บทความโดย
ดร.ศิวพร พรหมวงษ์[1]
ที่ผ่านมาภาครัฐได้จัดสรรสวัสดิการขั้นพื้นฐานผ่านวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยให้สามารถ “ลืมตาอ้าปาก” และมีกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อสู้กับอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ในขั้นต้น และได้มีมาตรการจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยพัฒนาทักษะและความรู้สำหรับการประกอบอาชีพ โดยคาดหวังให้ผู้มีรายได้น้อยนำความรู้ที่ได้หลังจากฝึกอบรมไปประกอบอาชีพและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐฯ ที่ผ่านมา พบว่า ผู้มีรายได้น้อยจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่เข้าฝึกอบรมและไม่ต้องการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังหวังพึ่งพารัฐให้ความช่วยเหลือมากกว่าการพึ่งพาตนเอง ดังนั้น หากต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนนั้น รัฐควรหาแนวทางให้
- ผู้มีรายได้น้อยต้องการทำงานและทำงานอย่างต่อเนื่อง
- มีตลาดแรงงานและตลาดสินค้าที่รองรับและเป็นธรรม
- ส่งเสริมออกแบบและการจัดสรรหลักสูตรฝึกอบรมที่ตรงกับการผลิต การตลาดและ/หรือความต้องการและบริบทของพื้นที่/ผู้รายได้น้อย
- มีแหล่งเงินทุนขั้นต้นให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีความพร้อมและต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายโดยการแทรกแซง/สนับสนุน “ตลาดแรงงานของแต่ละพื้นที่” ผ่านเครื่องมือทางการคลังอาจเป็นอีกหนึ่งหนทางที่สามารถเป็นเครื่องมือกระตุ้นอุปสงค์และอุปทานแรงงานได้โดยการให้เงินอุดหนุนและลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการจ้างผู้มีรายได้น้อยตามสัดส่วนที่กำหนด ในขณะเดียวกันการใช้ “เบี้ยคนขยัน” เป็นแรงกระตุ้นอีกทางให้ผู้มีรายได้น้อยทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นโยบายการคลังดังกล่าวจะสำเร็จและสามารถกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้นั้น ต้องอาศัยการเข้าถึงและความเข้าใจข้อมูลเชิงลึกในบริบทของแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลด้านสังคม วัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของคนในชุมชนตลอดจนลักษณะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
[1] ผู้เขียน ดร.ศิวพร พรหมวงษ์ ขอขอบพระคุณ นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อเกษตรกรรายย่อยและแก้หนี้นอกระบบ (ฝสน.) และนายอุเทน ทรงคำ ผู้บริหารทีมฝ่ายบริหารกลาง ธ.ก.ส. และนายสุธรรม ส่งศิริ อาจารย์
ที่ปรึกษาโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ สำหรับคำปรึกษา คำแนะนำ และการตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของบทความฉบับนี้ ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัด
โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
การดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2559[2] (โครงการลงทะเบียนฯ) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับความพยายามในการขจัดปัญหา ความเหลื่อมล้ำและความยากจนในประเทศไทยโดยวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ ดังนี้
- เพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงลึกของผู้มีรายได้น้อยทุกคนในประเทศไทย
- เพื่อให้ทราบสถานการณ์ด้านความยากจนของประเทศไทยในภาพรวม
- เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจนในที่สุด
- เพื่อจัดสรรสวัสดิการและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน
- เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
กระบวนการโครงการลงทะเบียนฯ เริ่มจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียน[3] โดยจะต้องเดินทางมาลงทะเบียนด้วยตนเอง ณ สำนักงานคลังจังหวัด (76 จังหวัด) ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากนั้นคือกระบวนการคัดกรอง “ผู้มีรายได้น้อย” หรือ “คนจนจริง” โดยใช้เกณฑ์คุณสมบัติด้านต่าง ๆ เช่น รายได้[4] ทรัพย์สินทางการเงิน ทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เป็นตัวกำหนด และจากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ที่ “จนไม่จริงแต่ได้รับบัตร” (Inclusion Error) และยังมีผู้ที่ “จนจริงแต่ไม่ได้รับบัตร” (Exclusion Error) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากขั้นตอนการลงทะเบียนที่อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงผู้มีรายได้น้อยในบางพื้นที่ และหลักเกณฑ์คุณสมบัติและการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่รัดกุมมากเพียงพอ ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องเพิ่มหลักเกณฑ์ของการตรวจสอบให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่ออุดรอยรั่วข้างต้น เช่น การครอบครองหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ ประวัติการทำหนังสือเดินทางและข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศ และข้อมูลการใช้น้ำ-ไฟในครัวเรือน เป็นต้น
