การระดมทุนสาธารณะเพื่อพัฒนาบ้านเกิด : กรณีศึกษา Hometown Tax ประเทศญี่ปุ่น

การระดมทุนสาธารณะเพื่อพัฒนาบ้านเกิด : กรณีศึกษา Hometown Tax ประเทศญี่ปุ่น

บทความโดย
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
นายประกอบ สุริเยนทรากร
นายศักดิสิทธิ์ สว่างศุข
นางสาวกุสุมา จารุมณี

บทความนี้เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ไม่อาจสะท้อนความคิดเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

1.บทนำ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมสำหรับธุรกิจที่ขาดแคลนเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises) หรือวิสาหกิจรายใหม่ (Start-up) ที่ระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมของธุรกิจ อย่างไรก็ดี การระดมทุนสาธารณะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ แต่แนวคิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยในระยะแรกเป็นการระดมทุนที่ของกิจการสาธารณะที่ไม่หวังผลตอบแทน หรือ Civic Crowdfunding ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ การระดมทุนสร้าง “เทพีเสรีภาพ” ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา[1] โดยหลังจากที่ฝรั่งเศส ส่งมอบเทพีเสรีภาพให้กับสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการชื่นชมที่ชาวอเมริกันมีความกล้าหาญในการประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร ปัญหาที่ตามมาคือ American Committee ไม่สามารถที่จะหาสถานที่ตั้งและจัดสร้างฐานเทพีเสรีภาพได้ จึงทำให้ Joseph Pulitzer นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน จึงได้จัดทำโครงการระดมทุนจากพลเมืองชาวอเมริกัน ทั้งนักเรียน นักธุรกิจ และนักการเมือง กว่า 1 แสนคน เป็นเวลา 6 เดือน และสามารถระดมทุนได้แก่ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สามารถสร้างเทพีเสรีภาพได้สำเร็จ ส่วนในกรณีของประเทศไทย คือ โครงการคนละก้าวของตูน บอดี้แสลม เพื่อระดมทุนช่วยเหลือในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล เป็นต้น


[1] Anonymous. (2013, April). The Statue of Liberty and America’s crowdfunding pioneer. BBC NEWS, https://www.bbc.com/news/magazine-21932675

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่ารูปแบบการระดมทุนสาธารณะในอดีตส่วนใหญ่นิยมใช้การบริจาค (Donation-base) เป็นสำคัญ แต่ด้วยการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประกอบกับอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การระดมทุนสาธารณะจึงได้ก้าวเข้าสู่รูปแบบแพลตฟอร์ม (Platform) โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้การระดมทุนสาธารณะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากการบริจาค (Donation-based) มาสู่การเป็นเจ้าของกิจการ (Equity-based) การแสวงหากำไรจากกู้เงิน (Loan-based) และการให้ผลตอบแทนเป็นสินค้าที่จะผลิต (Reward-based) โดยในปัจจุบันบริษัทผู้พัฒนาการระดมทุนสาธารณะจะสร้างแพลตฟอร์ม ผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นที่เป็นตัวกลาง (Funding portal) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกการลงทุนได้ในจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการ โดยมีเงื่อนไขการลงทุนต่างระบุไว้อย่างชัดเจน โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ทุกคนทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกันทั้งฝั่งผู้ต้องการระดมทุนและผู้ที่ต้องการลงทุน

ในปัจจุบัน หน่วยงานท้องถิ่นในต่างประเทศได้ดำเนินโครงการการระดมทุนสาธารณะ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการบริการสาธารณะอีกด้วย ตัวอย่างเช่น โครงการ The Hempline ของเมือง Memphis ในรัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการระดมทุนสาธารณะเพื่อสร้างช่องทางเดินรถจักรยานในเมือง เพื่อเชื่อมต่อสถานที่สำคัญ ๆ ทั้งธุรกิจ ท่องเที่ยว ราชการ และย่านที่พักอาศัยเข้าด้วยกัน[2] และ โครงการ Community Park ของเมือง Liverpool ของประเทศอังกฤษโดยกลุ่ม Friends of Flyover ได้ทำโครงการ (Campaign) ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม Spacehive เพื่อสร้างสะพานรกร้างที่เทศบาลได้เตรียมงบประมาณในการทุบทิ้ง เป็นสวนสาธารณะใหม่ของเมือง (Elevated Park)[3] เป็นต้น


[2] Barnes, E. (2014, Oct). Case Study: The Hampline, https://blog.ioby.org/case-study-the-hampline/

[3] Anonymous. (2014, March).  Friends of The Flyover’ Project Aims to Turn Flyover into Urban Park, https://liverpoolnoise.com/friends-of-the-flyover-project-aims-to-turn-flyover-into-urban-park/

จากตัวอย่างข้างต้น การระดมทุนสาธารณะเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในบางประเทศ ประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับคือสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ประชาชนผู้ระดมทุนนั้นอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินเป็นการตอบแทน ซึ่งหากโครงการไม่เป็นที่จูงใจหรือสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงเพียงพอก็ไม่อาจระดมทุนได้ครบตามเป้าหมาย ดังนั้น รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ จึงพยายามออกแบบนโยบายการระดมทุนสาธารณะที่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสำนึกรักบ้านเกิดและได้สิทธิประโยชน์ไปในคราวเดียวกัน โดยบทความนี้คณะผู้เขียนจะของยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก

2. Hometown Tax กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญกับความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เติบโตในพื้นที่ชนบทได้มีการย้ายถิ่นไปอาศัยในเมืองหลวงมากขึ้น เพื่อโอกาสทางการศึกษาและการทำงานที่ดีกว่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยการกระจุกตัวของประชาชนในเขตเมืองใหญ่ทำให้เกิดปัญหาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ชุมชนแออัด และการจราจรติดขัด ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลเงินบำนาญและสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุจำนวนมาก ปัญหาเหล่านี้นับเป็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น

โดยทั่วไป โครงสร้างภาษีของประเทศญี่ปุ่นแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ภาษีระดับประเทศ คือ ภาษีที่ต้องชำระเข้าส่วนกลางหรือระดับประเทศ ประกอบด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม และ 2) ภาษีท้องถิ่น คือ ภาษีที่ประชาชนในพื้นที่จ่ายให้ท้องถิ่นที่ตนอาศัย เช่น ภาษีเพื่อการอยู่อาศัย ภาษีการค้า ภาษีอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้แบ่งได้ออกเป็น 2 ระดับ คือ ภาษีของจังหวัด (Prefecture) และ ภาษีของเทศบาล (Municipality)

ทั้งนี้ เมื่อประชาชนที่เติบโตและใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะที่ทางท้องถิ่นจัดหาให้ แต่กลับย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในเมืองหลวงมากขึ้น ท้องถิ่นจึงได้รับผลกระทบ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่กลับไปเสียภาษีให้กับพื้นที่เขตเมือง ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้น้อยลงและไม่สามารถจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันเงินอุดหนุนจากงบประมาณส่วนกลางก็ไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนายชินโซะ อาเบะนายกรัฐมนตรี จึงได้ริเริ่มระบบการชำระภาษีเพื่อพัฒนาบ้านเกิด (Hometown Tax) หรือ Furusato Nozei และได้ดำเนินการในปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสาธารณะจากเงินบริจาคของประชาชนให้กับเทศบาลท้องถิ่นสำหรับใช้ประโยชน์ในกิจการสาธารณะของพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่บ้านเกิดของตนเองแต่สามารถเลือกเทศบาลที่ต้องการสนับสนุนได้ทุกแห่ง และเงินบริจาคนั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ขณะเดียวกันก็จะได้รับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นของขวัญตอบแทนคำขอบคุณ

Hometown Tax นอกจากจะเปิดโอกาสให้กับคนย้ายถิ่นมีส่วนร่วมและจิตสำนึกในการฟื้นฟูและพัฒนาบ้านเกิดแล้ว ยังช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ระหว่างเขตเมืองกับขนบทอีกด้วย โดยในช่วงเริ่มต้นของโครงการระหว่างปี 2551-2556 มียอดบริจาคสะสมจำนวนรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท[4] จนกระทั้งในปี 2558 รัฐบาลได้มีการยกเลิกแบบฟอร์มการบริจาค และสร้างระบบการยื่นขอคืนภาษีแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One-Stop Service)[5] ซึ่งช่วยคำนวณภาษีและเพดานเงินบริจาคที่ลดหย่อนได้ มีระบบติดตามของสัมมนาคุณ และอำนวยความสะดวกในการคืนภาษี[6] รวมทั้งเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษีจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ทำให้มียอดบริจาคเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ท้องถิ่นแข่งขันดึงดูดเงินบริจาคด้วยของสมมนาคุณราคาสูง ซึ่งอาจไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น อาทิ ผู้ที่บริจาคเงินมากกว่า 8 ล้านเยน จะได้รับเปียโนแกรนด์เป็นของที่ระลึก[7] หรือกรณีที่ผู้บริจาคนำคูปองที่ได้รับเป็นของตอบแทนไปประมูลต่อบนเว็บไซต์ออนไลน์ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ในปี 2561 รัฐบาลได้กำหนดมูลค่าของสมนาคุณไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินบริจาค ทำให้เงินบริจาคในปี 2562 ลดลงเล็กน้อย


[4] Anonymous. (2021, Sep).  Japanese Hometown Tax System Sees Record Breaking Donations in 2020, https://www.nippon.com/en/japan-data/h01108/.

[5]ระบบการยื่นขอคืนภาษีแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One-Stop Service) https://www.furusato-tax.jp/ ของ TRUST BANK, Inc. 

[6] พิทูร ชมสุข, เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร และ จิรวัฒน์ ภู่งาม. (2564). ลดความเหลื่อมล้ำบ้านเกิดด้วย Hometown Tax. Regional Letter แบ่งปันความรู้สู่ภูมิภาค ฉบับที่ 9/2564.

[7] Brasor, P.,& Tsubuku, M. (2018, Dec). Abuse is the Norm for Japan’s Hometown Tax Donation System, https://www.japantimes.co.jp/news/2018/12/07/business/abuse-norm-japans-hometown-tax-donation-system/.

ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารได้รายงานว่าปีงบประมาณ 2563 ระบบHometown Tax สามารถจัดเก็บภาษีได้สูงถึง 6.72 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจำนวน 2.85 แสนล้านเยน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.0 ต่อปี โดยมีจำนวนครั้งการบริจาคสูงที่สุดถึง 34.89 ล้านครั้ง รายละเอียดดังรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าแม้ประเทศญี่ปุ่นจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่รายได้จากภาษีและจำนวนครั้งการบริจาคกลับไม่ได้ลดลง โดยเมืองมิยาโกโนะโจ จังหวัดมิยาซากิ ซึ่งให้ของสมมนาคุณเป็นเนื้อหมูและเนื้อวัว จัดเก็บภาษีได้สูงสุดจำนวน 1.35 หมื่นล้านเยน ลำดับถัดไปคือเมือง 3 แห่งในจังหวัดฮอกไกโด ได้แก่ มงเบตสึ มุโระ และชิรานุกะ ที่จัดเก็บภาษีได้จำนวน 1.34 1.25 และ 0.97 หมี่นล้านเยน ตามลำดับ โดยทั้ง 3 เมืองส่วนใหญ่มอบอาหารทะเลเป็นการตอบแทนแก่ผู้บริจาค อย่างไรก็ดี เมื่อหักเงินลดหย่อนจากภาษีที่ได้รับจากประชาชนภายใต้ระบบ Hometown Tax ในปี 2563 ทำให้คาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีในปี 2564 จำนวน 4.31 แสนล้านเยน และมีผู้ได้รับการลดหย่อนประมาณ 4.3 ล้านคน รายละเอียดดังรูปที่ 2โดยเมืองโยโกฮาม่า จังหวัดคานางาวะเป็นเมืองที่มีการหักลดหย่อนภาษีมากที่สุดจำนวน 1.77 หมื่นล้านเยน สะท้อนว่าผู้คนที่ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดของตนเองมาประกอบอาชีพในเมืองดังกล่าวมีอยู่เป็นจำนวนมาก

รูปที่ 1 จำนวนภาษีภายใต้ระบบ Hometown Tax.
ที่มา: https://www.nippon.com/en/japan-data/h01108/
โดยนำข้อมูลมาจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร
รูปที่ 2 จำนวนการลดหย่อยภายใต้ระบบ Hometown Tax
ที่มา: https://www.nippon.com/en/japan-data/h01108/
โดยนำข้อมูลมาจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร

ระบบ Hometown Tax ได้นำมาใช้ในการระดมทุนสาธารณะที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่และวัตถุประสงค์ตัวอย่างเช่น เมืองซากาตะ จังหวัดยามากาตะ ประสบปัญหาที่สำคัญคือ ชาวประมงปลาหมึกพื้นที่เผชิญกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธของประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งบุกรุกน่านน้ำของประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวทำให้เดือนสิงหาคม 2560 เทศบาลเมืองซากาตะได้ดำเนินการระดมทุนสาธารณะภายใต้ระบบ Hometown Taxเพื่อช่วยเหลือชาวประมงพื้นที่ โดยมีเป้าหมายขอรับเงินบริจาคผ่านทางระบบออนไลน์ จำนวน 5.35 ล้านเยนแต่ภายหลังการระดมทุนสิ้นสุด ณ เดือนธันวาคม 2560 ก็มียอดบริจาคมากกว่า 10 ล้านเยน ทั้งนี้เงินระดมทุนดังกล่าวได้นำไปใช้ในการสร้างโรงอาบน้ำแก่ชาวประมงใกล้กับท่าเรือของเมืองซากาตะและชำระค่ารถเช่าของชาวประมงที่ใช้เดินทางจากที่พักอาศัยไปยังท่าเรือ[8]


[8] Kezuka, H. (2017). CROWDFUNDING IN JAPAN: Expanding as the Popular Measure to Success and Support.[Degree Programme in Business Management, CENTRIA UNIVERSITY OF APPLIED SCIENCES]. https://www.theseus.fi/handle/10024/139981

ในขณะที่เมืองฮิโรโนะ จังหวัดฟูกูชิม ได้เคยเผชิญวิกฤตขาดแคลนแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยกว่า 100 คน หลังจากที่แพทย์ประจำเพียงคนเดียวของโรงพยาบาลทานาโนะ ได้เสียชีวิตลงในเดือนธันวาคม 2559[9] และโรงพยาบาลใกล้เคียงจำนวน 5 แห่งได้ปิดตัวลงเนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น ภัยพิบัติจากสึนามิและนิวเคลียร์ ดังนั้น เมืองฮิโรโนะ จึงได้ออกแคมเปญการระดมทุนสาธารณะผ่านแพลทฟอร์ม ReadyFor จำนวน 2.5 ล้านเยน เพื่อรองรับเป็นค่าเดินทางและค่าที่พักให้กับแพทย์อาสาสมัครดูแลผู้ป่วยโดยปลายเดือนมีนาคม 2560 มียอดบริจาคสูงถึง 3 ล้านเยน และมีแพทย์อาสาสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 30 คนทั้งประเทศ ทั้งนี้เงินบริจาคขั้นต่ำคือจำนวน 3,000 เยนและสามารรถนำไปลดหย่อนภาษีต่อไปได้


[9] Mainichi. (2017, Jan). Crowdfunding for Fukushima Hospital with No Full-time Doctors A Huge Hit, https://mainichi.jp/english/articles/20170111/p2a/00m/0na/008000c

นอกจากนี้ ระบบ Hometown Tax ยังได้นำมาใช้การระดมทุนสาธารณะด้านศิลปะอีกด้วยโดยพิพิธภัณฑ์ Eisei Bunko ในกรุงโตเกียว ซึ่งจัดแสดงเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุและงานจิตรกรรม ของตระกูล Hosokawa โดยเฉพาะจิตรกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ของประเทศอย่าง Black Cat ของ Shunso Hishida ซึ่งเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงญี่ปุ่นสมัยเมจิ ทั้งนี้ผลงานจิตรกรรมบางส่วนมีความทรุดโทรม ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้รายได้จากการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลดลง ในเดือนกรกฎาคม 2563 ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้มีแนวคิดที่จะระดมทุนสาธารณะเพื่อฟื้นฟูผลงานดังกล่าว โดยมีเป้าหมายการระดมทุนจำนวน 10 ล้านเยน และภายหลังสิ้นสุดโครงการก็สามารถระดมทุนได้ 14.75 ล้านเยน ทั้งนี้ ผู้บริจาคเงินเพื่อระดมทุนจะได้รับสิ่งจูงใจเป็นผลตอบแทนในรูปแบบของการเข้าฟังบรรยายออนไลน์โดยภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์และกระเป๋าที่ระลึก[10]


[10] Shimbun, Y. (2022, Jan). Crowdfunding, Hometown Tax Payments Help Repair Japan’s Cultural Properties, https://the-japan-news.com/news/article/0008117652

3.บทสรุป

การระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) คือ การระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนจำนวนมากเพื่อนำมาผลิตสินค้าและบริการ โดยรัฐบาลในหลายประเทศได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างฟื้นฐานและกิจการสาธารณะของเมือง ญี่ปุ่นก็ถือเป็นประเทศต้นแบบที่ประยุกต์ใช้ Crowdfunding ในการชำระภาษีเพื่อพัฒนาบ้านเกิด (Hometown Tax) หรือ Furusato Nozei และได้ดำเนินการในปี 2551 เป็นต้นมา ทั้งนี้เมื่อถอดบทเรียนของ Hometown Tax ของประเทศญี่ปุ่นจะพบเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เสียภาษีที่จะแบ่งรายได้ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนากิจการสาธารณะของบ้านเกิดตนเองหรือท้องถิ่นอื่นให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผู้เสียภาษีก็ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนทางภาษีและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นของสมมาคุณตอบแทน อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชนกับหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดทำการบริการสาธารณะ และประเทศอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาหน่วยทางท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอและเกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็อยู่ระหว่างทำการศึกษาในการนำ Hometown Tax มาประยุกต์ใช้ สำหรับกรณีประเทศไทย หากมีระบบ Hometown Tax เกิดขึ้นจะช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือทางการคลังเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้เสียภาษีก็มีช่องทางในการลดหย่อนภาษีที่หลากหลายขึ้น ทั้งนี้ เงินบริจาคจาก Hometown Tax จะมีส่วนเข้ามาดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล

ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ประกอบ สุริเยนทรากร

นายประกอบ สุริเยนทรากร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ศักดิสิทธิ์ สว่างศุข

นายศักดิสิทธิ์ สว่างศุข
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

กุสุมา จารุณี

นางสาวกุสุมา จารุมณี
เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน