การปลดล็อกกัญชา กัญชงในประเทศไทย

การปลดล็อกกัญชา กัญชงในประเทศไทย

บทความโดย
นายศราวุธ  พรมพันห่าว

ที่ผ่านมาประมวลกฎหมายยาเสพติดได้กำหนดให้พืชกัญชา (Marijuana) และกัญชง (Hemp) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองพืชกัญชา กัญชงจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 รัฐบาลได้ประกาศถอดพืชกัญชา กัญชงออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ทำให้ประชาชนสามารถนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดี การปลดล็อกดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้ากัญชา กัญชงของประชาชนจนนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพและปัญหาต่อสังคมในอนาคตได้ ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับพืชกัญชา กัญชง ตั้งแต่ความเป็นมาของพืชกัญชา กัญชงในประเทศไทย ความแตกต่างระหว่างพืชกัญชา กัญชง การนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ ตลอดจนผลกระทบจากการใช้ (เสพ) พืชกัญชา กัญชง

1. ความเป็นมาของพืชกัญชา กัญชงในประเทศไทย

ตั้งแต่ปี 2522 จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2565 พืชกัญชา กัญชง ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5[1] ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้พืชกัญชา กัญชงได้อย่างอิสระ แต่สามารถนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์เฉพาะเพื่อการแพทย์ การศึกษาวิจัย และอื่น ๆ ภายใต้การควบคุมจากหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดให้ทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แต่ยังคงกำหนดให้สารสกัดพืชกัญชา กัญชง ที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) ปริมาณเกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา และปัจจุบันรัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชา กัญชง โดยมีหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบาย ดำเนินมาตรการ ตลอดจนการควบคุม กำกับดูแล และให้ความรู้แก่ประชาชน ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังพิจารณาร่างกฎหมายการควบคุม กำกับและดูแลพืชกัญชา กัญชง

2. ความเหมือนหรือแตกต่างกันของพืชกัญชา กัญชง

พืชกัญชา กัญชงมีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกันแต่มีปริมาณสาร THC และ สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ พืชกัญชามีสาร THC มากกว่าพืชกัญชงมีสาร CBD มากกว่าพืชกัญชา โดยสาร THC เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งจะทำให้ผู้เสพมีอาการเมา เคลิบเคลิ้ม เกิดปัญหาด้านความทรงจำ และส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่าย ในขณะที่สาร CBD จะทำให้ผู้เสพรู้สึกผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานการศึกษาถึงผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจจากการได้รับสาร CBD

3. การนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์

พืชกัญชา กัญชง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการกำหนดหลักเกณฑ์การผลิตสินค้ากัญชา กัญชงที่คำนึงถึงปริมาณสาร THC และสาร CBD ที่กำหนด ดังนี้

3.1 การผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม

ผู้ประสงค์จะนำพืชกัญชา กัญชงมาผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมจะต้องขึ้นทะเบียนสินค้ากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดการนำพืชกัญชากัญชงมาผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม 3 ชนิด ได้แก่ เครื่องสำอาง อาหาร และผลิตภัณฑ์ตำรับยาและสมุนไพร ดังตารางต่อไปนี้

ตารางแสดงหลักเกณฑ์ของสินอุตสาหกรรมที่นำพืชกัญชา กัญชงมาผลิต

สินค้าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอาหารผลิตภัณฑ์ตำรับยาและสมุนไพร
ความครอบคลุม1) เครื่องสำอางที่มีสารสกัดจากเมล็ดกัญชงเป็นส่วนประกอบ (เครื่องสำอางทุกประเภท) 2) เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของส่วนของพืชกัญชา กัญชง(เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกยกเว้นเครื่องสำอางที่ใช้ในช่องปากหรือจุดซ่อนเร้น) 3) เครื่องสำอางที่มีสาร CBD จากพืชกัญชา กัญชง
เป็นส่วนประกอบ(เครื่องสำอางทุกประเภทยกเว้นเครื่องสำอางที่ใช้ในช่องปากหรือจุดซ่อนเร้น)
1) ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัด CBD เป็นส่วนประกอบ (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสชนิดอัดก๊าซและไม่อัดก๊าซ เครื่องดื่มธัญชาติ) 2) ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของพืชกัญชา กัญชง (ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบอื่น ๆ ของส่วนพืชกัญชา กัญชง)1) ตำรับยาแผนไทย (ตำรับยาแผนไทยชนิดใช้ภายในและภายนอก เช่น ตำรับยาศุขไสยาศน์ เป็นต้น) 2) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีสารสกัดจากพืชกัญชา กัญชงเป็นส่วนประกอบหลัก, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของส่วนของพืชกัญชา กัญชงซึ่งไม่ใช่ส่วนประกอบหลัก เช่น ยาหม่อง เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากใบพืชกัญชา กัญชง)
ปริมาณ THC เจือปนไม่เกินร้อยละ 0.001 – 0.2 โดยน้ำหนัก แล้วแต่กรณีไม่เกิน 0.5 – 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุไม่เกินร้อยละ 0.2
โดยน้ำหนัก
ปริมาณ CBD เจือปนไม่ได้ระบุไม่เกิน 3 – 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัม/หน่วยบรรจุไม่เกินร้อยละ 2.5
โดยน้ำหนัก (เฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของส่วนของพืชกัญชา กัญชง
ซึ่งไม่ใช่ส่วนประกอบหลัก)
ที่มา: รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยผู้เขียนบทความ

3.2  การใช้ประโยชน์ในครัวเรือน

ประชาชนทั่วไปสามารถนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร ชงเป็นเครื่องดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ในการประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายจะต้องซื้อกัญชา กัญชงจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย

4.  การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของพืชกัญชา กัญชง

จากรายงานศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดพืชกัญชา กัญชงจะสามารถเติบโตได้ประมาณร้อยละ 15 ต่อปีระหว่างช่วงปี 2566 – 2568 โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าทางตลาดสูงถึง 43 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 28.1 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าของผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ (ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) 9.61 พันล้านบาท มูลค่าของผลิตภัณฑ์กลางน้ำ (ผลิตภัณฑ์สารสกัด) 14.7 พันล้านบาท และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ (ผลิตภัณฑ์แปรรูป) 3.75 พันล้านบาท อีกทั้งยังเกิดการกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงถึง 800,000 – 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งสูงกว่ามูลค่าทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น ข้าวที่สร้างรายได้เพียง 10,000 – 15,000 บาทต่อไร่ต่อปี เป็นต้น โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ส่วนใหญ่ผลิตมาจากสาร CBD มากกว่า THC นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ปี พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อส่งเสริมให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ด้วยมาตรการ 4 ด้าน ได้แก่ (1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง (2) ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ (3) ส่งเสริมด้านการตลาด และ (4) สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ ซึ่ง (ร่าง) แผนดังกล่าวกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนภายใน 5 ปี ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนพืชกัญชา กัญชงซึ่งเป็นพืชที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน และกระจายรายได้ให้แก่เกษตรรวมถึงสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจได้เติบโต

5. ผลกระทบจากการใช้ (เสพ) พืชกัญชา กัญชง

แม้ว่าพืชกัญชา กัญชงจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ครัวเรือนอุตสาหกรรมและต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีพืชกัญชา กัญชง มีสาร THC ซึ่งส่งผลให้เกิดโทษใน 2 มิติ ดังนี้

5.1.  ผลต่อด้านสุขภาพ: หากมีการบริโภคสาร THC ที่องค์ประกอบสูงกว่าร้อยละ 15 โดยน้ำหนักจะทำให้ผู้เสพมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยอาการจิตเภทเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งหรือเกิดอาการอักเสบในช่องปาก หลอดลม กล่องเสียง และปอด เป็นต้น

5.2  ผลต่อด้านสังคม: เนื่องจากการเสพกัญชา กัญชง จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสพ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบหรือละเมิดต่อศีลธรรมอันดีงานในสังคมได้ เช่น ทำให้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์บนถนนเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น โดยจากบทความของวิทยาลัยสาธารณสุข (School of Public Health) มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงการศึกษาผลกระทบของการเสพกัญชาที่มีต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์บนถนนในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2543 – 2561 ว่า อัตราการตายจากอุบัติเหตุรถยนต์บนถนนเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิมร้อยละ 9 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 21.5 ในปี 2561

6.  การควบคุมกำกับดูแลพืชกัญชา กัญชงในปัจจุบัน

ในส่วนของการควบคุมกำกับดูแลพืชกัญชา กัญชงในปัจจุบันนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองพืชกัญชา กัญชง ไม่ต้องขออนุญาตภายใต้กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ แต่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี ในส่วนของพืชกัญชา กัญชงที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 คือ สารสกัดพืชกัญชา กัญชงที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ผู้ประสงค์จะผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองสารสกัดนี้ จะต้องขออนุญาตภายใต้กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ โดยจะมีหน่วยงานควบคุมและกำกับดูแลพืชกัญชา กัญชง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกประกาศควบคุมการใช้กัญชา ได้แก่การห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา ซึ่งมีสารเสพติดในปริมาณสูง โดยเฉพาะนำมาใช้ในการปรุงอาหาร และร้านอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ รวมถึงห้ามใช้กับเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ห้ามจำหน่ายเพื่อสูบในสถานที่ประกอบการ อีกทั้งยังกำหนดห้ามไม่ให้มีกลิ่นหรือควันจากกัญชาในอาคารและสถานที่สาธารณะ ตลอดจนห้ามนำพืชกัญชา กัญชง อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของพืชกัญชา กัญชง เข้ามาใช้หรือบริโภคในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดหรือกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ

จะเห็นได้ว่าพืชกัญชา กัญชงก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของครัวเรือนและอุตสาหกรรม แต่หากนำมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาทางด้านสุขภาพและปัญหาทางด้านสังคมได้ ซึ่งการปลดล็อกพืชกัญชา กัญชงให้พ้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ทำให้การควบคุมกำกับดูแลพืชกัญชา กัญชงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากพืชกัญชา กัญชงไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษทำให้ไม่ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางการควบคุมการใช้พืชกัญชา กัญชงในแต่ละพื้นที่ แต่การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนจะเป็นแนวทางระยะยาวที่ส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนนำพืชกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดและเหมาะสม

แหล่งอ้างอิง

บางกอกโพสต์ (2565). Cannabis valued at B43bn by 2025. สืบค้นจาก https://www.bangkokpost.com/business/2351196/cannabis-valued-at-b43bn-by-2025

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2565). ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565. สืบค้นจาก https://resolution.soc.go.th/?page_id=74&find_word=&start_date=27%2F12%2F2565&end_date=27%2F12%2F2565&book_number=&page_no=2

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (2565). ห้ามใช้กัญชา-กัญชงในโรงเรียน. สืบค้นจาก https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220617112519671

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2565). การศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้ากัญชา กัญชง.

ไทยรัตน์ออนไลน์ (2565). อัพเดตประกาศใหม่คุมช่อดอกกัญชา
ห้ามรถเร่-เปิดห้องสูบ ห่วงช่องโหว่ปลูกใช้เอง
. สืบค้นจากhttps://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2553013

Grandviewresearch (n.d.). Thailand Legal Cannabis Market Size, Share & Trends Analysis Report By Derivative (Marijuana, Hemp), By Sources (CBD, THC), By End-use (Medical Use, Recreational Use, Industrial Use), And Segment Forecasts, 2022 – 2030. Retrieved from

https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/thailand-legal-cannabis-market-report#:~:text=How%20big%20is%20the%20Thailand,USD%20242.8%20million%20in%202022

นายศราวุธ พรมพันห่าว
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายภาษี
ผู้เขียน