[2] มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559
[3] เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
[4] เกณฑ์รายได้: สำหรับการลงทะเบียนครั้งที่ผ่านมาผู้มีสิทธิ์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องเป็นผู้ว่างงานหรือเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยแบ่งเกณฑ์ความช่วยเหลือเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 คือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และ กลุ่มที่ 2 คือผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 30,001-100,000 บาทต่อปี โดยมีการตรวจสอบรายได้ที่แท้จริงของผู้มีรายได้น้อยกับฐานข้อมูลของกรมสรรพากร
ผลของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
ภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติข้างต้น พบว่า ประเทศไทยมีผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด 14.6 ล้านราย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีการจัดเก็บและออกแบบโครงสร้างของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Mining) และได้มีความพยายามในการนำข้อมูลมาต่อยอดเพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาการออกแบบนโยบายแก้ไขความยากจนให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การติดตามและสอบถามความต้องการของผู้มีรายได้น้อยจำนวน 10.5 ล้านราย ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้เชื่อมต่อฐานข้อมูลดังกล่าวกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ กว่า 10 ฐานข้อมูล[5] และได้เตรียมการสร้างโครงสร้างของฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยในมิติต่างๆ (Big Data) เพื่อหาแนวทางในการจัดสรรสวัสดิการให้ตรงเป้าหมายมากที่สุด ดังนั้น หากระบบฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของประเทศเชื่อมต่อเสร็จสมบูรณ์จะนำไปสู่การทราบข้อมูลและรายละเอียดเชิงลึกด้านจัดสรรสวัสดิการและการได้รับสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยทุกคน ก่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือการให้ความสำคัญกับข้อมูลและนำข้อมูลต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์สำหรับการออกนโยบาย (Data-Driven Policy) ต่อไป
จากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนฯ (ตารางที่ 1) พบว่า 10.8 ล้านคน (ร้อยละ 74.2) เป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน[6] และอีกจำนวน 3.8 ล้านคน คือผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี โดยเป็นวัยแรงงานทั้งหมดร้อยละ 67.9 หรือเท่ากับ 9.9 ล้านคน เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทำงานพบว่า ร้อยละ 33.8 ของผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดว่างงานและอีกร้อยละ 37.8 ไม่สามารถระบุสถานการณ์ทำงานได้ สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีงานทำ พบว่า ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระและเป็นเกษตรกร
[5] ข้อมูลการใช้บัตรสวัสดิการจากกรมบัญชีกลาง ข้อมูล จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) จากกรมการพัฒนาชุมชน ข้อมูลสิทธิรักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อมูลผู้พิการ ผู้สูงอายุและเด็กแรกเกิดจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคม ข้อมูลเด็กและผู้ปกครองที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อมูลเด็กกู้ยืมที่ยากจน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ข้อมูลความคิดเห็นของผู้มีรายได้น้อยถึงต้องการรัฐบาลให้รัฐบาลช่วยเหลือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลการฝึกอบรมของกระทรวงการคลัง
[6] มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี
นโยบายและมาตรการภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
รัฐบาลได้มีความพยายามในการจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยมีร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นกลไกการดำเนินการหลัก และการให้เบี้ยยังชีพระหว่างที่ไม่มีรายได้เนื่องจากเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพผ่าน 5 ชุดมาตรการ ประกอบด้วย 1) ชุดสวัสดิการดั้งเดิม 2) ชุดมาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3) ชุดมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและฝากเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 4) ชุดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 5) ชุดมาตรการพยุงการบริโภคช่วงกลางปี 2562
นอกเหนือจากการให้วงเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพข้างต้น ภาครัฐได้มีความพยายามช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนผ่านมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2561 (มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีศักยภาพ มีความพร้อมในการประกอบอาชีพโดยการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นในที่สุด และนอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงตลาดแรงงานได้มากขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบประกอบกับการส่งเสริมการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอีกด้วย โดยได้อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ประเด็นปัญหาของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2561
จากการติดตามผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ทั้งหมด 3,267,941 ราย[7] พบว่ามาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ สามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 1,127,843 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.5 ของผู้เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ทั้งหมด หรือร้อยละ 7.8 ของผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดและมีจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่สามารถหลุดพ้นจากเส้นความยากจนทั้งหมด จำนวน 1,012,727 ราย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 31 ของผู้เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ หรือร้อยละ 6.9 ของผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด
เมื่อประเมินความคุ้มค่าของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้หลักการ Cost and Benefit Analysis[8] (โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) พบว่า ต้นทุนรวมของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ที่ 6 พันล้านบาท[9] ในขณะที่มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 2 หมื่นล้านบาท และรายได้ของผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 26 ล้านบาท ดังนั้น หากมีจำนวนผู้มีรายได้น้อยสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพและได้มีโอกาสในการนำความรู้/ทักษะไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในการสร้างรายได้แล้วนั้น จะเกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณแผ่นดินและสามารถกระตุ้นปริมาณการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม บทเรียนและข้อท้าทายจากการดำเนินพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ที่ผ่านมา พบว่า ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากไม่ประสงค์พัฒนาทักษะแม้จะมีการจูงใจด้วยการให้วงเงินเพิ่มเติมในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมดจำนวน 14.6 ล้านคน พบว่า มีผู้มีรายได้น้อยเพียงประมาณ5 ล้านคน หรือร้อยละ 34 ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมดประสงค์เข้าร่วมฝึกอบรมและสามารถฝึกอบรมครบตามหลักสูตร นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้มีรายได้น้อยมักส่งตัวแทนไปเข้าฝึกอบรมซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุ ทั้งนี้ การตัดสินใจเลือกไม่เข้าร่วมฝึกอบรมนั้นสามารถเกิดจากปัจจัยภายใน และ/หรือ ปัจจัยภายนอก เช่น อาจจะเกิดจากการขาดการรับรู้และเข้าใจโครงการและหลักสูตร หลักสูตรและการฝึกอบรมไม่ตรงกับความต้องการของตลาดและ/หรือความต้องการของผู้มีรายได้น้อย ช่วงเวลาฝึกอบรมตรงกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ไม่สะดวกเดินทางไปเข้าฝึกอบรมเนื่องจากไม่มีพาหนะหรืออยู่ห่างไกล การประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติงานไปยังกลุ่มเป้าหมายอาจจะยังไม่ทั่วถึง/การสื่อสารอาจจะไม่ชัดเจน มาตรการสร้างแรงจูงใจของภาครัฐอาจจะไม่สามารถดึงดูดให้ผู้มีรายได้เข้าร่วมฝึกอบรมได้ดีเท่าที่ควรนัก ฯลฯ ด้วยปัจจัยต่างๆ ข้างต้นจึงทำให้ผู้มีรายได้น้อยตัดสินใจเลือกรับสวัสดิการจากภาครัฐเพียงวงเงินพื้นฐานในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ อาจจะมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ คือ การที่ผู้มีรายได้น้อยอาจจะยังไม่เข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของความยากจนของตนเองที่อาจจะมีสาเหตุมาจาก “อาชีพ” “การมีงานทำ” หรือ “ทักษะ (ที่ไม่เพียงพอ)” ของตนเองและจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อเพิ่ม “รายได้” ก็เป็นได้
[7] ข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม 2562 ติดตามผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการพัฒนาแล้วทั้งหมด 2,607,195 ราย และคงค้างติดตามจำนวน 660,746 ราย
[8] การคำนวณต้นทุนที่ใช้สำหรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2561 เทียบกับผลประโยชน์ทางตรงที่ได้ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้มีรายได้น้อยในแต่ละกลุ่ม
[9] งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ปี 2561
ค้นหาแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นจากความยากจน
จากข้อมูลของผู้ที่มีรายได้น้อยของประเทศไทยทั้งหมด 14.6 ล้านราย พบว่า ร้อยละ 34 ของผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดมีสถานะว่างงาน สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีงานทำส่วนใหญ่นั้นเป็นเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป ดังนั้น การสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยอาจเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนได้ เพราะปัจจัยด้านอาชีพจะเป็นหนทางที่สามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือพ้นจากความยากจนได้ และจากการคำนวณผ่านแบบจำลองเศรษฐมิติ[10] (พรหมวงษ์, 2562) โดยใช้ฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านราย พบว่า ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจน[11] ด้วยปัจจัยหลัก 4 ประการดังนี้ “มีงานทำ[12]” “มีที่อยู่อาศัย[13]” “มีที่ดินทำกิน[14]” และ “ได้รับการศึกษา”
เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และอาชีพต่างๆ ของผู้มีรายได้น้อย พบว่า อาชีพลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรม ลูกจ้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างในภาคบริการ เป็นอาชีพที่มีโอกาสที่จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนได้มากที่สุด[15] ในขณะที่อาชีพที่มีโอกาสทำให้ผู้มีรายได้น้อยยังคงมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน[16] คือ อาชีพเลี้ยงสัตว์อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายในการสนับสนุนและจูงใจปัจจัยอาชีพ ที่ดินทำกิน หรือที่อยู่อาศัย ไม่สามารถทำได้ในลักษณะที่เป็นการให้ส่งเสริมแบบถ้วนหน้าได้ “One Size Fits All” เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้รายได้ของผู้มีรายได้เพิ่มขึ้นนั้นแตกต่างกันทั้งในบริบทภูมิภาคและกลุ่มอายุ
จากการศึกษาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่าหนทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ยั่งยืนสามารถทำได้โดยการสร้างเครื่องมือทางนโยบายเพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อยให้ “มีงานทำ” ประกอบกับการช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแรงงานได้ง่ายและตรงเป้าหมายมากที่สุด โดยสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนและทำความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ “Tailor-made” การฝึกอาชีพและทักษะต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการในการผลิตในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากอาชีพที่สามารถเพิ่มรายได้ของผู้มีรายได้น้อยในแต่ละภูมิภาคและแต่ละกลุ่มอายุนั้นแตกต่างกัน
[10] การศึกษาและประเมินสาเหตุและปัจจัยของผู้มีรายได้น้อยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติในการคำนวณ ผ่านแบบจำลอง Ordered Logistic Regression เพื่อค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficeints) หรือการประเมินผลของความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อธิบายความเป็นไปได้ของผู้มีรายได้น้อยที่จะมีโอกาสได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ลำดับขั้น หรือ β1 Coefficient โดย ดร. ศิวพร พรหมวงษ์ (2562): คู่มือแก้ปัญหาความยากจน ฉบับ TAILOR-MADE สำหรับผู้บริหาร : ผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านแบบจำลองทางเศรษฐมิติ
[11] มีรายได้เพิ่มขึ้น
[12] ผู้ว่างงาน = Reference Level
[13] ไม่มีที่อยู่อาศัย = Reference Level
[14] ไม่มีที่ดินทำกิน = Reference Level
[15] ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์มีค่าเป็นบวก และ Statistically Significant at 1% level
[16] มีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และอาชีพแบบแปรผกผัน หรือ “ยิ่งทำยิ่งจน” นั่นเอง
รู้จักผู้มีรายได้น้อยและบริบทแวดล้อมเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของความยากจน
ผู้มีรายได้น้อยอาจไม่ต้องการพึ่งพาตนเอง หรือ“กลุ่มจนจริงแต่ไม่อยากทำงาน”
จากการศึกษาและสอบถามพฤติกรรมผู้มีรายได้น้อยจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับการทำงานช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย[17] สามารถสรุปโดยใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องความแตกต่างของแนวความคิด/ทัศนคติของแต่ละบุคคลที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกที่แตกต่างกัน “Selection Bias” ซึ่งอาจจะไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นไปตามทฤษฎี/ตรรกะ (Endogeneity Bias) เช่น หากอยากมีเงินต้องทำงาน หากอยากทำงานต้องเรียนหนังสือ ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจจะมีความคิดว่า หากอยากมีเงินต้องเล่นการพนันหรือไปลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น (Foley and Green, 2011) ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากกรอบความคิดและการบ่มเพาะมาจากสภาพแวดล้อม การศึกษา หรือพฤติกรรมสืบทอดจากครอบครัว(Heterogeneity Bias) ที่แตกต่างกัน (Chernozhukov and Hansen, 2004;Mwabu and Schultz, 1996) เช่น คนในชุมชนมีความเข้าใจ “ความพอเพียง” คลาดเคลื่อน[18] หรือ มีความเข้าใจและความเชื่อว่า “คนจนโดนรังแก” หรือ “เกษตรกรลำบากและยากจน” จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องช่วยพยุงอยู่เสมอ และเมื่อรัฐบาลดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จึงเปรียบเสมือน “โอกาสทอง” ของบุคคลกลุ่มดังกล่าวที่จะเข้ามาหวังรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว
ปัญหาที่พบอีกประการคือ ผู้มีรายได้น้อยบางส่วนให้ข้อมูลรายได้ของตนต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเกรงว่าจะถูกถอนสิทธิหากรัฐทราบว่าที่จริงแล้วตนมีรายได้เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดปัญหาต่อการประเมินผลมาตรการและโครงการแก้ปัญหาความยากจนในภาพรวม
[17] พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรฝ่ายสินเชื่อเกษตรกรรายย่อยและแก้หนี้นอกระบบ (ฝสน.)
[18] เข้าใจว่าความพอเพียงคือการใช้ชีวิตไปวันๆ อยู่แบบตามมีตามเกิด ทำตามบรรพบุรุษ จึงไม่ขวนขวายพัฒนาเพื่อให้ได้รับรายได้เพิ่มขึ้น เช่น เกษตรกรมักปลูกพืชเชิงเดี่ยวแม้ผลผลิตและผลกำไรจะน้อยลงทุกปี
หลักสูตรฝึกอบรมอาชีพอาจไม่ตรงความต้องการ
หลักสูตรฝึกอบรมอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านมา วินิจฉัยและกำหนดแผนการพัฒนาโดยคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ หรือทีมหมอประชารัฐสุขใจ ถึงแม้การพัฒนาศักยภาพจะเกิดจากการสัมภาษณ์และสอบถามความต้องการของผู้มีรายได้น้อยซึ่งในบางกรณีพบว่ามีผู้มีรายได้น้อยบางส่วนเลือกฝึกอบรมตามเพื่อนข้างบ้านเนื่องจากสะดวกต่อการเดินทางไปฝึกอบรม นอกจากนี้ยังพบว่า หลักสูตรอบรมต่างๆ ได้ถูกเตรียมพร้อมไว้ก่อนแล้ว ถึงแม้จะมีให้เลือกมากกว่า 100 หลักสูตร เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดเตรียม 85 หลักสูตรสำหรับอบรมเกษตรกร เป็นต้น แต่การออกแบบการนโยบายข้างต้นนั้น มีลักษณะที่เป็นแบบ “Top-Down Policy” ซึ่งหลักสูตรฝึกอบรมอาจไม่ตรงกับความต้องการของตลาดและไม่ตรงกับการผลิตเชิงพื้นที่ (ทรัพยากรและปัจจัยการผลิต) จึงส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถนำความรู้ได้รับไปประกอบอาชีพได้จริงหลังจากจบโครงการ ประกอบกับผู้มีรายได้น้อยขาดเงินทุนลงทุนหากต้องการการเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่หรือลงทุนปรับปรุงปัจจัยการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ
ตลาดแรงงานอาจไม่เปิดโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยทำงาน
ด้วยผู้มีรายได้ส่วนใหญ่ว่างงานหรือประกอบอาชีพที่ไม่แน่นอน[19] (รับจ้างอิสระ) ประกอบกับ ผู้มีรายได้น้อยที่มีอาชีพเกษตรกรกว่าร้อยละ 85 ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งให้ผู้มีรายได้น้อยเริ่มต้นประกอบอาชีพโดยเริ่มจากการเป็นแรงงานรับจ้างก่อน ซึ่งการรับจ้างนั้นจำเป็นจะต้องมีกระบวนการที่ส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยมีความรับผิดชอบในการมาทำงานต่อเนื่อง และมีรายได้อย่างมั่นคง นั่นคือ การทำงานกับนายจ้างที่มีการดำเนินธุรกิจค่อนข้างประสบความสำเร็จและมีความเสี่ยงต่ำ ประกอบกับมีกลไกตรวจสอบผ่านการทำสัญญาจ้าง
ในขณะเดียวกัน ในมุมของผู้ประกอบการ นายจ้างก็อาจจะไม่ต้องการจ้างงานผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ของธุรกิจในด้านความรับผิดชอบและความเสี่ยงด้านทักษะที่น้อยกว่าแรงงานทั่วไป ดังนั้น ต้องอาศัยภาครัฐและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องใช้เครื่องมือทางเงินและการคลังจูงใจให้ผู้ประกอบการให้โอกาสแรงงานผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
[19] จากผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด 14,549,559 ล้านราย มีจำนวน 4,915,742 ล้านรายเป็นผู้ว่างงาน และ 8,769,960 ล้านราย มีอาชีพที่ไม่แน่นอน (จากแบบสำรวจคือเป็นผู้ที่ไม่ระบุอาชีพและรับจ้างอิสระ)
องค์ประกอบบรรเทาความยากจนโดยความสรุป
จากการวิเคราะห์สาเหตุและประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนข้างต้นพบว่า การหลุดพ้นจากความยากจนต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งหมด 4 ส่วนคือ 1) ผู้มีรายได้น้อยต้องการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก 2) ผู้มีรายได้น้อยมีความต้องการพัฒนาทักษะและความรู้ของตนเองเพื่อนำไปประกอบอาชีพ 3) ผู้ประกอบการจะต้องให้โอกาสผู้มีรายได้น้อยให้ทำงานเสมือนแรงงานทั่วไป และ 4) หลักสูตรที่ใช้ฝึกอบรมสามารถช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของสินค้าในตลาด ทั้งนี้ สามารถสรุปเป็นประเด็นคำถามเชิงนโยบายได้ ดังนี้
- ทำอย่างไรให้ผู้มีรายได้น้อยต้องการทำงานและมีงานทำอย่างยั่งยืน?
- ทำอย่างไรให้ผู้มีรายได้น้อยตระหนักและเห็นคุณค่าของการฝึกอบรม?
- ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการจ้างงานผู้มีรายได้น้อย?
- ทำอย่างไรให้หลักสูตรฝึกอบรมมีประสิทธิภาพ?
จะเห็นว่า ตัวแปร/ผู้เล่นหลักในการขับเคลื่อน “นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้” คือ ลูกจ้าง (ผู้มีรายได้น้อย) และ นายจ้าง(ผู้ประกอบการ) ใน “ตลาดแรงงาน” นั่นเอง ดังนั้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรจะเป็นนโยบายที่สามารถแทรกแซงเชิงสนับสนุนตลาดแรงงานเพื่อให้นายจ้างจ้างงานลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างจะต้องมีคุณสมบัติและทักษะเหมาะสมกับการผลิต
แนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน
เมื่อการดำเนินนโยบายเชิงพื้นที่เป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้น นโยบายแทรกแซงเชิงสนับสนุนตลาดแรงงานควรเริ่มพิจารณาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลักษณะของการประกอบอาชีพของชุมชน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า สินค้าและบริการของชุมชน สามารถเป็นได้ทั้งสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น สินค้าหัตถกรรมหรือชุมชนท่องเที่ยวซึ่งเป็นผลผลิตที่มาจากการประกอบอาชีพหลัก (งานที่ทำเป็นประจำ) และอาชีพเสริม (งานที่ทำนอกเหนือจากงานประจำ) ซึ่งล้วนมีความสำคัญกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ฐานราก) ทั้งสิ้น ดังนั้น หากภาพสุดท้ายของความสำเร็จคือ การได้เห็นผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนแล้วนั้น ควรให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานที่เป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าประเภทใด (รูปภาพที่ 2)
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพและการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีงานทำไม่ว่าจะเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมไม่สามารถทำได้โดยการฝึกอบรมผู้มีรายได้น้อยและรอให้ผู้มีรายได้น้อยไปสมัครงานตามสาขาวิชาชีพที่ตนมีทักษะหรือเริ่มธุรกิจด้วยตนเอง เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยจำนวนหนึ่งอาจไม่มีแรงจูงใจในการประกอบอาชีพมากนัก อีกทั้งผู้ประกอบการก็ไม่มีแรงจูงใจในการจ้างงานผู้มีรายได้น้อยอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้น การแทรกแซงโดยใช้นโยบายทางการคลังจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ความต้องการแรงงาน (Demand for Labour) และความต้องการทำงานเพิ่มขึ้น (Supply for Labour)
จากประเด็นท้าทายถึงแนวทางสร้างแรงจูงใจให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการในตลาดแรงงานให้กับผู้รายได้น้อยข้างต้น ประกอบกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากนั้น การนำนโยบายการคลัง (แบบขยายตัว) สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาได้ ดังนี้
1. ให้เงินอุดหนุนและลดอัตราภาษีภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในชุมชน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องจ้างแรงงานที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามสัดส่วนที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่เหมาะสมนั้นจะถูกพิจารณาเป็นรายพื้นที่ และจำนวนเงินอุดหนุนจะต้องถูกกำหนดให้ขึ้นกับขนาดของธุรกิจประเมินจากผลประกอบการ[20] ของธุรกิจนั้นๆ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถขอรับสนับสนุนงบประมาณเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อการผลิต ด้วยมาตรการให้เงินอุดหนุนและลดอัตราภาษีดังกล่าว จะสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการต้องการจ้างงานผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น
2. ให้เบี้ยคนขยันแก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยทำงานและทำอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ผู้มีรายได้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานซึ่งจะอยู่ในภาคการผลิตใดหรือทำงานกับผู้ประกอบการใดก็ได้ที่อยู่ในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่และทำงานอย่างต่อเนื่อง[21] ดังนั้น รายได้สุทธิจากการทำงานของผู้มีรายได้น้อยจะประกอบด้วย ค่าจ้าง (จากผู้ประกอบการ) และเบี้ยคนขยัน (ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) โดยผู้มีรายได้น้อยจะต้องไปทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อได้รับเบี้ยคนขยัน การสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความรับผิดชอบและสร้างกำลังใจให้ผู้มีรายได้น้อยเห็นประโยชน์ของการพึ่งพาตนเองมากขึ้น
อย่างไรก็ดี อัตราเบี้ยคนขยันต่อหัวจำเป็นต้องมีอัตราที่สูงมากพอที่จะสามารถจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยต้องที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้น อาจจะเกิดดังเช่นกรณีที่ผ่านมาคือ ผู้มีรายได้น้อยเลือกรับเพียงวงเงินสำหรับใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น แม้จะมีวงเงินเพิ่มให้ 100–200 บาท/เดือน หากผู้มีรายได้น้อยเข้ารับการฝึกอบรม ประกอบกับสถานภาพแรงงานของผู้มีรายได้น้อยจำเป็นที่จะต้องถูกปฏิบัติดังเช่น แรงงานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานและสิทธิแรงงานที่พึงจะได้รับ เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถดำเนินนโยบายทางการคลังผ่าน “กิจกรรมกึ่งการคลัง” (Quasi-fiscal Policy) เช่น การจำนำข้าว การประกันราคา และการช่วยเหลือด้านทุน (Soft Loans) ผ่านหน่วยงานอื่น เช่น ธนาคารเพื่อการเกตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายทางคลังเพื่อแทรกแซงเชิงสนับสนุนตลาดแรงงานของชุมชนสามารถอธิบายในเชิงทฤษฎีได้ว่า การให้เงินอุดหนุนและมาตการลดหย่อนภาษีส่งผลให้ผู้ผลิตมีความต้องการจ้างแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับมาตรการทางการคลังโดยการให้ “เบี้ยคนขยัน” จูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยมีกำลังใจและต้องการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ จะส่งผลดีต่อกำลังการผลิตของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และจะกระตุ้นภาคการผลิตโดยรวมในชุมชนให้เติบโตตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการหมุนเวียนของเงินในระบบอันเป็นผลมาจาการจ้างงานนั่นเอง ดังนั้น นโยบายทางการคลังในการแทรกแซงเชิงสนับสนุนตลาดแรงงานนั้น สามารถขยายโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีโอกาสมีงานทำมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีทักษะที่เหมาะสมกับการผลิตและเทียบเท่ากับแรงงานทั่วไป ควรมีช่องทางการสนับสนุนด้านงบประมาณและการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการสำหรับพัฒนาทักษะให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วย
[20] พิจารณาจากฐานข้อมูลของกรมสรรพากรเกี่ยวกับกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี/ขาดทุนสุทธิของธุรกิจ
[21] เพื่อการเดินทางที่สะดวกและค่าครองชีพตรงกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของผู้มีรายได้น้อย
ข้อท้าทายของการแทรกแซงตลาดแรงงานโดยใช้มาตรการทางการคลัง
มาตรการทางการคลังแบบขยายตัวเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถแทรกแซงตลาดแรงงานโดยการกระตุ้นอุปสงค์และอุปทานแรงงาน และหากสามารถเข้าถึงตลาดแรงงานในระดับพื้นที่ได้ นโยบายการคลังข้างต้นก็สามารถกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบายข้างต้นไม่เพียงแต่จะมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนเท่านั้น แต่จะเกิดผลดีต่อความเป็นอยู่และสภาพสังคมที่ดีขึ้นระหว่างคนในครอบครัวและชุมชนอีกด้วย เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยย้ายถิ่นและกลับไปทำงานและอาศัยตามภูมิลำเนาซึ่งช่วยแก้ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากชนบทสู่เมืองนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติภาครัฐไม่มีข้อมูลเชิงลึกในระดับพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลด้านสังคม วัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ประกอบกับข้อมูลผู้ประกอบการ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการเข้าถึงและประเมินคุณภาพของชุมชน ตลอดจนคุณภาพและประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นชัดเป็นรูปธรรม นั้น มีข้อท้าทายต่อไป ได้แก่
- จะเริ่มพัฒนาชุมชนใดเป็นอันดับแรก?
- ใช้บุคลากรจากหน่วยงานใดในการลงพื้นที่และเก็บข้อมูล?
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความรู้และความเข้าใจบริบทเชิงพื้นที่อย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นการคัดกรองคุณภาพของกลุ่มเป้าหมายเพื่อการใช้งบประมาณรายจ่ายอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
อ้างอิง
Baum, C. F., 2006. An Introduction to Modern Econometrics Using Stata. College Station, TX: StataCorp LP.
Cameron, C. A., and Trivedi, P. K., 2009. Microeconometrics using Stata (Revised.). College Station, TX: StataCorp LP.
Foley, K., and Green, D. A., 2015. Why More Education Will Not Solve Rising Inequality (and May Make It Worse). In D. A. Green, W. C. Riddell, & F. St-Hilaire, eds., Income Inequality: The Canadian Story, pp. 347–397. Institute for Research on Public Policy. Retrieved from http://irpp.org/research-studies/aots5-foley-green/
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ, นายพงศ์นคร โภชากรณ์, ดร.พีรพัฒน์ วงศ์ชัยวัฒน์และอื่น ๆ. (2562). เจาะลึกข้อมูล เจาะจงนโยบาย. สัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประจำปี 2562 คลังคิด เศรษฐกิจเชิงพื้นที่
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร. (2562). ธุรกิจชุมชนสร้างไทย ดร.ศิวพร พรหมวงษ์. (2562). คู่มือแก้ปัญหาความยากจน ฉบับ TAILOR-MADE สำหรับผู้บริหาร “ปัจจัยที่มีผลต่อรายไดข้องผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี2560 และ 2561” (วิเคราะห์โดยใช้เศรษฐมิติ: Ordered Logistic Regression
ดร. ศิวพร พรหมวงษ์
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน