถอดบทเรียนจากงานศึกษาของธนาคารโลก

บทความโดย
ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร

There is a pretty good chance we end up with a Universal Basic Income, or something like that, due to automation.

Elon Musk ให้ความเห็นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2559

Universal [Basic] Income will be necessary over time if AI takes over most human jobs.

Elon Musk ให้ความเห็นเมื่อ 15 มิถุนายน 2561

We should explore ideas like Universal Basic Income to make sure everyone has a cushion to try new ideas.

Mark Zuckerberg ให้ความเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2560

We still need people to work to produce the goods and services of society. We are not rich enough to give up work incentives. People can do the math on UBI and figure out what the costs would be. I think we still need to focus [on] benefits on those in need — those who can’t work or who need retraining. Admittedly this means [identifying] those people rather than just writing checks to everyone and government does this imperfectly.

คำกล่าวของ Bill Gates อ้างถึงใน De Lea (2019)

การให้เงินช่วยเหลือขั้นพื้นฐานอย่างถ้วนหน้า (Universal Basic Income: UBI) เป็นหนึ่งในรูปแบบการช่วยเหลือทางสังคมซึ่งได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UBI มักถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาการว่างงานที่กำลังเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technological Unemployment) นอกจากนี้ UBI ยังถูกนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของหลายประเทศ ดังเช่น Andrew Yang ผู้เคยเสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2563 ซึ่งเสนอว่าจะให้เงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ชาวอเมริกันทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยมุ่งหวังให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Trickle-up Economy” และกรณีการเลือกตั้งของอินเดียเมื่อปี 2562 ที่บางพรรคการเมืองเสนอนโยบาย UBI ในการหาเสียงเลือกตั้ง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุใดนโยบายที่ดูผิวเผินว่าเป็นเพียงแค่ “การแจกเงินให้ทุกคน” กลับมีแนวโน้มจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นและสอดรับกับความกังวลของผู้คนเกี่ยวกับธรรมชาติของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป (Changing Nature of Work) นั่นคือ แม้ว่าการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automation) รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก็ตาม แต่อาจทำให้รายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมกลับแย่ลง นอกจากนี้ UBI ยังถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม (Cottam, 2019) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในสังคม (Stern, 2016) อีกด้วย อย่างไรก็ตามสาเหตุของความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นผลมาจากปัจจัยมากมายและมีความสลับซับซ้อน เช่น ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง โอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุข งานที่มีค่าจ้างและมีผลิตภาพต่ำ ระบบตลาดที่ทำงานอย่างบกพร่อง การคอร์รัปชัน ภาษีที่มีโครงสร้างถดถอย การเลือกปฏิบัติในสังคม เป็นต้น (Piketty, 2016) ดังนั้น ความคาดหวังต่อ UBI ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและอาจไม่บรรลุผลดังที่คาดหวังไว้ก็เป็นได้

ด้วยเหตุที่งานศึกษาที่รวบรวมองค์ความรู้และบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ UBI ยังมีไม่มากนัก บทความนี้จึงมุ่งสรุปผลการศึกษาของธนาคารโลกซึ่งจัดทำโดย Gentilini และคณะ (2020a) อันครอบคลุมถึงแนวคิดและองค์ความรู้เกี่ยวกับ UBI รวมทั้งได้เสนอแนะแนวทางในการดำเนินนโยบาย UBI ซึ่งจะเป็นประโยชน์ยิ่งหากผู้คนในประเทศไทยมีการเสนอแนวคิดนี้และถกเถียงเกี่ยวกับ UBI อย่างแพร่หลายขึ้นในอนาคต บทความนี้ดำเนินเรื่องโดยใช้การตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของ UBI โดยแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ส่วนแรกเปรียบเทียบลักษณะของ UBI กับการช่วยเหลือทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ ส่วนที่สองชี้ถึงจุดเด่นและจุดด้อยที่สำคัญของ UBI ส่วนที่สามเป็นการสำรวจประเทศหรือพื้นที่ที่มีการนำ UBI มาประยุกต์ใช้ ส่วนที่สี่พิจารณาผลของ UBI ต่อการทำงาน ส่วนที่ห้าอธิบายถึงประสิทธิผลในการแก้ปัญหาความยากจนของ UBI ส่วนที่หกชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของ UBI ส่วนที่เจ็ดเป็นการเสนอแนะแนวทางการนำ UBI มาใช้ ส่วนสุดท้ายเป็นข้อสรุป

1. UBI มีลักษณะอย่างไรเมื่อเทียบกับการช่วยเหลือทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ

หากพิจารณารูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมโดยจำแนกตามเกณฑ์ 3 ประการ คือ การระบุกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) การกำหนดเงื่อนไขในการรับประโยชน์ (Conditionality) และวิธีการให้ความช่วยเหลือ (Transfer Modality) จะพบว่า UBI มีลักษณะเป็น “การให้เงินช่วยเหลือโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างถ้วนหน้า” ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีการให้เงินสดมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ UBI สามารถเปรียบเทียบกับรูปแบบการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ดังรูป

รูปแสดงรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคม
ที่มา: Gentilini และคณะ (2020b: 3)

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบางประเด็นที่มักเกิดความสับสน คือ ด้วยเหตุที่การประกันรายได้ขั้นต่ำ (Guaranteed Minimum Income: GMI) กับ UBI อาจดูความคล้ายคลึงกัน แต่แท้จริงแล้ว ทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของการระบุกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) และโครงสร้างของสิทธิประโยชน์ กล่าวคือ GMI จะให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (Income Threshold) เพื่อยกให้ครัวเรือนมีรายได้ขั้นต่ำที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ GMI จึงครอบคลุมจำกัดเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดในสังคม และมักจะทยอยลดความช่วยเหลือลง (Phase out) เมื่อครัวเรือนนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งนี้จึงต่างจาก UBI ที่เป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมทุกกลุ่มและให้ในอัตราคงที่ (Flat Rate)

2. อะไรคือจุดเด่นและจุดด้อยที่สำคัญของ UBI

UBI มีจุดเด่นหลายประการ ดังนี้

  1. เป็นการให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้าจึงไม่ต้องประสบกับปัญหาของผู้ที่เข้ามารับสิทธิโดยไม่สมควร (Inclusion Error) และผู้ที่ตกหล่น (Exclusion Error) เนื่องจากทุกคนจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ[1]
  2. เนื่องจากไม่จำเป็นต้องตรวจสอบสิทธิ จึงไม่มีต้นทุนของภาครัฐในการตรวจสอบสิทธิ และไม่มีต้นทุนของประชาชนในการสมัครเพื่อขอรับสิทธิ อีกทั้งยังช่วยลดความรู้สึกเป็นตราบาป (Stigma) ของผู้รับสิทธิอีกด้วย
  3. ส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจและจิตใจของแต่ละบุคคล เนื่องจากผู้ได้รับสิทธิจะมีรายได้ที่สม่ำเสมอ อีกทั้งยังทราบล่วงหน้า จึงช่วยลดความเครียดและเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่บุคคลที่ได้รับสิทธิ
  4. ส่งผลดีต่อคะแนนนิยมทางการเมือง เนื่องจากผู้ได้รับประโยชน์ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและครอบคลุมถึงผู้คนทุกระดับชั้นรายได้

จุดด้อยที่สำคัญของ UBI ได้แก่

  1. ภาระทางการคลังที่สูงมาก
  2. อาจซ้ำเติมปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการลดสิทธิประโยชน์ตามโครงการเดิมลง แล้วใช้ UBI เพื่อกระจายให้กับคนทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางที่เลือกใช้ในการดำเนินนโยบาย UBI เช่น ลดความช่วยเหลือของโครงการเดิม ลดการให้เงินอุดหนุนที่มีลักษณะถดถอย (เช่น การอุดหนุนด้านพลังงาน) และการเพิ่มภาษี เป็นต้น
  3. โครงสร้างอัตราการให้ความช่วยเหลือแบบคงที่ (Flat-rate Structure) ของ UBI มีแนวโน้มจะลดทอนประสิทธิผลในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

3. มีประเทศหรือพื้นที่ใดบ้างที่นำ UBI มาประยุกต์ใช้

ในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดนำ UBI มาใช้ในระดับประเทศเป็นการถาวร มีเพียงการดำเนินโครงการนำร่องในบางเมือง หรือในพื้นที่ชนบท (เช่น เคนย่า) หรืออาจเป็นการดำเนินโครงการในระดับประเทศเพียงแค่ชั่วคราว (เช่น มองโกเลีย และอิหร่าน) ดังตารางต่อไปนี้

ตารางสรุปรูปแบบของ UBI ที่ดำเนินการในประเทศและพื้นที่ต่างๆ
ที่มา: Gentilini และคณะ (2020c: 22-23)
ตารางสรุปรูปแบบของ UBI ที่ดำเนินการในประเทศและพื้นที่ต่างๆ (ต่อ)
ที่มา: Gentilini และคณะ (2020c: 22-23)

4. UBI ส่งผลต่อการทำงานอย่างไร

การศึกษาของธนาคารโลกพบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว UBI ไม่ได้ส่งผลทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลงหรือบางกรณีอาจลดลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุที่ลดลงอาจเกิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมโดยให้ความสำคัญกับครอบครัวหรือกิจกรรมที่ตนเองให้คุณค่ามากขึ้น อันจะส่งผลให้สวัสดิการของตนเองและสังคมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีผลการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับการโอนเงินช่วยเหลือและการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งมักพบว่าการโอนเงินช่วยเหลือไม่ได้ส่งผลต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นหรืออาจส่งผลน้อยมาก ส่วนในแง่ของความพยายามในการทำงานก็มีข้อค้นพบที่หลากหลาย ซึ่งกรณีที่ UBI ส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานลดลงมักเกิดกับกรณีของผู้ที่ทำงานเป็นงานอดิเรก สตรีที่ต้องดูแลครอบครัว และผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี UBI สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการทำงานและช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถให้ UBI ได้ในอัตราที่สูงมากพอและมีระบบกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ดี

5. ประสิทธิผลในการแก้ปัญหาความยากจนของ UBI เป็นอย่างไร

การศึกษาของธนาคารโลกได้ทำการจำลองสถานการณ์ (Simulation) การแก้ไขปัญหาความยากจนของ UBI เปรียบเทียบกับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันของ 10 ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง[2] โดยใช้ข้อมูลการสำรวจครัวเรือน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ในกรณีของการออกแบบภายใต้งบประมาณที่เท่าเดิม (Budget-neutral Scenario) นั้น รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในปัจจุบันของประเทศต่างๆ (ยกเว้นรัสเซีย) จะมีประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ดีกว่า UBI ประมาณร้อยละ 60 ซึ่งมีสาเหตุหลักเนื่องจากรูปแบบการให้ความช่วยเหลือในปัจจุบันสามารถเข้าถึงผู้ที่มีรายน้อยที่สุดในสังคมอยู่แล้ว แต่หากนำ UBI มาใช้และยังคง ใช้งบประมาณรวมเท่าเดิม จะมีผลเป็นการลดสิทธิประโยชน์ของผู้ที่มีรายได้น้อยแล้วไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้มีรายได้สูง (จากเดิมที่ผู้มีรายได้สูงไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือมาก่อน) ในทางกลับกันหากนำ UBI มาใช้แทนรูปแบบการช่วยเหลือที่มีโครงสร้างถดถอย (Regressive-to-flat Shift) เช่น ลดการอุดหนุนด้านพลังงานของอินเดีย หรือขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (นั่นคือ จะทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มมีความถดถอยเพิ่มขึ้น) ของประเทศในแอฟริกาใต้ ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนมีประสิทธิผลสูงขึ้นได้


นอกจากนี้ การใช้ UBI ในการแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ผลจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลซึ่งอาจเป็นไปได้เฉพาะกรณีของประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้สูงเท่านั้น

  1. ในกรณีของประเทศที่มีรายได้น้อย หากรัฐบาลจะให้ UBI เป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเฉลี่ยของส่วนต่างระหว่างรายได้ของคนจนกับเส้นความยากจน[3] จะต้องใช้เงินสูงถึงร้อยละ 7 ของ GDP ในกรณีของประเทศเนปาล และร้อยละ 20 ของ GDP ในกรณีของประเทศโมแซมบิก หรือหากรัฐบาลจะให้ UBI เพื่อทำให้คนจนหมดไปทั้งประเทศ ก็จะต้องใช้เงินระหว่างร้อยละ 36 ถึง 48 ของ GDP ในกรณีของประเทศไฮติ โมแซมบิก และเนปาล
  2. ในกรณีของประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้สูง หากรัฐบาลจะให้ UBI เป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเฉลี่ยของส่วนต่างระหว่างรายได้ของคนจนกับเส้นความยากจน จะใช้เงินไม่เกินร้อยละ 8 ของ GDP หรือหากรัฐบาลจะให้ UBI เพื่อทำให้คนจนหมดไปทั้งประเทศ ก็จะใช้เงินระหว่างร้อยละ 8 ถึง 22 ของ GDP

6. อะไรคือความท้าทายที่สำคัญของ UBI

ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือ ภาระทางการคลังอันหนักหน่วงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องลดรายจ่ายในปัจจุบันลงหรือจัดหารายได้เพิ่มขึ้น โดยผลการศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่า ถ้าจะนำ UBI มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ส่งผลต่อการลดความยากจนอย่างมีนัยสำคัญย่อมจะทำให้ภาระภาษีของผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นมากจนเป็นไปได้ยากในทางการเมือง เช่น

  1. หากใช้วิธีเพิ่มภาษีทางตรง การเพิ่มภาษีทางตรงแก่ผู้มีรายได้สูงร้อยละ 10 บนสุด (Top Decile) จะทำให้ภาระภาษีของผู้มีรายได้สูงดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 ของภาระภาษีทั้งหมด เป็นร้อยละ 68.4 ในกรณีของอินเดีย เพิ่มจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 24.5 ในกรณีของบราซิล เพิ่มจากร้อยละ 19.9 เป็นร้อยละ 40.3 ในกรณีของแอฟริกาใต้ และเพิ่มจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 38.4 ในกรณีของชิลี
  2. หากใช้วิธีเพิ่มภาษีทางอ้อม แม้ว่าจะทำให้ภาระของผู้มีรายได้สูงลดลง แต่ก็จะทำให้ภาระภาษีของคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมาก

7. มีข้อเสนอแนะแนวทางการนำ UBI มาใช้อย่างไร

การออกแบบ UBI เกี่ยวข้องกับหลายมิติทั้งประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ และค่านิยมทางสังคม เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และเอธิโอเปียมักมีเงื่อนไขที่ต้องทำงานเพื่อแลกกับสิทธิและความรับผิดชอบ (Hoynes & Rothstein, 2019) หรือบางประเทศที่ให้ความสำคัญกับเวลาของครอบครัวและการดูแลชุมชนก็อาจไม่มุ่งเน้นที่การทำงานตอบแทนมากนัก ในการทบทวนวรรณกรรมและศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การศึกษาของธนาคารโลกได้ให้แนวทางการนำ UBI มาประยุกต์ใช้ ดังนี้

  1. ในกรณีที่ระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในปัจจุบันสามารถให้สิทธิประโยชน์ที่สูงเพียงพอ ครอบคลุมผู้คนจำนวนมาก และมีโครงสร้างภาระและสิทธิประโยชน์ที่ก้าวหน้า (Progressive) อยู่แล้ว รัฐบาลก็ควรแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของระบบที่เป็นอยู่ หรือหากจะนำ UBI มาใช้ ก็ไม่ควรใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดความยากจน แต่ควรเป็นไปเพื่อลดผลกระทบจากการว่างงานที่อาจเกิดขึ้นจากการนำหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคน
  2. ในกรณีที่ระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในปัจจุบันมีความครอบคลุมมาก แต่มีโครงสร้างภาระและผลประโยชน์ที่ถดถอย (Regressive) รัฐบาลอาจพิจารณานำ UBI มาใช้แทนรูปแบบการช่วยเหลือแบบเดิมได้
  3. ในกรณีที่ระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในปัจจุบันมีขนาดและความครอบคลุมจำกัด แต่มีโครงสร้างภาระและสิทธิประโยชน์ที่ก้าวหน้า การนำ UBI มาใช้จะช่วยเพิ่มความครอบคลุมได้ แต่จะส่งผลให้อัตราการช่วยเหลือเป็นแบบคงที่ (Flat) และยิ่งหากมีการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขงบประมาณที่เท่าเดิม (Budget Neutral) แล้ว อาจส่งผลเป็นการให้เงินช่วยเหลือจำนวนน้อยลงแก่คนจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่ยากจนที่สุดกลับจะได้รับความช่วยเหลือน้อยลง
  4. ในกรณีที่ระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในปัจจุบันมีปัญหามาก และมีโครงสร้างภาระและสิทธิประโยชน์ที่ถดถอย รัฐบาลอาจพิจารณานำ UBI มาใช้เพื่อเพิ่มความครอบคลุม แล้วจัดหารายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีที่มีโครงสร้างก้าวหน้าหรือภาษีลาภลอย หรืออาจลดการอุดหนุนด้านพลังงาน เพื่อทำให้โครงสร้างภาระและสิทธิประโยชน์มีความก้าวหน้ามากขึ้น

8. สรุป

UBI เป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือทางสังคม แต่ความคาดหวังต่อ UBI ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจไม่บรรลุผลก็เป็นได้ เพราะรากของปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นผลจากปัจจัยจำนวนมากและมีความซับซ้อน ทั้งนี้ UBI มีจุดเด่นที่สำคัญคือ ความทั่วถึง (Inclusiveness) เพราะไม่มีการจำแนกผู้คนออกจากกัน โดยผู้คนจะได้รับความช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ แต่ก็ย่อมนำมาซึ่งภาระทางการคลังที่สูงมากจึงยังไม่มีประเทศใดนำ UBI มาใช้ในระดับประเทศเป็นการถาวร

ผลการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง UBI กับแรงจูงใจการทำงานมีความหลากหลาย โดยส่วนใหญ่ไม่พบความสัมพันธ์หรือพบความสัมพันธ์น้อยมาก นอกจากนี้ ผลของ UBI ต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนยังขึ้นอยู่กับวิธีการที่เลือกใช้ ว่าจะยกเลิกโครงการใดและจะจัดหารายได้เพื่อรองรับ UBI ด้วยวิธีใด และหากจะใช้ UBI ในการแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ผลจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งย่อมทำให้ภาระภาษีสูงขึ้นมากจนเป็นไปได้ยากในทางการเมือง

ในอนาคตหากมีข้อเรียกร้องทางสังคมให้มีการนำ UBI อย่างแพร่หลายเพิ่มขึ้น การพิจารณาว่าจะนำ UBI มาใช้หรือไม่อย่างไร จำเป็นต้องพิจารณาภายใต้เงื่อนไขและมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน เช่น ความครอบคลุม (Coverage) โครงสร้างที่ก้าวหน้า (Progressivity) ความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ ภาระทางการคลัง แหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนโครงการ และความพร้อมของกลไกภาครัฐที่จะดำเนินการ เป็นต้น จึงจะทำให้การดำเนินนโยบายสามารถบรรลุเป้าหมายและสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมในที่สุด

[1] แม้กระนั้นก็ตาม UBI อาจมีการกำหนดเกณฑ์บางอย่าง เช่น เกณฑ์สัญชาติหรือเกณฑ์อายุของผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ (เช่น ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) เป็นต้น

[2] ได้แก่ บราซิล ชิลี ไฮติ อินเดีย อินโดนีเซีย คาซัคสถาน โมแซมบิก เนปาล รัสเซีย และแอฟริกาใต้

[3] นั่นคือ average distance of the poor from the poverty line

บรรณานุกรม

Cottam, H. (2019). Radical Help: How We Can Remake the Relationships between Us and Revolutionise the Welfare State. London: Virago.

De Lea, B. (2019). Bill Gates on UBI: Government Shouldn’t just Write Checks to Everyone. Fox Business. Retrieved from https://www.foxbusiness.com/business-leaders/bill-gates-on-ubi-government-shouldnt-just-write-checks-to-everyone

Gentilini, U., Grosh, M., Rigolini, J., & Yemtsov, R. (2020a). Exploring Universal Basic Income: A Guide to Navigating Concepts, Evidence, and Practices. Washington, DC: World Bank.

Gentilini, U., Grosh, M., Rigolini, J., & Yemtsov, R. (2020b). Overview: Exploring Universal Basic Income. In U. Gentilini, M. Grosh, J. Rigolini, & R. Yemtsov (Eds.), Exploring Universal Basic Income: A Guide to Navigating Concepts, Evidence, and Practices. Washington, DC: World Bank.

Gentilini, U., Grosh, M., & Yemtsov, R. (2020c). The Idea of Universal Basic Income. In U. Gentilini, M. Grosh, J. Rigolini, & R. Yemtsov (Eds.), Exploring Universal Basic Income: A Guide to Navigating Concepts, Evidence, and Practices. Washington, DC: World Bank.

Hoynes, H. W., & Rothstein, J. (2019). Universal Basic Income in the US and Advanced Countries. Retrieved from Cambridge, MA: https://gspp.berkeley.edu/assets/uploads/research/pdf/Hoynes-Rothstein-UBI-081518.pdf

Piketty, T. (2016). What Unequal Societies Need Is Not a ‘Basic Income’ But a Fair Wage. The Wire. Retrieved from https://thewire.in/uncategorised/basic-income-fair-wage-piketty

Stern, A. (2016). Raising the Floor: How a Universal Basic Income Can Renew Our Economy and Rebuild the American Dream. New York: Public Affairs.

ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร
Senior Advisor to Executive Director,
The World Bank
ผู้เขียน