การเติบโตของ Mobile Application

การเติบโตของ Mobile Application

บทความโดย ดร.เอก ชุณหชัชราชัย
เรียบเรียงโดย ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย

เชื่อหรือไม่ว่าเวลาผ่านไปเร็วมากจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรก็ตามที่เราหมกมุ่นอยู่กับมันอย่างไม่เบื่อหน่ายแถมยังสนุกที่จะอยู่กับมันด้วย ยิ่งทำให้เวลาที่เราอยู่กับมันผ่านไปรวดเร็วเป็นสองเท่า สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่ก็คือ Mobile Application ครับ เชื่อหรือไม่ว่ามันเกิดและอยู่กับเรามาแล้วเกือบ 10 ปีครับ ไม่เบื่อมันเลยใช่มั้ย ระหว่างที่หลายๆ ท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่อีกมือหนึ่งอาจจะกำลังเปิดเล่น App อะไรซัก App ก็เป็นได้

Mobile Application ถือเป็นธุรกิจที่แทบทุกอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Mobile Application ให้แก่ธุรกิจตนเอง เข้าไปเป็นพันธมิตรกับ Mobile Application ใด Mobile Application หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางด้านการเงิน พันธมิตรทางด้านการขนส่ง และพันธมิตรทางด้านการให้บริการอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะมี Mobile Application เกิดขึ้นมาใหม่ๆ มากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุก Mobile Application จะประสบความสำเร็จและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่าง มีประสิทธิภาพเสมอไป

สองสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในปัจจุบันที่มีความสนใจในการเข้าสู่ธุรกิจ Mobile Application หรือมีความสนใจที่จะสร้างและพัฒนา Mobile Application ต้องเข้าใจ คือ

หนึ่ง “ความเข้าใจขั้นพื้นฐานด้านโครงสร้างและประเภทของ Mobile Application” สอง “พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อการใช้ Mobile Application ในปัจจุบัน”

ในส่วนของพื้นฐานโครงสร้าง Mobile Application ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ IPhone Operation System (IOS) และ Android ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน โดยทั้งสองค่ายมีผู้ที่ใช้งานรวมกันมากถึง 5.13 พันล้านคน (bankmycell, 2019) คิดเป็น 66.53% ของประชากรทั้งโลก

หากเรามองไปที่ตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาจะเห็นสัดส่วนการใช้ Mobile Application ในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวอเมริกันว่ามีการเลือกใช้ IOS 53.65% และ Android 39% ซึ่งคิดเป็น 90% ของมูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนทั้งหมดและส่วนที่เหลือจะเป็น Windows phone

ระบบปฏิบัติการ IOS ถูกผลิต และพัฒนาโดยบริษัท Apple Computer Inc. ซึ่งผู้ก่อตั้งคือ สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งเริ่มให้บริการระบบปฏิบัติการครั้งแรกในปี 2007 ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Mobile Application โดยใช้งานบนสมาร์ทโฟนรุ่น IPhone 2G เป็นรุ่นแรกและใช้ชื่อระบบว่า iPhone OS ในปี 2008 และต่อมาระบบถูกพัฒนาให้รองรับการใช้งาน 3G และยังมีการเปิดตัว App Store เป็นครั้งแรกด้วย

ซึ่งในปัจจุบันระบบ IOS ถูกพัฒนามาจนถึงปัจจุบันเป็น Version ที่ 13 และในส่วนของบริษัท Android นั้น ได้มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 โดย แอนดี รูบิน, ริช ไมเนอร์, นิก เซียส์ และคริส ไวท์ ซึ่งต่อมาในปี 2005 ได้มีการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Android โดย Google และในที่สุดได้มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เป็นครั้งแรกบนสมาร์ทโฟน HTC Dream ในปี 2008 จวบจนถึงปัจจุบันบริษัท Android ได้ดำเนินกิจการพัฒนาระบบปฏิบัติการมาแล้วทั้งหมด 29 เวอร์ชั่น

สำหรับการพัฒนาระบบปฏิบัติการของ Mobile Application ทั้งสองระบบปฏิบัติการที่ผ่านมานั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การพัฒนาด้านการออกแบบฟังค์ชั่นการทำงานของระบบ และความหลากหลายของ Application ซึ่งปัจจุบันมี Application จำนวนมาก ที่ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดมาใช้บนสมาร์ทโฟนของตัวเองได้ ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และ IOS ซึ่งจะพบว่าทั้งสองผู้ให้บริการมีหน้าร้านสำหรับการดาวน์โหลด Application ของผู้ให้บริการเอง

โดยทางฝั่ง Android จะใช้ชื่อหน้าร้านบนออนไลน์แพลทฟอร์มว่า “Play store” ส่วนทางฝั่ง IOS ใช้ชื่อหน้าร้านบนออนไลน์แพลทฟอร์มที่ชื่อว่า “App store” ซึ่งภายในร้านค้าของทั้งสองระบบจะมีการจัดแบ่งประเภทของ Application ไปตามการทำงานและรูปแบบของ Application นั้นๆ โดยในส่วนของ Android จะมีอยู่ทั้งหมด 49 ประเภท (Appbrain, October 2019) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การพัฒนา Mobile Application จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและนักพัฒนา Mobile Application เกิดขึ้นมาใหม่มากมายก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จกันอย่างทั่วหน้า มีหลายคนที่ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านไปก่อนก็มีเยอะพอสมควร

สำหรับบทความนี้เราจะลองมาดูกลุ่มหรือประเภทของ Mobile Application ที่ประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับที่ดีกันว่ามีประเภทไหนและมีใครกันบ้าง เผื่อผู้ที่สนใจด้านการพัฒนา Mobile Application จะสามารถนำไปเป็นข้อมูลเพื่อใช้พิจารณาและวางแผนการสร้าง Mobile Application ให้สำเร็จได้ เราเริ่มกันที่ 5 ประเภทแรกที่มีจำนวนคนดาวน์โหลดเยอะที่สุดทั้งบน App Store และ Play store

ประเภทที่หนึ่ง Application ประเภทเกมส์

Dynasty Defense เกมป้องกันฐานแบบลุยด่านแนวตั้ง จัดทีมและรับสมัครขุนพลชื่อดังแห่งสามก๊ก

ซึ่งใน Play store มียอดดาวน์โหลดถึง 14.15% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด และในฝั่งของ App store มียอดดาวน์โหลดถึง 24.63% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด Application ประเภทเกมส์เป็น Application ที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ใช้งานเช่นเกม PUBG Mobile, ROV, Pokemon, Candy crush ซึ่ง Application ประเภทเกมส์ เป็นตลาดที่ใหญ่มากในปี 2018 โมบายเกมส์ทำให้มูลค่าตลาดเกมส์ในประเทศไทยมีมูลค่าเกิน 30,000 ล้านบาท มีการเจริญเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 10% โดย

ROV เป็นเพียงโมบายเกมเดียวที่มียอดการซื้อของใน Application สูงถึงวันละ 20 ล้านบาท โดยหากวัดจากช่วงที่ได้รับความสนใจจากผู้เล่นเกมส์จะมียอดการซื้อของใน Application สูงถึง 50 ล้านบาทต่อวัน (ฐานเศรษกิจ, 2018) และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเกมส์ในไทย สำหรับปี 2022 จะมีมูลค่าสูงถึง 67,800 ล้านบาท

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมส์ในประเทศไทย มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 19 ของโลก ด้วยมูลค่า 667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 2.1 หมื่นล้านบาท ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซียโดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลมองว่าตลาดเกมในไทยจะสามารถเติบโตได้ถึง 12% ต่อปี

Application ประเภทที่สองคือ Application ประเภทการศึกษา

Online Learning

ซึ่งใน Play store มียอดดาวน์โหลดถึง 9.02% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด ส่วนในฝั่งของ App store มียอดดาวน์โหลดถึง 8.52% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด Application ที่เกี่ยวกับการศึกษานั้นถือเป็น Application ที่มีประโยชน์อย่างมาก สามารถช่วยในการทำบทเรียน แบบทดสอบ หาความรู้ นัดเรียนออนไลน์ สร้างสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ หรือแม้กระทั่งใช้ส่งงาน ถือได้ว่าเป็นการศึกษารูปแบบใหม่ผ่านอินเทอร์เน็ต มีการบันทึกวีดีโอการสอน และโพสต์ขายตาม Application ต่างๆ เช่น TCAster, Kahoot, my Study life, photo Math และ skilllane เป็นต้น

ในปี 2014 ศูนย์วิจัยกสิกรได้มีผลการศึกษาพบว่า ตลาดการศึกษาในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 2,837 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 ตลาด E-Learning จะมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรีญสหรัฐ

ซึ่งตัวอย่าง E-learning ในไทย ได้แก่ Skillane ถือเป็นแพลตฟอร์ม E-learning ที่ให้ผู้สอนสามารถอัดวีดีโอและนำมาขายให้แก่ผู้ที่สนใจซื้อได้ ปัจจุบันมีคอร์สในระบบถึง 1,080 คอร์ส และแต่ละคอร์สมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งน่าจะสร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อปีให้แก่ผู้สอนทั้งหมดในระบบ

Application ประเภทที่สามคือ Application ประเภทธุรกิจ

ซึ่งใน Play store มียอดดาวน์โหลดถึง 6.71% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด ในขณะที่ฝั่งของ App store มียอดดาวน์โหลดถึง 9.76% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด Application ประเภทธุรกิจถือเป็น Application ที่เป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจ และมีความสามารถในการทำงานเฉพาะตัว ช่วยในการจัดการเอกสาร รวมถึงการทำงานร่วมกันภายในองค์กร เช่น Adobe Acrobat Reader for PDF, Hangouts Meet, Facebook Ads Manager และ Skype for Business

Application ประเภทนี้จะเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกภายในองค์กรซึ่งจะมีการคิดค่าบริการในรูปแบบต่างๆ แล้วแต่ลักษณะงานบริการของ Application นั้นๆ อย่างเช่น องค์กรต้องการใช้ Skype for Business ในหนึ่งองค์กรจะสามารถใช้งานได้สูงสุด 250 users และแต่ละ user จะเสียค่าบริการในแพคเกจถูกที่สุด 5 ดอลลาร์ต่อเดือน นั่นหมายความว่าองค์กรจะต้องเสียค่าบริการสูงถึง 450,00 บาทต่อปี และแพคเกจแพงที่สุด 1,125,000 บาทต่อปี ซึ่งในปี 2011 Skype ถูกบริษัท Microsoft ซื้อไปด้วยมูลค่าธุรกิจ 2.56 แสนล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าปัจจุบันจะมีมูลค่ามากกว่า 3.5 แสนล้านบาท

Application ประเภทต่อมาคือ Application ประเภทไลฟ์สไตล์

Tinder ถูกสร้างใน Hatch Labs ที่เป็นโครงการพัฒนาบริษัท Startup ซึ่งในปัจจุบัน Tinder มีสมาชิกทั่วโลกอยู่บนระบบมากถึง 57 ล้านบัญชี

ที่มีการดาวน์โหลดกันใน Play store ถึง 6.06% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด และในฝั่งของ App store มียอดดาวน์โหลดถึง 8.33% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมด ซึ่งถือเป็น Application ที่เกี่ยวข้องกับการบริการทั่วไปและเป็นความสนใจเฉพาะตัวของกลุ่มลูกค้าใน Application นั้นๆ โดยแต่ละ Application จะเจาะจงกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง กลุ่มลูกค้าที่สนใจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มลูกค้าที่สนใจด้านการท่องเที่ยว กลุ่มลูกค้าที่สนใจด้านแฟชั่น กลุ่มลูกค้าที่สนใจการปรับปรุงบ้าน ซึ่ง Application ในประเภทนี้ ได้แก่ Tinder, GET, My AIS, TRUEYou ยกตัวอย่าง Application Tinder ถือเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งภายใต้ Match Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการหาคู่ออนไลน์โดยเฉพาะ บริษัทแห่งนี้ มีมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 472,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าใกล้เคียงกับธนาคารกสิกรไทย Tinder ถูกสร้างใน Hatch Labs ที่เป็นโครงการพัฒนาบริษัท Startup ของบริษัท InterActiveCorp (IAC) บริษัท IAC ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1986 ในชื่อ Silver King Broadcasting Company เริ่มต้นด้วยการดำเนินการธุรกิจสื่อ และช่องทีวี ภายหลังบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ และผันตัวไปเป็นบริษัท Holdings กระจายการลงทุนในหลายธุรกิจ โดย Tinder เป็นผลผลิตหนึ่งจากโครงการที่ได้รับการระดมทุน ซึ่งในปัจจุบัน Tinder มีสมาชิกทั่วโลกอยู่บนระบบมากถึง 57 ล้านบัญชี

Application ประเภทที่ห้า คือ Application ประเภท Entertainment

โดยใน Play store และ App Store มียอดดาวน์โหลดที่เท่ากันคือ 5.99% จากยอดดาวน์โหลดทั้งหมดเป็น Application สำหรับสื่อบันเทิงที่มี ทั้งภาพ เสียง และวีดีโอ ซึ่งมีหลาย Application ที่เราอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ เช่น Netflix, Line TV, TikTok, Youtube ถึงแม้ว่ายอดดาวน์โหลดจะอยู่ในอันดับที่ 5 แต่ในปี 2018 Tiktok ซึ่งเป็น Application ประเภท Entertainment และนับเป็นกิจการ Startup ที่มีมูลค่าบริษัท สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก อยู่ที่มูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้า Uber ที่เคยทำสถิติไว้ที่ 7.2 หมื่นล้านดอนลาร์

ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานต่อวันอยู่ที่ 500 ล้านคนต่อเดือน

ในปี 2018 TikTok ได้รับความนิยมอย่างมากและกระจายไปทั่วโลก ดูได้จากการขึ้นเป็น Application ยอดนิยมอันดับ 1 จากการดาวน์โหลดบนระบบ iOS ทั่วโลกในครึ่งปีแรก ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานต่อวันอยู่ที่ 500 ล้านคนต่อเดือน ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น รายได้หลักของ TikTok มาจากโฆษณา (Advertisement) เพราะนอกจากตัว Application ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ทุกวันแล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจ คือ กลุ่มผู้ใช้งานที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ทำให้นักการตลาด ต่างให้ความสนใจที่จะมาลงโฆษณาใน TikTok กันอย่างมากมาย

และทั้งหมดนี้ คือ 5 ประเภท Application ที่พัฒนามาได้อย่างตรงใจและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด หากมีธุรกิจใดที่มีความสนใจที่จะพัฒนา Application เป็นของตัวเอง ขอให้อย่าลืมที่จะศึกษาและวิเคราะห์ความนิยม พฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบต่างๆ ของ Mobile Application ให้เป็นอย่างดี เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและแม่นยำ จนทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจที่เราทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอก ชุณหชัชราชัย
รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด


YouTube: การตลาดพอดีคำ
Facebook: การตลาดพอดีคำ